รีวิว ทำกายภาพที่สหเวช จุฬา กับออฟฟิศซินโดรมที่ยังคงอยู่

Shed a Light
3 min readMar 24, 2020

--

ออฟฟิศซินโดรม พาร์ท 2 จุดจบมนุษย์ห่อไหล่คือไปทำกายภาพ

(Original Post: 24/3/2020
Update on: 28/3/2021)

รักษามาเป็นปี ถ้าพฤติกรรม​ดี ๆ ไม่เกิด ก็คงไม่หาย

หลังจากนวดมาราวครึ่งปี ก็เริ่มหาวิธีอื่นบ้าง ไม่ใช่ว่าการนวดไม่ดี แต่รู้สึกว่าช่วงนี้กล้ามเนื้อตึงหนักกว่าปกติ เหมือนมีปมกระจุกอยู่ที่สะบักแบบลึก ๆ แล้วการนวดมันลงไปไม่ถึงจุดนั้น จึงลองหานักกายภาพบำบัดบ้าง

ด้วยความคุ้นเคย แบรนด์จุฬาก็ยังแข็งแกร่งเป็นการส่วนตัวเสมอ (ความจริงคือมหิดลก็ไกลไป)
เคยมีเพื่อนอยู่คณะนี้ จำได้ว่าเพื่อเคยกดบ่าแล้วบ่นว่าเราบ่าตึงเกินไปตั้งแต่สมัยเรียน

อ่านพาร์ทแรก นวดแผนไทยที่อนุสาวรีย์ชัย

สถานที่
คลินิกกายภาพบำบัด หน่วยปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สุขภาพ สหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 14
คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซอยจุฬาฯ 12 ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330
ข้อมูลติดต่อ
โทร. 02 218 1100
เว็บไซต์: http://www.pt.ahs.chula.ac.th/clinic
Facebook: https://www.facebook.com/HealthSciencesServiceUnitChula/

ที่มา: https://web.facebook.com/HealthSciencesServiceUnitChula/posts/1783936871784391

อัพเดท: ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2564 คลินิกกายภาพย้ายไปอาคารจุฬา​พัฒน์​ 14 ชั้น 14 (จากเดิมอยู่อาคารบรมราชชนนีศรีศตพรรษ) อาคารจุฬาพัฒน์ 14 อยู่ใกล้สนามศุภชลาศัย ถ้ามาจาก BTS ก็เดินไกลกว่าเดิมนิดหน่อย

ที่จอดรถ: ผู้มารับบริการทางกายภาพบำบัด สามารถจอดรถได้ 2 จุด คือ 1. อาคารจันทนยิ่งยง (ไม่มีค่าบริการ) และ 2. อาคารจอดรถ (ฟรีค่าบริการ 2 ชม. แรก ชั่วโมงถัดไป 20 บาท)

อาคารจุฬาพัฒน์ 14
  • เวลาทำการ
    ณ มี.ค. 64 ยังอยู่ในช่วง COVID-19
    เปิด จันทร์-ศุกร์ 8.00–19.30 น. และ เสาร์ 8.30–16.00 น.

การนัดหมาย
เราโทรไปนัดไว้ล่วงหน้า เจ้าหน้าที่ลงเวลาไว้ให้ แต่เราไม่ได้ระบุว่าจะทำกายภาพกับนักกายภาพท่านไหน หลังทำกายภาพเสร็จ หากต้องการนัดต่อก็ทำนัดได้เลย จะทราบชื่อนักกายภาพบำบัด โดยทั่วไป หากจะรักษาต่อ มักจะนัดให้เป็นทุกอาทิตย์หรือตามแต่เราสะดวก

วิธีเดินทาง

อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 14

  • ไป BTS สนามกีฬาแห่งชาติหรือ BTS สยาม แล้วเดินไปหลัง MBK เข้าประตูจุฬาฯ ฝั่งขวา จะเจอคณะพยาบาลศาสตร์ เดินตรงเข้าไปเจอเซเว่นใกล้ตึกจุฬาพัฒน์ 1 เลี้ยวซ้าย ตรงไปเรื่อย ๆ ผ่านคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สนามบาส สนามเทนนิส ข้ามทางม้าลายไปอาคารจุฬาพัฒน์ 14
  • อีกวิธีคือ BTS สนามกีฬาแห่งชาติทางฝั่ง Jim Thompson แล้วเดินเลยสนามกีฬาเทพหัสดินเข้าไป เลี้ยวขวาเดินผ่านคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา สนามบาส สนามเทนนิส ข้ามทางม้าลายไปอาคารจุฬาพัฒน์ 14
เดินข้ามทางม้าลายเข้าอาคารจุฬาพัฒน์ 14 (ขวามือคือสนามศุภฯ)

