Portrait Photography

Tor Chanon
torcnn
Published in
8 min readAug 30, 2015

--

ถ่ายรูปคนยังไงให้สวย?

by @torcnn

เทคนิคการถ่ายภาพบุคคลสำหรับมือใหม่หัดขับ วิธีการเลือกใช้เลนส์ จะเลือกใช้กล้องแบบไหนดี การจัดวางองค์ประกอบแบบง่ายๆ การใช้แฟลช ลูกเล่นอื่นๆที่ทำให้การถ่ายภาพบุคคลสนุกยิ่งขึ้น :D

เห่นโล้ว เรากลับมาแล้ว

เราเอง @torcnn

วันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคในการถ่ายภาพบุคคลตั้งแต่การตระเตรียมอุปกรณ์ไปจนถึงวิธีการถ่ายเลยครับ เราจะค่อยๆอธิบายทีละส่วนและขอใช้ภาษาง่ายๆในการนำเสนอนะเพื่อความง่ายในการเข้าใจสำหรับมือใหม่ทั้งหลาย ถึงแม้เราจะไม่ใช่ปรมาจารย์ในการถ่ายภาพ แต่ก็ขอเอาพื้นฐานมาเขียนเพื่อแชร์ให้ทุกคนได้อ่านกัน เพราะเราเข้าใจมือใหม่ทุกคนที่อยากหัดถ่ายรูปคนแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เราเองก็ผ่านจุดนั้นมาก่อน 5555

หมายเหตุ1: ภาพทุกภาพในบทความนี้เราถ่ายเอง ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ดังนั้นห้ามนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ และที่สำคัญกว่านั้นคือทุกภาพล้วนมีนางแบบนายแบบอยู่ในภาพ ขอความกรุณาอย่านำภาพไปเผยแพร่ต่อในกรณีอื่นๆนอกเหนือจากเพื่อการศึกษาด้านการถ่ายภาพเลยนะครับ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับเพื่อนๆที่มีรูปอยู่ในบทความนี้นะจ๊ะ

หมายเหตุ2: 95%ของภาพในบทความนี้ถ่ายด้วยกล้อง Sony A7 ครับ

การถ่ายภาพบุคคล?

การถ่ายภาพบุคคล(หรือการถ่ายPortrait)ให้ดีมันไม่ได้มีแค่การบอกนางแบบให้ยิ้มใส่กล้องแล้วเราก็กดชัตเตอร์ถ่ายไรงี้นะเว่ย มันมีอะไรมากกว่านั้น เพราะสิ่งสำคัญของการถ่ายภาพบุคคลคือการถ่ายทอดอารมณ์ของตัวแบบไปให้ถึงคนที่ดูภาพ ไม่ว่าจะอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ อารมณ์เหงา และอื่นๆ

เช่น รูปนี้มันบอกว่านางแบบกำลังมีความสุข(มากๆจนเป็นบ้า 555) ig:faipatthaya

ถ้ากดชัตเตอร์พลาดไปแม้แต่เสี้ยววินาที อารมณ์ที่ถ่ายทอดก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะฉะนั้นพกดวงไปด้วยนะ อย่างแรก

ผู้ที่จะเริ่มต้นถ่ายภาพบุคคล ควรมีความเข้าใจเบสิกในการถ่ายภาพเบื้องต้นก่อน สามารถไปตามอ่านได้ที่นี่นะครับ

การถ่ายภาพบุคคลให้ดีนั้น เรื่องอุปกรณ์เป็นสิ่งสำคัญในระดับต้นๆเลย ใครบอกว่า“ไม่ว่าใช้อุปกรณ์อะไรถ้ามีมุมมองที่ดีภาพก็จะสวย” เออมันมีส่วนถูก แต่นี่ไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะมุมมองไม่ใช่ทุกอย่าง เราต้องเลือกอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงานและสถานการณ์ ไม่ใช่เอาอะไรก็ได้ไปถ่าย ขอเริ่มที่การเตรียมเลนส์ก่อน ใครที่มีความเข้าใจด้านอุปกรณ์แล้วจะข้ามไปเลยก็ได้นะ

การเลือกเลนส์เพื่อถ่ายภาพบุคคล

เลนส์ถ่ายภาพบุคคลนั้นควรจะเป็นเลนส์ที่สามารถละลายฉากหลังได้ดี เพราะการถ่ายภาพแนวนี้ สิ่งที่เราต้องการจะเล่าคือ “ตัวบุคคล” ถ้าเราไม่สามารถลดความสำคัญขององค์ประกอบอื่นๆในภาพ ภาพมันก็จะเล่าทุกอย่างที่ปรากฏอยู่ในภาพ สิ่งที่สื่อมันก็จะดูเยอะไปหมด

เบลอหลังทิ้งไปเลยยยย

“แล้วเลนส์ที่ละลายฉากหลังได้ดีคือเลนส์แบบไหน?”

โดยทั่วไป เลนส์ที่มีคุณสมบัติละลายฉากหลังได้ดี คือ “เลนส์ที่มีระยะไกล และสามารถปรับค่าFให้น้อยๆได้” และเลนส์ส่วนมากที่สามารถปรับค่าFให้น้อยๆได้ ก็คือ เลนส์ที่มีความยาวโฟกัสคงที่

ใครงง เอาใหม่ พูดง่ายๆก็คือ เลนส์ที่มีคุณสมบัติเบลอหลังได้ดี มักจะเป็นเลนส์ระยะไกล ค่าFต่ำๆ ที่ซูมไม่ได้นั่นแหละ คนทั่วไปจะเรียกเลนส์ระยะไกล(ระยะมากกว่า50mm)ว่า “เลนส์เทเลโฟโต้” ตัวเลขของความยาวโฟกัสจะมีบอกอยู่ที่กระบอกเลนส์เลยครับ ถ้ามากกว่า50mmนี่ถือว่าเป็นเทเลโฟโต้แล้ว

และเราจะเรียกเลนส์ที่ซูมไม่ได้ว่า “เลนส์ไพรม์” หรือบางคนชอบเรียก “เลนส์ฟิกซ์” เอาเป็นว่าจะเรียกไรก็เรียกครับ เราสามารถสังเกตได้ง่ายๆด้วยการดูความยาวโฟกัสของเลนส์ ถ้าเป็นเลขเดียว เช่น 35mm, 50mm, 85mm หรือ 135mm แปลว่าเป็นเลนส์ไพรม์ แต่ถ้ามีสองเลข อย่าง 18–105mm, 16–50mm หรือ 70–200mm แปลว่าเป็นเลนส์ซูม

