การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน
--
การใช้ภาษาในการเขียนรายงานเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นหัวใจในการสื่อความหมาย ผู้ศึกษาจึงควรใช้ภาษามาตรฐานอย่างถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ผู้อ่านรายงานของเราเข้าใจง่ายและเข้าใจได้อย่างถูกต้อง ในที่นี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นหลักของการใช้ภาษาในการเขียนรายงานตามหัวข้อ คือ การใช้คำเพื่อให้เข้าใจชัดเจนในประเด็นหลักของการใช้ภาษามากขึ้น จึงขอนำเสนอรายละเอียดการใช้ภาษาในการเขียนรายงาน ดังนี้
- การใช้คำ การใช้คำในการเขียนรายงานควรเลือกใช้คำที่สุภาพและถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 (ฉบับปรับปรุงใหม่ที่ใช้ในปัจจุบัน) โดยมีข้อเสนอแนะนำสำหรับการใช้คำ ต่อไปนี้
1) ใช้คำที่เป็นภาษาราชการ ไม่ใช่ภาษาพูด เช่น กิน (รับประทาน) อ้วก (อาเจียน) ตาย (ถึงแก่กรรม) เป็นต้น
2) ใช้คำที่เข้าใจง่าย ไม่ต้องแปลความหมายอีกครั้งหนึ่ง เลือกใช้คำที่มีความหมายชัดเจนเพื่อหลีกเลี่ยงการแปลความหมายผิด
3) ไม่ใช้คำย่อ ซึ่งอาจทำให้การแปลความหมายผิดพลาดได้ เช่น
ชม. หมายถึง เชียงใหม่ บางคนอาจหมายถึง ชั่วโมง
ร.ร. หมายถึง โรงเรียน บางคนอาจหมายถึง โรงแรม
นก. หมายถึง หน่วยการเรียน บางคนอาจหมายถึง นอกราชการ
บางครั้งผู้เขียนอาจใช้การย่อคำอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ย่อเป็นตัวอักษร แต่ใช้วิธีตัดคำให้สั้นลงซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายผิดไปได้เพราะการย่อคำเหล่านี้มีหลายความหมาย ได้แก่
ผู้ว่า หมายถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ๚ล๚
โรงเรียนนายร้อย หมายถึง โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียน นายร้อยตำรวจสามพราน เป็นต้น
วันเฉลิม หมายถึง วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้า๚ พระบรมราชินีนาถ ๚ล๚
4) ไม่ใช้คำหรูหรา ซึ่งจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย เช่น คำที่มาจากภาษาอื่น ส่วนมากเป็นคำ
ภาษาบาลี สันสกฤต เช่น ประจักษ์ บัญชา อาภรณ์ จึงควรใช้คำไทย ได้แก่ เห็น คำสั่ง และเครื่องประดับ ตามลำดับ
คำที่จงใจตั้งขึ้นเพื่อให้แปลกตา เช่น เรือจ้าง (ครู) ม้าเหล็ก (รถไฟ) คำที่ยกตัวอย่างนี้มักใช้ในหนังสือพิมพ์เพื่อการพาณิชย์แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการสื่อความหมายในรายงานวิชาการ
5) ไม่ใช้คำที่มีความหมายซ้ำกัน ทำให้เกิดความฟุ่มเฟือยในการใช้ภาษา เช่น
วางแผนล่วงหน้า ควรใช้ว่า วางแผน
ขณะนี้เป็นเวลา ควรใช้ว่า ขณะนี้
ล้อมไว้โดยรอบ ควรใช้ว่า ล้อม
กะดูโดยประมาน ควรใช้ว่า กะ ประมาณ
ในประวัติเท่าที่ผ่านมา ควรใช้ว่า ประวัติที่ผ่านมา
6) ไม่ใช้คำที่เป็นภาษาพูด ควรใช้คำที่เป็นภาษาเขียน เช่น
เข้าท่า ควรใช้ว่า เหมาะสม
ยังไง ควรใช้ว่า อย่างไร
บทเดียวเอง ควรใช้ว่า เพียงหนึ่งบาท
เอาก็เอา ควรใช้ว่า ตกลง
เหมาะเหม็ง ควรใช้ว่า เหมาะสมอย่างยิ่ง ฯลฯ
7) ไม่ใช้คำโบราณซึ่งเลิกใช้ไปแล้ว หากนำมาใช้คนสมัยใหม่อาจไม่เข้าใจ เช่น ลางที สำเหนียก เพรียก เจ้าเรือน ฯลฯ
8) ไม่ใช้คำที่เป็นภาษาเฉพาะกลุ่ม เช่น คำภาษาถิ่น คำผวน คำวัยรุ่น คำหนังสือพิมพ์ เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้ ควรอธิบายความหมายคำนั้นกำกับไว้ด้วย
9) ไม่ควรใช้คำสแลง ซึ่งจัดเป็นคำที่อยู่ในประเภท คำต่ำ คำตลาด คำด่า เช่น บั้นท้าย ซ่า มันส์ เหลือรับประทาน เสี้ยน (อยาก) ฯลฯ
10) ไม่ใช้เครื่องหมายแทนคำพูด
11) หากต้องใช้คำที่เป็นศัพท์ทางวิชาการ ควรตรวจสอบการใช้คำจากศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน
12) ไม่ใช้คำทับศัพท์โดยไม่จำเป็น หากคำนั้นมีคำไทยใช้อยู่แล้วควรใช้คำไทย แต่หากจำเป็นต้องใช้คำทับศัพท์โดยเฉพาะคำทับศัพท์ที่จำกัดเฉพาะวงการหรืออาชีพ ควรระบุศัพท์ของเจ้าของภาษาไว้ด้วย เช่น ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล (Florence Nightingale )
13) สะกดคำให้ถูกต้องตามหลักการเขียนคำ ระมัดระวังการใช้ตัวสะกดการันต์ให้ถูกต้อง
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา: www.bsru.ac.th