ห่างเหินจากงานเขียนไปซักพัก เพราะช่วงนี้หันไปทำงานวิดีโอสอน มีเวลาเลยกลับมาสานต่อ คราวนี้อยากลองเขียนแนะนำเรื่องเส้นทางท่องเที่ยวบ้าง ความจริงเส้นทางนี้ก็เป็นเส้นทางที่ผู้เขียนเคยทำทัวร์อยู่ และคิดว่าเป็นชุมชนที่น่าสนใจในหลากหลายมิติ บวกกับในบทเก่าๆ เขียนถึงเรื่องวัฒนธรรมไว้เยอะ ก็เลยอยากชวนทุกคนมองภาพวัฒนธรรมผ่านวิถีของผู้คนจริงๆ บ้างผ่านการแบ่งปันเรื่องราวของชุมชนเก่าแก่แห่งนี้
ชุมชนกุฎีจีนเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือก็คือฝั่งธนบุรีนั่นหละ โดยประวัติของชุมชนนี้เริ่มต้นที่สมัยธนบุรี (พ.ศ. 2310–2325)
เวลาไปเที่ยวและอยากค่อยๆ สัมผัสตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชุมชนนี้ ผู้เขียนแนะนำให้ไปที่ ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง และโบสถ์ซานตาครูสก่อนเลย รับรองได้อินตั้งแต่จุดเริ่มแน่นอน
เอ…ว่าแต่เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นยังไงหรอ? คิดว่าผู้อ่านคงสงสัยใช่มะ อ่า…มาเลยในย่อหน้าต่อไป เราจะไปย้อนหลังชุมชนแห่งนี้ผ่านสถานที่ทั้งสองนี้กัน
ศาลเจ้าเกียนอันเก่ง (ศาลเจ้าแม่กวนอิม)
ศาลเจ้าแห่งนี้เป็นศาลเจ้าของชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน โดยหากดูจากชื่อ คือ 建安宫 (สำเนียงฮกเกี้ยน คือ เกียนอันเก่ง แต่ถ้าสำเนียงจีนกลาง คือ เจี้ยนอันกง) จะแปลตรงๆ ได้ว่า อาคารที่สร้างความสงบสุขร่มเย็นแก่ชาวฮกเกี้ยน ซึ่งหากใครเข้าไปชมภายในศาลก็จะสัมผัสถึงความรู้สึกนี้ได้ในทันที
“กุฎีจีน” ซึ่งเป็นชื่อของชุมชนแห่งนี้ ก็หมายถึง ศาลเจ้าแห่งนี้นั่นหละครับ
โดยตามความหมายในพจนานุกรมแล้ว คำว่า “กุฎี” สามารถแบ่งได้ 2 ความหมาย ความหมายแรกบอกว่ามีที่มาจากภาษาบาลี หมายถึง กุฏิ ส่วนอีกความหมายหนึ่งหมายถึง ศาสนสถานของศาสนาอื่น
แต่ไม่ว่าจะเป็นความหมายไหนก็เชื่อมโยงกับศาลเจ้าแห่งนี้ได้ทั้งหมด
หากเป็นความหมายแรกที่ว่าเป็นกุฏิ จะสื่อถึงที่พักของพระสงฆ์จีน คือ เชื่อกันว่าภายในศาลเจ้าจะมีพื้นที่ซึ่งเคยเป็นห้องที่พระสงฆ์จีนอาศัยอยู่ ส่วนหากเป็นความหมายที่สอง ก็จะสื่อถึงศาสนสถานตามความเชื่อของชาวจีน
มาดูประวัติความเป็นมาของศาลเจ้าแห่งนี้กันบ้าง
แรกเริ่มบริเวณพื้นที่นี้มีศาลเจ้าอยู่ 2 ศาล คือ ศาลเจ้ากวนอู และศาลเจ้าโจวซือกง สร้างโดยชาวจีนฮกเกี้ยนที่ติดตามพระเจ้าตากสินมายังกรุงธนบุรี ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) บรรพบุรุษของตระกูลตันติเวชกุลและตระกูลสิมะเสถียรได้เดินทางมาสักการะและเห็นสภาพที่ทรุดโทรมจึงร่วมกันสร้างศาลเจ้าใหม่ในพื้นที่เดิม และยังได้เปลี่ยนเทพประธานเป็นเจ้าแม่กวนอิม โดยช่วงแรกๆ มีภิกษุจีนอยู่จริงจึงกลายเป็นที่มาของชื่อกุฎีจีน ดังที่ผู้เขียนได้เขียนไปตั้งแต่ต้น
