ท่ามกลางความผูกพัน: แต่งงานแบบมี Brand

TASSIKA R.
2 min readNov 12, 2018

--

  • บรีฟงานหวานชื่นระหว่างเรา

รู้สึกดีเหลือเกินที่การแบ่งปันเรื่องของตัวเองทำให้หลายคนเห็นความสวยงามของงานแต่งงานในมิติที่ต่างออกไป มีบางคนส่งมาบอก (ทั้งตรงๆ และอ้อมๆ) ว่า “เราตกลงแต่งงานแล้วนะ (ตัดสินใจทันที) และจะจัดงานเรียบง่ายมีความหมายด้วยเหมือนกัน” ทำเอาฉันปลื้มใจจนไม่รู้จะยิ้มท่าไหนดี ขอแสดงความยินดีกับทุกคู่ด้วย ขอให้มีความรักที่งดงามทุกๆ ช่วงเวลานะคะ

จากที่บอกไว้ว่าทำทุกอย่างกันด้วยตัวเองตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงหลังงานจบ ตอนนี้จะมาเล่าว่าเราเริ่มกันจากตรงไหน

เวลาเดินทางแล้วพอมีช่วงว่าง (บริษัทให้เดินทางทุกเดือน) ต่อให้มีสองคนเราก็จะเปิดโต๊ะประชุม วางท่าจริงจังแบบบรีฟงาน (มีแอบเอนหัวซบๆ บ้างถ้าตรงไหนต้องให้เขาตัดสินใจ) บิ๊กบอสกางโน้ตบุ๊ก ฉันกางสมุด คิดอะไรได้ก็พิมพ์ นึกอะไรได้ก็วาด ดูเหมือนเครียดแต่มีแค่เราสองคนที่รู้ว่ามันหวานชื่นแค่ไหน ฉันชอบมากเวลาที่ได้ร่างแบบแล้วเขาคอยหันมาชี้ว่า สีนั้นสีนี้ดีไหม ตรงนี้ขอลายเส้นของคุณได้ไหม อันนี้แหละดีแล้ว ผมชอบแบบนี้เลย รู้สึกเหมือนเรากำลัง on the same page ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปพร้อมๆ กัน อยากเปลี่ยนตรงไหนก็เปลี่ยน เปลี่ยนแล้ว approve ทันที (เมื่อฉันทำตาปริบๆ กระพริบแรงๆ) เห็นต่างที่ตรงไหนก็จูนกันเลยไม่ต้องค้างเติ่ง

เอนหัวซบๆ แบบหวานชื่น (ในเรือด่วนเจ้าพระยาที่เสียงแถดๆ ดังไปแปดคุ้งน้ำ)

ไม่ได้คิดว่าจะได้เป็นเจ้าสาวเร็วอย่างนี้ และยิ่งไม่ได้คิดด้วยว่าจะเริ่มโดยเอากระบวนการที่ใช้ในชีวิตการทำงานมาใช้ดื้อๆ

  • งานแต่งงานแบบมี Key Concept

บิ๊กบอสชวนให้เริ่มจาก “แนวคิดหลัก” (Key Concept) ก่อน ที่จริงก็คือ concept ที่จะบอกทิศทางการออกแบบนั่นแหละ แต่เอามาทำเป็น bullet ให้จับประเด็นได้ง่ายขึ้น และช่วยให้เราตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง แก่นของการแต่งงานสำหรับเรา หากให้พูดออกมาเป็นคำๆ ก็คงเป็นคำว่า

  • ประเพณีจีน
  • เรียบง่าย
  • สมบูรณ์ในจารีต (เพราะจัดเพื่อผู้ใหญ่ในตระกูล)
  • มีความหมาย