“ไพรม์ เทเลโฟโต้” คือชนิดของเลนส์ที่เหมาะที่สุดในการถ่ายภาพบุคคล (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเลนส์แบบอื่นๆจะถ่ายไม่ได้นะ)

เลนส์ไพรม์ ที่ซูมไม่ได้ไม่ใช่เพราะมันเจ๊งนะ แต่มันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว

เลนส์ไพรม์ เลนส์พวกนี้ซูมไม่ได้ซักตัว แต่จะเบลอหลังได้ดีมากๆ

ข้อดีหลักๆของเลนส์ไพรม์คือ ส่วนใหญ่รูรับแสงจะกว้างมาก! (ตั้งค่าFได้ต่ำ) ทำให้เบลอหลังได้ดี อีกอย่างที่สำคัญคือ ถ้าเรามีเลนส์ที่รูรับแสงกว้างๆ (ค่าFน้อย) เราจะสามารถถ่ายกลางคืนได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย แต่ข้อเสียก็คือต้องเดินเข้าเดินออกเอา เพราะมันซูมไม่ได้ ถือว่าบริหารขาไปละกันเนอะ

“Fแบบไหนที่เรียกว่าน้อย?”

การถ่ายภาพบุคคล สำหรับเรา เราแนะนำว่าตัวเลนส์ควรจะมีFขั้นต่ำที่2.8ลงไป สำหรับมือใหม่เราขอแนะนำให้ใช้ซัก 1.8–2.0 ก็เหลือเฟือ จริงๆแล้วคือเลนส์ที่ค่าFประมาณ1.8–2.0ส่วนใหญ่ราคามันถูกดีไม่ใช่ไร ใครมีตังก็ค่อยไป 1.4 หรือ 1.2 หรือถ้าบ้าหลังเบลอมากๆก็ไป 0.95 ได้เลย (แต่กระเป๋าตังอาจจะฉีกได้)

“ควรเลือกเลนส์ที่ความยาวโฟกัสเท่าไหร่ดี”

ความยาวโฟกัส พูดง่ายๆก็คือระยะ ยิ่งค่าของมันเยอะ ระยะมันก็ยิ่งไกล ความยาวโฟกัสยิ่งมาก ก็จะยิ่งมีส่วนช่วยทำให้เบลอหลังได้ดีขึ้นด้วย สำหรับคนที่เป็นมือใหม่จริงๆ เรายังไม่อยากแนะนำให้ใช้เลนส์เทเลโฟโต้(ระยะเกิน50mm)ในทันที แต่จะขอแนะนำให้ใช้เลนส์ระยะ 50mm ซึ่งเป็นระยะ Normal เพื่อฝึกฝนไปก่อน เจ้าระยะ 50mm นี่เป็นระยะที่ได้รับความนิยมที่สุดละ เพราะมันสะดวกดี แต่ถ้าใครใจรักและอยากจริงจังกับสายPortraitมากๆ ค่อยไปซื้อระยะ 85mm หรือ 135mm มาติดกระเป๋าไว้ทีหลังก็ได้

ถ้าเกิดเราใช้เลนส์ที่ทางยาวต่ำกว่า 50mm มีโอกาสที่ภาพจะยืด บิดเบี้ยวตามคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้าง โดนนางแบบบ่นว่าถ่ายออกมาอ้วนไม่รู้ด้วยนะบอกไว้ก่อน แต่ถ้าเราใช้เลนส์ระยะ Normal หรือ Telephoto แล้วไม่ได้ถ่ายมุมเสยดับอนาคตนางแบบ ถ้านางแบบยังบ่นว่ามันอ้วน แปลว่ามันน่ะอ้วนจริงๆ ไม่ได้แปลว่าเลนส์เราไม่ดี จำไว้!

“จำเป็นมั้ยที่จะต้องเป็นเลนส์ออโต้โฟกัส”

สำหรับเรา การ Auto Focus สำคัญ เพราะถ้าเราโฟกัสด้วยเลนส์ Manual Focus เราอาจจะพลาดช็อตสำคัญเพราะเรามัวแต่เสียเวลาหมุนโฟกัสด้วยมือ ช็อตที่นางแบบกำลังทำหน้าสวยที่สุดในชีวิตของเค้ามันอาจมาแป๊บเดียว เพราะฉะนั้นเวลาเราเลือกซื้อเลนส์ไปถ่ายภาพบุคคล เราจึงเลือกเลนส์ที่ Auto Focus ได้

ถึง Auto Focus จะสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะจำเป็น เลนส์ Manual Focus ก็ใช้ถ่ายบุคคลได้ และภาพมันก็ออกมาเหมือนๆกันน่ะแหละ แค่มันต้องใช้การฝึกฝนระดับนึงเพื่อความคล่องในการใช้งานเพราะคนถ่ายต้องหมุนโฟกัสด้วยตัวเอง เลนส์ Manual Focus ข้อดีของมันคือส่วนใหญ่จะราคาถูก ถูกกว่าเลนส์ Auto Focus แบบ2–5เท่าได้เลย

“แล้วเลนส์ซูมใช้ได้ป้ะ”

ได้ แต่ธรรมชาติของเลนส์ซูมคือรูรับแสงจะกว้างสู้เลนส์ไพรม์ไม่ได้ ทำให้เบลอหลังสู้ไม่ได้ แค่นั้นแหละ วิธีที่ช่วยให้เบลอหลังได้ดีมากยิ่งขึ้นก็คือซูมเข้าไปให้สุดกระบอกเลย

แต่เลนส์ซูมแพงๆบางชนิดอย่าง 70–200mm f4 ไรงี้ก็เบลอหลังได้ดีมากๆเช่นกัน แต่ขนาดมันจะประมาณกระบอกปืนบาซูก้าอะครับ ใครถือไปถ่ายเล่นไหวในชีวิตประจำวันก็ขอแสดงความยินดี