การลงทะเบียน

  • เดินเข้าตึกแจ้งพี่ รปภ. ใต้ตึกว่ามาทำกายภาพ กดลิฟท์ไปชั้น 14 เข้าไปข้างใน ลงทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ กรอกแบบฟอร์มบอกอาการว่ามีปัญหาอย่างไร ในส่วนของเราคือปวดตึง คอ บ่า สะบักทั้ง 2 ข้าง
    นักกายภาพบำบัดจะบันทึกประวัติเบื้องต้นของเรา เรียกเข้าไปในห้องทำหัตถการ และสอบถามรายละเอียดของอาการ
ออกจากลิฟท์ ซ้ายมือคือทางเข้าส่วนให้บริการ

เข้าสู่การรักษา

  • ซักประวัติ
    เช่น งานที่เราทำคืออะไร — งานนั่งโต๊ะ/ งานข้างนอก เล่นกีฬาหรือไม่ มีพฤติกรรมอย่างไร นั่งนานเกินไหม ยกของหนักมาหรือไม่ ฯลฯ
  • ทำหัตถการ
    เข้าห้องที่มีผ้าม่าน ค่อนข้างจะชิดกันมาก ๆ นะ ได้ยินเสียงห้องข้าง ๆ เลย
    เขาจะให้เรานั่งที่เก้าอี้ จากนั้น นักกายภาพจะทำการกดจุด และสอบถามอาการของเรา พอโดนกดสะบักซ้ายปุ๊บก็คือจี๊ดเลย โดนบ่าขวาอีกก็คือโอ้ย เขากดถูกจุดนะ กดไปทั่วทุกส่วน แล้วก็จะพบว่าจุดไหนตึงมากตึงน้อย

ผลการวินิจฉัยคือเราเป็นกล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง ทำให้ปวดบ่า สะบักทั้งสองข้าง

  • ทำกายภาพบำบัด ครั้งแรก

เขาจะถามนะว่ามาทำครั้งแรกไหม จะได้สื่อสารกันได้ดี

เปลี่ยนชุดก่อนทำหัตถการ เคสเรา ต้องทำที่กล้ามเนื้อหลัง จึงต้องใส่เสื้อแบบที่เปิดข้างหลัง (*อย่าใส่สปอร์ตบรา น่าจะดีกว่า)

Photo by Toa Heftiba on Unsplash

เวลาที่ใช้ในการทำ ทำทั้งหมดราว 1 ชั่วโมง
เราทำ 3 ส่วน คือ ทำอัลตร้าซาวน์ กระตุ้นไฟฟ้า และกดจุด

  1. อัลตร้าซาวน์ นั่งทำทีละข้าง ข้างละประมาณ 10 นาที ทำตัวสบาย ๆ นั่งให้ผ่อนคลาย จะรู้สึกตื้อ ๆ หรือไม่รู้สึกอะไรเลย แรงกดจะไปได้ลึกประมาณ 1–3 เซนติเมตร พอทำเสร็จก็รู้สึกเบาหลังขึ้นเยอะแล้วนะ
    กลัวจะเงียบไป ก็เลยชวนพี่เขาคุยบ้าง
    ความถี่ในการทำอัลตร้าซาวน์ ถี่สุดที่ทำได้คือทุก 2 วัน
    ขณะทำอัลตราซาวน์ คุณนักกายภาพก็สรุปได้ว่าเราเป็นมนุษย์ห่อไหล่ ซึ่งก็จริง
  2. กระตุ้นไฟฟ้า ทำทั้งคอและหลัง ใช้เวลาประมาณ 20 นาที จะแปะแผ่นกระตุ้นไฟฟ้าไว้ที่แผ่นหลัง และมีที่พันคอไว้ด้วย ก็นอนลงไปบนแผ่นไฟฟ้า
    เมื่อปล่อยกระแสไฟฟ้าแล้วเราจะรู้สึกเหมือนมดไต่ และจะรู้สึกหนา ๆ ที่คอ ต้องพยายามบอกให้เขาปรับระดับไฟให้หนักพอที่เรารับไหว และให้เท่ากันทั้งสองข้าง ถ้าไม่รู้สึก แปลว่าลงไปไม่ถึงจุดที่เรามีอาการ
    เมื่อได้ระดับที่ต้องการเราก็จะนอนค้างอย่างนั้น คุณนักกายภาพก็จะออกจากห้องไป หากเราต้องการให้ปรับระดับไฟเพิ่มเติม หรือเครื่องทำงานครบตามที่ตั้งค่าไว้ เราก็สามารถกดกริ่ง 2 ครั้ง กริ๊ง กริ๊ง เรียกได้ เขาจะถามว่า “ม่านไหนคะ” เราก็ตอบม่านที่เราอยู่ไป หมายเลขม่านจะอยู่ระดับสายตาขณะที่เรานอนพอดี หรือใช้กดสวิตช์ไฟให้ไฟติดก็ได้

