การเรียนแบบ “นกแก้วนกขุนทอง”

Pisit Makpaisit(Remixman)
1 min readJan 13, 2017

การศึกษาของไทยทุกวันนี้ มีคำวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุมมากๆ ส่วนนึงก็คือแนวการสอนที่ดูจะเหมือนเน้นท่องจำเป็นหลักนี่แหละ คราวนี้เลยอยากเขียนมุมมองและความรู้สึกที่ผมมีต่อการท่องจำซะหน่อย

เริ่มต้นจากที่ตอนเด็กๆ ผมจะเกลียดวิชาจำพวกสังคมมากๆ เพราะรู้สึกว่าเนื้อหามันเยอะเหลือเกิน ใครหน้าไหนมันจะไปจำของพวกนี้ได้ทั้งหมดวะ ช่วงนั้นก็เลยหันไปพึ่งพิงวิชาที่เป็นคำนวณมากกว่า เพราะดูจะต้องจำน้อยกว่า ผมเข้าใจว่าเนื้อหาบางอย่างถ้าเข้าใจแล้วมันจะจำได้ง่ายมาก ไม่ต้องมานั่งท่องจำอะไรเยอะเลย

แต่พอลองทำใจอย่างเป็นกลาง ไม่เอาวิชาที่ชอบหรือไม่ชอบเข้ามาเกี่ยวข้องก็จะรู้สึกอยู่ดีว่า ต่อให้เป็นวิชาคำนวณหรือที่ใช้ความเข้าใจ ก็ยังมีส่วนที่เราถูกสอนมาจากการท่องจำอยู่เหมือนกัน อย่างเช่น สูตรคูณ นิยาม หรือกระบวนการของอะไรต่างๆ มากมาย

จุดที่มาเข้าใจด้านดีของการท่องจำก็คือ มันจะมีเรื่องบางเรื่องที่เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลยในตอนแรก ต้องใช้เวลาพิจารณามันอยู่หลายครั้งถึงจะเข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร นั่นแปลว่าถ้าเราจำสิ่งที่เราท่องได้เราก็จะสามารถเข้าใจสิ่งที่เนื้อหาหรือข้อความนั่นต้องการจะสื่อ แต่ถ้าจำไม่ได้ เราก็จะไม่รู้มันเลย

ผมชอบนึกถึงฉากหนึ่งในเรื่อง “ก๋วยเจ๋งยอดวีรบุรุษ” (หรือมังกรหยกที่ทุกคนคุ้ยเคยดี) ซึ่งเป็นตัวอย่างน่าจะทำให้เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ในเรื่องก๋วยเจ๋งยอดวีรบุรุษจะมีสุดยอดคัมภีร์อยู่เล่มหนึ่งซึ่งทุกคนต่างอยากได้มาเป็นของตัวเอง เพื่อหวังความก้าวหน้าในวิชาฝีมือและความเป็นหนึ่งในยุทธภพ ซึ่งคัมภีร์นั้นมีชื่อว่า “คัมภีร์เก้าอิม” ทีนี้ด้วยเหตุผลประการใดก็แล้วแต่คัมภีร์เล่มนี้ดันไปตกอยู่กับจอมยุทธเฒ่าคนนึง ที่มากด้วยฝีมือ แต่ก็มีนิสัยขี้เล่นแบบเด็กๆ ซึ่งก็คือ เฒ่าทารก จิวแป๊ะทง นั่นเอง มีครั้งนึงที่จิวแป๊ะทงอยากจะแกล้งก๋วยเจ๋ง (พระเอกในเรื่อง) ด้วยการแกล้งสอนเนื้อหาในคัมภีร์ให้กับพระเอกด้วยการให้พระเอกท่องตามโดยไม่รู้ความหมายใดๆ แต่ว่าห้ามตกหล่นแล้วก็ห้ามผิดพลาด จนสุดท้ายก๋วยเจ๋งก็จำได้หมดแบบไม่เข้าใจอะไรเลย จนกระทั่งได้ฝึกฝีมือบางอย่างแล้วก็พบว่ามันไปตรงกับสิ่งที่ตัวเองท่องได้ แล้วก็ค่อยๆค้นพบแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเข้าใจถึงเนื้อหาของคัมภีร์

ผมเองที่นึกได้เพราะเคยผ่านประสบการณ์แบบเดียวกันมา นั่นคือช่วงที่อ่านหนังสือก่อนสอบ มีบางข้อความที่ผมไม่สามารถทำความเข้าใจได้เลยในเวลานั้น แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องนำไปสอบ ถึงจะไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างน้อยก็ต้องจำให้ได้ไปก่อน (มันดีกว่าที่จะจำอะไรไม่ได้เลยตอนอยู่หน้าข้อสอบ) หลังผ่านการสอบผมก็ได้เรียนรู้เรื่องราวอื่นๆที่มีความใกล้เคียงกัน แต่ก็พบว่าตัวเองเข้าใจสิ่งนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกสิ่งที่สมควรนำมาสอนหรือถ่ายทอดด้วยการท่องจำ เพียงแต่ผมอยากชี้ให้เห็นว่า “การท่องจำ” ก็มีด้านดีของมันเองอยู่ในการใช้สำหรับถ่ายถอดความรู้และการเรียนรู้ (จริงๆ แล้วทุกสิ่งก็น่าจะดีถ้าเรารู้จักใช้มันให้ถูก) จึงอยากบอกผู้ที่ต้องการเรียนรู้ทั้งหลายแหล่ว่า การท่องจำก็เป็นอีกเทคนิคนึงที่ใช้การได้ในกรณีที่เราไม่สามารถเข้าใจในสิ่งนั้นได้ทันที และเราต้องเก็บมันมาเข้าใจในภายหลังหลังจากผ่านประสบการณ์และการเรียนรู้อื่นๆ เพิ่มเติม

ทัศนคติอันตื้นเขินของผมก็ขอสิ้นสุดแต่เพียงเท่านี้ หากสามารถช่วยเสนอแนะในสิ่งที่ผมขาดตกบกพร่องหรือยังเข้าใจผิดไปจะเป็นพระคุณอย่างสูงครับ

--

--