การเลือกกล้องเพื่อถ่ายภาพบุคคล

สิ่งสำคัญที่คนมองข้ามและมีผลมากๆกับการเบลอฉากหลัง คือขนาดเซนเซอร์ของกล้อง กล้องแต่ละตัวมันมีขนาดเซนเซอร์ที่แตกต่างกัน ซึ่งยิ่งขนาดเซนเซอร์เล็ก จะหมายความว่าภาพOriginalก็ยิ่งถูกCropลงไปมากเท่านั้น

อธิบายง่ายๆ สมมติเราถ่ายภาพให้ภาพเข้ามาในเลนส์100% แต่เซนเซอร์เรามีขนาดที่รับภาพได้แค่ 70% ภาพที่เราจะได้ก็จะเป็นแค่70% ซึ่งจะเหมือนถูกซูมเข้าไปจากภาพOriginal

ภาพ100%

ถ้าเราใช้ขนาดเซนเซอร์ที่เล็กลงมา ภาพก็จะกลายเป็นแบบนี้

เซนเซอร์ขนาดเล็กลงมา

ถ้าอยากได้องค์ประกอบภาพเหมือนรูปบน เราก็ต้องถอยออกมาอีก ตามหลักก็จะทำให้เบลอหลังได้น้อยลงไปด้วย ดังนั้น ถ้าเรามีกล้องที่เซนเซอร์ขนาดสอดรับกับภาพ100%พอดี องค์ประกอบภาพด้านข้างจะอยู่ครบ ทำให้เข้าใกล้แบบได้มากขึ้น ส่งผลให้เบลอหลังได้มากขึ้นนั่นเอง

ขนาดเซนเซอร์ยังมีผลกับการจัดการnoise ยิ่งขนาดใหญ่ก็ยิ่งดักแสงได้ดี หรือถ่ายกลางคืนได้ดีนั่นแหละ

“เซนเซอร์มีแบบไหนบ้าง?”

เริ่มที่บิ๊กไซส์กันก่อน ก็คือเซนเซอร์ขนาด Full-Frame อันนี้จะสอดรับกับภาพที่เข้ามาพอดี เป็นที่นิยมในหมู่ตากล้องที่จริงจัง เราแนะนำเลยนะว่า ต้องสำหรับใครที่คิดจะเอาไปรับงานจริงๆจังๆ เพราะขนาดของกล้องฟูลเฟรมมักจะใหญ่ ไม่เหมาะกับการพกไปใช้ในชีวิตประจำวัน เว้นแต่ใจรักจริงๆ

ค่ายหลักๆที่ทำกล้องเซนเซอร์ฟูลเฟรม ก็จะมีนิคอนกับแคนอน แต่เป็นคลาส DSLR หมดเลย โซนี่ก็มีรุ่น A99 กับ A9000 ที่เป็นDSLRฟูลเฟรม แต่โซนี่จะเก๋กว่าชาวบ้านตรงที่มีรุ่น A7 ด้วยที่เป็น Mirrorless เซนเซอร์ฟูลเฟรม (เราใช้อยู่) ส่วน Leica ก็เป็นเจ้าที่ทำฟูลเฟรมออกมาเหมือนกันแต่ราคายากจะเข้าถึงเหลือเกิน

เซนเซอร์ฟูลเฟรมมันไม่ใช่เซนเซอร์ขนาดใหญ่ที่สุดหรอก จริงๆแล้วมันมีขนาดที่ใหญ่กว่านั้น ใหญ่ขึ้นไปในระดับ Medium-format, IMAX หรือพวก Large-format แต่คือราคาแม่งเป็นแสนเป็นล้าน คนทั่วไปคงจะซื้อหรอกเนอะ ข้าม!

Full-Frame

สำหรับเซนเซอร์ที่ขนาดเล็กลงมานิดนึง ก็จะมี APS-H หรือครอป 1.3 กล้องที่ทำเซนเซอร์ขนาดนี้เท่าที่เห็นก็จะมีแค่ Canon กับ Leica แต่ก็มีออกมาน้อยรุ่นมากๆ

APS-H

เล็กลงมาอีกนิดนึงก็จะมี APS-C หรือครอป 1.5, 1.6 เท่า อันนี้เป็นที่นิยมมากๆ เพราะราคามันเข้าถึงง่ายและขนาดเซนเซอร์ก็ไม่ได้ถือว่าเล็กจนเกินไป แถมสามารถแบกไปใช้ไปในชีวิตประจำวันได้สบายๆเพราะกล้องมักจะมีขนาดเล็ก ค่ายที่ทำเซนเซอร์ครอป1.5นี้ก็จะมีพวก Fujifilm, Sony, Nikon, Pentax, Samsung ส่วนยี่ห้อ Canon จะ Crop ที่ 1.6

APS-C

เล็กลงไปอีกก็จะเป็นเซนเซอร์ Four-Thirds หรือครอป 2 เท่า กล้องที่ทำเซนเซอร์นี้ก็จะมี Olympus, Panasonic

Four-Thirds

ถ้าเล็กลงไปอี๊ก! ก็จะมีเซนเซอร์ขนาด 1 นิ้ว เซนเซอร์ขนาด2/3นิ้ว หรือเล็กลงไปอีกในระดับเซนเซอร์กล้องมือถือ

พูดมาซะยาว ยังไงก็ตาม เซนเซอร์ที่เราขอแนะนำสำหรับงานถ่ายภาพบุคคล คือเซนเซอร์ขนาด APS-C ขึ้นไปนะครับ

อุปกรณ์พร้อมแล้ว เริ่มถ่ายกันเลยละกัน!