(ถ้าอาการหนัก​หน่อยก็จะมีทำ Shockwave อันนี้จะฟีลอุ่น ๆ สบาย ๆ เคลิ้มเลย)​

  1. กดจุด หลังกระตุ้นไฟฟ้าเสร็จ เราก็ต้องนอนคว่ำ นักกายภาพก็จะเช็ค กดจุดต่าง ๆ อีกครั้ง ก็เบาขึ้น นุ่มขึ้น ดีขึ้นก็ดีแล้ว
  2. แนะนำท่ายืดเหยียด
    ปกติเราดูโยคะใน YouTube อยู่แล้ว ถ้าทำทุกวัน อาจไม่เป็นหนักก็ได้นะ

ทุกท่าให้ค้างไว้เซตละ 10 วินาที ทำวันละ 10 ครั้ง ขยับตัวทุกครึ่งชั่วโมง

ท่าเบสิกที่เขาสอนให้เราทำให้ถูกต้องคือ

ท่าที่ 1 เปิดไหล่ นั่งหลังตรง เปิดไหล่ทั้งสองข้างไปด้านหลัง นับ 1–10 วิ
ท่าที่ 2 ยืดคอซ้ายขวา เอียงคอไปทางขวาให้ยืดที่สุด แล้วโน้มมือขวาไปจับบริเวณหูซ้าย ค้างไว้เซตละ 10 วินาที
ข้างซ้ายก็ทำตรงกันข้าม ในแบบเดียวกัน
ท่าที่ 3 ยืดคอ ยืดสะบัก โน้มคอไปข้างหน้า มองไปเหมือนมีกระเป๋าเสื้ออยู่ เช่นโน้มคอไปทางขวา มองเหมือนมีกระเป๋าขวา ให้ยืดเท่าที่ยืดได้ แล้วใช้มือขวาจับศีรษะค้างไว้ 10 วินาที

เพิ่มเติม
วันไหนไม่ไหว ก็ให้ประคบกล้ามเนื้อหลังด้วยการประคบร้อน เพื่อคลายกล้ามเนื้อ
แต่ในเคสนิ้วมือให้ใช้การประคบเย็น เนื่องจากนิ้วมือมีเส้นเอ็นเป็นส่วนใหญ่ แต่กล้ามเนื้อหลังเป็นกล้ามเนื้อที่หนากว่า

ค่าบริการ
คิดค่าบริการตามแต่ละส่วนที่ทำไป โดยเฉลี่ยก็ประมาณครั้งละ 700–1,200 บาท
สำหรับเรา ครั้งแรกนี้ก็จ่ายไป 930 บาท (เป็นค่าทำกายภาพ 920 บาท และค่าธรรมเนียม 10 บาท) พร้อมทำนัดหมายครั้งต่อไปเรียบร้อย
ชำระได้ทั้งเงินสดและบัตรเครดิต สามารถเบิกได้ตามระเบียบราชการ

อัตราค่าบริการทางกายภาพบำบัด ตามลิ้ง
http://www.ahs.chula.ac.th/newweb/index.php/offices/health-sciences-service-uniten/14-sample-data-articles/216-ptprize

เราก็ยังพยายามรักษาตัวเองให้ดีกันไป
พูดรวม ๆ สิ่งที่สำคัญในชีวิตก็มีแค่สุขภาพกายและสุขภาพใจนี่แหละ

--

--

Shed a Light

Music Listener/ Movies and Series Watcher/ Almost Lover/ Beginner/ เพ้อเจ้อ / แปลเพลงที่ https://manootchecklist.wordpress.com/ Swiftie/ Mixers/ Reveluv