วัฒนธรรมลาว

Supannikar Ch
2 min readMar 7, 2024
ภาพถ่ายโดย: สุพรรณิการ์ ชาคำรุณ

วัฒนธรรมลาวมาจากแนวคิดทางปรัชญาของคนลาว โดยเฉพาะคติทางพุทธศาสนานั้นถือว่ามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรม ชาวลาวส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติ (ร้อยละ 60 ของชาวลาวทั้งหมด) ควบคู่ไปกับลัทธินับถือ ผีบรรพบุรุษของชนชาติส่วนน้อยในแถบภูเขาสูง ส่วนชาวลาวที่นับถือศาสนา คริสต์และศาสนาอิสลามมีจำนวนที่ค่อนข้างน้อยมาก โดยศาสนาคริสต์ส่วน มากจะมีผู้นับถือเป็นกลุ่มชาวเวียดนามอพยพและชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม ส่วนศาสนาอิสลามพบว่ามีการนับถือในหมู่ชนชาติส่วนน้อย โดยเป็นกลุ่มจีนฮ่อที่อาศัยตามชายแดนด้านติดกับประเทศพม่า และมีชุมชนมุสลิมที่มีเชื้อสายเอเชียใต้ และจาม ในเวียงจันทน์ ประเทศลาวรวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะภาคพื้นทวีป (Mainland) เช่น ลาว ไทย กัมพูชา พม่า มีลักษณะร่วมทางวัฒนธรรมที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ ศาสนา ภาษา กลุ่มชาติพันธ์ และวิถีชีวิตเนื่องจากในสมัยโบราณวัฒนธรรมไม่ได้ถูกจำกัดด้วยอาณาเขตและพรมแดนของชาติพันธุ์ที่ไม่ได้ปรากฏชัดเช่นสังคมปัจจุบัน ที่ทำให้คนต้องกำหนดชาติพันธุ์ของตัวเอง ดังเช่นที่ปราณี วงษ์เทศ กล่าวถึง สำนึกเกี่ยวกับชนเผ่าของชาวอุษาคเนย์ไว้ว่า ลักษณะของกลุ่มชนในอดีตคงอยู่ในระดับเผ่าพันธุ์ ที่ถือว่ามีวัฒนธรรมร่วมกันในทางภาษา และลักษณะทางวัฒนธรรมอื่น ๆ (ปราณี วงษ์เทศ, 2543, น. 288) ผู้เรียบเรียงจึงนำเอาวัฒนธรรมลาวบางส่วนมาที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนลาวที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา คือ

1. ฮีต 12 ครอง 14

ประเทศลาวเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายของชนเผ่าต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละชนเผ่าก็มีความเชื่อ และประเพณีที่แตกต่างกัน สำหรับ “ฮีต 12 ครอง 14” มีความหมายว่า “ฮีตสิบสอง” คำว่า “ฮีต” มาจากคำว่า “จารีตประเพณี” หรือสิ่งที่ยึดถือประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน ส่วนคำว่า “สิบสอง” หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือนในรอบหนึ่งปี ดังนั้น ความหมายโดยรวม ๆ จึงหมายถึง งานบุญประเพณีในแต่ละเดือนของชาวลาวลุ่ม ซึ่งยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งโบราณ จุดมุ่งหมายเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ที่ล่วงลับ ตอบแทนบุญคุณของธรรมชาติ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ช่วยดลบันดาลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี การประกอบพิธีดังกล่าวนิยมทำกันในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยทั่วไปแต่กิจกรรมบางอย่างในบางท้องถิ่น อาจเลิกปฏิบัติ หรือมีการปฏิบัติผิดแผกแตกต่างกันไปบ้างขึ้นอยู่กับความนิยมและความเชื่อถือของประชาชนในแต่ละท้องถิ่นเป็นสำคัญ สำหรับบุญประเพณีที่ค่อนข้างจะได้รับความนิยม มีการถือปฏิบัติอย่างกว้างขวาง ได้แก่ บุญพระเวส (เดือนมีนาคม) บุญสังขานต์ขึ้นหรือบุญปีใหม่ (เดือนเมษายน) สรงน้ำพระ (เดือนเมษายน) บุญเข้าพรรษา (เดือนกรกฎาคม) บุญข้าวประดับดิน (เดือนสิงหาคม) บุญข้าวสาก (เดือนกันยายน) บุญออกพรรษา (เดือนตุลาคม) บุญไหลเรือไฟ(เดือนตุลาคม) และในเดือนพฤศจิกายน คือ งานบุญกฐินและบุญไหว้พระธาตุซึ่งในแต่ละเดือนจะจัดให้มีงานบุญที่แตกต่างกัน