เมื่อแรกก้าวเข้ามาที่บริเวณลานโล่งหน้าศาลเจ้านั้น สิ่งที่เราทุกคนจะมองเห็นอันดับแรกเลย คือ สถาปัตยกรรมในลักษณะแบบจีนฮกเกี้ยนซึ่งจะต่างจากแบบจีนแต้จิ๋วอย่างชัดเจน นั่นคือ ทรงของหลังคาที่จะมีความลาดเอียงมากกว่า สีตกแต่งที่ดูไม่ฉูดฉาด บานประตูก็จะทำเป็นภาพวาดเขียนสีซึ่งใหญ่กว่าที่อื่น งานฉลุลายไม้เรียกว่าสวยงามประณีตอย่างมาก อีกจุดที่ไม่อยากให้พลาด คือ บริเวณประตูด้านข้าง โดยประตูนี้เป็นประตูของพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่พำนักของภิกษุจีนเมื่อสมัยแรกเริ่มของศาลเจ้า ถ่ายรูปสวยแบบ antique เชียวหละ ลองดูกันได้
ภายในตัวศาล ทุกครั้งที่ผู้เขียนเข้าไปจะสัมผัสได้ถึงความเงียบสงบ ต่างจากศาลเจ้าอื่นๆ ที่เคยไปมาก เสียดายที่มีกฎห้ามถ่ายรูปเลยเก็บภาพบริเวณด้านในมาไม่ได้ แต่จะลงเป็นภาพเจ้าแม่กวนอิมที่เลือกจากinternet มาลงให้ดูละกันนะครับ เมื่อก้าวเข้ามาในศาล สิ่งแรกที่ทุกคนจะสังเกตเห็นได้คือบริเวณผนังใกล้ประตู จะทำเป็นภาพเขียนสีเรื่องสามก๊ก บริเวณข้างซ้ายมือจะวางเทพไช่ซิงเอี้ย เทพเจ้าที่อำนวยโชคด้านการเงิน ส่วนบริเวณตรงกลางด้านในจะประดิษฐานเจ้าแม่กวนอิม องค์เทพประธานของศาลเจ้า และมีเจ้าแม่ทับทิมอยู่ด้านข้างด้วย นอกจากนี้ด้านข้างซ้ายและขวาจะวาง 18 อรหันต์ด้วย
พูดถึงเจ้าแม่กวนอิมแล้ว ท่านคือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรตามการตีความในพุทธศาสนามหายานแบบของจีนซึ่งภายหลังก็มีอิทธิพลต่อชาติที่ได้รับอารยธรรมจีนด้วยเช่นกัน
จุดเน้นของเจ้าแม่คิดว่าทุกคนคงทราบดีอยู่แล้ว คือ เน้นเรื่องความเมตตากรุณา การช่วยเหลือให้พ้นทุกข์ แต่สำหรับศาลเจ้าเกียนอันเก่งนี้ด้วยลักษณะเครื่องทรงของท่านที่เป็นชุดทรงงานบวกกับการวางคู่กับเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งจะอำนวยเรื่องการเดินทาง การทำมาค้าขาย ดังนั้นผู้ที่มากราบไหว้ที่นี่จึงมักขอพรกันในเรื่องนี้
ถัดจากอาคารหลัก ทางด้านซ้ายมือ จะเป็นพื้นที่ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นที่พำนักของภิกษุจีนในสมัยเริ่มแรก แต่ปัจจุบันได้ประดิษฐานพระพุทธรูปรวมถึงพระสังกัจจายน์ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการผสานความเชื่อกับพุทธศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งเป็นความเชื่อหลักของคนไทยเราด้วย กรณีพระสังกัจจายน์นั้นก็ถือเป็นความเชื่อร่วมทั้งทางเถรวาทและมหายานด้วย โดยส่วนใหญ่คนจะขอพรท่านในเรื่องโชคลาภ ตรงจุดนี้ยังมีตู้ที่เก็บป้ายวิญญาณบรรพชนของชาวจีนที่อาศัยยังชุมชนนี้ และมีเตาเผากระดาษเงินกระดาษทองเวลาที่เซ่นไหว้เทพหรือบรรพบุรุษด้วย
