การฟัง (4 levels of listening) กับภาวะผู้นำ

Leadership of Awareness-Based Systems Transformation

เราเห็นความล้มเหลวในภาวะผู้นำมากมาย ผู้นำขาดการสัมผัสรับรู้ถึงความเป็นจริง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือผู้นำขาดการฟัง ผมเชื่อว่า การฟังไม่ใช่แค่ความสำคัญอย่างหนึ่ง แต่เป็นความสำคัญที่สุด นั่นจึงเป็นเหตุให้ภาวะผู้นำทุกวันนี้เกิดความล้มเหลว — Otto Scharmer

ว่าด้วยเรื่องของ ‘การฟัง’

‘การฟัง’ ดูเหมือนจะเป็นทักษะของผู้นำที่ถูกมองข้ามมากที่สุด ส่วนใหญ่ความล้มเหลวของภาวะผู้นำที่ใหญ่หลวงมากที่สุดซึ่งเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาคือการที่ผู้นำมักไม่สามารถเชื่อมโยงและเข้าใจโลก ‘วูกา’ ที่อยู่รอบตัวของเขาได้ โลก ‘วูกา’ ที่ว่านี้หมายถึงสถานการณ์ของโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity)

VUCA World

ทักษะการฟังเป็นเรื่องสำคัญไม่เฉพาะต่อความเป็นผู้นำเท่านั้น แต่ถ้าคุณไม่สามารถเป็นผู้ฟังที่ดี คุณจะไม่มีทางพัฒนาความเชี่ยวชาญได้ ไม่ว่าจะในสาชาวิชาใดๆ

เสียงสะท้อนกลับที่ได้ยินอยู่เสมอจากกระบวนการอบรมโปรแกรมการเรียนรู้หรือกระบวนการสร้างนวัตกรรมนับร้อยที่เราเคยจัดมาก็คือ ‘การเปลี่ยนแบบวิธีการฟังก็คือการเปลี่ยนชีวิต’ แค่เปลี่ยนวิธีการฟัง วิธีการใส่ใจ มันฟังดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ขอบอกว่านี่คือความจริง การเปลี่ยนแปลงวิธีการฟังมันหมายถึงว่าคุณเปลี่ยนแปลงวิธีที่คุณมีประสบการณ์ต่อความสัมพันธ์และต่อโลกทั้งหมด และหากคุณเปลี่ยนมันได้ก็แปลว่าคุณเปลี่ยนทุกอย่าง

และมันน่าทึ่งมากที่คนส่วนใหญ่สามารถเปลี่ยนวิธีการรับฟังและวิธีการใส่ใจของเขาได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม มันต้องอาศัยการทำงาน กล่าวคือการฝึกฝน การทบทวน การได้รับเสียงสะท้อนจากเพื่อนและการฝึกฝนที่มากขึ้น เพื่อให้สามารถกลายเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นได้ ก่อนอื่นคุณจำเป็นต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับต้นแบบวิธีการฟังสี่ระดับ

4 levels of listening

การฟังสี่ระดับนี้สะท้อนหลักการพื้นฐานของการเปิดความคิด (Open Mind) เปิดใจ (Open Heart) และเปิดเจตจำนง (Open Will)

• การฟังแบบดาวน์โหลด การฟังแบบนี้จำกัดตัวเองอยู่แค่การตอกย้ำในสิ่งที่ตัวเราก็รู้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรใหม่เข้ามาในการเรียนรู้ของเรา

• การฟังแบบข้อเท็จจริง เป็นการฟังที่ให้ข้อมูลได้คุยกับเราและสังเกตเห็นว่ามีบางอย่างที่ไม่ตรงกับความเข้าใจของเรามาก่อน การฟังแบบนี้จะต้องอาศัยการเปิดความคิด นั่นคือต้องห้อยแขวนเสียงตัดสินอันเกิดจากความคุ้นชินเดิมของเรา

• การฟังแบบเข้าอกเข้าใจ เป็นการฟังที่เรามองไปยังสถานการณ์ผ่านมุมมองของคนอื่นได้ การฟังแบบนี้ต้องอาศัยการเปิดใจ นั่นคือต้องใช้ความรู้สึกและหัวใจของเราเพื่อปรับเข้าหามุมมองของคนอื่น

• การฟังแบบสรรค์สร้าง เป็นการฟังที่เราได้ยินเสียงของความเป็นไปได้สูงสุดแห่งอนาคตดังขึ้น ในขณะที่เปิดพื้นที่เพื่อให้สิ่งใหม่ได้ผุดบังเปิด

ตอนที่คุณฟังระดับที่หนึ่ง ‘แบบดาวน์โหลด’ ความใส่ใจของคุณไม่ได้อยู่ที่สิ่งที่อีกคนกำลังพูด หากแต่อยู่ที่คำวิจารณ์ภายในของคุณเอง เช่น อยู่กับสิ่งที่คุณกำลังคิดว่าจะพูด ต่อไปเมื่อคุณข้ามขั้นไปสู่การฟังระดับที่สอง จากแบบดาวน์โหลดไปสู่แบบข้อเท็จจริง ความใส่ใจของคุณจะขยับจากการฟังเสียงภายในไปสู่การฟังคนตรงหน้าของคุณจริงๆ คุณกำลังเปิดรับต่อสิ่งที่คนนั้นกำลังพูด

เมื่อคุณข้ามขั้นไปสู่การฟังระดับที่สาม จากข้อเท็จจริงไปสู่แบบเข้าอกเข้าใจ จุดรับฟังของคุณเปลี่ยนจากตัวคุณเองไปสู่อีกคนหนึ่งหรือจากยานเล็ก (ภูมิปัญญาของสมอง) ไปสู่ยานใหญ่ (ภุมิปัญญาของหัวใจ) คุณกำลังก้าวเข้าไปสู่มุมมองของอีกคนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น ในตอนนั้นคุณอาจจะคิดได้ว่า ‘โอ้ แม้ฉันจะไม่เห็นด้วย แต่ฉันสามารถเข้าใจได้ว่าเธอกำลังมองสถานการณ์นี้อย่างไร’

และเมื่อคุณข้ามขึ้นไปสู่การฟังระดับที่สี่ จากแบบเข้าอกเข้าใจไปสู่แลลสรรค์สร้าง การรับฟังของคุณจะกลายเป็นการให้พื้นที่เพื่อนำบางสิ่งบางอย่างที่ใหม่และพร้อมจะบังเกิดขึ้นให้มาสู่ความเป็นจริง คุณจะฟังแบบเปิดรับต่อความไม่รู้และสิ่งที่กำลังก่อตัวปรากฏ

ส่งสำคัญที่ผมได้เรียนรู้จากการวิจัยของผมก็คือ ความสำเร็จของภาวะผู้นำและการทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำที่จะเท่าทันและสังเกตคุณภาพการรับฟังของตัวเขาเอง และความสามารถที่จะปรับคุณภาพการฟังนั้นให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์

เมื่ออ่านจบแล้ว อยากชวนทุกท่านทำการทบทวนว่า ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะในบริบทขององค์กร ครอบครัว และกลุ่มเพื่อน ท่านใช้การฟังในระดับใดบ่อยที่สุด และการฟังที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ ท่านได้ปรับให้เข้ากับบริบทหรือเหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้าหรือไม่?

・・・・・・・・・・・・・・・・・・・・・

แหล่งอ้างอิง:

• The Essentials of Theory U

・・・・・・・・・・・・・・・・・・・・・

สามารถติดตามสาระความรู้และกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติมหรือติดต่องานได้ที่

--

--