ฉลาดเกมส์โกง — Fraud Triangle — Fraud Analytics

Thanachart Ritbumroong
2 min readDec 22, 2017

อายจัง เพิ่งได้ดูหนังเรื่องนี้ จนหนังเค้าทะลุไปร้อยล้าน พันล้านบาทแล้ว แต่พอดูแล้วชอบมากกกกก (ก ไก่ล้านตัว) เนื้อหาหนังมีความตรงตามทฤษฎี สามารถนำมาเป็น case study ในการสอนเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยงได้เลยทีเดียว

รูปหามาจากใน internet นะครับ ^^

Fraud Triangle — สามเหลี่ยมแห่งการโกง

รู้ไหมครับ ทำไมคนถึงโกง?

มีทฤษฎีหนึ่ง พูดถึง 3 ปัจจัยที่ส่งผลให้คนมีพฤติกรรมการโกง ซึ่งได้แก่

  1. Pressure
  2. Opportunity
  3. Rationalization

Pressure หรือ แรงกดดัน

แรงกดดันนี้ อาจจะมาจากทั้งเรื่องเงิน หรือไม่ใช่เรื่องเงิน ก็ได้นะครับ อย่างในเรื่องนี้ ตัวละครแต่ละตัว ก็มีแรงกดดันไม่เหมือนกัน เช่น บ้านไม่ได้มีฐานะดี สงสารคุณพ่อ คุณแม่ หรือ ถึงบ้านจะมีฐานะดี ก็มีแรงกดดันว่า คุณพ่อคุณแม่มีความคาดหวังสูง

ในชีิวิตจริง แรงกดดัน ก็มีอีกมากมาย เช่น เงินไม่พอใช้ ต้องการ lifestyle ที่หรูหรา หรือแบบเกิดอุบัติเหตุ accident ที่ต้องทำให้ใช้เงินจำนวนมากจริงๆ อย่างพวกผู้บริหารก็มีแรงกดดันนะครับ เช่น ต้องทำตามเป้าหมาย ยอดขาย หรือ ยอดกำไรที่กำหนดไว้ ต้องผลักราคาหุ้นให้สูงเพื่อเอาใจผู้ถือหุ้น ฯลฯ

แรงกดดัน ก็จะเป็นตัวผลักให้เราเริ่มมี ความอยาก ความต้องการในการกระทำการบางอย่างที่มันไม่ถูกไม่ควรใช่ไหมครับ

Opportunity หรือ โอกาส

เมื่อคนมีความอยากกระทำบางอย่างที่ไม่ถูกต้อง เค้าก็จะเริ่มประเมินว่า โอกาสในการกระทำนั้น เป็นไปได้แค่ไหน อย่างในเรื่อง เค้าก็จะดูว่า ถ้าจะโกงข้อสอบ มีโอกาสในการโดนจับได้ขนาดไหน อ.ผู้คุมสอบเข้มงวดปานใด มีช่องว่างของระบบขนาดไหน

เชื่อไหมครับว่า คนที่ทุจริตนี่ ส่วนมากเป็นพนักงานดีเด่น มาเช้า กลับดึก ไม่เคยลา ไม่เคยขาดเลย (มาถึงจุดนี้ หลายคนคงมีความเสี่ยงในการทุจริตต่ำมาก เพราะ มาสาย กลับเร็ว ขยันลา :P) พนักงานพวกนี้ มักจะได้รับสิทธิพิเศษในการเข้าถึงข้อมูลหรือเข้าระบบด้วยสิทธิพิเศษ ไม่ค่อยมีคนมาจับผิด จับตามอง และที่เค้าต้องขยันมาทำงาน ก็เพราะว่า ต้องคอยมาปกป้องความลับอันดำมืด ไม่ให้มีคนมาจับผิดได้