และนี่ก็คือทั้งหมดของเกียนอันเก่ง ศาลเจ้าแห่งความสงบสุขของชาวจีนเชื้อสายฮกเกี้ยน สถานที่แรกที่บ่งชี้ถึงความเป็นมาของชื่อชุมชนกุฎีจีน ต่อไปผู้เขียนจะพาทุกคนลัดเลาะไปชมสถานที่ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ “ฝรั่งหลังกะดีจีน” กันต่อ เดากันได้ไหมเอ่ยว่า คือ ที่ไหนกันนะ?
โบสถ์และชุมชนซานตาครูส
จากศาลเจ้าเกียนอันเก่ง เดินลัดเลาะเพียงไม่ถึง 3 นาที ก็มาถึงโบสถ์ซานตาครูสได้ละ ระหว่างทางไปจะผ่านเรือนไม้ซึ่งมีลักษณะเป็นเรือนสไตล์วิกตอเรียน หรือที่เราเรียกกันว่าบ้านทรงขนมขิง ดู classic ดี มีสวนรอบด้วยนะ แต่ดูเจ้าของเค้าไม่ค่อยบูรณะซักเท่าไร ทำให้ดูโทรมๆ ไปบ้าง หากไม่สังเกตก็จะพลาดเสน่ห์ของชุมชนในมุมนี้ไปเลยนะ แต่อนิจจา…ช่วงนี้การจะเดินทางจากศาลเจ้าเกียนอันเก่งไปโบสถ์ซานตาครูสจะใช้เส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ละ เพราะปิดซ่อม เห็นว่าถึงกันยาหรือไม่ก็ตุลาหนะ ทำให้การเดินทางจากศาลเจ้าไปโบสถ์หรือโบสถ์ไปศาลเจ้าต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางซอยวัดกัลยาห์เป็นจุดเชื่อมแทน ซึ่งเรียกว่าไกลอย่างมาก
โบสถ์ซานตาครูส เป็นโบสถ์คาทอลิกที่หันหน้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ดังนั้นหากเข้าทางเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเห็นบริเวณหน้าโบสถ์ได้ทันที
เกี่ยวกับประวัติของโบสถ์และชุมชนคาทอลิกบริเวณโบสถ์นี้ เริ่มต้นสมัยธนบุรีเช่นเดียวกับศาลเจ้าเกียนอันเก่ง โดยในช่วงการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ชาวโปรตุเกสได้มีส่วนในการช่วยเหลือพระเจ้าตากสินในการทำสงครามกับพม่า โดยเฉพาะความช่วยเหลือในด้านการพยาบาล ด้วยเหตุนี้พระเจ้าตากสินจึงได้มอบที่ดินผืนหนึ่งให้กับพวกเขา ซึ่งก็คือพื้นที่บริเวณโบสถ์ซานตาครูสนี้นั่นเอง
จากประวัติตรงนี้จึงชัดเจนว่าผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนี้ก็ล้วนแต่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยธนบุรีนู้นแหนะ แต่ด้วยการแต่งงานระหว่างชาวโปรตุเกสกับคนไทยในบริเวณพื้นที่นี้นับแต่อดีตมา จึงทำให้ทุกวันนี้คนในพื้นที่นี้ถูกหลอมรวมกลายเป็นคนไทยกันไปหมดแล้ว คงเหลือแต่ศาสนารวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมบางอย่างที่ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน คืออะไรนั้น ผู้เขียนจะค่อยๆ พาทุกคนเข้าไปชมกันนะครับ
