กินอย่างไรเป็นอย่างนั้น
ผู้อ่านเคยนึกหรือไม่ว่าการกินถือว่าเป็นด่านแรกที่สำคัญที่นำอาหารเข้าสู่ร่างกาย และมีส่วนสัมพันธ์กับความแข็งแรงของร่างกายที่จะเกิดขึ้นตามไปด้วย หรือบางท่านอาจจะได้เคยได้ยินว่า หากเรารับประทานอาหารประเภทไหนเข้าไป ร่างกายเราก็จะมีลักษณะเป็นแบบนั้น
ตัวอย่างเช่น ชอบรับประทานผลไม้ที่ไม่มีรสหวาน ก็จะได้รับวิตามินต่าง ๆ จากผลไม้เหล่านั้น ส่วนรูปร่างของผู้นั้นก็พอจะคาดคะเนได้ว่า มีร่างกายที่สมส่วน แข็งแรง ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลนั้นขอบรับประทานของมันหรือของทอดทุกชนิด ร่างกายก็ถูกสะสมไปด้วยไขมันในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และรูปร่างก็จะออกไปทางท้วม อวบ หรืออ้วน เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนขอแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับวางแผนรับประทานอาหารและสิ่งอื่น ๆ เพื่อสุขภาพที่ดี ดังต่อไปนี้
1) การดื่มน้ำหลังจากตื่นนอน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้ปฏิบัติแล้ว ส่งให้ผลระบบขับถ่ายดี ไม่มีสิ่งตกค้างสะสมในร่างกาย
2) การดื่มน้ำหลายแก้วต่อวัน เพื่อช่วยทำให้รู้สึกสดชื่น ระบบการย่อยและการขับถ่ายในร่างกายก็ดีตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เขียนดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตรต่อวัน ทำให้ผิวหน้าและผิวกายสดใส และชุ่มชื่นมากขึ้น
3) การรับประทานอาหารเช้า ทำให้ลดความหิวและอาการปวดหัว และช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้เขียนจำเป็นต้องรับประทานอาหารเช้าทุกวัน มิเช่นนั้นร่างกายจะทำงานไม่ไหว หงุดหงิด หิว และปวดหัว
4) การเคี้ยวอาหารต่าง ๆ ใช้ระยะเวลาให้ยาวนานขึ้น เพื่อช่วยทำให้อาหารต่าง ๆ ย่อยได้ดีขึ้น จากการผู้เขียนได้ลองเคี้ยวอาหารช้า ๆ ส่งผลให้รับประทานอาหารได้น้อยลง น้ำหนักก็ลดลงด้วย
5) การรับประทานน้ำซุปต่าง ๆ ควรลดปริมาณให้น้อยลง เนื่องจากมีความเค็มอยู่ระดับมากหรือสูง ผู้เขียนทราบได้จากการรับประทานน้ำซุปบางร้านค้าซึ่งมีรสเค็มมาก ๆ และมีผลเสี่ยงต่อการทำงานหนักของอวัยวะในร่างกาย
6) การรับประทานน้ำยำที่มีรสจัดต่าง ๆ ได้แก่ เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด หรือเครื่องปรุงต่าง ๆ เช่น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้ม ควรลดปริมาณให้ลดลงด้วยเช่นกัน เพื่อลดการเป็นโรคต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากการสะสมของสิ่งเหล่านั้น ได้แก่ การที่ผู้เขียนรับประทานส้มตำที่มีรสจัดและเผ็ดมาก ผลที่เกิด คือปวดท้อง และถ่ายเกิน 6 ครั้งต่อวัน กว่าร่างกายจะเป็นปกติใช้เวลาอีก 1–2 วัน
7) การดื่มน้ำผลไม้แปรรูป ควรพิจารณาจากส่วนประกอบที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดปริมาณน้ำตาลที่มีอยู่ หากเป็นไปได้ให้เลือกรับประทานจากการคั้นน้ำจากผลไม้สด เนื่องจากผู้เขียนได้เคยดูปริมาณน้ำตาลในกล่องน้ำผลไม้บางยี่ห้อ พบว่า มีปริมาณน้ำตาลอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก เช่นนั้นจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคต
8) การดื่มน้ำอัดลม และน้ำชงประเภทต่าง ๆ ซึ่งผู้เขียนเป็นคนหนึ่งที่เคยชอบดื่มน้ำเหล่านี้ แต่ด้วยดื่มน้ำอัดลมมากเกินไป เลยทำให้เป็นโรคกระเพาะสมัยระดับชั้นมัธยมศึกษา และเคยดื่มน้ำชาไข่มุกวันละ 3 แก้ว เกิดผลในวันนั้นนอนไม่หลับจนถึงเวลาเกือบเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงตั้งใจที่จะลดการดื่มน้ำประเภทนี้ให้น้อยลง
9) การรับประทานอาหารแปรรูปต่าง ๆ ควรลดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานให้น้อยลง เนื่องจากผู้เขียนเห็นว่า ต้องมีขั้นตอนต่าง ๆ ในการแปรรูป จึงไม่ใช่ด้วยวิธีธรรมชาติ ดังนั้นความสด ความใหม่ ความมีคุณค่าหรือประโยชน์ของสิ่งเหล่านั้น ก็มีคุณภาพน้อยลงตามไปด้วย
10) การรับประทานอาหารที่ทอดและมัน ผู้เขียนคิดว่า การทอดอาหารต่าง ๆ ด้วยน้ำมันในปริมาณที่มาก เพื่อให้สุกทั่วถึง หรือมีการใช้น้ำมันซ้ำ ๆ เพื่อประหยัดต้นทุนในการขายของผู้ผลิต ประกอบกับเราได้บริโภคอาหารเหล่านั้นเข้าไป จะก่อให้เกิดโทษกับส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากกว่าประโยชน์ เห็นได้ชัดจากน้ำหนักตัวของผู้เขียนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม เนื่องจากชอบรับประทานอาหารดังกล่าวข้างต้น
ดังนั้นสรุปได้ว่า จากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนในรายละเอียดแต่ละข้อทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการวางแผน ป้องกัน และปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากผลที่อาจเกิดขึ้นจากการรับประทาน กินหรือดื่มนั่นเอง อีกทั้ง ยังส่งผลดี และประโยชน์ที่หลากหลาย ดังต่อไปนี้ 1) อวัยวะต่าง ๆ แข็งแรงมากขึ้น 2) ระบบและส่วนต่าง ๆ ทำงานสัมพันธ์กันมากขึ้น 3) อารมณ์แจ่มใส 4) เกิดความพึงพอใจในรูปร่างของตนเอง 5) ไม่เป็นโรคต่าง ๆ ที่จะตามมาในอนาคต 6) ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคสิ่งต่าง ๆ รวมถึงค่ารักษาจากความเจ็บป่วย 7) มีความสุขในการใช้ชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น และ 8) มีอายุยืนยาวมากขึ้น เช่นนี้แล้ว ประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีอย่างมากมาย จึงขอเชิญชวนร่วมกันปฏิบัติตนให้เป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง จากการกินอย่างไรเป็นอย่างนั้นกันเถอะค่ะ
# สาขาวิชาภาษาอังกฤษ (ค.บ.) #บ้านสมเด็จฯ #bsru
# กินอย่างไรเป็นอย่างนั้น #สุขภาพ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา www.bsru.ac.th