ค่าย 6 วัน แต่ความผูกพันเหมือน 6 ปี #THNG6

Pattanapong Cherthong
5 min readDec 29, 2016

--

จากที่ได้อ่าน Blog รีวิวค่าย THNG ปีก่อนๆ ความคิดในหัวก็แว๊บขึ้นมา นี่แหละเป็นค่ายที่เราอยากไปมากๆ ถ้ามีโอกาสได้เข้าค่ายเราคงจะได้ไปติดตั้งระบบ Network ให้ชาวบ้านได้ใช้อินเตอร์เน็ตแน่ๆเลย น่าสนใจมาก หลายปีก่อนก็เห็น PR ค่ายนี้ในผ่านหูผ่านตามาบ้างแต่ก็ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไร บางปีก็อยากสมัครแต่ก็มีงาน ติดงานไปไม่ได้บ้างก็เลยเสียโอกาสนี้ไป ปีนี้พอถึงวันแรกที่เค้าประกาศรับสมัคร ก็เลยคลิกมาอ่านอ่านรายละเอียดดูคร่าวๆ เห้ย อายุยังไม่เกิน อีก 2 เดือนก็จะเกินแล้ว ก็เลยตัดสินใจรีบสมัครทันที พอใกล้ถึงวันประกาศผลก็มีพี่โทรมาสอบถามว่าสนใจมาค่ายจริงๆใช่ไหม และก็ถามเกี่ยวกับ Skill ทางด้านไอทีว่าถนัดอะไรบ้าง เขียนโปรแกรมภาษาไหน โปรเจคไหนเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจบ้าง เสร็จแล้วพี่เค้าก็บอกให้รอฟังประกาศผลในวันพรุ่งนี้ พอถึงวันประกาศผล (2 ธันวาคม 2559) เปิดหน้าเว็บเข้าไปลุ้น กวาดสายตาไปยังกลุ่มรายชื่อ นั่นไงคนแรกของภาคไอทีเลยหละ ได้เข้าค่ายแล้ว เย้

กำหนดการค่ายคือ วันที่ 17–22 ธันวาคม รวม 6 วัน หยุดเสาร์อาทิตย์ 2 วันและที่เหลือก็เป็นวันธรรมดา ผมตั้งใจลางานไป 4 วัน ทุ่มเทไปค่ายนี้มากๆ มาค่ายครั้งนี้คิดว่าเหมือนได้มาเที่ยวต่างจังหวัด ได้มาเจอเพื่อนใหม่ หาประสบการณ์อะไรใหม่ๆ
ได้มาค่ายนี้ในฐานะน้องค่ายคนเดียวที่เรียนจบและทำงานแล้ว (สตาฟหลายๆคนก็เป็นรุ่นน้อง มีพี่กลุ่มกับพี่บ้านนี่แหละที่อายุใกล้ๆกัน) ถ้ารวบรวมป้ายชื่อที่เคยไปค่ายต่างๆมานับรวมกันคงจะเยอะมาก และค่ายนี้คงจะเป็นค่ายสุดท้ายในฐานะน้องค่ายแล้วหละ

Day 1

17 ธันวาคม 2559 และแล้วค่ายวันแรกก็มาถึง เวลาประมาณ 8–9 โมงเช้า ตัดภาพมาที่ intERLab (AIT) เข้ามาลงทะเบียนรับป้ายชื่อ+กระเป๋า แต่ละกลุ่มได้เจอและได้เจอหน้าพี่กลุ่มครั้งแรกจุดนี้แหละ ได้มาเป็นสมาชิกกลุ่ม 5 ลงทะเบียนเสร็จแล้วก็ไปพักทานอาหารเช้า แซนด์วิช ขนม และของกินเยอะจริงๆ

หลังจากทานอาหารเช้ากันเสร็จก็ไปรวมตัวกันทำกิจกรรมสันทนาการ แน่นอนหละค่ายทุกค่ายต้องมีกิจกรรมแบบนี้เพื่อทำให้ทุกคนรู้จักกันก่อน กิจกรรมไม่มีอะไรมากก็ให้ทุกคนแนะนำตัว และก็มีเกมที่ท้าทายที่สุดให้เล่นก็คือต้องจำเพื่อนให้ได้ทุกคน จะมีคนที่สบายสุดก็คือกลุ่มคนแรกๆ และคนที่น่าสงสารที่สุดคือคนสุดท้ายที่จะต้องจำชื่อให้ได้ทุกคน แต่ก็ทำได้ สุดยอดเลย 55555

