ร้านกาแฟที่คิวชู ตอนที่ 1

Noppadol W.
2 min readJul 24, 2018

--

Coffee is Fruit. Art is Dessert.

ทริปไปญี่ปุ่นครั้งที่ผ่านมา ผมตั้งใจว่าจะพยายามเข้าหาร้านกาแฟท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยเฉพาะครั้งนี่ไปเยือนถิ่นคิวชู (Kyushu) ซึ่งแน่นอนว่าคงจะหาร้านกาแฟอินดี้ไม่ได้ง่ายแบบในเกียวโต ซึ่งคิดว่าร้านกาแฟท้องถิ่นน่าจะพอให้เห็นภาพกว้างๆว่าคนญี่ปุ่นเขาดื่มกาแฟกันแบบไหน แม้ว่าความตั้งใจที่จะไปนั่งคุยกับบาริสต้าหรือเจ้าของร้านแบบเจาะลึกจะไม่สำเร็จตามที่คิด เพราะอุปสรรคด้านภาษา แต่ก็ได้เรื่องราวน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง

วันแรกที่ไปถึงฟูกูโอกะ เราก็เช่ารถไปเยือนดาไซฟู ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม และหนึ่งในจุดที่นักท่องเที่ยวต้องแวะคือร้านกาแฟ Starbucks ที่ตกแต่งด้วยไม้อย่างสวยงาม ด้วยความตั้งใจว่าจะไม่เข้าร้านแบรนด์ใหญ่เลยไม่ได้เข้าไปชิม แต่ต้องยอมรับว่าตัวร้านตกแต่งได้โดดเด่นมาก เป็นจุดเรียกนักท่องเที่ยวมาถ่ายรูปและซื้อกาแฟได้ดี มองหาร้านกาแฟอื่นๆ แถวๆ นั้นก็ไม่มี

ร้าน Starbucks สาขาดาไซฟู จังหวัด ฟูกูโอกะ

หลังจากไหว้พระ กินอาหารและของกินเล่นก็จนได้เวลากลับ ระหว่างเดินฝ่าฝนที่ตกปรอยๆกลับไปที่รถ ก็เหลือบไปเห็นคำว่า Coffee Kasamidori ซ่อนตัวอยู่บนป้ายภาษาญี่ปุ่น ที่มองผ่านๆ ก็แทบไม่สามารถจินตนาการได้ว่านี่คือร้านกาแฟ เดินเข้าไปดูใกล้ๆ ก็เห็นกระดาษแผ่นหนึ่งหนีบอยู่บนแผ่นไม้เขียนว่า Just Coffee ด้านล่างเข้าใจว่าเป็นรายการเมนูกาแฟ แต่มันเป็นภาษาญี่ปุ่นหมดเลย ด้วยความที่วันนี้ยังไม่ได้มีคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายเลยคิดว่าจะลองสั่งไปชิมในรถสักแก้ว เปิดประตูเข้าไป เห็นมีลูกค้านั่งอยู่เกือบทุกโต๊ะ แลดูไม่ค่อยเหมือนนักท่องเที่ยวเท่าไหร่ ผู้จัดการเดินมาและแจ้งอย่างแข็งขันทันทีว่า No Takeaway, Drink inside only โอ้ อินดี้มาก เหลียวมามองคณะที่ยืนรออยู่ แล้วเชื่อว่าไม่มีใครยอมให้เข้าไปนั่งละเลียดดื่มแน่ เลยต้องถอยออกมาอย่างเสียดายบรรยากาศมาก

จากวิธีตกแต่งร้านและป้ายต่างๆ เชื่อว่าคงไม่ได้มุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยว ยิ่งไปเจอร้านกาแฟร้านที่สองนี่ยิ่งแน่ใจว่าคนญี่ปุ่นนี่ดื่มกาแฟกันจริงจังจริงๆ

ร้านกาแฟ Coffee Kasamidori ที่ไม่มี Takeaway

ระหว่างกำลังขับรถออกมาจากดาไซฟู ก็บังเอิญเห็นร้านกาแฟเล็กๆ ข้างทาง ที่สะดุดตาอันดับแรกก็คือม่านผ้าลายดอกไม้ของ Marimekko ที่สะท้อนแสงแดดหลังฝนได้อย่างสวยงาม และก่อนที่ใครจะทันทักท้วง ข้าพเจ้าก็รีบหันพวงมาลัยไปจอดข้างร้านทันที