เล่าถึงโบสถ์ก่อนละกัน เพราะเป็นสิ่งแรกที่ทุกคนจะเจอก่อนเวลาเข้ามาในพื้นที่นี้ โบสถ์ที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้เป็นโบสถ์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเริ่มแรกหรอกนะ แต่เป็นหลังที่สามละ
หลังแรกสร้างในปี พ.ศ. 2313 มีลักษณะเป็นอาคารไม้ขนาดเล็ก ใช้งานได้ 65 ปี ก็ทรุดโทรมลง จึงสร้างหลังที่สอง โดยหลังนี้จะมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไปทางจีนอย่างชัดเจน ใช้สอยกันต่อมาอีก 81 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 6 จึงมีการสร้างหลังใหม่ขึ้น ซึ่งก็คือหลังที่เราเห็นในปัจจุบันนี้นั่นแหละครับ
รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะเป็นแบบ Renaissance กับ Neo-Classic ผสมกัน โดยจุดเด่นของโบสถ์อยู่ที่ทรงโดม ส่วนภายในตัวอาคารเพดานจะมีความสูงมาก จึงใช้เสาลอยรับน้ำหนักของฝ้าเพดานแบบโค้ง นับเป็นจุดเด่นของโบสถ์ซานตาครูสอีกอย่างหนึ่ง สำหรับใครที่สนใจจะเข้าชมภายในตัวโบสถ์ โบสถ์จะเปิดเพียง 2 ช่วง คือ เช้ากับเย็น ตามเวลาสวดภาวนาครับ
ก่อนจะพาไปชมชุมชน ไม่รู้ว่าทุกคนจะสงสัยไหมว่าทำไมโบสถ์นี้จึงชื่อว่าซานตาครูส (Santacruz)
แน่นอนศัพท์คำนี้เป็นภาษาโปรตุเกส ไม่ใช่ภาษาอังกฤษนะ ความหมายของ Santacruz ก็คือ กางเขนศักดิ์สิทธิ์ (Holy Cross) ครับ ที่ได้ชื่อนี้ก็เป็นเพราะว่าในวันที่โบสถ์ซานตาครูสหลังแรกเปิดตรงกับวันเฉลิมฉลองไม้กางเขน ตรงนี้เองเลยกลายเป็นชื่อของโบสถ์รวมถึงชุมชนบริเวณนี้ไปโดยปริยาย
จากบริเวณโบสถ์ หากเข้ามาทางเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทางซ้ายมือของโบสถ์จะเป็นเส้นทางเล็กๆ ที่นำเราเข้าสู่ชุมชน เมื่อเข้ามา จุดแรกที่จะเจอคือ ภาพวาดริมผนัง ที่ทำเป็นแผนที่ของชุมชนกุฎีจีนและพื้นที่บริเวณรอบข้าง ซึ่งทำให้เรามองเห็นผังของชุมชนได้ชัดเจน เดินไปอีกนิดก็จะเป็นตรอกเล็กๆ ที่มีภาพกราฟฟิตี้บอกเล่าวิถีชุมชนอยู่ แต่ด้วยพื้นที่ตรอกค่อนข้างเล็ก ใครที่อยากถ่ายภาพบริเวณพื้นที่นี้อาจต้องใช้ความพยายามซักเล็กน้อยนะ
ตลอดทางของชุมชนเราจะเห็นการตกแต่งพื้นที่ได้อย่างลงตัวกับโครงสร้างบ้านเรือน ที่ชอบมาก คือ การนำกระถางต้นไม้เล็กๆ มาจัดเรียง ตรงนี้เคยพานักท่องเที่ยวมาเดิน เค้าชมมากว่าดูน่ารักเก๋ไก๋ดี และยังมีอีกหลายจุดที่จะแชะแค่ภาพซีน จะเซลฟี่ หรือถ่ายแบบ portrait ก็เรียกได้ว่าสวยลงตัวหมด ดังนั้นคนที่ชอบถ่ายภาพห้ามพลาดเชียว