การตั้งค่ากล้อง

อย่าเพิ่งเบื่อทฤษฎี เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะถ้าค่าต่างกัน ภาพก็ออกมาต่างกัน สำหรับการถ่ายภาพบุคคล สิ่งที่เราควรให้ความสนใจสูงที่สุดคือค่า F หรือรูรับแสง(Aperture) เพราะสิ่งนี้จะเป็นตัวกำหนดว่าจะได้ภาพหน้าชัดหลังเบลอแค่ไหน เพราะฉะนั้นโหมดที่เราแนะนำคือโหมด A หรือโหมด M และลดFลงเพื่อแยกตัวแบบออกจากฉากหลังครับ

ส่วนเรื่องความเร็วชัตเตอร์ การถ่ายภาพบุคคลนั้น ถ้าความเร็วชัตเตอร์ช้าจนเกินไป การถือกล้องไว้ในมือเพื่อถ่ายภาพอาจจะทำให้ภาพดูสั่นไหว แถมนางแบบที่กำลังเคลื่อนไหวก็จะเบลอได้ เพราะฉะนั้นความเร็วชัตเตอร์ที่เราแนะนำคือความเร็วไม่ต่ำกว่า 1/60 วินาทีหากนางแบบอยู่เฉยๆ และความเร็วไม่ต่ำกว่า 1/125 หากนางแบบเคลื่อนไหวช้าๆครับ บวกลบตามสถานการณ์

การโฟกัส

เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ จริงๆมันมีหลายแบบกว่านี้

1.โฟกัสก่อนแล้วค่อยจัดองค์ประกอบ

เป็นแบบที่ง่าย เร็ว และหลายๆคนชอบทำกันสำหรับการถ่ายภาพบุคคลครับ วิธีนี้คือการตั้งจุดโฟกัสไว้ตรงกลาง กดชัตเตอร์ครึ่งหนึ่งขณะตัวแบบอยู่ตรงกลางเฟรมเพื่อให้แบบชัดก่อน จากนั้นก็เลื่อนกล้องเพื่อจัดองค์ประกอบ และกดชัตเตอร์ลงไปอีกทีเพื่อถ่ายภาพ วิธีนี้เราใช้ประจำเพราะมันง่ายดี ไม่ต้องกดปุ่มเยอะ แต่อาจจะไม่เหมาะกับงานละเอียดซักเท่าไหร่ครับ เพราะมันมีโอกาสเบลอได้ในขณะที่เราจัดองค์ประกอบของภาพ

2. จัดองค์ประกอบก่อนแล้วค่อยโฟกัส

วิธีนี้เป็นการตั้งจุดโฟกัสแบบยืนหยุ่น หรือ Flexible Spot เริ่มด้วยการที่เราเลื่อนกล้องเพื่อจัดองค์ประกอบของภาพก่อน จากนั้นเราจึงค่อยๆเลื่อนจุดโฟกัสไปยังหน้าของนางแบบ ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่านางแบบของเราจะไม่เบลอ วิธีนี้ส่วนมากจะใช้เวลาเยอะกว่าวิธีข้างบนอยู่นิดหน่อย แต่สำหรับในบางสถานการณ์ก็อาจจะได้ภาพเร็วกว่าวิธีข้างบนครับ

รูปแบบไหนที่เรียกว่าชัด?

การถ่ายภาพบุคคล สิ่งที่เราควรโฟกัสที่สุดคือตาของนางแบบครับ ถ้าตาชัด เท่ากับภาพนั้นชัด

แต่หากว่าเราถ่ายภาพบุคคลระยะใกล้มากๆ การใช้Fน้อยๆอาจจะทำให้ตาข้างใดข้างหนึ่งชัด ส่วนอีกข้างเบลอ การโฟกัสที่ดีนั้นควรเน้นให้ตานางแบบข้างที่อยู่ใกล้กับช่างภาพชัดไว้ก่อนครับ

ตัวอย่างที่ไม่ดี ห้ามทำตามนะ

ข้างบนนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี เนื่องจากตาของนางแบบข้างที่อยู่ไกลชัด แต่ข้างที่อยู่ใกล้เราดันเบลอ

ตาข้างที่ใกล้กว่าชัดถือว่าใช้ได้ ig:mookworranit

ส่วนอันนี้ถือว่าโอเคแล้ว เพราะตาข้างที่อยู่ใกล้เราชัด

การจัดวางองค์ประกอบภาพ

1.กฏสามส่วน หรือจุดตัด9ช่อง (Rule of Thirds)

หลายๆคนคงเคยได้ยินเรื่องจุดตัด9ช่องมาบ้างแหละ คือให้เราแบ่งส่วนของภาพออกเป็น9ส่วน (กล้องหลายๆตัวก็จะมีเมนูเส้นGrid 9ช่องมาให้ด้วย จะได้แบ่งสะดวกๆ) วิธีง่ายๆก็คือวางจุดสนใจไว้ที่จุดตัดไหนก็ได้ ภาพมันจะดูมีอะไรมากกว่าการวางแบบไว้ตรงกลางทื่อๆ

วิธีจัดองค์ประกอบนี้ ข้อดีของมันคือ เร็ว และง่ายครับ ไม่ต้องคิดเยอะ

อย่างรูปนี้เราวางจุดสนใจไว้ซ้ายบน ตรงหน้าของนางแบบ ig:fuang_kpn
วางจุดสนใจอยู่แถวๆตรงจุดตัดขวาบน ig:mookworranit
วางจุดสนใจตรงจุดตัดซ้ายบน ig:nopnapasorn

ไม่ยากเลยใช่มะ ลองทำกันดูนะ

จริงๆมันมีกฏ Golden Spiral กับ Golden Triangle อีก แต่มันจะแอดวานซ์เกินไปหน่อยสำหรับมือใหม่ เราเองยังหาโอกาสจัดองค์ประกอบแบบนั้นไม่ค่อยจะได้เลย เอาเป็นว่าใช้แค่วิธีจุดตัด9ช่องก็เหลือเฟือแล้วครับ

2.เหลือพื้นที่ว่างให้แบบทอดสายตา

เป็นวิธีนึงที่ทำให้ภาพทั้งภาพดู “สมดุล” หากว่านางแบบนายแบบของเรากำลังมองไปทางไหน เราก็ควรจะเหลือพื้นที่ว่างเปล่าให้สายตามองออกไป

เหลือพื้นที่ว่างด้านซ้ายให้แบบทอดสายตา ig:mookworranit
เหลือพื้นที่ว่างด้านขวาให้แบบทอดสายตา ig:teng1
เหลือพื้นที่ว่างด้านขวาให้แบบทอดสายตา ig:faiyhief
เหลือพื้นที่ว่างด้านซ้ายให้แบบทอดสายตา ig:toptap_jirakit

แต่ถ้าหากว่าเราเว้นพื้นที่ว่างผิดด้าน ภาพก็จะเหลือพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้เยอะเกินไป จากตัวอย่างด้านล่าง ตาของนางแบบเทไปทางขวา ทำให้เกิดความรู้สึกที่อึดอัดในส่วนขวาของภาพ และเหลือพื้นที่ที่ไร้ค่าในส่วนซ้าย