ก่อนเดินทางมาก็มาถ่ายรูปกันก่อน นี่ก็คือโฉมหน้าสมาชิกกลุ่ม 5 นั่นเอง

เราเดินทางไปจังหวัดตากกันด้วยรถตู้ทั้งหมด 7 คัน แวะพักทานข้าวเที่ยงกันที่จังหวัดนครสวรรค์ จุดหมายของเราคือ ตำบลแม่กาษา อ.แม่สอด จังหวัดตาก

พอมาถึงจุดหมาย ณ ชุมชนแม่กาษา ก็มีการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากชมรมผู้สูงอายุ ที่ศุนย์บริการนักท่องเที่ยว มีการแสดงและการทำบายศรีสู่ขวัญต้อนรับผู้ที่มาเยือน

มีอาหารพื้นเมืองมาต้อนรับ ได้แก่ ยำไก่ (ยำไก่มักจะได้ทานกันก็ต่อเมื่อมีการทำบายศรีสู่ขวัญ) มีแกงจืดฟักใส่น่องไก่ มีน้ำพริกกะปิ ผักทอด และมีไข่เจียวเป็นเมนูมาตรฐาน สำหรับสิ่งที่ชอบมากๆในมื้อนี้คือ เครื่องดื่มเป็นน้ำสมุนไพร ส่วนผสมมีน้ำอัญชัญและใบเตย อร่อยมากชอบๆ ทำไมอิชิตันไม่ทำแบบนี้บ้าง

หลังจากทานข้าวกันเรียบร้อยแล้ว ก็แยกย้ายกันไปพักในแต่ละบ้านที่จัดไว้เป็นโฮมสเตย์ ซึ่งบ้านที่ผมไปพักอยู่คือบ้านป้าจันทร์ลอย-ลุงม้วน ที่บ้านเป็นบ้านหลังใหญ่ 2 ชั้นประกอบด้วยไม้ใหญ่มาก ห้องน้ำมี 2 ห้องโถส้วมมีทั้งนั่งยองและทรงชักโครก มีสายฉีดชำระด้วย บ้านนี้มีเครื่องทำน้ำอุ่นแต่ไม่ค่อยได้เปิดใช้เท่าไร แต่ถ้าจะใช้ต้องลำบากไปเปิดปั้มน้ำ สรุปแล้วทุกคนก็อาบน้ำเย็นกันดีกว่า แฮ่!

สำหรับที่นอนก็มีจัดให้นอน 2 ห้อง ห้องละ 2 คน และก็มีที่นอนจัดเตรียมไว้อีก 3 บริเวณห้องโถงชั้นบนของบ้าน รวมแล้ว 7 คนพอดี ที่นอนก็มีหมอนผ้าห่มให้ มานอนต่างที่วันแรกอาจจะนอนไม่ค่อยหลับเท่าไร ยิ่งดึกยิ่งหนาวขึ้นเรื่อยๆผ้าห่มเอาไม่ค่อยอยู่เท่าไร จนต้องหาเสื้อกันหนาวมาใส่นอนเพิ่ม ประเด็นคือผ้าห่มเล็กไปหน่อย

ต่อไปเป็นภาพบรรยากาศโดยรวมของบ้าน

หน้าบ้านจะมีโต๊ะไม้สักตัวใหญ่มาก สามารถนั่งกันได้เป็น 10 คน ทุกเช้าเราจะมาทานข้าวกันที่นี่

อันนี้เป็นบรรยากาศข้างบ้าน ริมรั้วก็รายล้อมไปด้วยต้นไม้ประดับ และหลังบ้านที่เห็นคือยุ้งข้าวนั่นเอง

บ้านนี้มีตู้เย็นโบราณด้วย จากภาพที่เห็นคือเป็นหม้อที่บรรจุน้ำดื่มซึ่งทำให้น้ำเย็น โดยธรรมชาติ บ้านในภาคเหนือสมัยก่อนจะมีแบบนี้กันทุกบ้าน ทุกวันนี้หาได้ยากแล้ว ไปใช้ตู้เย็นกันหมดแล้ว

