คุณรู้จักความหมายของ Cyberbullying​ ดีพอแล้วหรือยัง?

Omega
5 min readNov 25, 2017

--

“คุณผู้อ่านได้เข้าโซเชียลมีเดียครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ครับ”

แทบจะปฎิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้ ทุกคนต่างก็มีสมาร์ทโฟน และบัญชีโซเชียลต่างๆ อย่าง Facebook, Instagram หรือ Twitter ทุกวันนี้เป็นยุคที่เราไม่ได้รับฟังข่าวสารจากแค่เพียง โทรทัศน์ วิทยุ หรือนิตยสารอีกต่อไป แต่จะรับข่าวสารจากทางโซเชียลมีเดียแทน เพราะเข้าถึงได้สะดวก และรวดเร็วกว่า ข่าวไหนที่เรารู้สึกสนใจก็สามารถเผยแพร่ได้ง่ายๆ เพียงแค่กดแชร์ แต่เนื่องด้วยข่าวที่แพร่กระจายได้แบบรวดเร็วนี้เอง ทำให้ทุกๆ วันมีทั้งข่าวจริงและข่าวเท็จปะปนอยู่รอบตัวเราตลอดเวลา ในขณะเดียวกันก็มีผู้ที่ได้รับผลกระทบในแง่ลบมากมายจากยุคโซเชียลอย่างทุกวันนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเหยื่อของ Cyberbullying

บทความนี้จะพาผู้อ่านได้ไปรู้จักกับความหมาย, เรื่องราว, ประเภท รวมไปถึงวิธีรับมือกับสิ่งที่เรียกว่า Cyberbullying นอกจากนี้ตอนท้ายบทความ ผมจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ Cyberbullying ในประเทศไทย นั่นรวมไปถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับ Cyberbullying สำหรับประเทศไทยอีกด้วย เอาเป็นว่าเรามาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ

1 คน มี 1 ร่างกาย 1 ความคิด แต่พอมนุษย์เรามารวมกันหลายๆคนแล้ว เป็นไปไม่ได้เลยที่คนทุกคนจะมีท่าทาง, ความคิดที่เหมือนกัน 1000 คน ก็ 1000 ความคิดแล้วครับเนื่องจากความแตกต่างนี้ ทำให้บางคนมีความรู้สึกที่จะ “อยากแกล้ง” คนที่รู้สึกว่าเราไม่ชอบเขา หรือบางคนก็อยากที่จะข่มเหงคนที่อ่อนแอกว่าเรา ซึ่งการแกล้งกัน (Bullying) นั้นมีมานานแล้วในสังคมมนุษย์ แต่เนื่องด้วยยุคที่โซเชียลเฟื่องฟูอย่างทุกวันนี้ การแกล้งกันเลยเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Cyberbullying แทน

Cyberbullying คืออะไร ?

Cyberbullying (การแกล้งกันในโลกออนไลน์) คือการรังแกผู้อื่นผ่านทางโลกออนไลน์ โดยการรังแกในที่นี้เป็นได้ทั้ง การด่าทอ, กล่าวหา, ใช้ถ้อยคำเสียดสี ต่อว่าผู้อื่นโดยเป็นการแกล้งที่เจาะจงบุคคลเป้าหมาย และมีแนวโน้มว่าจะเป็นการรังแกที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ครั้งเดียวจบ ซึ่งการกระทำนี้ จะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าการแกล้งกันทั่วไป เพราะในโลกออนไลน์นั้น ผู้รังแกไม่ได้เผชิญหน้ากับเป้าหมายจริงๆ และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง (ก็แหงสิเพราะเป็นอินเทอร์เน็ต) ในมุมมองของผู้กระทำเขาอาจจะนึกสนุก แต่ถ้ามองมาดูผู้ถูกรังแกแล้ว เขาไม่ได้โดนรังแกครั้งเดียวแล้วจบไป มันอาจจะฝังลึก วนเวียนอยู่ในจิตใจของเขาได้ตลอดเวลา เพราะในโลกออนไลน์ ข่าวสารนั้นแพร่กระจายไปได้เร็วมาก

วิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าคนเราสามารถถูกชม และตำหนิได้ ทั้งๆ ที่เป็นคนเดียวกัน

ผมอยากให้คุณผู้อ่านได้เห็นภาพว่า Cyberbullying เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลตัวเราเลย เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้คนควรตระหนักถึง เพราะขณะที่ผู้อ่านได้อ่านบทความอยู่ตอนนี้ ก็มีผู้ตกเป็นเหยื่อจาก Cyberbullying อีกหลายรายทั่วโลก ผมเลยอยากให้ผู้อ่านได้ลองอ่าน/ติดตาม เรื่องราวที่เกี่ยวกับ Cyberbullying ผ่าน 2 หัวข้อ ดังนี้