นางแบบเค้ามองไปทางขวา แต่เราเผื่อพื้นที่ไปทางซ้าย ภาพจะอึดอัด และพื้นที่ทางซ้ายก็จะดูไร้ประโยชน์ไปเลย

3.เส้นนำสายตา

ชื่อมันคล้ายๆกับอันตะกี๊แต่มันคนละคอนเซปกันนะ การใช้เส้นนำสายตานี่สำหรับเรามันเป็นอีกระดับของการจัดวางองค์ประกอบละ เพราะมันใช่ว่าจะถ่ายตรงไหนก็ได้

เส้นนำสายตา ชื่อก็บอกครับว่ามันนำสายตา มันเป็นเส้นที่จะนำพาสายตาของคนดูภาพไปยังจุดสนใจ เวลาถ่าย เราก็ต้องหาเส้นอย่างน้อยเส้นนึงที่ขีดนำพาเราไปยังจุดสนใจได้ เดี๋ยวดูตัวอย่าง

มีเส้นนำสายตาชี้ไปยังตัวแบบให้เด่นขึ้นมา

จากภาพจะเห็นว่ามีเส้นทางขวาหลายๆเส้นที่ชี้ไปยังตัวแบบทางซ้าย อันนี้แหละที่เค้าเรียกว่าเส้นนำสายตา คือไม่ว่าตัวแบบจะอยู่ตรงส่วนไหนของภาพ เส้นเหล่านี้มันก็จะนำสายตาของเราไปยังจุดสนใจได้

เส้นนำสายตา ig:chopluem

ส่วนรูปนี้ก็จะมีเส้นนำสายตาคือราวจับ สลิงยึดสะพาน ราวถนน แล้วก็ขอบล่างของราวจับทั้งสองฝั่งด้วย อันนี้จะเห็นว่ามีเส้นนำสายตาเยอะมากๆ ถึงแบบจะขนาดเล็ก แต่เส้นทุกเส้นก็ชี้ไปทางแบบให้ดูเด่นขึ้นมา

ขนาดภาพ

ขนาดภาพในการถ่ายภาพบุคคลมีหลายแบบอยู่ แต่แบ่งคร่าวๆง่ายๆประมาณนี้

  1. CU หรือ Close Up

ขนาดภาพแบบนี้จะเน้นเก็บรายละเอียดบนใบหน้าและเน้นการถ่ายทอดอารมณ์ โดยภาพจะเก็บตั้งแต่ส่วนคางไปจนถึงข้างบนหัว

CU ig:fuang_kpn

2. MS หรือ Medium Shot

จะเน้นรายละเอียดรวมๆของตัวแบบ รวมถึงรายละเอียดของฉากหลัง สามารถใช้บอกถึงอารมณ์และกิจกรรมที่ตัวแบบกำลังทำอยู่ ส่วนมากจะเก็บตั้งแต่หัวถึงบริเวณเอว ถ่ายค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับแบบอื่นๆ

MS ig:yingwrn
MS ig:waffleflefle

3. LS หรือ Long Shot

จะเป็นการถ่ายระยะไกลที่เก็บสรีระของแบบตั้งแต่หัวจรดเท้า ภาพก็จะเล่าถึงทั้งตัวแบบและสถานที่ที่ตัวแบบกำลังอยู่ เหมาะกับการถ่ายภาพตอนไปท่องเที่ยว ภาพที่ต้องการจะบอกว่าเรามาเที่ยวที่นี่แล้วนะ สื่อถึงกิจกรรมของตัวแบบควบกับการสื่อความสำคัญของสถานที่ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ที่ไหน หรือสื่อถึงความยิ่งใหญ่ของสถานที่เมื่อเปรียบเทียบกับตัวแบบ

LS
LS ig:manjettanan

ใช้Foreground

Foreground คือจุดนอกโฟกัสที่อยู่ด้านหน้าของตัวแบบ เราอาจจะหาอะไรมาวางบังหน้าเลนส์ซักหน่อย เพื่อให้ภาพดูมีมิติมากยิ่งขึ้น

ใช้ดอกไม้แห้งเป็น foreground ทำให้ภาพดูมีอะไรมากขึ้น ig:faunglada
ใช้น้ำและน้ำพุเป็นForeground ig:earnearin

สร้างเรื่องราวให้กับภาพ

สมมติว่าถ่ายรูปออกมา200รูป ถ้าหน้าเดิมท่าเดิมหมดเงี้ย น่าเบื่อตาย เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้นางแบบนายแบบมองกล้องแล้วยิ้มเฉยๆดิ รู้จักสร้างเรื่องสร้างราว หาอะไรให้เค้าทำ! เดินเจออะไรก็พยายามหยิบมาเล่น สั่งเลยเว่ย ไม่ต้องกลัว เค้าไม่กินหัวแกหรอก

อะ ไปเล่นเปียโนซิ!

อะ เอาหูฟังไปฟังซิ!

อะ โยนหมวกซิ!

อะ กระโดดซิ!

อะ ไปยืนพิงรถซิ!

อะ ไปคุยกับกวางซิ!

ลองถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้างบ้างจะได้ไม่เบื่อ

รูปถ่ายบุคคลทั่วๆไปที่ดูแล้วสวยอะ มักจะมาจากเลนส์ระยะ50mmขึ้นไปที่เบลอหลังทิ้งเหลือแต่บุคคลที่ดูเด่นขึ้นมาจากภาพ แต่รูปบุคคลที่ดูแล้วโคตรสวยงามอลังการงานสร้างหลายๆรูปกลับมาจากเลนส์มุมกว้าง แปลกเนอะ

การใช้เลนส์มุมกว้างถ่ายภาพบุคคลเหมือนกับเป็นการฉีกกฏเกณฑ์ในการถ่ายภาพบุคคลทั่วไปเลยแหละ เนื่องด้วยคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้างที่เบลอหลังได้น้อยแถมเก็บอะไรด้านข้างได้เยอะ แปลว่าถ้าถ่ายอะไรก็จะมีโน่นนี่นั่นติดมาในเฟรมแถมชัดเกือบหมด คุณสมบัติอีกอย่างคือมันจะยืดองค์ประกอบในภาพออก นั่นแปลว่าถ้าถ่ายเสยๆขานางแบบอาจจะยาวขึ้นผิดปกติ หรือถ้าเอากล้องถ่ายจ่อๆหน้า หน้านางแบบอาจจะใหญ่จนผิดสัดส่วน