ตอนเช้าป้าจันทร์ลอยก็จะทำอาหารให้ลูกๆทุกคนทาน เมนูก็จะเป็นอาหารพื้นเมือง ส่วนมากจะเป็นน้ำพริก เป็นแกง มีไข่ให้ทุกมื้อเผื่อใครกินอะไรอย่างอื่นไม่ได้ และเมนูเด็ดของที่นี่คือ แกงแปจี ป้าบอกว่าถ้าไม่ได้ทานแสดงว่ามาไม่ถึง

การเข้ามาอยู่ในโฮมสเตย์ความรู้สึกไม่ได้เหมือนการมาพักโรงแรมหรือรีสอร์ท แต่เหมือนได้เข้ามาเป็นสมาชิกในครอบครัว บางบ้านก็เหมือนได้ลูกชายเพิ่ม บางบ้านก็เหมือนได้ลูกสาวเพิ่ม การดูแลต้อนรับเป็นอย่างดีเหมือนลูกหลาน

Day 2

18 ธันวาคม 2559 คุณลุงม้วนอาสาขับรถ 4 ล้อเล็ก เป็นรถที่ดัดแปลงขึ้นมาเองเอาไว้ใช้ในหมู่บ้าน มาส่งที่วัดและตอนเย็นหลังจากเสร็จกิจกรรมในวันนี้ลุงก็จะมารอรับลูกชายทั้ง 7 คนกลับบ้าน

เปิดค่าย THNG#6 อย่างเป็นทางการโดยพี่ภาค และช่วงเช้าได้ฟังบรรยายเกี่ยวกับแนวทางการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลในชุมชน การจุดประกายไอเดีย และการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาชุมชน โดยอาจารย์ 3 ท่าน

หลังจากฟังบรรยายจบแล้ว ก็เริ่มทำงานกลุ่มระดมสมอง ช่วยกันหาข้อมูลเบื้องต้น วางแผนการเดินทางไปสำรวจพื้นที่ โดยให้แต่ละกลุ่มเลือกว่าจะไปสำรวจหมู่บ้านไหน

ช่วงบ่ายทุกกลุ่มก็ได้เดินสำรวจพื้นที่ในชุมชน เข้าไปสอบถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านชุมชนแม่กาษา

เสร็จจากการสำรวจพื้นที่และเก็บข้อมูลสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน แต่ละกลุ่มก็รวบรวมข้อมูลที่ได้มาสรุปปัญหาความต้องการ และนำเสนอรายกลุ่ม

พอทำงานกันจนถึงค่ำ ลุงก็มารอรับลูกชายทั้ง 7 กลับบ้าน

Day 3

19 ธันวาคม 2559 หลังจากเมื่อวานที่ได้ไปสำรวจเก็บข้อมูลในชุมชนแต่ละกลุ่มก็ยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอมากนัก ช่วงเช้าจึงมีการเชิญผู้แทนชุมชนผู้นำหมู่บ้านมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม

แต่ละกลุ่มก็เอาข้อมูลที่ได้มาคิดเป็นโซลูชั่นแก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของชุมชนมานำเสนอต่อคณะกรรมการ

แล้วกรรมการก็คัดเลือกเอาไอเดียกลุ่มนึงมาทำ เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับแบ่งปันทรัพยากรต่างๆในชุมชน มีการแบ่งการทำงาน 2 ฝ่ายภาคไอที 15 คนทำงานรวมกัน และสังคมเค้าก็แยก เป็นกลุ่มย่อยๆวิเคราะห์ SWOT จากข้อมูลที่ได้ไปสัมภาษณ์และสำรวจในชุมชน
ส่วนฝ่ายไอทีเราก็เขียน flow การทำงานแต่ละส่วนของระบบ แล้วแบ่งงานกันทำเนื่องจากระยะเวลาในการทำงานจริงก็ไม่ถึง 2 วัน ด้วยฟีเจอร์และ requirement จากตัวเว็บที่คิดกันยังไงก็ทำไม่สมบูรณ์เสร็จอยู่แล้ว ผมและน้องแม็คเห็นว่าส่วนสำคัญที่สุดคือ หน้าเว็บส่วน front-end อยากให้ช่วยกันทำส่วนนี้เป็นหลัก ส่วนที่แสดงผลว่าตัวระบบเว็บหน้าตาเป็นยังไง สามารถทำอะไรได้บ้าง ตอบโจทย์กับความต้องการของ User รึป่าว ส่วน back-end ก็พยายามเต็มที่ เท่าที่จะทำได้ในระยะเวลาอันจำกัดนี้ อาจจะไม่ได้เสร็จสมบูรณ์ พยายามแบ่งงานทีมไอทีให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ และเนื่องจากแต่ละคนมีพื้นฐาน skill การเขียนโปรแกรมไม่เท่ากัน ทำให้แบ่งงานกันได้ยาก