  • Cyberbullying ผ่านหนัง
  • Case Study เกี่ยวกับ Cyberbullying ผ่านเรื่องจริง

Cyberbullying ผ่านหนัง

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ชอบดูหนังมากๆ คนหนึ่งครับ ที่จริงชอบดูทั้งหนังและซีรีส์เลย ส่วนหนึ่งก็เพราะการดูหนังก็เหมือนเป็นการฝึกภาษาไปในตัว อีกทั้งยังได้มุมมองและข้อคิด จากแต่ละเรื่อง โดยรายชื่อข้างล่างนี้ จะเป็นหนังและซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับ Cyberbullying ที่ผมคัดมาและเป็นหนังที่ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ข่าวลือต่างๆ มันแพร่กระจายไปได้เร็วมากโดยที่เรานั้นก็ไม่ทันได้ตั้งตัว

13 Reasons Why (2017)

ซีรีส์ที่มีความยาว 13 ตอน โดยจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ Hannah Baker เด็กไฮสคูลที่ฆ่าตัวตายอย่างน่าสลดโดยการเอามีดกรีดแขนทั่วแขนตัวเองและนอนตายในอ่างน้ำที่บ้าน ซึ่งก่อนตายเธอได้อัดเทปไว้ 13 ม้วน โดยแต่ละม้วนจะอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมเธอถึงฆ่าตัวตาย ถ้าหากผู้อ่านสงสัยว่าซีรีส์เรื่องนี้เกี่ยวกับ Cyberbullying ยังไง ผมขอแนะนำว่าต้องลองไปดูเองครับ (ไม่อยากสปอยล์ เพราะซีรีส์มันสนุกจริงๆ )เป็นซีรีส์ที่ดีเรื่องหนึ่งสำหรับผม ทำให้เราได้ฉุกคิดว่า ข่าวลือ ภาพหลุด ที่ลือกันนั้น เกิดขึ้นได้เพียงแค่ชั่วพริบตา และซีรีส์นี้ก็จะเผยให้เราเห็นถึงสังคมไฮสคูลของอเมริกา การกลั่นแกล้ง นินทา เหยียดหยาม ที่บางทีผู้ใหญ่เองก็ไม่ได้มาเห็นสังคมตรงนี้

ความยาว: 50–60 นาที/ตอน

13 Reasons Why — ทีวีซีรีส์ของ NETFLIX

Audrie & Daisy (2016)

หนังสารคดีที่จะเล่าเรื่องราวของตัวละคร 2 คน นั่นคือ Audrie และ Daisy ซึ่งทั้งคู่นั้นได้เป็นเหยื่อของ Cyberbullying เหมือนกัน แต่รับมือกับปัญหานี้ด้วยวิธีการที่ต่างกันออกไป หนังเรื่องนี้จะแสดงให้เห็นว่าการกระทำแต่ละอย่างล้วนมีผลตามมา เอาเป็นว่าต้องตามไปดูครับ

ความยาว: 1 ชั่วโมง 35 นาที

Audrie & Daisy ภาพยนตร์ประเภทสารคดีของ NETFLIX

Cyberbully (2015)

หากใครเคยดู Game of Thrones มาก่อนก็จะคุ้นหน้าคุ้นตากับตัวเอกมาก เพราะเธอก็คือ Arya Stark นั่นเอง ในหนังเรื่องนี้เธอสวมบทเป็น Casey หญิงสาวที่ถูกแฮคเกอร์ทำการเบลคเมล์โดยการขู่ว่าถ้าเธอไม่ทำตาม จะเอารูปหลุดที่ขโมยมาได้ไปปล่อยลงสาธารณะ

เรื่องนี้ช่วยย้ำเตือนให้เห็นถึงความอันตรายของข้อมูลของเราไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย หรือ วิดีโอ ที่เมื่อลงสู่อินเตอร์เน็ตแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมได้อีกต่อไป

ความยาว: 1 ชั่วโมง 2 นาที

Cyberbully (2015)

Disconnect (2013)

หนังเรื่องนี้ออกจะพิเศษออกหน่อย เพราะเป็นหนังที่จะเล่าถึง 3 เหตุการณ์ โดยที่แต่ละเหตุการณ์จะมีพระเอกของเรื่อง Rich Boyd เข้าไปพัวพัน

เหตุการณ์แรกจะเกี่ยวกับนักข่าวสาวที่แชทกับหนุ่มขายบริการตามเว็บไซต์ โดยเธอเชิญชวนให้ชายหนุ่มมาออกสารคดีข่าวของเธอ