ถ่ายจ่อๆ หน้านางแบบจะดูใหญ่ผิดปกติตามคุณสมบัติของเลนส์มุมกว้าง
ขานางแบบดูยาวผิดปกติเพราะเลนส์มุมกว้าง

เนื่องด้วยคุณสมบัติพวกนี้ของเลนส์มุมกว้าง ทำให้มันเป็นตัวเลือกที่ไม่ค่อยเหมาะสำหรับมือใหม่หัดถ่ายภาพบุคคลเท่าไหร่ครับ แต่ยังไงถ้าเราวางตำแหน่งของนางแบบได้โอเค จัดแสงและเลือกฉากหลังที่ดีพอ ฝึกฝนจนเก่ง เลนส์มุมกว้างจะให้ภาพที่แปลกตาและสวยมากๆเลยแหละ

เลือกฉากที่เข้ากับชุดของตัวแบบ

มันคงจะแปลกๆนะถ้าเราจับผู้หญิงใส่ชุดบิกินี่ไปถ่ายรูปเล่นกลางสยามสแควร์ หรือจับคุณป้าขายหมูปิ้งไปเดินถ่ายแบบบนแคตวอล์ก

ถ้าเป็นไปได้ก็พยายามเดินหาฉากที่เข้ากับนางแบบและชุดของนางแบบครับ เพราะถ้าฉากไม่เข้า เรื่องที่จะเล่าก็คงเพี้ยนๆ

เรื่องสีของฉากหลังก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสีสันเยอะไป มันอาจจะลดความสำคัญของนางแบบเราได้ และถ้าสีของชุดนางแบบกับฉากหลังใกล้เคียงกันเกินไป นางแบบก็อาจจะถูกกลืนไปกับฉากหลังได้

นอกจากนี้ หากเราศึกษาโลเคชั่น วางแผน และสื่อสารกับนางแบบเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมก่อนที่จะลากเค้าไปถ่ายรูป เราก็ไม่ต้องมาวุ่นวายลำบากคิดหาฉาก ณ ตอนถ่ายมากมาย เซฟเวลาได้เยอะด้วย

หลีกเลี่ยงฉากหลังที่ดูรกสายตา

พยายามหลีกเลี่ยงฉากหลังที่ดูรกสายตา รกสายตาในที่นี้หมายถึงการถ่ายติดสิ่งที่เราไม่ได้อยากจะเอามาเล่าในภาพด้วยเยอะแยะไปหมด ถึงแม้เลนส์ของเราจะเบลอหลังได้ดี แต่ถ้าไปถ่ายในที่ที่ดูรกหูรกตามันก็ยากที่จะออกมาดูดีอะ พยายามหาฉากหลังที่ดูเคลียร์ๆทุกครั้งที่เราถ่ายภาพบุคคล หรือถ้าฉากดูรก ก็ขอให้รกแบบที่ยังเป็นสีเดียวกัน อย่าให้สีสันมันวาไรตี้จนเกินไป

ตัวอย่างที่ไม่ดี!

ข้างบนนี้เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ถึงเลนส์จะเบลอหลังได้ดีแค่ไหน แต่ก็เห็นอยู่ดีว่าถ่ายติดมาทั้งรถ ทั้งแป้นบาส สรุปภาพจะเล่าอะไรกันแน่ฟระ

ถ้าฉากดูรก อย่างน้อยก็ขอให้มันเป็นโทนเดียวกัน

ส่วนอันนี้จะเห็นว่าฉากหลังค่อยยังชั่ว ถึงจะดูลวดลายเยอะก็ตาม แต่มันก็ดูเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถแยกฉากออกจากตัวแบบได้ชัดเจนและไม่มีองค์ประกอบเยอะจนเกินไป (จะไม่ดีก็เรื่องแดดแรงเกินนี่แหละ)

ถ้าเลนส์เราเบลอหลังได้ไม่ดีมาก ก็พยายามถ่ายให้มันใกล้ๆหน่อย จะได้เบลอหลังเยอะๆและแก้ปัญหาเรื่องฉากไม่สวยไปด้วย

แสง

เห็นแดดรูปตะกี๊แล้วขอเข้าเรื่องนี้เลยละกันครับ เรื่องแสงนี่เป็นปัญหาโลกแตกของช่างภาพตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงระดับโปรเลย เวลาต่าง แสงก็ต่างออกไป เราจำเป็นต้องทำงานแข่งกับเวลา เพราะโลกเราหมุนทุกวินาที นี่ไม่ได้คม แต่ว่ามันเป็นแบบนี้จริงๆนะ ช่วงเวลาที่ดีสำหรับการถ่ายภาพบุคคล คือประมาณ4โมง-5โมงครับ เรื่องเวลาเนี่ยอาจจะแล้วแต่ความถนัดของบุคคล แต่ว่าสำหรับเราและช่างภาพหลายๆท่านที่เรารู้จัก เวลาประมาณ4โมงกว่าๆนี่เวิร์กสุดๆ

เรื่องแสง เราสามารถแบ่งออกได้เป็น2แบบ

  1. แสงแข็ง

เป็นแสงที่ส่องเข้าหน้านางแบบของเราโดยตรงเป็นทิศทางเดียว แสงแบบนี้จะทำให้เกิดเงาบนใบหน้า ยกตัวอย่างง่ายๆก็เช่นแสงอาทิตย์เวลาเที่ยงที่ส่องใส่หน้านางแบบเรา แสงแบบนี้ถ้าจะให้ดีควรเอาไปใช้ถ่ายคนมีอายุนิดนึง ถ่ายผู้ชายในมุมเท่ๆ หรือถ่ายผู้ที่กำลังสื่อถึงอารมณ์ที่รุนแรง เพราะแสงแบบนี้มันดูไม่นุ่มนวล คอนทราสสูงไป ไม่เหมาะกับสาวๆครับ