ข้อที่ยากที่สุดคือ “มีความหมาย” เพราะมันยังจับต้องไม่ได้ และมันต้องเอาไปตีความต่อ เราอยากให้คำนี้อยู่ในทุกๆ ห้วงเวลาของวันที่ 18 พ.ย. ดังนั้นจึงเอาวิถีชีวิตและการทำงานของเราเข้าไปใส่ (งานที่เราทำก็คือชีวิตเหมือนกัน) บิ๊กบอสสรุปออกมาได้ว่า มันคือจุดยืนของบ่าวสาวต่อ people, profit แล้วก็ planet (เก้าอี้สามขาที่พาไปสู่ความยั่งยืน) เราทำอะไรในท่ามกลางผู้คน สิ่งที่ทำเกิดประโยชน์ด้านใดบ้าง แล้วส่งผลต่อโลกที่เราอยู่แบบไหนบ้าง ขยายความอีกมันก็จะลามไปเรื่อง responsible production กับ responsible consumption (จัดงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากร) ไปถึงเรื่อง storytelling (การสื่อสารเรื่องราว) ตลอดจน traceability หรือการตรวจเส้นทาง footprint ของทุกกระบวนการ ทั้งหมดมัดรวมกันเป็นชีวิตและความหมายในการมีอยู่ของเราสองคนท่ามกลางคนที่เรารัก

ส่วนข้ออื่นๆ ก็ทำ research ไปเรื่อย บางทีก็ออกสัมภาษณ์เหล่าอาเจ็กอาอึ้มที่ผ่านงานแต่งงานแบบจีน (ทั้งจัดตัวเองและจัดให้ลูกหลาน) มาแล้วบ้าง เป็นผู้คงแก่ประสบการณ์บ้าง เราเอาประเด็นที่พูดซ้ำกันมาเป็นจุดหลักลงมติว่าจะ “คง” พิธีไหนไว้ แล้ว “ตัด” พิธีไหนออก สรุปก็คือเรายังคงพิธีหมั้นและยกน้ำชาไว้ เพราะเราถือเรื่องการบอกกล่าวและการให้เกียรติ แล้วตัดขบวนแห่ พิธีปลีกย่อย เลี้ยงตอนเย็น ส่งตัว ลุยไฟ ตั้งโต๊ะอุปกรณ์เจ้าบ่าวเจ้าสาวเต็มรูปแบบออก (ประเภทมาทั้งเกี๊ยะ กระโถน กะละมังนั้น ในยุคนี้คงไม่ได้ใช้แล้ว) ถือโอกาสเลือกมาเฉพาะอะไรที่ใช้ต่อจริงๆ ก็พอ ซึ่งผู้ใหญ่เห็นด้วย และบางคนก็ช่วยยืนยันในฐานะผู้ที่ผ่านมาทุกรูปแบบว่า “เอาแต่พอดีๆ น่ะดีที่สุดแล้วน่อ”

credit: Preserving Chinese Wedding Traditions — Dionne Hoe
  • งานแต่งงานแบบมี Brand

Brand เป็นเรื่องของการส่งมอบประสบการณ์สู่ผู้คน สื่อสารออกมาด้วยการรู้จักตัวเอง บอกอัตลักษณ์ของตัวเองได้ แล้วมันถึงจะสร้างภาพลักษณ์ให้กับความเป็นเรา (ยุคนี้ Brand หมายถึงชื่อเสียงแล้วนะ เป็นสิ่งที่ต้องสร้างเองจากประสบการณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง ถือเป็นศูนย์กลางของการวางแผนธุรกิจเลยทีเดียว — พี่หนุ่ย ดร.ศิริกุล เลากัยกุลได้กล่าวไว้)

อันนู้นอันนี้ยังมี Brand ได้เลย แล้วทำไมงานแต่งงานจะมีบ้างไม่ได้

Bullet ที่เราสร้างไว้เพื่อให้การออกแบบงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มองกลับมาแล้วยังนึกถึงอัตลักษณ์ของตัวเองได้ มีอยู่ 7 ข้อ ดังนี้

