ลองคิดดูซิว่า​ เราเรียนประวัติศาสตร์​กันมาอย่างถูกต้อง​ไหม?

totoropap
3 min readSep 11, 2020

--

ประสบการณ์สมัยผู้เขียนสอนนักเรียนที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ในหัวข้อคนไทยคือใคร?

ในบทก่อน​ เราได้คุยกันใน​ topic เกี่ยวกับ​เรื่องอารยธรรม​ ซึ่งมีเนื้อหาหลายส่วนเลยทีเดียวที่โยงโดยตรงกับศาสตร์​ความรู้ที่เราเรียกกันว่า “ประวัติ​ศาสตร์​” ด้วยการที่ผู้เขียนจบทางสายประวัติศาสตร์​มา​ และส่วนตัวก็เป็นคนชอบศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​อยู่แล้ว​ จึงไม่ใช่เรื่อง​แปลก​ ที่ศาสตร์​ความรู้​ด้านนี้จะเป็น​ศาสตร์​ที่ผู้เขียน​ถนัดที่สุดเมื่อต้องมาทำหน้าที่​เป็น​ครูหรือมัคคุเทศก์​ก็ตาม..

มัคคุเทศก์ ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ต้องใช้ความรู้จากวิชาประวัติศาสตร์ เป็นพื้นฐานในการทำงาน แน่นอนว่า…ความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่ถ่ายทอดไปนี้จะเป็นแนวใด ก็อยู่ที่พื้นฐาน แนวคิด และประสบการณ์ดั้งเดิมของมัคคุเทศก์ผู้นั้น

อย่างไรก็ตาม​สิ่งที่ผู้เขียนต้องพบเจอมา​ ทั้งในตอนเรียน ตอนศึกษาเอง​ ตอนเป็นครู​ หรือตอนเป็นมัคคุเทศก์​ ก็คือ​ แนวทางการศึกษา​หรือการนำเสนอ​ศาสตร์​ความรู้​ด้านนี้มันมีหลากหลายมากๆ​ แน่นอนย่อมมีทั้งแนวทางที่ตรงตามวัตถุประสงค์​ของวิชา​ และที่ดูจะบิดเบือน​จากวัตถุประสงค์​ไป​ ในบทนี้ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านมาศึกษา​ประเด็น​เรื่องนี้กันอย่างลงลึก​กันครับ​ พร้อมทั้งอยาก​ให้ผู้อ่านลองตั้งคำถามกับตัวเองในใจกันตอนนี้ด้วยว่า​

เราศึกษา​ประวัติศาสตร์​มาในลักษณะ​แบบไหน​ มันถูกต้องตามหลักวิชาจนสามารถนำไปใช้จริงในชีวิตของผู้อ่านได้หรือไม่ ?

หากยึดตามตอนที่เรียนกันมาโดยเฉพาะตอนที่เนื้อหา​ประวัติ​ศาสตร์​เป็น​ส่วนหนึ่งของการศึกษา​ในวิชาสังคมศึกษา​ ผู้​อ่านคงเดาได้ไม่ยากใช่ไหมว่า แนวการศึกษา​การเรียนรู้จะเป็น​แบบไหน​ เมื่อถามนักเรียนที่เรียนประวัติ​ศาสตร์​กับผู้เขียน​ ทุกคน​แทบตอบเป็นเสียงเดียวกันเลยว่า​ มีแต่จำลูกเดียว​ และหากเป็น​ประวัติศาสตร์​ไทย​ ก็แทบไม่ต้องคิดจะสื่อออกมาในด้านบวกหมด​ เน้นให้เกิดความรักชาติเป็นหลัก​ ไม่มีด้านลบมาให้เรียนกันเลย​ ซึ่งหากพิจารณา​ตามความจริง​ ผู้อ่านก็น่าจะคิดได้ใช่ไหมว่า​

มันจะเป็น​ไปได้ด้วยหรือ​ ที่พัฒนาการ​หรือเรื่องราว​ต่างๆ​ ที่เกิดขึ้นมา​ มันจะไม่มีด้านลบเลย​ ?

ยิ่งพูดถึงผู้นำ​ นี่ยิ่งชัดใหญ่​ แทบทั้งหมดถูก​มองเป็นวีรบุรุษ​ หาจุดลบไม่ได้เลย​ และแน่นอนที่สุด​ บทสรุป​สำคัญ​เมื่อเราเรียนประวัติศาสตร์​ไทย​ คือ​ บรรพบุรุษ​เสียสละปกป้องแผ่นดินให้เรา​ เราต้องสำนึกในบุญคุณ​ และรักแผ่นดินเรานะ​ อะไรแบบนี้….