เหตุการณ์ที่สองจะเป็นเด็กชายที่ไม่มีใครสนใจ ไปโรงเรียนก็มีเพื่อนแกล้งเขาโดยการสมัครบัญชีผู้หญิงปลอมไปแชทกับเด็กชายจนกระทั่งเด็กชายหลงเชื่อแล้วส่งภาพเปลือยไปให้ดู เพื่อนก็แชร์ภาพหลุดของเด็กชายจนเป็นที่ขายหน้ากันทั้งโรงเรียน

เหตุการณ์ที่สามจะเกี่ยวกับภรรยาของครอบครัวหนึ่ง เธอไปแชทกับผู้ชายคนอื่นแต่กลับโดนผู้ชายคนนั้นโกงเอาเงินในธนาคารของครอบครัวเธอไปหมด

เป็นหนังที่ดูวุ่นวายพอสมควรแต่ก็ให้แง่คิดที่ดีในตอนท้ายเรื่อง

ความยาว: 1 ชั่วโมง 55 นาที

Disconnect

Case Study จากเรื่องจริง

หัวข้อนี้จะตีแผ่เรื่องราวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying และเผยให้เห็นถึงความร้ายแรงของ Cyberbullying โดยแต่ละคนก็จะมีวิธีการรับมือที่แตกต่างกันออกไป บางรายที่มีวุฒิภาวะพอ หรือได้รับการช่วยเหลือที่ดีจากบุคคลรอบข้าง ก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายของพวกเขาได้ แต่ก็โชคร้ายที่บางรายนั้นได้รับผลกระทบที่ร้ายแรงจนต้องถึงแก่ “ชีวิต” โดยผมจะยกมาเล่าทั้งหมด 6 เรื่อง ซึ่งจะมีทั้งเรื่องจากประเทศไทย และต่างประเทศครับ

Megan Taylor Meier

เด็กสาวชาวอเมริกันวัย 13 ปี เธอเป็นเด็กที่ติดโซเชียลมาก โซเชียลที่เธอเล่นเป็นประจำคือ MySpace วันหนึ่งเธอได้ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจาก Josh Evans ที่แอบอ้างว่าเป็นเด็กหนุ่มอายุ 16 ปี ซึ่ง Tina Meier แม่ของ Megan ก็ได้ถามลูกว่ารู้จัก Josh ไหม เธอก็ตอบว่าไม่

Josh บอกว่าเขาเกิดที่ Florida แต่เพิ่งย้ายมาเมือง O’Fallon เมืองเดียวกับที่ Megan อาศัยอยู่ แล้ว Megan ก็ติดต่อกับ Josh อยู่เรื่อยมา แต่ก็เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้น นั่นคือเธอได้ทำการผูกคอตายในตู้เสื้อผ้าเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อนจะถึงวันครบรอบวันเกิด 14 ปีของเธอ

เมื่อเข้าไปดูในบัญชี MySpace ก็พบว่า ก่อนที่ Megan จะตัดสินใจฆ่าตัวตาย มีข้อความสุดท้ายส่งมาจาก Josh ว่า “Everybody in O’Fallon knows how you are. You are a bad person and everybody hates you. Have a shitty rest of your life. The world would be a better place without you.” (“ทุกๆ คนใน O’Fallon รู้นิสัยแกดี แกมันนังสารเลว แล้วทุกๆ คนก็เกลียดแก ขอให้ชีวิตที่เหลือของแกมีแต่ความเฮงซวย โลกคงจะดีกว่านี้ถ้าไม่มีคนอย่างแกอยู่”)

สุดท้ายเรื่องนี้ก็ถูกเปิดเผยว่า Josh Evans เป็นแอคเคาท์ปลอมที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยแม่ของเพื่อนร่วมชั้น Megan โดยเธอบอกว่าทำไปเพราะจะหลอกหาข้อมูลของ Megan ไปรังแกต่อในภายหลัง

เรื่องอันน่าสลดของ Megan ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วอเมริกา จากนั้นเลยได้มีการจัดตั้ง Megan Meier Foundation (มูลนิธิ Megan) ขึ้นมา หากคุณผู้อ่านสนใจก็สามารถเข้าไปดูได้ที่นี่ครับ

ปุยฝ้าย

ปุยฝ้าย (นามสมมุติ) นักเรียน ม.3 เทอม 2 เป็นเด็กเรียนเก่ง แต่ความที่เธอเรียนเก่งนี้ เธอจึงถูกเพื่อนในห้องอิจฉา อยู่มาวันหนึ่ง มีรุ่นพี่ส่งลิงค์เพจเฟสบุ๊คมาให้เธอดู เธอเห็นภาพของเธอในเฟสบุ๊ค พร้อมกับคำบรรยายถูกส่อไปในทางเพศว่า เด็กสก๊อยขายตัว พร้อมเบอร์ที่ติดต่อ