สังเกตได้ว่าหน้านางแบบจะเกิดเงา
แสงแข็ง

2. แสงนุ่ม

เป็นแสงที่ส่องผ่านหรือตกกระทบอะไรซักอย่างก่อนที่จะเด้งเข้าหน้านางแบบ อย่างเช่นแสงที่ส่องผ่านผ้าม่าน หรือแสงที่ตกกระทบพื้น แสงพวกนี้จะนุ่มนวล เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลทั่วไป วิธีง่ายๆเพื่อที่จะได้แสงนุ่ม คืออย่าใจร้ายจับให้นางแบบของเราไปยืนกลางแดดครับ นอกจากจะได้แสงแข็งแล้วยังสงสารนางแบบเราด้วย

แสงนุ่ม ig: _misss_
แสงนุ่ม ig:luktanapi_

โดยทั่วไป การจัดแสง ควรให้แสงเข้าหน้านางแบบแบบเฉียงๆ ควรหลีกเลี่ยงแสงแรงๆที่ส่องเข้าหน้านางแบบตรงๆ รวมถึงแสงจากด้านบนหรือแสงจากด้านล่าง ไม่งั้นภาพนางแบบอาจจะออกมาผีได้

ลองให้แสงส่องด้านหลังของแบบ

ลองจับให้นางแบบของเราหันหลังให้แสงแดดดูครับ การทำแบบนี้จะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Rim Light หรือแสงสว่างๆที่มาเกาะรอบๆเส้นผมและเสื้อผ้าของแบบ เวลาที่ถ่าย Rim Light ได้จะเป็นช่วงประมาณบ่ายสามบ่ายสี่เป็นต้นไปจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดินครับ

การถ่ายให้เกิด Rim Light คือต้องมีจุดกำเนิดแสงอยู่ด้านหลัง อาจจะทำไม่ได้หากท้องฟ้าอากาศแปรปรวนหรือมีเมฆมากนะครับ เราสามารถสร้าง Rim Light ด้วยการใช้แฟลชยิงเข้าด้านหลังของตัวแบบแทนการใช้แสงธรรมชาติก็ได้

หรือหากแสงแดดมันรุนแรงนักก็ประชดมันด้วยการถ่ายย้อนเลย ถ้าพระอาทิตย์กำลังตกและเราถ่ายย้อนมันตรงๆ แสงที่พุ่งกระทบหน้าเลนส์ของเราอาจจะทำให้เกิด Flare ได้ (คือแสงฟุ้งๆสะท้อนหน้าเลนส์ที่มีที่มามาจากแหล่งกำเนิดแสงที่เข้มเกินไป) หน้าตาของ Flare ก็จะประมาณภาพนี้ บางคนชอบก็ดีไป แต่ถ้าไม่ชอบก็คงต้องหา Lens Hood มาใส่ หรือซื้อฟิลเตอร์ติดหน้าเลนส์คุณภาพดีๆมาใช้ครับ

ยิงภาพย้อนแสงก็มีโอกาสที่จะเกิดflareได้ ig:dreammiie_

เวลาที่เราถ่ายย้อนแสงแบบนี้ หน้าของนางแบบอาจจะดูมืดเกินไปเมื่อเทียบกับบรรยากาศโดยรวม เราเลยอาจจะต้องใช้ Reflector หรือ แฟลช ช่วยเพิ่มแสงบนใบหน้าให้อีกแรง

แฟลชแยก

บ่อยครั้งที่เวลากลางคืนบรรยากาศมันมืดไปหมด มีแค่แสงbackgroundสลัวๆ ถ่ายนางแบบออกมานี่นึกว่ากดติดวิญญาณ และบ่อยครั้งที่เวลาเราถ่ายมา ท้องฟ้าสวยเชียวแต่หน้านางแบบแม่งดำปี๋ จะให้มาแต่งรูปดึงหน้าให้ขาวขึ้นทุกรูปเราเองก็ไม่ไหว ภาพจะพังซะเปล่าๆด้วย ก็เลยจำเป็นต้องใช้ตัวช่วย ตัวช่วยนั้นก็คือแฟลชนั่นเอง

ทาดาร์!

อุปกรณ์ที่เราควรมีติดไว้หากถ่ายภาพบุคคลก็คือแฟลชแยกครับ หรือ External Flash จริงๆแล้วแฟลชที่ติดบนหัวกล้องก็ใช้ได้ แต่ไม่ขอแนะนำสำหรับงานแฟลชที่ต้องถ่ายต่อเนื่อง

เราสามารถตั้งค่าของแฟลชได้เป็นโหมด A โหมด M หรือโหมด TTL

โหมด A หรือออโต้ คือให้แฟลชมันคิดให้ครับว่าจะปล่อยแสงขนาดไหน

โหมดM หรือแมนนวล คือให้เราปรับความแรงของแสงเอง

โหมด TTL คือโหมดที่แฟลชจะให้เรากำหนดก่อนว่าจะเอาแสงระดับไหน แฟลชมันจะไปปรึกษากล้องด้วยการวัดแสงผ่านเลนส์เพื่อยิงปริมาณแสงในระดับที่ตรงตามที่เราเซ็ตไว้ตอนแรก งงปะ เอาเป็นว่ามันเป็นโหมดที่คาบเกี่ยวกันระหว่างแมนนวลกับออโต้ ปกติแล้วเราจะใช้โหมดTTLนี้แหละ มันง่ายและตรงใจเราดี

หากเรามีแฟลชหลายๆตัว เราสามารถที่จะยิงมันใส่นางแบบพร้อมๆกันในหลายๆทิศทางได้ ให้ทิศทางของแสงที่แปลกตา ดูอลังการ

การลดแรงแฟลช

การสาดแฟลชใส่ตัวนางแบบนั้น มีโอกาสสูงมากที่แฟลชจะปล่อยแสงเกินกว่าที่เราต้องการ ถึงไปปรับแรงแฟลชในกล้องให้ลดลงก็อาจจะยังแรงอยู่ดี เราจึงควรลดพลังของแสงแฟลชลงด้วยวิธีอื่นเพื่อให้แสงตกกระทบซอฟต์ๆกับหน้าของแบบเรา ซึ่งวิธีลดความแรงของแสงแฟลชนั้นก็ไม่ยากครับ

