จากสองเป็นหนึ่ง: การแต่งงาน

TASSIKA R.
2 min readOct 23, 2018

--

credit: Unsplash
  • งานแต่งงานที่มาพร้อมสถานะใหม่

ตลอดชีวิต ฉันเคยแต่รับหน้าที่เป็นเพื่อนเจ้าสาว เป็นแขกร่วมแสดงความยินดีในงานแต่งงานของคนอื่นๆ ไม่เคยจินตนาการภาพตัวเองในชุดเจ้าสาวเลยสักครั้ง (แม้จะคว้าช่อดอกไม้เจ้าสาวมาได้หลายงานก็ตาม) คิดตลอดมาว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว แต่มาวันนี้ เผลอแป๊บเดียวก็เหลือเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนให้บอกลาชีวิตของ “นางสาว” ไปเป็น “นาง” พ่วงท้ายด้วยนามสกุลใหม่เสียแล้ว (ที่จริงฉันไม่ถือนะหากจะต้องใช้คำนำหน้าว่า นาง แล้วเปลี่ยนนามสกุลตามสามี ถือว่าเป็นการให้เกียรติคู่ชีวิตและลองวางความ “สาว” ที่ตัวเองยึดมา 15 ปีลงสักตั้ง) ฉันจะต้องเริ่มต้นชีวิตในอีกภาคหนึ่ง คนทั่วไปเมื่อมาถึงจุดนี้ก็อาจจะตื่นเต้น แต่สำหรับฉันมันมีอะไรมากมายกว่าคำว่าตื่นเต้นหลายระดับเลย

ผู้ชายคนหนึ่งใช้หัวใจตัวเองเปลี่ยนการมองชีวิตของฉันใหม่ทั้งหมด

จากเด็กหญิงที่เคยใช้ชีวิตอยู่ใต้ปีกของแม่ ปลอดภัยอยู่ใน comfort zone ที่คุ้นเคย ต้องออกมากางปีก ลองโผบินในเส้นทางบินของตัวเอง ต่อกรกับความกลัวที่มีอยู่เต็มไปหมด (ขอบคุณค่ะแม่ ที่ยังคอยซัพพอร์ตข้างหลัง)

จากคนที่ทำอะไรเองไม่เป็นเลย ต้องมาหัดเรียนรู้ชีวิตและผู้คน รู้จักโลกว่าไม่ได้มีด้านเดียว ผู้คนก็ไม่ได้มีแค่หน้าเดียว เรียนจริงเจ็บจริงไม่มีสตันท์

จากคนที่เคยเป็นผู้ได้รับการดูแล ต้องเข็นตัวเองให้ลุกขึ้นมาดูแลตัวเองให้ได้ break the limit มาสร้างจุดยืนเพื่อให้ดูแลคนอื่นๆ ได้ด้วย

การฝึกหัวใจตัวเองไปสู่จุดนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งกว่าความเหนื่อยยาก ฉันเรียนรู้แล้วว่าการเป็นคู่กับใครสักคน (โดยเฉพาะคนคนนั้นดันเป็นบอสตัวเองเนี่ย) ไม่ได้มีแต่ความรักหวานชื่นในโลกของเรา ไม่ใช่สลับกันหึงหวงงอนง้อหรือมีเซอร์ไพรซ์ตามแบบฉบับคู่รัก ไม่ใช่มนุษย์เมียที่รอแต่เก็บเงินเข้าตู้เซฟเถ้าแก่เนี้ยโดยไม่ต้องทำอะไร การก้าวไปเป็นคู่ชีวิตของผู้ชายคนนี้ คือ การเปลี่ยนตัวเองให้คู่ควรกับความรักของเขา ภาระหน้าที่ของเขา และคนสำคัญในชีวิตของเขา ดูแลเขา และดูแลคนสำคัญในชีวิตของเขาเหมือนคนในชีวิตของเรา

ดังนั้นการแต่งงานในแบบของฉัน จึงเป็นการเปลี่ยนสถานะพร้อมกับแบกรับหน้าที่อันยิ่งใหญ่ไปด้วยกัน

  • จุดเริ่มต้นของการมีงานแต่งงาน

วันธรรมดาๆ วันหนึ่ง เขานั่งฝั่งตรงข้ามฉัน มองหน้าฉัน ในมือเรามีถ้วยชาเขียวญี่ปุ่นคนละถ้วย พูดคุยกันตามปกติ หัวข้อก็หนีไม่พ้นเรื่องการเดินทาง เรื่องงาน และเรื่องผู้คนรอบตัวเราที่เราต้องทำความเข้าใจเพื่อจะได้ดูแลได้ถูกบริบท จู่ๆ เขาก็พูดขึ้นมาว่า “ผมมีคำถามเงินล้าน” (เขามักจั่วหัวแบบนี้เสมอเมื่อต้องการคำตอบอะไรที่ชี้ขาดหรือสำคัญมากๆ)