ผลที่ตามมาคือ เธอถูกเพื่อนล้อ เพื่อนแกล้ง โยนงานให้เธอทำคนเดียว โดนคว่ำบาตร แล้วก็รวมไปถึงอาจารย์ที่ไม่ยอมให้เธอเข้าห้องเรียน เธอไม่อยากไปโรงเรียนอีกต่อไป แต่เพราะเกรงใจพ่อแม่ก็เลยต้องฝืนไปทั้งอย่างนั้น ทำให้เธอเก็บตัวเงียบๆ อยู่ในมุมของตัวเอง จากผลการเรียนดีกลายเป็นตกฮวบ แต่แม้เธอจะเครียด เธอก็ไม่ได้บอกเรื่องนี้ให้ทางบ้านรู้ มีแต่เพื่อนสนิทเพียง 2–3 คนเท่านั้นที่ทราบเรื่องของเธอ

เมื่อปัญหาหลายอย่างรุมเร้า วันหนึ่งขณะที่เธออยู่คนเดียวก็เกิดความคิดว่า ชีวิตน่าเบื่อ อยู่ไปก็ไร้ค่า สังคมรังเกียจ หนำซ้ำยังนำปัญหามาให้พ่อแม่อีก เธอได้หยิบคัตเตอร์ขึ้นมาเพื่อที่จะกรีดข้อมือตัวเอง แต่โชคดีเพื่อนกลับมาเห็นทัน นับจากนั้นทุกวันที่มาโรงเรียน เพื่อนสนิทต้องตรวจกระเป๋าว่ามีของมีคมหรือไม่

พอเวลาผ่านไป สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นเลย เธอตัดสินใจที่จะปรึกษาพ่อที่เป็นตำรวจ โดยแคปหน้าจอขณะโดนแกล้งไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นก็ตามสืบ โดยคาดว่าเจ้าของเพจปลอมนี้ น่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง

การตามสืบประสบผลสำเร็จ เธอรู้ว่าคนที่แกล้งเธอเป็นเพื่อนร่วมห้อง เธอเลยพูดขึ้นมาในห้องเรียนว่า รู้ตัวคนแกล้ง มีหลักฐานครบ จะแจ้งความ ดำเนินคดี แต่ปรากฎว่าในวันต่อมาเพจปลอมนั้นก็ได้ปิดตัวลง

ปัจจุบันปุยฝ้ายเรียนอยู่ชั้นม.6 และสามารถใช้ชีวิตในโรงเรียนได้เป็นปกติ ต้องบอกว่าปุยฝ้ายเป็นคนที่เข้มแข็งมาก และตัดสินใจถูกที่ไปปรึกษาพ่อแม่ เรียกได้ว่าเธอเป็นคนที่มีวุฒิภาวะดี แม้ว่าจะมีช่วงที่เคยคิดจะทำร้ายตัวเอง แต่ต้องขอบคุณพ่อแม่และเพื่อนสนิทของเธอที่ได้ดูแล ให้คำแนะนำจนทำให้เธอใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

ที่มา: หนังสือ dtac Parent Guide คู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์ หน้าที่ 11 (สามารถ Download หนังสือในรูปแบบ PDF ได้ฟรีที่ลิงค์นี้ครับ)

น้ำหอม

น้ำหอม (นามสมมุติ) ได้ตอบรับคำขอเป็นเพื่อนจากเฟสบุ๊ค ซึ่งเธอก็ไม่ได้รู้จักผู้ชายคนนี้ ในเวลาต่อมาผู้ชายคนนี้ได้โพสรูปแผ่นหลังอันเปลือยเปล่าของน้ำหอมขณะอาบน้ำ ที่หน้าวอลล์ของเขา เธอตกใจแล้วก็ไม่แน่ใจว่าโดนแอบถ่ายไปเมื่อไหร่ เธอเลยทักผู้ชายคนนั้นไปว่าให้ลบรูป แต่รูปที่ลงไปแล้วและถูกแชร์ไปแล้ว ถึงลบไปก็แก้ไขอะไรไม่ได้อยู่ดี ทำให้เธอค่อนข้างกังวลอย่างหนัก จิตตก นอนไม่ค่อยหลับ เพราะกังวลอยู่ตลอดเวลาว่ารูปจะลามไปถึงไหน เขาได้ถ่ายอะไรมากกว่ารูปแผ่นหลังของเธอรึเปล่า