  1. Bounce แฟลชกับเพดานหรือกำแพง

วิธีนี้เป็นการปล่อยแสงใส่เพดานหรือกำแพงเพื่อให้แสงตกกระทบกับสิ่งอื่นก่อน ทำให้แสงอ่อนลงและค่อยสะท้อนมาที่ตัวแบบแบบพอดีๆ เราต้องกะระยะให้จุดปล่อยแสงทำมุมกับเพดานและตกกระทบที่ตัวแบบ

2. Bounce แฟลชกับ Bounce Card

บางคนคงเคยเห็น Bounce Card เป็นเหมือนกระดาษๆหรือพลาสติกรูปทรงสี่เหลี่ยมหน้าตาโคตรทึ่มแปะอยู่ที่ส่วนบนของแฟลชฝั่งคนถ่าย ไอ้การ์ดนี้หน้าที่ของมันคือสะท้อนแสงครับ พอแฟลชยิงปุ๊บ แสงจะไปกระทบการ์ดตัวนี้และเข้าหน้าตัวแบบ จบปิ๊ง

3. ใช้ Diffuser

หลายๆคนคงเคยเห็นไอ้กล่องโปร่งแสงขุ่นๆที่เขาเอามาครอบแฟลช มันจะช่วยกระจายแสงและลดปริมาณแสงส่วนเกินให้กับเราได้

ส่วนการปรับแสงแฟลชที่ตัวแฟลชต้องลองถ่ายดูแล้วปรับตามรูปที่ออกมาครับ แสงมากไปก็ลด น้อยไปก็แค่เพิ่ม โดยปกติบนโหมดTTLเราจะปรับให้แสงยิงที่ประมาณ -0.5 หรือ -1.0 ครับ

ใช้แฟลชถ่ายภาพบุคคล

การใช้แฟลชนั้นก็เหมือนกับการสร้างแสงปลอมๆขึ้นมาให้ตกกระทบกับตัวแบบ เพื่อให้ตัวแบบดูเด่นขึ้นมาจากบรรยากาศโดยรอบ

เปรียบเทียบ ใช้แฟลช กับไม่ใช้แฟลช

ถ่ายกลางคืน: หลายๆคนคงคุ้นเคยกับการใช้แฟลชกลางคืนกันดีเนอะ

Slow Sync Flash

โดยปกติแล้วเราจะใช้โหมดแฟลช Slow Sync เวลาถ่ายกลางคืน เพราะโหมดนี้เป็นการใช้แฟลชร่วมกับความเร็วชัตเตอร์ที่ช้า(ประมาณ 1/25, 1/40) ความเร็วชัตเตอร์ช้าๆจะช่วยให้เราเก็บแสงด้านหลังตัวแบบได้ดี แสงรอบๆตัวแบบจะสว่างขึ้น

โหมด Slow Sync นี้เราเห็นว่ากล้องส่วนใหญ่มีให้ใช้กันหมด สามารถปรับโหมดได้ที่กล้องโดยตรง

หลายๆคนชอบเล่นกับการถ่ายแฟลชเวลากลางคืนด้วยการตั้งชัตเตอร์สปีดต่ำๆ ซักประมาณ 1/3 วินาที ยิงแฟลชแล้วขยับกล้อง/หมุนกล้อง/ซูม ภาพที่ได้ก็จะออกมาประมาณนี้ครับ สนุกไปอีกแบบ

ถ่ายกลางวัน: แฟลชไม่ได้มีไว้ใช้ถ่ายกลางคืนอย่างเดียว หลายๆคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการใช้แฟลชเวลากลางวัน จริงๆจุดประสงค์หลักของมันก็เพื่อลบเงาบนใบหน้าหรือทำให้ใบหน้าที่มืดๆดูสว่างขึ้น คล้ายๆกับการถ่ายกลางคืนน่ะแหละครับ

รูปนี้ถ้าไม่ใช้แฟลช หน้านางแบบจะมืดมาก

เวลาเราถ่ายภาพเวลากลางวัน ชัตเตอร์สปีดปกติเราจะตั้งไว้ตั้งแต่ 1/320 ไปจนถึง 1/1600 เลย(หรือมากกว่านี้ แล้วแต่ความแรงของแดด) แต่พอเราเอาแฟลชแยกไปติดที่กล้อง กลับกลายเป็นว่ากล้องมันลิมิตชัตเตอร์สปีดความเร็วเต็มที่ไว้ที่แค่ 1/200 หรือ 1/250 ปรับให้เร็วขึ้นไม่ได้ เมื่อยิงแฟลชที่ความเร็วชัตเตอร์เท่านี้ ทำให้ภาพสว่างจนเกินไป

แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยโหมด High Speed Sync ครับ

High Speed Sync

โหมด High Speed Sync เป็นโหมดที่ทำให้แฟลชเราทำงานสัมพันธ์กับม่านชัตเตอร์ที่เปิดและปิดเร็วๆได้ เป็นโหมดสุดฮิตของตากล้องที่ชอบถ่ายกลางแดด แต่ไม่ใช่ว่ากล้องและแฟลชทุกตัวจะใช้โหมดนี้ได้ เพราะฉะนั้นก่อนซื้อก็ตรวจสอบให้ดีก่อนด้วยนะ

จบแล้วววววว

เป็นงายยยยยยยย อ่านจบแล้วก็อย่าลืมสะพายกล้องลากคนรอบข้างไปถ่ายรูปฝึกฝีมือกันด้วย เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้ทุกคนสนุกกับการถ่ายภาพยิ่งๆขึ้นไปนะ

สำหรับเพื่อนๆที่มีคำถามต่างๆเกี่ยวกับการถ่ายภาพ สามารถถามกันเข้ามาได้ไม่ว่าทาง ask.fm: torcnn ทาง twitter: @torcnn ทาง instagram: @torcnn หรือทางเฟสบุ๊กเพจ Chanon ได้เลยนะครับ

ติดตามงานเขียนอื่นๆของเราได้ที่นี่เลยครับ medium.com/@torcnn อย่าลืมเติม @ ด้วยนะ follow ไว้เลยก็ได้นะฮะ จะอัปเดตเรื่อยๆ

ไปละ บรัย

--

--

Tor Chanon
torcnn

ต่อ ชานนท์ โตเลี้ยง / Photography Tips and Reviews. Instagram & Twitter : @torcnn