2. บุญสงกรานต์ (กดสงกรานต์)

งานประเพณีบุญสงกรานต์หรือกุดสงกรานต์ เป็นงานประเพณีปีใหม่ลาวตรงกับสงกรานต์ของไทยเป็นเทศกาลสำคัญประจำปีและเป็นวันหยุดยาวระหว่างวันที่ 14–16 เมษายนของทุกปี วันแรกของงานเรียกว่า “วันสังขารล่วง” ชาวหลวงพระบางจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดกวาดสิ่งไม่ดีในปีที่ผ่านมาออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่เข้ามาและไปจับจ่ายซื้อของและธงรูปพระพุทธเจ้า เพื่อไปปักกองเจดีย์ทรายริมแม่น้ำโขง ตกเย็นมีการลอยกระทง ภายในกระทงบรรจุ กล้วย ขิง ข้าวดำ ข้าวแดง ดอกไม้ ใบพลู ธูป เทียน ดอกดาวเรือง ผมและเล็บของผู้ลอย อธิษฐานให้ทุกข์โศกโรคภัยลอยไปกับกระทง ในวันที่สองเรียกว่า “วันเนา” ช่วงเช้ามีการแห่รูปหุ่นเชิดปู่เยอ ย่าเยอและสิงห์แก้ว สิงห์คำ ซึ่งเป็นเทวดาที่ชาวหลวงพระบางให้ความนับถือช่วงบ่ายขบวนแห่ซึ่งนำโดยปู่เยอย่าเยอ ผู้เฒ่าผู้แก่ หัวหน้าหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้าน ขบวนพระสงฆ์ นางสังขาร ขี่สัตว์พาหนะบนรถแห่ปู่เยอย่าเยอก็จะฟ้อนรำอวยพรให้ลูกหลาน วันที่สามเรียกว่า “วันสังขารขึ้น” ซึ่งเป็นวันปีใหม่ ชาวหลวงพระบางทำข้าวเหนียวนึ่งและขนมลูกกวาด พากันเดินขึ้นพูสี ภูเขาสูงกลางเมืองหลวงพระบาง ระหว่างเดินจะวางข้าวเหนียวและขนมไว้ตามหัวเสาบันไดจนถึงองค์พระธาตุ วิธีการนี้เรียกว่าเป็นการตักบาตรพูสี มีการโยนข้าวเหนียวลงป่าข้างองค์พระธาตุเป็นการให้ทาน ช่วงบ่ายมีขบวนแห่นางสังขารและอัญเชิญศีรษะท้าวกบิลพรหมจากวัดเชียงทองไปยังวัดวิชุน มีการสรงน้ำพระที่วัดวิชุน และในวันสุดท้ายนับว่าเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งมีการแห่พระบางพระพุทธรูปคู่เมืองหลวงพระบาง ซึ่งปรกติจะประดิษฐานอยู่ในหอพิพิธภัณฑ์บริเวณปีกด้านขวาของพระราชวัง ปีหนึ่งจะอัญเชิญออกมาให้ชาวเมืองสรงน้ำที่วัดใหม่สุวรรณภูมิอาราม เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน จากนั้นจะอัญเชิญกลับหอพิพิธภัณฑ์เหมือนเดิม

3. วัฒนธรรมการกิน

อาหารลาวโดยทั่วไปนั้น มีลักษณะที่ปรุงแต่งน้อยที่สุด เน้นความเรียบง่ายแบบธรรมชาติ รสชาติไม่ค่อยจัดจ้าน วิธีการทำไม่ซับซ้อน แม้อาหารในวังจะมีขั้นตอนมากกว่าอาหารของชาวบ้านก็ตาม ก็ยังถือว่าเน้นความเรียบง่ายอยู่ สามารถสรุปลักษณะของอาหารลาวได้ดังนี้ 1) การเน้นกินผัก กินปลา เนื่องจากธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ เช่น ปลาบริเวณแม่น้ำโขงฝั่งลาวซึ่งเป็นจุดที่ปลาน้ำโขงอร่อยสุด รวมถึงผักที่นำมารับประทานจะเป็นผักพื้นบ้านและผักสมุนไพร 2) อาหารประเภทแกงของลาวจะไม่ใส่กะทิ 3) อาหารลาวมีเครื่องปรุงรสที่สำคัญ คือ ปลาร้า รวมถึงเกลือและน้ำปลาในภาคเหนือจะมีการใส่น้ำปูและถั่วเน่าด้วย จึงมีรสเค็มและไม่ใส่น้ำตาล ในขณะที่สมัยก่อนพริกไทยเป็นเครื่องปรุงหลักในอุษาคเนย์ 4) การปรุงอาหารของชาวลาว ส่วนใหญ่จะกระบวนการต้ม แกง นึ่ง คั่ว ย้ำ อั่ว คือ การยัดไส้ เอาะ คือ ลักษณะคล้ายแกงแต่มีน้อยกว่า ปิ้ง และขนาบ ซึ่งเป็นการนำอาหารที่ปรุงแล้วมาห่อใบตองแล้วนำไปปิ้งให้สุกด้วยไฟอ่อน ๆ และ 5) การกินอาหารคู่กับข้าวเหนียวนึ่ง (นันทนา ปรมานุศิษฏ์, 2556, น. 44–45)