ที่มา: สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

Amanda Todd

เด็กสาวชาวแคนาดาวัย 15 ปี เป็นผู้หญิงที่เคยเล่นเว็บแคมเพื่อทำความรู้จักและพบปะกับคนในอินเตอร์เนต ในตอนนั้นมีชายคนหนึ่งได้ใช้คารมเกลี้ยกล่อมเธอ จนเธอยอมเปลือยหน้าอกโชว์เว็บแคม เขาบันทึกภาพหน้าอกของ Amanda เก็บไว้เพื่อแบล็กเมล์เธออยู่หลายครั้ง จนสุดท้ายแล้วภาพก็ถูกเผยแพร่ลงอินเตอร์เน็ต ภาพได้ถูกแชร์ต่อกันไปอย่างรวดเร็วจนเธอไม่สามารถควบคุมได้

Amanda ถึงขั้นย้ายโรงเรียนแต่ไม่ว่าเธอจะย้ายไปกี่ที่ ชายคนนั้นก็จะตามไปเผยแพร่ภาพนั้นให้เพื่อนโรงเรียนใหม่ของเธออยู่ทุกครั้งไป ไม่มีใครคบเธอ ทำให้ตกอยู่ในสภาวะหดหู่ จนเผลอตัวไปมีความสัมพันธ์กับเพื่อนชายที่มีแฟนแล้ว นั่นทำให้เรื่องบานปลายเข้าไปใหญ่ คนก็ยิ่งมองเธอไปในทางไม่ดีขึ้นอีก มองเธอเป็นตัวสำส่อน แพศยา สถานการณ์มีแต่จะย่ำแย่ลงจนเธอตัดสินใจจะกินน้ำยาฟอกขาวฆ่าตัวตาย แต่โชคดีที่มีคนเห็นจึงช่วยชีวิตได้ทัน

แทนที่สังคมจะสงสารเธอ แต่ไม่เลย หลังจากเหตุการณ์นั้นมีแต่คนแช่งเธอ โพสต์รูปภาพน้ำยาฟอกขาวพร้อมกับแท็กเธอ เหมือนกับจะบอกให้เธอนั้นกินมันแล้วก็ไปจากโลกนี้ซะเถอะ

โชคร้ายที่เธอไม่สามารถทนรับกับแรงกดดันจากสังคมได้ เธอได้ทำคลิประบายทุกข์และผูกคอตาย ลาโลกไปในวันที่ 10 ตุลาคม 2012

คลิปก่อนอำลาโลกของ Amanda Todd

ที่มา หนังสือ dtac Parent Guide คู่มือพ่อแม่ยุคดิจิทัล เข้าใจลูก เข้าใจโลกไซเบอร์ หน้าที่ 11

Tyler Clementi

เด็กหนุ่มชาวอเมริกันวัย 18 ปี กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัย Rutgers University มีคืนหนึ่ง Tyler ได้เอ่ยปากขอรูมเมทของเขาว่าต้องการใช้ห้อง ด้วยความที่รูมเมทสงสัยเลยแอบเปิดโน้ตบุคทิ้งไว้ในห้อง แล้วไปดูเว็บแคมจากที่อื่น เพื่อจะได้เห็นว่า Tyler นั้นทำอะไรกันแน่

กลับกลายเป็นว่า Tyler พาเพื่อนผู้ชายมาที่ห้อง แล้วก็จูบกัน รูมเมทเห็นดังนั้นจึงทวิตข้อความว่า Tyler เป็นชายรักร่วมเพศ อีกทั้งยังเชิญชวนชาวเน็ตคนอื่น มาร่วมดู Tyler ผ่านเว็บแคมไปพร้อมๆ กัน

หลังจากคืนนั้นผ่านพ้นไป Tyler เครียด ขาดความมั่นใจ และจิตตก จนสุดท้ายตัดสินใจกระโดดน้ำฆ่าตัวตายบนสะพานจอร์จวอชิงตันในเวลา 2 วันต่อมา

เจ้าหน้าที่ทำการกู้ศพของ Tyler Clementi //ที่มา:nydailynews

Monica Lewinsky

สำหรับคนสุดท้ายนี้จะเป็นเรื่องราวของคนที่อายุมากที่สุดและเป็นเรื่องราวที่โด่งดังที่สุด นั่นคือ Monica Lewinsky หญิงสาวชาวอเมริกัน อายุ 44 ที่ถูกจับได้ว่าเธอไปมีความสัมพันธ์กับอดีตประธานาธิปดี Bill Clinton เมื่อปี 1998 (ซึ่งในตอนนั้นเธออายุ 22 ปี) ทำให้ Bill Clinton ต้องถูกฟ้องถอดถอนออกจากตำแหน่งประธานาธิปดี