หลายองค์กร ก็ต้องใช้วิธีในการ Forced Leave หรือ Mandatory Leave คือ ในช่วงปี พนักงานจะต้องลางาน แล้วปล่อยให้คนอื่นเข้าไปทำงานแทนในส่วนงานของเรา

Rationalization หรือ การให้เหตุผล

ถึงแม้ว่าจะมีแรงกดดันมากมาย มีโอกาสให้กระทำการโกงอย่างสะดวกสบาย ถ้าคนๆนั้น มีจิตใจแน่วแน่อยู่ในมโนกรรมที่ดี มีศีลธรรม เค้าก็จะไม่โกงครับ คนที่มีศีลสูง เค้าก็จะมี หิริโอตตัปปะ หรือ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป (อืมหืมมม มาถึงสายธรรมได้อย่างไร)

เหล่านี้นั้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ของแต่ละคนครับ บางคนก็มีวิธีการเรียนรู้ว่า ทำผิด ก็ไม่เห็นเป็นอะไรเลย แล้วก็เป็น reinforcement learning มาเรื่อยๆ จนทำให้ความเกรงกลับต่อบาปลดน้อยลง

บางคนที่โกงนั้น เค้าก็ไม่ใช่มีจิตมุ่งร้ายอย่างใดนะครับ เค้าแค่มีเหตุผลว่า เค้าโกงเราก่อน สิ่งที่ทำอันนี้ เป็นแค่การทำให้เสมอกัน …. อย่างในหนังนี่ น้องลิน ผู้ซึ่งมี ความคิดสุดแสน logical นั้น ก็มองว่า สิ่งที่ ผอ. ทำไม่ถูกต้อง สิ่งที่ครูทำในการเอาข้อสอบมาบอกเด็กที่เรียนพิเศษกับตัวเองนั้นไม่ถูกต้อง สิ่งที่เค้าทำเป็นการตอบโต้ความไม่ยุติธรรมที่เกิดขึ้น

ส่วนตัวผมมองว่า การทำความดีนั้นไม่ง่าย เท่าการทำความไม่ดี การทำความดี เราต้องคอยควบคุมข่มความอยากความต้องการนั้นไว้ ส่วนการทำความไม่ดีนั้น เราก็แค่ทำตามอำเภอใจเรา โดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลกระทบกับคนอื่นอย่างไร เมื่อเราเริ่มทำสิ่งไม่ดีแล้ว แล้วไม่โดนจับได้ หรือ ถึงโดนจับได้ ก็ไม่ได้มีผลกระทบอะไรมาก (อย่างในตอนใกล้จบเรื่องที่แบงค์บอกว่า ก็ไม่เห็นเป็นไร ไม่ได้ติดคุกนี่นา …. ) เราก็จะเริ่มเอนเอียงไปยังด้านมืดมากขึ้นเรื่อยๆ

จะป้องกัน Fraud ได้อย่างไร

ให้ไปห้ามแรงกดดันของแต่ละคนก็คงจะยาก จะไปเปลี่ยน Rationalization ก็คงจะต้องส่งไปบวช ปฏิบัติธรรมกันอีก สิ่งที่จะทำกันได้ ก็คือ ลดโอกาสที่คนจะทุจริตครับ สาขาวิชาบัญชี ก็จะมุ่งเน้นการสอนให้เกิดการควบคุมภายในที่ดีในองค์กร เพื่อลดโอกาสที่จะทุจริตกันได้ เริ่มตั้งแต่มีหัวหน้าคอยควบคุม มีการตรวจสอบเอกสาร มีระบบคอยป้องกันสารพัด

แทบจะทุกองค์กรเลยแหละครับ ที่เจอกับ Fraud ทั้ง Internal Fraud และ External Fraud ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ไปจนระดับที่มีผลกระทบมหาศาลทั้งในรูปแบบตัวเงิน และชื่อเสียง