  1. Philosophy กล่าวถึงหลักการในองค์รวมของทั้งงาน ว่าเรายึดจุดไหนไว้ เพื่อจะเดินไปทางไหน ฉะนั้น Attribute (คุณสมบัติที่เกี่ยวข้อง) จึงออกมาเป็น Simple / Minimal (ที่ไม่ใช่เอาดอกไม้ขาวมาถมทั้งงานให้ monotone แล้วบอกว่ามินิมอล)/ Eco / Natural (ในที่นี้คือไม่ fake) / Meaningful / Smart / Warm / Friendly และที่ขาดไม่ได้คือ Peopleware
  2. Context กล่าวถึงบริบทต่างๆ ที่เราอยู่ ณ ปัจจุบัน งานจึงคำนึงถึงความเป็น Modern Chinese และ Multi-Culture ในทางภูมิสังคม (ไทยภาคกลาง ไทยอีสาน และจีน) ตลอดจนการรวมกันของ Social + Design + Innovation อันจะอยู่ในทุกๆ เนื้องานที่เราทำ
  3. Purpose กล่าวถึงเป้าประสงค์ของงาน ซึ่งก็คือ การประกาศและทำความรู้จักบ่าวสาวตามประเพณีที่เหมาะสม (ให้เป็น passion) การพบกันของสองตระกูล อาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่มากันครบๆ แบบนี้ (ให้เป็น basic need) และส่วนอื่นๆ ที่สำคัญเหมือนกันก็คือ การสร้างจุดยืนของรุ่นเราและรุ่นหลานต่อๆ ไป พร้อมกับสื่อสารให้ครอบครัวรู้โดยทั่วกันว่าภาระหน้าที่ของเราคืออะไรและจากนี้จะเป็นอย่างไร
  4. Positioning กล่าวถึงจุดยืนของงาน เราตั้งไว้ว่าเป็นการให้ความสำคัญกับทุกคนที่มาร่วมยินดี การปฏิสัมพันธ์ต้องเกิดขึ้นอย่างแท้จริง (ก็มีแต่ครอบครัวและญาติ) ทุกองค์ประกอบมีความหมาย ทุกคำพูดที่เขียนใน booklet คือทำจริงๆ พิธีต้องเรียบง่าย สมบูรณ์ ครบถ้วน และมีคำตอบให้กับทุกคำถาม (โดยเฉพาะเรื่อง Tradional VS Modern)
  5. Keyword กล่าวถึงการนำคำสำคัญมาเรียงกันเพื่อหาคำจำกัดความให้เกิดข้อด้านล่าง ในที่นี้เราได้คำว่า “พอดี” (พอเพียง และพออยู่ คือพื้นที่จัดงานไม่ใหญ่ไม่เล็กไป หายใจได้โล่งไม่อึมครึมอึดอัด อยู่ในบรรยากาศที่ดีมองเห็นสวนสีเขียว) “พอกิน” (น้ำชา อาหาร) “พอใช้” (ผ้ารับไหว้) “พอร่มเย็น” (เมล็ดพันธุ์) “One to Many” (จากสองเป็นหนึ่ง หนึ่งเพื่อสรรพสิ่ง) และ “Life Signature” (หัวข้อที่เขาขึ้นบรรยายบ่อยที่สุด ว่าด้วย เราทุกคนควรใช้ชีวิตให้เป็นตำนานของตัวเอง)
  6. Title กล่าวถึงหัวเรื่องสั้นๆ รวบจากการตกผลึกทั้งหมดทั้งมวลออกมาแล้ว ก็ได้คำว่า “ท่ามกลางความผูกพัน / One to Many”
  7. Tagline กล่าวถึงการสื่อสารแบบแงะนัยของ title ออกมาให้อยู่ในรูปของประโยคสั้นๆ สวยๆ เป็นทั้ง promise ไปด้วยว่า “การบอกรักเป็นเพียงวิธีหนึ่งของการบอกรัก / Saying LOVE is just ONE of MANY ways to love” เป็นการสัญญาว่างานนี้ จัดเพื่อแสดงออกให้เห็นว่าโลกนี้มีความรักและวิธีการแสดงความรักอีกหลายรูปแบบ ไม่ใช่แต่เพียงการบอกรักเท่านั้น

(เครดิต tagline ภาษาไทย ขอให้ไว้กับคุณ jirabell ในหนังสือชื่อ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว)

เอามาจากใน booklet ที่ใช้แจกพร้อมการ์ดเชิญ

ทั้งหมดนี้ทำให้ฉันลุยต่อได้ง่ายขึ้นมาก เพราะมีเสาหลักให้ยึดแล้วว่าต่อไปจะต้องเดินทางไหน (บอกแล้วว่าทำงานแต่งงานตัวเองซะอย่างกะเป็นโปรเจค) ตอนหน้าจะเล่าถึงหน้าที่โดยตรงของฉัน ถ้าไม่นับหน้าที่เจ้าสาว ก็มีฉันนี่แหละที่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้งานแต่งงานตัวเอง ;D

--

--