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่อินเตอร์เน็ตได้เข้ามาพอดี ข่าวของเธอได้ถูกเผยแพร่ไปอย่างรวดเร็วเพราะมัน อำนาจของอินเตอร์เน็ตทำให้เราได้เห็นว่าข่าวที่ได้ลงอินเตอร์เน็ตไปแล้วจะมีอายุเป็นนิรันดร์ทันทีนับตั้งแต่ตอนที่ลง

นั่นทำให้เธอถูกคนทั้งประเทศตีตราว่ามารยา แพศยา นั่นทำให้เธอเก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านเป็นเวลานับ 20 ปี จนปี 2015 เธอก็ได้ออกมาพูด TED Talks โดยเธอแนะนำตัวว่าเธอคือ Patience Zero (ผู้ป่วยรายแรก) ของการเสียชื่อเสียงต่อหน้าสังคมในระดับวงกว้าง เธอบอกว่าโลกเราทุกวันนี้มีวัฒนธรรมใหม่กำเนิดขึ้นมา นั่นคือ “Culture of humiliation (วัฒนธรรมของการดูถูกเหยียดหยาม) ” ที่ข่าวทุกวันนี้มักมีเนื้อหาเกีี่ยวกับเรื่องอื้อฉาว เรื่องน่าอายของคนอื่น เพราะข่าวพวกนี้เขียนง่ายและเรียกยอดวิวได้เยอะ นอกจากนี้เธอยังได้เสนอแนวทางที่จะมาแก้ปัญหาโลกของเราทุกวันนี้

The price of shame โดย Monica Lewinsky

“ในอเมริกา มีผู้ฆ่าตัวตายเนื่องจากโดนกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ปีละมากถึง 4,500 คน”

Danielle Mansutti-Youtuber

จบไปแล้วกับเรื่องราวของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying จะเห็นได้ว่าแต่ละเรื่องราวก็จะโดนกลั่นแกล้งด้วยวิธีการที่ต่างกันออกไป ทีนี้

การแกล้งแบบไหนบ้าง ถึงจะเป็น Cyberbullying ?

การกลั่นแกล้งกันในโลกออนไลน์มีได้หลายวิธี โดยหลักๆ แล้วจะสามารถจำแนกได้ 6 รูปแบบ ดังนี้

1. การโจมตี ขู่ทำร้าย หรือใช้ถ้อยคำหยาบคาย

การโพสต์ด่าทอ ขู่เข็ญ ใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หยาบคาย ไม่ว่าจะเป็นทางแชทส่วนตัว หรือโพสต์ที่หน้าโซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ เช่น ขู่ว่าจะมาทำร้าย ถึงผู้กระทำจะยังไม่ได้มาทำร้ายจริงๆ แต่เพียงการข่มขู่ด้วยข้อความก็ถือว่าเข้าข่าย Cyberbullying แล้วครับ

2. การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์

การพูดจาคุกคามทางเพศผ่านโซเชียลมีเดีย​สามารถ​พบเห็น​ได้ทั่วไปเลยครับ โดยเฉพาะ​ทางไลฟ์​เฟสบุ๊ค​ หรือตามโพสต่างๆ ก็จะมีข้อความที่เข้าข่ายคุกคามทางเพศอยู่มาก นอกจากนี้​การส่งข้อมูลที่มีเนื้อหาอนาจารโดยที่ผู้รับไม่ได้​ต้องการ หรือการเอารูป​ไปตัดต่อในเชิงลามก ก็ถือว่าเป็​น​ Cyberbullying​ อย่างหนึ่งได้เหมือนกั​นครับ

3. การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น

กรณีนี้ผู้กระทำจะแอบอ้างใช้บัญชีของเหยื่อ แล้วนำบัญชีนั้นไป โพสต์ข้อความหยาบคาย คลิปวิดิโอที่ไม่เหมาะสม หรือกระทำการต่างๆ ที่เกิดผลเสียต่อเจ้าของบัญชีตัวจริง ใครเคยเห็นเพื่อนล็อกอินบัญชีเฟสบุ๊คทิ้งไว้แล้วเราเข้าไปสวมรอยโพสข้อความ หรือกระทำการต่างๆ ที่เขาไม่ได้เต็มใจให้ทำ ก็ควรเลิกทำนะครับ

4. การแบล็กเมล์กัน

การแบล็ก​เมล์​คือการนำความลับของผู้อื่นไม่ว่าจะมาเป็​น​ในรูปแ​บ​บ​ภาพ วิดีโอ​ หรือเสียง มาเผยแพร่ลงโซเชียล​มีเดีย​ เพื่อทำให้เกิดการแชร์​ต่อในวงกว้าง หรือการใส่ร้ายป้ายสี เช่น ตัดต่อรูปภาพของเหยื่อ​ แล้วนำมาโพสต์ประจาน