แต่เอ๊ะ…นี่เป็น​วัตถุประสงค์​สำคัญ​ของศาสตร์​ความรู้​ที่ได้ชื่อว่า​ “ประวัติศาสตร์​” จริงหรือ?

ความจริงเจ้ากรอบความคิด​ในการศึกษา​ประวัติศาสตร์​เช่นนี้​ มีพื้นฐาน​ความคิดอยู่ในเรื่องของความเป็นรัฐชาติหรือ​ Nation State ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งใหม่มากสำหรับชาวเอเชีย​ รวมถึง​คนไทย​ แนวคิดนี้เพิ่งจะเข้ามามีบทบาทต่อประเทศ​เราในยุครัชกาล​ที่​ 5 หรือราว​ต้นคริสตศตวรรษ​ที่​ 20​ นี้เอง​ เกี่ยวกับ​เรื่องแนวคิดรัฐชาตินี้ผู้เขียนได้มีการพูดถึงไปบ้างแล้วในแง่ความหมายและลักษณะ​ของมันในบทที่พูดถึง​ รัฐ​ ชาติ​ ประเทศ​ ใครที่ยังไม่ได้อ่านบทนั้นสามารถ​ย้อนกลับ​ไปอ่านได้นะครับ

ตัวอย่างของเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์ไทยในหนังสือเรียน เมื่อกล่าวถึงเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ทุกอย่างจะเป็นด้านดีหมด ไม่มีด้านลบ…

คำว่า​ รัฐชาติ​ นี้มีผลในการศึกษา​ประวัติศาสตร์​ของบ้านเราเป็​น​อย่างมาก​ โดยสิ่งที่ผู้เขียนยังไม่ได้เล่าให้ผู้อ่านเกี่ยวกับ​คำๆ​ นี้​ คือในบริบททางประวัติศา​สตร์ และวัตถุ​ประสงค์​ของการนำแนวคิดมาใช้​ จนกลายเป็น​แบบฉบับในการศึกษา​ประวัติศาสตร์​ของบ้านเราจวบจนปัจจุบัน​ แต่ด้วยเรื่องนี้มีรายละเอียด​พอสมควรเลยคิดว่าเก็บไว้เล่าในบทถัดไป​จะดีกว่า

กลับมาที่เรื่องแนวทาง​การศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​กันต่อ​ โดยที่บอกเล่าไปนั้นคือแนวทางแรกซึ่งถือเป็น​พิมพ์​นิยมในการศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​ของบ้านเรา​ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์​ไทยมาก​ แล้วถ้าหากไม่ใช่แนวทางแบบพิมพ์​นิยมนี้​ ยังมีแนวทางใดในการศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​กันอีกหละ​ มีแน่นอนครับ​ นั่นคือการเรียนรู้ประวัติศาสตร์​โดยให้ความสำคัญ​กับหลักฐานและวิธีการ​ทางประวัติศา​สตร์

แนวทางนี้ผู้เขียนได้ประสบการณ์​มาจากสมัยที่เรียนช่วงปี​ 4 ในสาขาประวัติศาสตร์​รวมถึง​จากประสบการณ์​สอนที่โรงเรียน​เพลินพัฒนา​ โดยในตอนเรียนจะเหมือนเราทำวิจัยหนึ่งเรื่องต้องไปหาหลักฐาน​ต่างๆ​ มาสนับสนุน​ข้อมูล​ตามที่เราตั้งหัวข้อไว้​ ส่วนตอนสอน​ เน้นการจัดกิจกรรม​ให้นักเรียนคิดหรือเรียนรู้​เนื้อหา​ทางประวัติศา​สตร์​ผ่านหลักฐาน

การจัดกิจกรรมในรูปแบบเกมเพื่อเชื่อมโยงหลักฐานกับเรื่องราวที่อยู่ในตัวมัน ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ให้หลุดพ้นจากรอบความคิดแบบชาตินิยม