คุยงานกันเสร็จแล้วก็มาอธิบายการทำงานของระบบโดยคร่าวๆให้ฝ่ายสังคมฟัง แต่สุดท้ายก็เป็นการ แล้วฝ่ายสังคมก็ยิงคำถามมารัวๆ ซึ่งจริงๆมันต้องช่วยกัน discuss ออกไอเดียร่วมกันกัน กันไม่ใช่ยิงคำถามตอบคำถามแบบนี้ (ณ ขณะนั้น สถานการณ์ตึงเครียดมาก)

ขอตอบคำถามที่น้องเกียร์ที่ถามเรื่องการชำระเงินใน e-commerce นะครับ (ตอนนั้นตอบให้ไม่ทันจริงๆ อึ้งไปซะก่อน น้องถามมาแบบไฟแลบมาก) จากข้อกำหนดที่ว่า การโอนเงินผ่านทาง ATM สามารภโอนได้ครั้งละไม่เกิน 50,000 บาท แล้วจะทำอย่างไรถ้าต้องชำระมากกว่านี้

ถ้าเกิดว่าสินค้ามีมูลค่ามากกว่า 50,000 บาทสามารถชำระได้ด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การโอนเงินปกติ เช่น

  • บริการโอนเงินผ่านระบบบาทเนต (BAHTNET) ระบบสำหรับการโอนเงินครั้งละมากๆ ไปเข้าบัญชีของผู้รับที่มีอยู่กับธนาคารพาณิชย์อื่น หรือ
    หน่วยราชการที่มีบัญชีอยู่กับธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลสามารถใช้บริการนี้ได้
    — อ้างอิง ธนาคารกรุงเทพ
  • ชำระผ่าน e-payment
  • ชำระผ่านบัตรเครดิต (ชำระได้ตามจำนวนวงเงินในบัตร)
  • ชำระผ่านบัตรเดบิต (ชำระได้สูงสุดวันละ 100,000–200,000 บาท)
  • สั่งจ่ายเป็นเช็ค
  • ชำระด้วยเงินสด

การทำธุรกรรมใน e-commerce ไม่มีการจำกัดวงเงินในการชำระเงิน แต่ถ้าทำธุรกรรมเงินสดมูลค่าตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือ ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป ธนาคารจะต้องขอข้อมูลการแสดงตนของผู้ทำธุรกรรม ทั้งฝ่ายผู้โอนและผู้รับโอนรายงานต่อสำนักงาน ปปง. ด้วย
— อ้างอิง ธนาคารกรุงเทพ

หลังจากที่สถานการณ์ตึงเครียดอยู่นั้น ภาพก็ตัดจบไปที่บ่อน้ำพุร้อนรายล้อมไปด้วยผู้คนที่กำลังแช่เท้าและต้มไข่กันอยู่ จบด้วยมื้อค่ำอร่อยๆบนโต๊ะ มีการเซอร์ไพรส์วันเกิดกันเล็กน้อย รู้สึกผ่อนคลายจากการทำงานเครียดๆมาทั้งวัน

Day 4

20 ธันวาคม 2559 หลังจากที่เมื่อวานยังมีปัญหาเรื่องการคุยงานกันมาก ไม่มีใครผิดใครถูก แต่เซ็ตวิธีการทำงานกันผิดไปหน่อย วันนี้จึงต้องมาคิดวิธีการทำงานกันใหม่ ตอนเช้าก็ให้ทุกคนมาช่วยกันออกไอเดีย ด้วยการให้ทุกคนเขียนเป็น postit มีการโหวตคัดเลือกชื่อโปรเจค สุดท้ายก็ได้ชื่อว่า “แบ่งปั๋น”