4. เครื่องแต่งกายของชาวลาว

เครื่องนุ่ง เขื่อง หนุ่ง หมายถึง เครื่องแต่งกายปัจจุบันหญิงชาวลาวนิยมต่างกายแบบประเพณีนิยม คือ นุ่งซิ้น คือ นุ่งซิ่น สวมเสื้อ คือ สวมเสื้อ ทั้งผ้าซิ่นและเสื้อมีแบบต่าง ๆ ส่วนผู้ชายมักจะสวม โส้ง คือ สวมกางเกงและเสื้อของผู้ชายมักเป็นแบบสากลนิยมเครื่องแต่งกายของชาวลาวก็เกือบจะคล้ายกับเครื่องแต่งกายของชาวไทย กางเกงจะมีแบบขาสั้น ขายาว ขาสามส่วน เสื้อมีแบบแขนสั้น แขนยาว มีหลายสี ส่วนผ้าซิ่นผู้หญิงจะมีแบบธรรมดาและแบบมีลวดลายหลากสี เช่น ผ้าซิ่นมีตีนจก ตีนจก คือ เชิงซิ่นที่ทอด้วยวิธีจกลายโดยใช้ขนเม่นควักด้ายเส้นยืนแล้วสอดไหมหรือด้ายฝ้ายทำเป็นลวดลายแล้วนำมาเย็บติดที่เชิงผ้าซิ่น ส่วนเสื้อก็มีแบบต่าง ๆ มากกว่าแบบเสื้อผู้ชาย อย่างไรก็ตามชาวลาวจะแต่งกายตามฐานะทางเศรษฐกิจครอบครัวของตน ในเมืองใหญ่จะเห็นชาวลาวต่างเครื่องต่างกายของหน่วยงานที่สังกัดอยู่เป็นผู้กำหนดให้ทุกคนแต่งเหมือน ๆ กันเฉพาะหมู่หนึ่ง คณะหนึ่ง ชาวชนบทนอกเมืองจะแต่งกายตามสบายในที่อันเป็นส่วนตัว คือ ผู้ชายนิยามสวมผ้าขาวม้า สวมเสื้อตามสบาย ส่วนผู้หญิงสวมผ้าถุงสวมเสื้อแขนสั้นหรือแขนยาว การนุ่งห่มของผู้ชายเมื่ออยู่บ้านมักจะนุ่งผ้าโสร่งไหมหรือฝ้าย กางเกงขาสั้นหรือขายาว ส่วนเสื้อเป็นเสื้อคอกลมหรือคอตั้ง ส่วนผู้หญิงมักนุ่งซิ่นมีหัวมีตีน คือ ซิ่นที่มีเชิงตอนชายผ้า ผ้าซิ่นอาจเป็นฝ่ายหรือไหม ส่วนเสื้อมีทั้งแขนสั้นและแขนยาวบางทีก็สวมเสื้อหมกกะแหล่ง คือ เสื้อคอกระเช้า เป็นการนุ่งห่มแบบพื้นเมืองตามวัฒนธรรมอันดีงามของลาว สำหรับการนุ่งห่มในเวลาไปทำบุญและในงานประเพณีต่าง ๆ ผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวหรือโสร่ง สวมเสื้อแขนยาวหรือแขนสั้นไม่จำกัดสีแต่สุภาพเรียบร้อย เบี่ยงผ้าหรือมัดเอว ส่วนผู้หญิงนุ่งซิ่น สวมเสื้อแขนสั้นหรือยาวมีต่าง ๆ เกล้าผม เบี่ยงผ้าแพร ถ้าไปงานศพญาติพี่น้องทั้งผู้ชายและผู้หญิงต้องแต่งสีขาว (วิเชียร อำพนรักษ์, 2561)

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าประเทศลาวมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์ของประชากรที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่ง และเป็นประเทศที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติศาสนา ภาษา ศิลปะและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สะท้อนความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน

--

--