พอจะมองเห็น​ใช่ไหมครับ​ ว่าถ้าเราใช้วิธีนี้​ มันจะได้ผลการเรียนรู้ต่างจากการศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​ที่อิงกับวิธีคิดแบบชาตินิยมตามที่เล่าให้ฟังไปข้างต้นอย่างไร? สิ่งหนึ่งที่ผู้ศึกษา​จะได้แน่ๆ​ คือ​ กระบวนการ​คิดผ่านหลักฐาน​ที่นำมาศึกษา​ ไม่ใช่จากข้อมู​ล​สำเร็จ​รูปที่ได้ผ่านหนังสือเรียนต่างๆ​ และที่สำ​คัญ​ที่สุด​ การศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​ในลักษณะ​เช่นนี้​จะตรงตามวัตถุประสงค์​ของ​การ​ศึกษา​วิชานี้อย่างแท้จริง​ คือ​ ผู้​ศึกษา​จะได้ข้อมูล​ที่น่าเชื่อถือ​ที่สุด​ เกิดความเป็นกลางในการศึกษา​ และที่ได้แน่ๆ​ อีกอย่าง​ คือ​ สามารถ​นำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประยุกต์​ใช้จริงได้

Concept สำคัญ​สำหรับการศึกษา​ประวัติศาสตร์​ด้วยการใช้หลักฐาน​ คือ​ การนำวิธีการ​ทางประวัติศาสตร์​มาใช้ในการศึกษา​เรียนรู้​ หากถามนักเรียนไม่ว่าจะประถมหรือมัธยม​ ทุกคนเรียนมาหมดแหละ​ และเรียนทุกปีด้วย​ แต่เอาเข้าจริงเมื่อถามลงลึกไปในรายละเอียด​ และให้ประยุกต์​ไปใช้กับการศึกษา​จริง​ น้อยคนมากที่จะตอบได้หรือนำไปใช้เป็น ถามว่าทำไมถึงเป็นเช่นนี้​ ตอบง่ายๆ​

“ก็เพราะเรามุ่งเน้นแต่เรียนแบบท่องจำ​ มีตัวอย่างวิเคราะห์​ก็จริง​ แต่ก็อยู่แค่หน้าหนังสือ​ เวลาสอนจริงมันไม่เคยเปลี่ยนเป็น​รูปกิจกรรม​ให้เห็นถึง​การนำไปใช้ “

สำหรับผู้อ่านทั่วไปที่พ้นวัยนักเรียนมาแล้ว​ อาจงงว่าวิธีการ​ทางประวัติศาสตร์​คืออะไร​ ดังนั้น​ผู้เขียนจึงอยากให้รายละเอียดเกี่ยวกับเจ้าวิธี​การนี้ซักนิด​ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญ​ของการต้องนำมันไปใช้ในการศึกษา​ประวัติศาสตร์

วิธีการ​ทางประวัติศาสตร์​ เป็น​แนวทางในการศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​เพื่อให้เกิดความถูกต้อง​ ใกล้เคียง​กับความเป็นจริง​ ข้อมูล​ถูกจัดเป็นระเบียบลำดับ​ โดยนำเอาแนวการศึกษา​วิทยาศาสตร์​มาประยุกต์ใช้

ในทางประวัติศา​สตร์​แล้ว​ ลำพังเพียงหลักฐาน​แต่ไม่มีวิธีการในการดึงข้อมูล​ออกจากหลักฐาน​นั้นไม่มีประโยชน์​ใดๆ​ ผู้ศึกษา​จะต้องใช้วิธีการทาง​ประวัติ​ศาสตร์​ในการดึงข้อมูล​ออกจากหลักฐาน​และนำข้อมูล​ที่ได้จากหลักฐาน​ต่างๆ​ มาร้อยเรียงสร้างเรื่องราวเพื่อตอบโจทย์​ประเด็น​คำถามที่ตั้งไว้ในขั้นแรก​ สรุป​ตามที่เล่าไปนี้ได้​ 5 ขั้นตอน

  1. กำหนดหัวข้อหรือขอบเขตการศึกษา​ (รวมถึง​การตั้งสมมติฐาน)
  2. รวบรวม​ข้อมูล​จากหลักฐาน​ประเภทต่างๆ
  3. ประเมินค่าหลักฐาน​ (พิจารณา​ความน่าเชื่อถือ​ของ​หลักฐาน)
  4. ตีความ​และวิเคราะห์​ข้อมูล​จากหลักฐาน
  5. สังเคราะห์​และนำเสนอข้อมูล

จาก​ 5 ขั้นตอน​นี้​ สิ่งที่ผู้เขียนอยากขยายเพิ่มเติมอีกเรื่อง​ คือ​ ประเภทของหลักฐาน​ที่เราจะหยิบมาใช้ในการศึกษา​ประวัติศาสตร์​ มีเกณฑ์​ที่ใช้ในจัดแบ่งหลักฐาน​ทางประวัติศาสตร์​อยู่หลายเกณฑ์​มาก​ แต่จะขอหยิบยกมาเขียนในที่นี้แค่เกณฑ์เดียว​ โดยเกณฑ์นี้มีความสำคัญ​มากๆ​ เวลาเราจะต้องศึกษา​ข้อมูล​ทางประวัติศา​สตร์​ และเป็นเกณฑ์​ที่ทำให้เราเข้าใจว่าการศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​บ้านเรามันมีปัญหา​ที่ตรงไหน?