จากบริเวณตรอกที่มีภาพกราฟฟิตี้ เดินมาอีกนิดหนึ่งก็จะเจอ “พิพิธภัณฑ์บ้านกุฎีจีน” ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยคุณนาวินี พงศ์ไทย เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ภาษา ศาสนาและรากเหง้าของชุมชนกุฎีจีน โดยพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์เป็นบ้านส่วนตัว 3 ชั้น ชั้นล่างจะเป็นร้านกาแฟและร้านขายของที่ระลึก ส่วนพิพิธภัณฑ์จะอยู่ชั้น 2 และ 3
ชั้น 2 จัดแสดงในหัวข้อ “กำเนิดสยามโปรตุเกส” บอกเล่าถึงการเข้ามาของชาวโปรตุเกสนับตั้งแต่สมัยอยุธยา การก่อตั้งชุมชน รวมถึงอิทธิพลทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวโปรตุเกสต่อสยาม เช่นเรื่องอาหาร ภาษา
ชั้น 3 จัดแสดงในหัวข้อ “กำเนิดกุฎีจีน” บอกเล่าถึงที่มาของชุมชนนับตั้งแต่ได้รับพระราชทานที่ดินจากสมเด็จพระเจ้าตากสิน รวมถึงจัดแสดงเกี่ยวกับวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนคาทอลิกแห่งนี้
Highlight ที่ไม่อยากให้ทุกคนพลาดในชั้นนี้ คือ แบบจำลองโบสถ์ซานตาครูสทั้ง 3 หลัง เผื่อใครจะนึกไม่ออกว่าโครงสร้าง 2 โบสถ์แรกเป็นอย่างไร มาตรงนี้จะถึงบางอ้อทันที นอกจากนี้ยังมีการจำลองห้องนอน รวมถึงอาหารของชาวโปรตุเกสให้เห็นด้วย เรียกว่ายั่วน้ำลายได้เลยแหละ แม้จะเป็นของจำลองก็ตาม เมื่อเสร็จจากชั้นนี้แล้ว หากมีเวลาอย่าเพิ่งรีบลงกันนะ แนะนำว่าให้ขึ้นไปชมวิวของชุมชนกุฎีจีนที่ชั้นดาดฟ้า จะเห็นถึงสถาปัตยกรรม ผังบ้านเรือนชุมชน สถานที่ใกล้เคียงได้อย่างชัดเจน
สำหรับใครที่เห็นแบบจำลองอาหารโปรตุเกสแล้วอยากลิ้มลองรสชาติ ผู้เขียนแนะนำว่าพอเดินออกจากบ้านพิพิธภัณฑ์ให้เลี้ยวซ้าย เดินไปอีกนิดจะเจอบ้านที่เขียนหน้าบ้านว่า “บ้านสกุลทอง” ซึ่งจะมีอาหารไทย-โปรตุเกสไว้ให้ทุกคนที่อยากสัมผัสรสชาติได้ลองเข้ามาทานกัน เมนูเด่นๆ ที่ไม่ควรพลาด เช่น หมู/เนื้อซัลโม ขนมจีนแกงไก่คั่ว / จีบตัวนก / กุ้งกระจกม้วน / ส้มฉุน ถ้ามาวันเสาร์-อาทิตย์ จะสามารถ walk-in เข้ามานั่งทานได้เลย แต่ถ้าเป็นวันธรรมดาหรืออยากทานเป็นแบบ Private Course ให้นัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ผ่านเบอร์โทร 062-605–5665