อย่างง่ายที่สุดในการป้องกัน Fraud ก็คือ การปกป้องทรัพยากรที่สำคัญของเราทั้งในรูปแบบ Physical Protection เช่น ล็อคห้อง ตรวจบัตร จ้างยามเฝ้า เอากล้องวงจรปิดติดตั้ง จนถึงใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ ในการตรวจตรา เช่น มีระบบคอยตรวจจับความผิดปกติของการเคลื่อนไหว ติดตั้ง Firewall ไม่ให้โดน Hack

Fraud Analytics — ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลมาช่วยในการตรวจสอบการทุจริต

ใครเบื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมลูกค้า ว่า จะซื้ออะไรคู่กับอะไร ใครจะซื้อมากซื้อน้อย ขอเชิญมาทำด้าน Fraud Analytics เลยครับ รับรองว่าตื่นเต้นเร้าใจ สาเหตุก็เพราะ

  1. การโกงนั้น เป็นเหตุการณ์ซ่อนเร้น ทำให้หาตัวจับยาก คนที่โกงเก่ง จะซ่อนสัญญาณต่างๆ ไม่ให้เราจับได้ กว่าจะรู้ ก็คือ เกิดความเสียหายไปเรียบร้อยแล้ว
  2. เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ต้องรีบเสาะแสวงหาสาเหตุ หรือ รูปแบบการโกง เพ่ือนำมาหยุดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด
  3. เมื่อถูกจับได้ รูปแบบการโกงจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ทำให้เราต้องสู้กับรูปแบบการโกงใหม่ๆ อีก (ย้อนกลับไปข้อ 1 แล้ว วนลูปไปเรื่อยๆ)

การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อต่อสู้กับการโกงนั้น จึงมีความท้าทายอย่างมากกกกกกก

  1. เราไม่รู้ known case ทั้งหมด ที่เราจับการโกงได้ อาจจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น การทำ supervised learning จึงทำไปได้ด้วยความยากมาก ทุลักทุเล เพราะเราไม่มีเฉลยข้อสอบทั้งหมด
  2. เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนน้อย ก็จะเจอปัญหาพวก imbalanced dataset ครับ จำนวนเคสที่ไม่ใช่ Fraud จะ dominate การเรียนรู้ของ Machine ก็ต้องใช้เทคนิคพวก oversampling, undersampling เข้ามาช่วยแก้ปัญหา
  3. ข้อมูลในอดีต อาจจะไม่ได้ช่วยในการพยากรณ์อนาคตได้ เพราะคนโกงก็จะเปลี่ยนรูปแบบโกงใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ
  4. เมื่อใช้โมเดลในการพยากรณ์ ก็จะเจอพวก False Alarm อีก ก็คือ พวก False Positive ครับ คือ ทำนายว่าโกง แต่จริงๆ ไม่โกง ก็ต้องเสียเวลาในการตรวจสอบ

Fraud Analytics หรือ Risk Analytics ก็จะเป็นอีกสาขาหนึ่งในการนำข้อมูลเข้ามาช่วยในการต่อสู้ป้องกันการทุจริต ทั้งการโกงภายในองค์กร โกงจากภายนอกองค์กร หรือ การฟอกเงิน ซึ่งเป็นการทุจริตระดับชาติ ใครสนใจด้านนี้ลองหาอ่านกันดูนะครับ

สุดท้ายนี้ ขอจบแบบดีๆ ด้วยกันอัญเชิญพระบรมราโชวาท ของ รัชกาลที่ 9 มานะครับ

“การทำดีนั้นทำยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่ละคนจึงต้องตั้งใจและเพียรพยายามให้สุดกำลัง ในการสร้างเสริมและสะสมความดี” (พระบรมราโชวาทพระราชทาน แก่ผู้สำเร็จการศึกษา ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สวนอัมพร 14 สิงหาคม 2525)

--

--

Thanachart Ritbumroong

Lecturer at Management of Analytics and Data Science Program, National Institute of Development Administration, Thailand and Data Analytics Consultant