LEGO® SERIOUS PLAY® : เมื่อตัวต่อเลโก้ไม่ใช่ของเล่นเด็ก

หลักสูตร LEGO® SERIOUS PLAY® ทำให้รู้ว่า ตัวต่อเลโก้ทำอะไรได้หลายอย่างมากกว่าการเป็นของเล่นเด็ก

Source : Pixabay

“ต่อเลโก้ไม่เก่ง จะเรียนคลาสนี้ไหวไหม”

นี่คือสิ่งที่ผมสงสัย หลังจากที่มีผู้ชวนผมเรียนหลักสูตร LEGO® SERIOUS PLAY® หรือ LSP

และแล้ว ผมก็กลายเป็น certified LSP facilitator ผ่านการอบรม 4 วันเต็มที่เข้มข้นและซีเรียสสมชื่อ

บทความนี้เล่าประสบการณ์ในการเรียนหลักสูตร LSP ของผมครับ

LSP คืออะไร

LSP คือเทคนิคหรือกระบวนการที่ใช้ตัวต่อเลโก้ในการตัดสินใจ วางแผน สร้างกลยุทธ์ ค้นหาตัวเอง ตั้งเป้าหมาย ซึ่งใช้ได้กับปัจเจกบุคคลและองค์กร

กระบวนการ LSP ไม่ได้เกี่ยวข้องกับบริษัทเลโก้โดยตรง แต่ใช้ตัวต่อเลโก้ในกระบวนการนี้ และเป็นตัวต่อเลโก้แบบพิเศษที่ไม่ได้ขายในแผนกของเล่นหรือร้านเลโก้ทั่วไป ต้องสั่งซื้อจากเว็บไซต์เท่านั้น

LSP Facilitator Training

เนื่องจาก LSP เป็นกระบวนการพิเศษ ดังนั้น ผู้ที่จะนำ LSP ไปใช้ จึงต้องผ่านการฝึกอบรมจาก master trainer เพื่อเข้าใจและนำไปใช้อย่างถูกต้อง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 ถึงวันพุธที่ 14 มีนาคม 2561 มีการอบรม LSP facilitator training จัดที่รร.สิริสาธร ศาลาแดง ผู้สอนหรือ master trainer คือ คุณ Per Kristiansen ชาวเดนมาร์ก

ผู้เรียนมี 12 คน เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย รวมทั้งผม , วิทยากร , เจ้าของกิจการ , พนักงานองค์กร เป็นผู้เรียนจากไทย สิงคโปร์ เมียนมาร์

LSP Training จัดในไทยปีละครั้ง ดังนั้น ผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้การเป็น LSP Facilitator Training ต้องรอเรียนในเดือนมีนาคม ปีหน้าครับ

ห้องอบรมมีตัวต่อเลโก้อยู่ทุกแห่ง

รูปแบบการฝึกอบรม

ตลอดทั้งสี่วันมีรูปแบบเหมือนกันคือ คุณ Per จะให้พวกเราทำกิจกรรม LSP ก่อนประมาณหนึ่งชั่วโมง จากนั้นจึงอธิบายเบื้องหลังของกิจกรรมนั้นและการนำไปสอน

สองวันแรก เรียน 8 โมงครึ่งถึง 6 โมงเย็นโดยประมาณ ส่วนวันที่สาม เรียนถึงสี่ทุ่ม เพราะต้องทำแผนการฝึกอบรมเพื่อนำเสนอในวันสุดท้าย และวันสุดท้ายก็เลิกประมาณห้าโมงเย็นครับ

ตัวต่อเลโก้ของผมที่อธิบายความคาดหวังในการเรียนหลักสูตรนี้

เปลี่ยนนามธรรมให้จับต้องได้ด้วยตัวต่อเลโก้

จุดเด่นของ LSP คือเปลี่ยนนามธรรมหรือสิ่งของที่จับต้องไม่ได้ เช่น ไอเดีย ความรู้สึก ให้เป็นสิ่งของจับต้องได้ด้วยตัวต่อเลโก้

ผู้เรียนจะต่อเลโก้อย่างไรก็ได้ แล้วจึงให้ความหมายกับตัวต่อ เรียกว่า Storymaking

ดังนั้น LSP จึงไม่ใช่การต่อเลโก้ให้เหมือนของจริง และจะไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่วิจารณ์ตัวต่อเลโก้ของผู้เรียนใดๆ ทั้งสิ้น

ใครที่คิดว่า ต่อเลโก้ไม่เก่ง ต่อเลโก้ไม่เหมือนจริง จึงหมดห่วงได้ครับ และไม่ต้องห่วงเรื่องการเปรียบเทียบตัวต่อเลโก้กับคนอื่นด้วย

ที่จริงแล้ว ผู้ที่ไม่เคยต่อเลโก้เลย ก็เรียน LSP ได้ เพราะทัศนคติสำคัญในการเรียน LSP คือ ไว้ใจมือตัวเอง เดี๋ยวมือก็ทำงานเองครับ

นี่คือตัวต่อเลโก้ของผมที่อธิบาย CEO ที่เลวร้ายที่สุด เพราะอยู่บนหอคอย มีลูกน้องขึ้ประจบอยู่ด้านล่าง และทำลายไอเดียใหม่ๆ ของทุกคนที่ไม่ตรงกับความเห็นของตัวเอง
ตัวต่อเลโก้จากผลงานของผู้เรียนทุกคนที่ช่วยกันทำ
ภาพที่คุณ Per อธิบายความแตกต่างระหว่างวิทยากรและฟา รูปบนคือวิทยากร รูปล่างคือฟา