5. การหลอกลวง

มีทั้งการหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อ นัดเจอนอกสถานที่เพื่อจะทำมิดีมิร้าย หรือการหลอกลวงให้ผู้เสียหายโอนเงินไปให้ด้วยวิธีการต่าง ๆ พบได้บ่อยตามการซื้อ-ขายของในเฟสบุ๊คครับ

6. การสร้างกลุ่มในโซเชียลเพื่อโจมตีโดยเฉพาะ

ที่เห็นภาพได้ชัดเลยคือการตั้งเพจขึ้นมาเพื่อโจมตีบุคคลที่เป็นเป้าหมาย จัดผิดทุกการกระทำของเขา โพสข้อความให้เกิดความเกลียดชังเป้าหมาย เป็นต้น

ที่มา: https://health.kapook.com/view150050.html

อันที่จริงแล้ว Cyberbullying ไม่ได้จำกัดตายตัวว่าจะเป็นการแกล้งแบบไหน อย่างกรณีของ Amanda Todd จะถือว่าเข้าข่ายทั้ง แบบที่ 2 (การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์) และ แบบที่ 4 (การแบล็กเมล์กัน) ไปในเวลาเดียวกัน

วิธีรับมือกับ Cyberbullying

  • อย่าเก็บเรื่องไว้คนเดียวเพราะจะเป็นการกดดันตัวเอง
  • บันทึกหลักฐานไว้ฟ้อง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่หัวข้อกฎหมายข้างล่าง)
  • ถ้าโดนคุกคามถึงขั้นร้ายแรงก็อาจจะต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์​ อีเมล์​ ที่อยู่
  • เมื่อโดนกล่าวด่าแบบไม่มีเหตุผล ก็ไม่ควรไปสนใจ เพราะไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องไปทะเลาะกับเขา ถึงแม้จะคุยกันไปก็ไม่รู้เรื่องกันอยู่ดีเพราะเขาไม่มีเหตุผล
  • ห้ามส่งรูป หรือข้อมูลสำคัญ ลงบนอินเตอร์เนต ถึงแม้ว่าจะส่งแบบส่วนตัวก็ตาม ต้องคิดไว้เสมอว่ารูปพวกนี้มีโอกาสที่จะถูกเผยแพร่ได้

นอกจากนี้ยังมีวิธีการ​รับมือ​กับ​ Cyberbullying​ ที่กรมสุขภาพจิตได้แนะนำนั่นคือ “2 ไม่ 1 เตือน” หมายถึง ไม่สื่อสารหรือตอบโต้กับสื่อที่เข้าข่ายว่าจะเกิดความรุนแรง ไม่ส่งต่อ ถึงแม้เราจะแชร์​เพราะ​ว่าไม่ชอบก็ตาม ลองเปลี่ยน​จาก “แชร์​เพราะ​ไม่​ชอบ”​ มา​เป็น​ “เพราะ​ไม่ชอบจึงไม่แชร์​” ดีกว่าครับ และสุดท้ายคือ 1 เตือน​ ที่ควรจะเตือนบุคคลที่เข้าข่ายใช้ความรุนแรงด้วยความสุภาพ

วิธีการรับมือกับ Cyberbullying โดยกรมสุขภาพจิต

Cyberbullying ในไทย

สำหรับประเทศไทย กลุ่มที่จะพบ Cyberbullying ได้เยอะนั่นคือเด็กวัยประถมและวัยรุ่น โดยจะเป็นการกลั่นแกล้งในลักษณะด่ากัน เปิดเผยความลับของเพื่อน และเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

ทาง “นิด้าโพล” ได้ทำการเก็บข้อมูลจากเยาวชนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี โดยโพลนี้แสดงให้เห็นว่า เยาวชนส่วนใหญ่พบเห็น Cyberbullying ที่เป็นในลักษณะการด่าทอ พูดจาให้ร้ายใส่กันมากถึง 29.18% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของเยาวชนทั้งหมด

อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือหัวข้อประสบการณ์ของตนเกี่ยวกับ Cyberbullying พบว่ามีเยาวชน 12.24% เป็นผู้ถูกกระทำ และอีก 5.24% ยอมรับว่าเคยเป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ หากนำมารวมกัน จะพบว่ามีเยาวชน 17.48% ที่มีโอกาสที่จะสภาพจิตใจย่ำแย่ได้ถ้าหากไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ

ข้อมูลได้จากการสำรวจเมื่อวันที่ 18–21 มีนาคม 2560

เคยมีกลุ่มนักศึกษาได้ทำการเก็บข้อมูลเด็กประถมว่าเคย Cyberbullying รึเปล่า เด็กส่วนใหญ่บอกว่าเคย แต่ที่น่าตกใจก็คือเด็กที่เคยมีทั้งเด็กเรียนเก่งอยู่ด้วย นั่นหมายความว่าเด็กคนไหนก็สามารถ Cyberbullying ได้

กลุ่มนักศึกษาได้ถามต่อว่าที่ทำลงไปมีใครรู้บ้าง เด็กตอบว่าเพื่อนจะรู้กันก่อน ถัดมาคือครูที่อาจจะรู้ ส่วนพ่อแม่นั้นจะรู้ทีหลังสุดหรืออาจจะไม่รู้เลยว่าลูกทำ

บริษัท dtac ได้สำรวจกลุ่มเยาวชนที่มีอายุระหว่าง 12–18 ปี พบว่าเด็กนั้นไม่ไว้ใจพ่อแม่ถึง 59% ซึ่งเป็นที่น่าตกใจมาก พ่อแม่ควรเปิดใจกับลูกให้มากขึ้น และคอยดูแลสอดส่องเยาวชนอย่างจริงใจ

Infographic เกี่ยวกับ Cyberbullying ในประเทศไทย จัดทำโดย dtac

กฎหมายเกี่ยวกับ Cyberbullying

สำหรับกฎหมายเกี่ยวกับ Cyberbullying ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีกฎหมายเจาะจงโดยเฉพาะเหมือนกับที่ต่างประเทศ แต่จะมีกฎหมายที่มีผลได้เหมือนกันนั่นคือ ความผิดฐานหมิ่นประมาทในประมวลกฎหมายอาญา (มาตรา 326) ที่พอจะนำมาปรับใช้ได้โดยหมิ่นประมาทจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • หมิ่นประมาทธรรมดา (มีบุคคลที่ 3 อ่าน 1 คน) เช่น คุยแชทส่วนตัวกันแล้วมีคนมาเห็น
  • หมิ่นประมาทโดยโฆษณา (มีบุคคลที่ 3 อ่านอยู่ 1 คนขึ้นไป) ประเภทนี้โทษจะร้ายแรงกว่าแบบแรก เช่น โพสสาธารณะ โพสตามเพจ เป็นต้น

-ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีโอกาสที่จะเข้าคุกได้ เพราะกฎหมายมีผลไปถึงประมวลกฎหมายอาญา

-นอกจากนี้ยังมีมาตรา 329 ที่เกี่ยวข้องกับการละโทษความผิดฐานหมิ่นประมาท ดังนี้

ประมวลกฎหมายอาญา — มาตรา 329

หากโดน Bullying เราสามารถแคปรูปมาใช้เป็นหลักฐานได้ โดยหลักฐานที่จะนำมาฟ้องโทษฐานหมิ่นประมาทต้องมีอายุไม่เกิน 3 เดือนนับจากวันที่แจ้งความ ดังนั้นแล้วควรรีบไปร้องทุกข์ทันทีหลังจากทราบเรื่อง

สรุป

ไม่ได้จำเป็นว่า ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ Cyberbullying จะต้องจบชีวิตด้วยการ “ฆ่าตัวตาย” ทุกราย บางรายที่เข้มแข็ง ได้รับการดูแลจากคนรอบข้างที่ดี ก็สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันเลวร้ายตรงนั้นมาได้ (ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก)

สำหรับในประเทศไทย เรื่องนี้ยังไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก แล้วที่น่าเป็นห่วงก็คือ ทุกวันนี้เหยื่อส่วนใหญ่จะไปตกอยู่ที่กับเด็ก หรือวัยรุ่นที่ยังไม่มีวุฒิภาวะมากพอ อีกทั้งยุคโซเชียลมีเดียที่เด็กสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ เหล่านี้ได้ง่าย ก็ยิ่งน่ากลัวเข้าไปอีก

หากเรายังไม่ให้ความสำคัญหรือตระหนักกับปัญหานี้กันอีก ก็จะมีเด็กไทยที่ตกเป็นเหยื่อแล้วเขาเหล่านั้นตัดสินใจฆ่าตัวตายอีกมาก เมื่อเวลานั้นมาถึง เราจะไปแก้ปัญหามันก็ไม่ทันแล้วครับ ชีวิตคนมันเอาคืนมาไม่ได้

ที่เราควรทำตอนนี้คือต้องเตรียมตัวรับมือกับปัญหานี้ให้พร้อม เฝ้าสังเกตบุคคล หรือเยาวชนรอบข้างให้มากขึ้น ใส่ใจพวกเขา จะทำให้เรารับมือกับปัญหาตรงนี้ได้ครับ

--

--