“เรารักกันมากพอที่จะแต่งงานกันหรือเปล่า”

ฉันอึ้งไปเล็กน้อย ก่อนจะตอบโดยเลือกคำที่วิ่งออกมาจากสมองคำแรกด้วยการพยักหน้า (ไม่ได้ลีลา เพราะคิดไม่ทันจริงๆ)

เราเปลี่ยนมาคุยเรื่องการแต่งงาน และน่าแปลกใจที่เห็นตรงกันว่าชอบอะไรง่ายๆ และอยากให้ทุกคนที่มางานของเราได้รับความสำคัญเหมือนๆ กัน วันนั้น อยากพูดคุยให้ครบทุกๆ คน สร้างประสบการณ์ดีๆ ให้ผู้ร่วมงานรู้ว่าเขาสำคัญต่อเราแค่ไหน ไม่อยากได้อะไรที่เหลือทิ้งไว้แค่รูปสวยๆ แต่จบงานไปแล้วทุกคนจำไม่ได้ว่าคุยกับบ่าวสาวในงานบ้างหรือเปล่า เราอยากได้งานเล็กๆ ที่จัดเฉพาะญาติ ไม่ต้องมีเพื่อนเจ้าสาว ไม่ต้องมีเพื่อนเจ้าบ่าว ไม่มีการแห่ ไม่มีการกั้นประตู ไม่ใช่พิธีสีขาวในทุ่งดอกไม้ สวมชุดเจ้าสาวหางลากยาวครึ่งกิโลเมตร เป็นแค่พิธีง่ายๆ ในครอบครัวที่สื่อสารว่า เราสองคนจะใช้ชีวิตร่วมกันแล้วนะ ขอบคุณที่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทั้งคู่ จากนี้ครอบครัวทุกฝ่าย ญาติทุกคนจะมีเราตลอดไป โดยงานจะตั้งอยู่บนความเรียบง่าย และไม่สร้างขยะที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินจำเป็น

ดังนั้นการแต่งงานในแบบของฉัน จึงเป็นเพียงการบอกผ่านธรรมเนียมปฏิบัติ (ให้มันถูกต้องตามพฤตินัยและนิตินัย) อย่างเป็นทางการว่า ครอบครัวของแต่ละฝ่ายมีสมาชิกเพิ่มมาแล้วอีกหนึ่งคน

credit: http://www.mostracheguevara.it/en/

ภูมิใจมากที่มุมมองการแต่งงานของฉันเป็นแบบเดียวกับของอาเลย์ดา มาร์ช ภรรยาของ เช เกวารา วีรบุรุษที่อีตาบอสชอบนักชอบหนา ลูกสาวของเช เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “งานแต่งงานที่เป็นวันสำคัญของผู้หญิง สำหรับแม่มันไม่ได้สำคัญขนาดนั้น เป็นแค่เรื่องที่สังคมปฏิบัติกันมากกว่า สิ่งสำคัญคือความรักระหว่างคู่แต่งงานต่างหาก”

หัวใจพองโตขึ้นมาอีกเลเวลหนึ่งทีเดียว

การจะมองโลกให้ได้แบบนี้ในยุคนั้นคงไม่ใช่เรื่องง่าย ฉันก็ต้องสู้เพื่อจุดยืนตัวเองเช่นกัน พอเริ่มเดินเคียงข้างผู้ชายคนนี้ อะไรๆ ก็ไม่ง่ายเหมือนเดิมอีกเลย

  • จากสองเป็นหนึ่ง

เราเลือกเอาวันที่ 18 พฤศจิกายนเป็นวันมงคลด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ ชอบเลข 8 (เขียนว่า 18.11.18 แล้วสวยดี) ค่อนข้างเชื่อว่าหัวใจเราทรงพลังพอๆ กับวันที่ซินแสน่าจะเลือก (มั่นหน้ามาก) แถมแม่และอาม่าเจ้าของปฏิทินก็บอกว่าเป็นวันธงไชย (ปฏิทินของอาม่าฉบับเดียวนะ) ประกอบกับเป็นวันอาทิตย์ที่ทุกคนไม่จำเป็นต้องลางานเพื่อมาร่วมยินดี เราจึงตัดสินใจได้ไม่ยาก