พูดถึงอาหารแล้ว มีขนมที่เรียกได้ว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนกุฎีจีนและสะท้อนการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่างลงตัวนั่นคือ “ขนมฝรั่งกุฎีจีน” ขนมเค้กชิ้นแรกๆ ที่เริ่มทำในไทย รูปร่างของขนมคล้ายขนมไข่ กรอบนอกนุ่มใน มีรสชาติที่ลงตัวมาก โดยการทำขนมทุกวันนี้ยังคงใช้เตาถ่านแบบโบราณอยู่
การทำขนมฝรั่งได้รับอิทธิพลมาจากชาวโปรตุเกสนับตั้งแต่สมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีวัตถุดิบสามอย่าง คือ แป้งสาลี ไข่เป็ด และน้ำตาลทราย โดยนำมาตีให้ส่วนผสมเข้ากันจนขึ้นฟูและนำมาเทลงบนแม่พิมพ์ จากนั้นโรยหน้าขนมด้วย ลูกเกด ลูกพลับ ฟักเชื่อม รวมถึงน้ำตาลทราย อันเป็นวัฒนธรรมจีน ส่วนที่โรยหน้านี้ล้วนมีความหมายซ่อนอยู่ ฟักเชื่อมก่อให้เกิดความร่มเย็น น้ำตาลทรายก่อให้เกิดความมั่งคั่งไม่รู้จบ ลูกพลับอบแห้งและลูกเกดถือเป็นของมีราคาแพงและให้คุณค่าทางอาหาร
ปัจจุบันมีร้านที่ขายขนมฝรั่งกุฎีจีนเหลือไม่มาก โดยร้านที่ผู้เขียนจะแนะนำ คือ ร้านธนูสิงห์ จะอยู่ด้านใน ใกล้ๆ กับเรือนจันทนภาพ รสชาติกรอบนอกนุ่มใน ไม่หวานไป ไม่เลี่ยน โดยร้านธนูสิงห์เปิดเป็นคาเฟ่ด้วย ไปนั่งจิบกาแฟ ชา หรือโกโก้ควบคู่กับทานขนมฝรั่งก็ได้รสชาติไปอีกแบบนะ คนขายก็ friendly เป็นกันเองมากเลย
ทานกันอิ่มแล้วก็อย่าเพิ่งรีบเดินออกจากชุมชนไปก่อนหละ ใกล้ๆ กับร้านธนูสิงห์ จะเป็นเรือนจันทนภาพ ผู้เขียนเคยเข้าไปเยี่ยมในเรือนครั้งหนึ่งกับเพื่อนๆ พี่ๆ ที่เรียนไกด์มาด้วยกัน เจ้าของ คือ คุณป้าแดง จารุภา เล่าว่าเรือนนี้รื้อมาจากเมืองจันทบุรี เป็นเรือนไทยไม้สักแบบวิคตอเรียนที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จุดที่น่าสนใจของเรือนไม้สักแห่งนี้อยู่ที่หน้าจั่วที่ทำเป็นลักษณะลายแสงอาทิตย์ ส่วนบริเวณหย่องหน้าต่างและซุ้มประตูจะแกะสลักลวดลายพุดตานแบบจีน เฟอร์นิเจอร์และการตกแต่งภายในจะเป็นแนวตะวันตก เรียกว่าผสมวัฒนธรรมหลากหลายได้อย่างลงตัวเชียวหละ ปกติหากใครสนใจเข้าเยี่ยมชมเรือนจันทนภาพติดต่อผ่านทางชุมชนก่อนนะครับ เพราะคุณป้าแดงไม่ได้อยู่ประจำที่เรือนนี้
ก่อนเดินลัดเลาะออกจากชุมชน จะผ่านเรือนไม้ทรงบ้านขนมขิงที่เราเห็นเวลาเราเดินผ่านเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาระหว่างทางจากโบสถ์ซานตาครูสไปถึงศาลเจ้าเกียนอันเก่ง แต่คราวนี้เราจะเห็นบริเวณทางเข้าของบ้าน ก็ดูได้อารมณ์ไปอีกแบบหนึ่ง
สำหรับชุมชนกุฎีจีน ชุมชนแห่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมนี้ ยังเหลือสถานที่สำคัญอีก 2 ที่ ที่ผู้เขียนยังไม่ได้พาทุกคนไป เนื่องจากบทความนี้เริ่มยาวละ ยังไงขอยกยอดไปบทต่อไปละกันนะ จะเป็นที่ไหนนั้น รอติดตามกันนะทุกคน…