ในทางวิชาการ​ เราเรียกเกณฑ์​นี้ว่า​ เกณฑ์​จากระดับความสำคัญ​ของหลักฐาน​ ซึ่งจะแบ่งหลักฐาน​เป็น​ 2 ประเภท​ คือ​ หลักฐาน​ชั้นต้น​หรือหลักฐาน​ปฐม​ภูมิ​ (Primary Source) กับหลักฐาน​ชั้นรองหรือหลักฐาน​ทุติยภูมิ​ (Secondary Source)

หลักฐานชั้นต้น​หรือหลักฐานปฐมภูมิ​ (Primary​ Source) คือ​ หลักฐาน​ที่ถูกสร้างหรือเกิดร่วมสมัยกับเหตุการณ์​

หลักฐาน​ชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ​ (Secondary Source) คือ​ หลักฐาน​ที่สร้างขึ้นภายหลังเหตุการณ์​ โดยจะใช้หลักฐาน​ชั้นต้นเป็นหลักในการศึกษา​อีกทีหนึ่ง

จดหมายเหตุลาลูแบร์ ตัวอย่างของหลักฐานชั้นต้น ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยุคอยุธยาตอนปลาย

ตัวอย่าง​ของหลักฐาน​ชั้นต้น​ เช่น​ จารึก​ จดหมายเหตุ​ ประกาศ​ทางราชการ​ สัญญาการค้า​ ส่วนตัวอย่างของหลักฐาน​ชั้นรอง​ เช่น​ ตำนาน​ พงศาวดาร​ หนังสือเรียน​ หนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์​ต่างๆ

หนังสือประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย ตัวอย่างของหลักฐานชั้นรอง เนื่องจากผ่านการอ้างอิงหรือรวบรวมข้อมูลมาจากหลักฐานชั้นต้นและชั้นรองอื่นๆ อีกหลายฉบับ

จากคำอธิบายเช่นนี้ผู้อ่านคงมองเห็น​แล้วใช่ไหมครับว่า​

ในการศึกษา​ประวัติ​ศาสตร์​ เราต้องหยิบหลักฐาน​ประเภทไหนมาใช้ก่อน?

คำตอบ… จะต้องเป็นหลักฐาน​ชั้นต้นอย่างไม่ต้องสงสัย.. ที่เป็นเช่นนี้​ เพราะ​พวกมันถูกสร้างอยู่ในช่วงเวลาของข้อมูล​ที่อยู่​ในตัวมัน​ มันจึงมีความถูกต้องมากกว่าหลักฐานชั้นรองที่สร้างขึ้นในภายหลัง​ แต่เราลองหันกลับมามองการศึกษาประวัติศาสตร์ของบ้านเราในปัจจุบันสิ! ว่าเวลาเราเรียนรู้ประวัติศาสตร์กัน เราใช้หลักฐานประเภทชั้นต้นหรือรองมากกว่ากัน?

คำตอบเห็นๆ ว่า ชั้นรอง แน่นอน และแถมเป็นชั้นรองแบบสำเร็จรูปเสียด้วย คือ ไม่มีการอ้างอิงว่าข้อมูลที่ใช้มาจากไหน สักแต่เขียนๆ ไป ตามแบบอย่างที่อยากให้เป็น โดยตั้งแต่ผู้สอน สอนประวัติศาสตร์มา ยังไม่เคยเห็นหนังสือเรียนเล่มไหนที่นำหลักฐานทางประวัติศาสตร์โดยตรง มาเทียบเคียงกันให้นักเรียนได้เห็นหรือศึกษากันเลย จะมีก็แต่เอาไว้บทเรื่องหลักฐาน แล้วก็เขียนไปเรื่อยตามเนื้อหา แค่บอกว่าข้อมูลจากหลักฐานชั้นต้นนั้นบอกอะไร สะท้อนภาพสังคมอย่างไรคร่าวๆ แต่ในเชิงเปรียบเทียบ ประเมินค่าหลักฐานอะไรพวกนี้ ไม่ต้องพูดถึง ไม่มี…. และนี่คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์บ้านเรามีปัญหา