หลังจากนั้นก็รวบรวมเอาไอเดียของทุกๆคนมาสรุปรวมเป็นฟีเจอร์ต่างๆของระบบ และก็เอามาแบ่งงานกันเป็นทีมย่อยๆเพื่อช่วยกันทำหน้าเว็บแต่ละส่วน เรามีการเซ็ตการทำงานเป็นแบบ Agile มีการแบ่ง Backlog แบ่งงานแยกเป็นการ์ดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง จัดลำดับความสำคัญว่างานอะไรควรจะทำก่อนหลัง มีการแบ่งรอบการทำงานเป็น Sprint วางแผนว่าแต่ละ Sprint จะทำการ์ดไหนบ้าง แบ่งย่อยเป็น Sprint ละครึ่งวัน
สำหรับการทำงานในพื้นที่ค่อนข้างลำบาก เนื่องด้วยข้อจำจัดของพื้นที่ซึ่งเป็นอุโบสถวัด ไม่เหมาะกับการนั่งทำงานานๆ นั่งไปได้สักพักก็เริ่มปวดเมื่อกันแล้วใช้พลังงานมากกว่านั่งทำงานในออฟฟิสประมาณ 2–3 เท่า

สำหรับใครที่ยังไม่เข้าใจว่าการทำงานแบบ Agile เป็นยังไงลองศึกษารายละเอียดในลิงค์นี้ได้ครับ https://brandinside.asia/agile-and-scrum-for-new-business/

Day 5

21 ธันวาคม 2559 ตอนเช้าฝ่ายไอทีก็ทำ Standup Meeting กัน อัพเดทว่างานถึงไหนกันแล้ว เราเจอปัญหาว่ามีการหยิบงานเอาไปทำซ้ำซ้อนกัน ก็เลยต้องมา sync กันใหม่ เหลือส่วนไหนที่ต้องทำเพิ่มในวันนี้ และก็ประกอบออกมาเป็นระบบ เสร็จแล้วก็มาทำเสนอให้คณะกรรมการในช่วงบ่าย

สุดท้ายก็นำผลงานทั้งฝ่ายไอทีและฝ่ายสังคมมานำเสนอต่อคณะกรรมการ และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต บุคคลสำคัญของวงการอินเตอร์เน็ตไทย มาร่วมเป็นคณะกรรมการ

การทำงานอันยาวนานมันได้สิ้นสุดลงแล้วก็เข้าสู่ช่วงของการรับเกียรติบัตรและของที่ระลึกกันทุกกลุ่ม

คืนสุดท้ายก่อนกลับ ชาวบ้านชุมชนแม่กาษาก็ได้มีการจัดการแสดงเลี้ยงส่งอย่างอบอุ่นมาก

Day 6

22 ธันวาคม 2559 เข้าสู่วันสุดท้ายท้ายสุดของค่ายก็คือวันเดินทางกลับ ความรู้สึกดีๆในค่ายยังอยู่เต็มเปี่ยม แน่นอนหละครับงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกลา ก่อนกลับก็มีการร่ำลาแต่ละบ้าน

สำหรับปีนี้ค่าย THNG ปีนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและหัวข้อของกิจกรรมในค่ายไปจากเดิม จำนวนคนเข้าค่ายมากกว่าเดิม ซึ่งแตกต่างจากปีที่ผ่านๆมา จากที่ได้อ่านรีวิวค่ายปีก่อนๆมีโจทย์และหัวข้อที่ชัดเจน กระบวนการคิดและวิธีการทำงานก็ย่อมแตกต่างกัน ส่งผลทำให้ปีนี้ทำงานในค่ายไม่ค่อยราบรื่นมากนัก คิดว่าปัญหาต่างๆในปีนี้จะสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่อไปในค่ายครั้งต่อไป ค่ายนี้ได้อะไรมากกว่าที่คิด สอนเราได้หลายๆอย่าง ของขวัญปีใหม่ปีนี้ของผมก็คือการได้มาค่ายๆนี้แหละ

ขอบคุณ พี่ภาค พี่โอ๋ พี่ยุ้ย อาจารย์วิทยากรทั้ง 3 ท่าน สตาฟ พี่กลุ่มพี่บ้านและผู้มีส่วนร่วมทุกคนที่ทำให้เกิดค่ายครั้งนี้ ขอบคุณสปอนเซอร์ผู้ใหญ่ใจดีทุกๆท่านและทุกภาคส่วนที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น ขอบคุณชาวบ้านแม่กาษาที่ให้การต้อนรับและดูแลเป็นอย่างดี สุดท้ายขอกราบขอบพระคุณ ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต ที่ทำให้เราได้เห็นบทความนี้สามารถโลดแล่นอยู่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศไทยได้ทุกที่และทุกเวลา

--

--