ผ้าม่านลายดอกไม้ Unikko ของ Marimekko ที่ทำให้สะดุดตาจนต้องหยุดแวะเยี่ยม

เมื่อเดินเข้าไปในร้านก็รู้สึกได้ถึงความละเมียดละไมในการตกแต่งร้านของคุณป้าเจ้าของร้านที่ออกมาต้อนรับคณะเราด้วยความยิ้มแย้ม แม้จะแทบสื่อสารกันไม่รู้เรื่องเลยก็ตาม (ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์ปกติ เพราะเกือบทุกที่ที่ไปในคิวชู แทบหาคนสื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ไม่เหมือนในโตเกียวซึ่งยังพอสื่อสารกันได้เนื้อได้ความบ้าง)

ด้วยความตื่นเต้นที่เห็นเครื่องชงแบบไซฟอนที่ตั้งอยู่ เลยรีบสั่งกาแฟร้อนโดยไม่ได้ถามรายละเอียดก่อน ปรากฎว่าคุณป้าหายไปหลังร้านสักพักใหญ่ แล้วกลับมาพร้อมกาแฟร้อน ซึ่งเมื่อชิมแล้วรสชาติกล่มกล่อมดี ไม่มีรสขมนำ น่าจะเป็นกาแฟอาราบิกาคุณภาพดีที่คั่วระดับปานกลาง พยายามจะถามคุณป้าว่าใช้เครื่องไซฟอนชงหรือเปล่า คุณป้าบอก No No พร้อมกับเอาเมนูมาให้ดู บอกว่าถ้าชงธรรมดา (น่าจะเป็นเครื่องชงอัตโนมัติ) ราคาแก้วละ 400 เยน ถ้าชงไซฟอนราคา 450 เยน ด้วยเวลาที่จำกัด เพราะต้องไปคืนรถ เลยทำให้พลาดโอกาสชิมกาแฟจากเครื่องชงไซฟอนไป

ที่น่าสนใจก็คือขณะที่ร้านกาแฟเชนแบรนด์ดังอย่าง Starbucks หรือ Seattle’s Best Coffee ขายกาแฟ (Americano) อยู่ที่แก้วละ 300–400 เยน ร้านท้องถิ่นอย่างคุณป้าก็มีดีพอที่จะขายกาแฟได้ในราคาที่เท่ากันหรือสูงกว่าได้ และถ้าดูจากที่ตั้งของร้านที่อยู่นอกเส้นทางเดินของนักท่องเที่ยวแล้ว แสดงว่าลูกค้าประจำของร้านก็น่าจะเป็นคนในพื้นที่ด้วย

เครื่องชงกาแฟไซฟอน (Syphon) ที่ไม่ค่อยพบเจอในร้านกาแฟทั่วไป

เมือเห็นว่าคุยเรื่องกาแฟ น่าจะไปไม่รอด เลยถามคุณป้าว่าชอบ Marimekko หรือ? คุณป้ายิ้มกว้างตอบทันที Yes Yes I Like I Like ร้านทั้งร้านเต็มไปด้วยของใช้ ของประดับของ Marimekko และ Moomin น่าจะเป็นแฟนพันธ์แท้จริงๆ

ของตกแต่งร้านที่แสดงถึงความละเมียดละไมของเจ้าของร้าน
ลูกค้าของร้าน จากลักษณะการสนทนากัน อนุมานว่าน่าจะเป็นคนแถวนั้น แวะมาดื่มกาแฟ
แฟนพันธ์แท้ Marimekko จริงๆ
และเข้าใจว่าน่าจะเป็นของแท้ทุกชิ้นด้วย
คุณป้าเจ้าของร้านผู้มีความสุขในการส่งมอบประสปการณ์ที่ดีให้ลูกค้า

แม้ว่าจะไม่ได้คุยกันเรื่องกาแฟมากนัก แต่สิ่งที่ร้านกาแฟร้านนี้แสดงให้เห็นคือความภาคภูมิใจของผู้ประกอบการในการได้มีโอกาสส่งมอบประสปการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นตัวสินค้า บรรยากาศ การต้อนรับ สำหรับผมแล้วการใช้ของใช้ที่ตัวเองรัก (Marimekko) ในการบริการลูกค้า เป็นการแสดง Dignity ของคุณป้าที่น่ารักมาก

ไว้มีโอกาสคราวหน้าจะพกล่ามไปนั่งละเลียดชิมกาแฟคุยกับป้าแบบ Seize The Day กัน

--

--

Noppadol W.

A man who has passion in coffee, education, technology, business, photography, film, music, writing and life observing.