ด้วยความที่สองตระกูลมีเชื้อสายบรรพบุรุษข้ามน้ำข้ามทะเลมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ (ตระกูลอึ้ง ตระกูลลิ้ม ตระกูลเตีย) เราจึงตกลงกันว่าจะทำพิธีรวบรัด คือ หมั้น เพื่อให้เป็นไปตามธรรมเนียม สู่ขอกันให้ถูกต้องเรียบร้อย และยกน้ำชา เพื่อให้ความสำคัญกับการคารวะผู้ใหญ่และผู้มีพระคุณในตระกูล (เผื่อลูกหลานคนอื่นในงานจะได้รู้จัก และคุ้นๆ หน้าด้วยว่าสมาชิกใหม่ในครอบครัวมีใครบ้างที่ต้องให้ความเคารพ) เราตัดพิธีฉลองตอนเย็นออกเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้พักผ่อนและให้ญาติที่มาจากต่างจังหวัดได้เดินทางกลับสบายๆ ครอบครัวของเราสองคนก็สุดแสนจะเข้าใจและรักความเรียบง่ายเป็นทุนเดิม ฉะนั้นอยากจัดแบบไหนก็เห็นด้วยทุกประการ

เมื่องานแต่งงานออกมาเป็นแบบนี้ เพื่อนฝูงหรือคนรู้จักหลายคนในชีวิตฉันจึงเกิดคำถามว่า ฉันไปงานแกไม่ได้เรอะ แกไม่เสียดายรึไงที่ไม่ได้ใส่ชุดเจ้าสาวสีขาว ฉันเป็นเพื่อนเจ้าสาวแกไม่ได้ใช่ไหม และอื่นๆ ซึ่งโดยพื้นนิสัยของฉันแล้ว ฉันเกรงใจทุกคนอย่างมาก (แม้ขณะที่เขียนอยู่นี้ก็ยังรู้สึก) แต่ก็จำเป็นต้องตอบว่าขออภัยด้วยนะ งานของฉันเป็นงานเล็กๆ ง่ายๆ ที่เน้นความหมายและการปฏิสัมพันธ์ในเครือญาติ เลยไม่สามารถเชิญคนมากๆ ได้ แต่ทุกๆ คนที่เป็นเพื่อนฉัน แม้จะไม่ได้มาร่วมยินดีต่อหน้าในวันงาน ก็จะยังเป็นเพื่อนกันเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มิตรภาพสำหรับฉันอยู่ที่ความปรารถนาดีต่อกันในทุกสภาวะของชีวิต คือความรู้สึกของการอยู่ข้างๆ กันในทางใจไม่เฉพาะแต่ทางกายภาพ

อาจด้วยวิถีการทำงานตามแบบฉบับของบอส ทำให้การเตรียมงานทุกอย่างเรียบร้อยเป็นขั้นเป็นตอน เขาเอาวิธีการทำงาน ตลอดจนการใช้ชีวิตประจำวันมาใช้กับการจัดงานแต่งงานด้วย (และมันฮาร์ดคอร์มากค่ะคุณขา) เมื่อถึงวันที่สองครอบครัวรวมเป็นหนึ่ง ฉันก็หวังว่าตัวเองจะทำหน้าที่ลูกสาวที่ดี ลูกสะใภ้ที่ดี และเจ้าสาวที่ดีได้อย่างเต็มภาคภูมิ ให้สมกับที่เขาเคยบอกว่า “ผมอยากให้คุณได้มาเดินข้างๆ กันจริงๆ โดยมีสิทธิ์ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรีเต็มพร้อมในการเป็นทั้งเพื่อนคู่คิด เพื่อนร่วมเดินทาง และคู่ชีวิต” (ซึ่งฉันจะตีความว่า “ผมจะให้สิทธิ์คุณเป็นบอสของบอส” ก็แล้วกัน)(ช่างดีต่อใจ)

ดังนั้น ฉันจึงเลือกที่จะสื่อสารเรื่องการแต่งงานในแบบของฉันออกมาด้วยวิธีนี้ (ซึ่งใช้ความกล้าอย่างมากในการสาธยายเรื่องของตัวเองลงโซเชียล)

ถ้ามีโอกาสเขียนอีก จะมาเล่าประสบการณ์การลองจัดงานแต่งงานด้วยตัวเองแบบไม่จ้างผู้ช่วยเลยว่าสนุกขนาดไหน

ภาพนี้ฉันตั้งเวลาถ่ายเอง เลือกรูปที่เราสองคนนัดกันแต่งชุดเหมือนกันมาใช้แทนพรีเวดดิ้ง :)

--

--