ฟา (Facilitator) ต่างจากวิทยากร (trainer) อย่างไร

ครู อาจารย์ วิทยากร ( trainer ) คือผู้ถ่ายทอดความรู้หรือทักษะของตนเองให้ผู้เรียน เป็นผู้ทราบคำตอบอยู่แล้ว และหวังว่า ผู้เรียนจะได้คำตอบ ความรู้หรือปฏิบัติได้ตามที่สอน

เช่น ถ้าอาจารย์สอนการใช้งานโฟโต้ชอป ก็คงหวังว่า ผู้เรียนจะใช้งานโฟโต้ชอปได้คล่องแคล่วเหมือนที่สอนครับ

แต่ LSP เน้นเรื่องการเป็น facilitator หรือเรียกสั้นๆ ว่าฟา

ฟาทราบคำถาม แต่ไม่ทราบคำตอบ ดังนั้นฟาใช้เทคนิคด้านการตั้งคำถามและการฟังอย่างมาก เพื่อดึงสิ่งที่มีในตัวผู้อบรมออกมา

คำตอบจึงไม่ได้อยู่ที่ฟา แต่อยู่ที่ผู้เข้าอบรม ซึ่งฟาจะต้องดึงหรือกระตุ้นออกมาครับ

หลักสูตร LSP ทำให้ผมเข้าใจบทบาทการเป็นฟามากขึ้น ซึ่งนำไปประยุกต์กับหลักสูตรหรือเนื้อหาอื่นๆ ที่ผมสอนได้อีกด้วยครับ

การเก็บตัวต่อเลโก้อย่างถูกวิธีเป็นเรื่องสำคัญในการเป็นฟา LSP

ภาษาเป็นเรื่องท้าทาย

เนื่องจากวิทยากรใช้ภาษาอังกฤษในการสอน หลักสูตรนี้จึงต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษอย่างมาก ผู้เรียนต้องฟัง คุยกับผู้เรียนคนอื่นและวิทยากรด้วยภาษาอังกฤษ

แต่ความท้าทายของผู้เรียน LSP ที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ คือ การเลือกใช้คำหรือประโยคในการตั้งคำถาม ตัวอย่างเช่น ลองพิจารณาสองประโยคนี้ครับ

  1. It seems that …
  2. It seems to me that …

ทั้งสองประโยคแตกต่างกันเล็กน้อย แต่มีประโยคหนึ่งที่เหมาะสมใน LSP อีกประโยคไม่เหมาะสม

หนังสือที่คุณ Per เขียน ซึ่งมีฉบับแปลไทยแล้ว

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LSP

แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ LSP ในไทยคือ เพจเฟซบุ๊คชื่อ LEGO® SERIOUS PLAY® THAILAND ครับ มีข้อมูลของการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ LSP

นอกจากนี้ ยังมีหนังสือแปลเกี่ยวกับ LSP ชื่อ “Lego® Serious Play® พัฒนาธุรกิจให้สุดยอดด้วยพลังสมองขั้นสูง” ที่อธิบายหลักการของ LSP ให้ผู้อ่านทั่วไปครับ

ผู้เรียน คุณ Per และคุณปุ้มในวันสุดท้ายของการอบรม (Credit : LEGO® SERIOUS PLAY® THAILAND )
เรียนจบหลักสูตรแล้ว ได้ Certificate รับรอง

ขอบคุณผู้สนับสนุน

บทความนี้ไม่มีทางเกิดเลย ถ้าผมไม่ได้เรียนหลักสูตร LSP ซึ่งมีผู้สนับสนุนหลายท่าน ได้แก่ คุณปุ้ม ณฤดี คริสธานินทร์ ผู้นำ LSP มาเผยแพร่ในไทยและชวนผมให้สมัครเรียนในครั้งนี้ หลังจากที่เคยมีหลายคนชวนผมเรียน และผัดผ่อนหลายครั้ง

ขอบพระคุณ รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ , รศ.ดร.ณัฐชา ทวีแสงสกุลไทย ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ , คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และอีกหลายท่านที่ช่วยสนับสนุน

ขอบคุณผู้เรียน LSP ด้วยกัน คือ ผศ.ดร.บุญรัตน์ โล่ห์วงศ์วัฒน สุดยอดนักประดิษฐ์ของคณะวิศว จุฬาฯ ที่มาเรียนด้วยกัน และสร้างความเฮฮาให้กับเวิร์คชอปนี้ , อาจารย์ทวีวรรณ กมลบุตร เพื่อนวิทยากรที่มาพบกันในหลักสูตรนี้ และเพื่อนใหม่ทุกคนฝ่าฟันจนจบการอบรมนี้ด้วยกันครับ

เชิญสมัครเป็นสมาชิกจดหมายข่าว “ไฟฉาย” ของผมที่จะส่องไอเดียน่าสนใจทุกวันที่ 1 และวันที่ 15 ของทุกเดือน เช่น แอป คอร์สออนไลน์ หนังสือ วิดีโอ บทความ เพจ ไฮไลท์จากหนังสือ เป็นต้น

สมัครเพื่ออ่านทางอีเมลได้อย่างสะดวกสบายได้ที่

thongchairoj.substack.com

--

--

ธงชัย โรจน์กังสดาล
การสอนยุค 4.0

ผู้สอนวิชาเลือกสุดฮิตของจุฬาฯ Innovative Thinking และ คอร์สออนไลน์ CHULA MOOC ปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์