ตัวอย่างของเนื้อหาที่บอกวิธีการใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ประเภทจดหมายเหตุบุคคล ซึ่งก็ถือเป็นส่วนที่ดี แต่จุดอ่อน คือ ยังไม่เคยนำข้อมูลในหลักฐานชั้นต้นมาเชื่อมโยง-วิเคราะห์สร้างเนื้อหาโดยตรง

หากพูดถึงหลักฐานชั้นรองก็มิใช่ว่า ตัวมันจะมีปัญหาหรอก เพียงแต่อยู่ที่เราเลือกหยิบมาใช้ เพราะในความจริง บางทีหลักฐานชั้นต้นมันก็ยากในการทำความเข้าใจเช่นกัน ด้วยภาษาหรือเนื้อความต่างๆ หลักฐานชั้นรองหากเป็นประเภทหนังสือทั่วไปที่บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ การลำดับเนื้อหา ภาษา จะเข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นต้นมาก จุดสำคัญอยู่ตรงที่ว่า หนังสือนั้นๆ จะต้องอ้างอิง เปรียบเทียบข้อมูลจากหลักฐานต่างๆ ที่ตนจะใช้เล่าเรื่องราวให้ชัดเจน ซึ่งภาพแบบนี้แหละ ที่เราจะไม่พบในหนังสือเรียน หรือการสอนประวัติศาสตร์แบบไทยๆ ไม่ว่าจะในโรงเรียน หรือตามสื่อประเภทละครและภาพยนตร์ต่างๆ (แต่ที่ดีๆ ก็มีนะ แต่อาจหายากซักนิด…)

สำหรับหลักฐานชั้นต้นนั้น แม้ว่ามันจะสำคัญกว่าชั้นรองในด้านมิติของเวลาที่เกิดขึ้นของหลักฐาน แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ ความลำเอียงของหลักฐาน ซึ่งตรงนี้เจอหมดไม่ว่าจะหลักฐานประเภทใด ลองคิดดูหากเราเขียนบันทึก Diary ของเรา เราจะเขียนด้านลบให้กับตัวเองไหม? นี่แหละคือกฎบังคับว่าในการศึกษาประวัติศาสตร์เราจะใช้หลักฐานเพียงชิ้นเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้หลักฐานหลายๆ ชิ้นเทียบกัน เช่น เมื่อเราจะศึกษาเรื่องราวการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ก็ไม่ควรศึกษาเพียงหลักฐานฝั่งไทยเท่านั้น ต่อให้หลักฐานนั้นเป็นหลักฐานชั้นต้นเลยก็ตามที ควรหาหลักฐานจากบุคคลกลุ่มอื่น มาประกอบด้วย เช่น หลักฐานจากฝั่งพม่า ชาวจีน หรือชาวตะวันตก ที่อยู่ร่วมสมัยในเวลานั้น

หลายคนอาจบอกว่า

“โอ๊ย.. ให้ศึกษาหลักฐานชั้นต้นหมดนี่ คงไม่มีความสามารถในการศึกษาหรอก มันยากเกิน… เพราะไม่ใช่นักประวัติศาสตร์นะ” ตรงนี้ผู้เขียนก็อยากบอกว่า ตรงนี้ไม่ได้เป็นประเด็นปัญหา..

เราสามารถหยิบหลักฐานชั้นรองกลุ่มพวกหนังสือที่เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ต่างๆ ตามหัวข้อที่เราสนใจมาศึกษาได้ เพียงแต่ดูการอ้างอิงของเขาให้ดีๆ ว่าใช้หลักฐานจากแหล่งใดบ้าง น่าเชื่อถือไหม มีการเทียบข้อมูลให้เราเห็นไหม แค่นี้การศึกษาประวัติศาสตร์ของเราก็เป็นไปอย่างถูกต้อง ตรงตามหลักวิธีการทางประวัติศาสตร์ได้ในระดับหนึ่งแล้ว

สรุปแล้ว แนวทางการศึกษา เรียนรู้ ประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้เราได้ข้อมูลอย่างถูกต้อง ใกล้เคียงกับความเป็นจริงสูงสุด อยู่ตรงที่การหยิบวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้คู่กับหลักฐาน ไม่ใช่รับข้อมูลทางประวัติศาสตร์แบบคัดกรองมาแล้ว แต่ไม่อ้างอิงข้อมูลอะไร บอกให้เชื่อหรือศรัทธาในข้อมูลนั้นๆ แบบส่งๆ ไป ซึ่งนับแต่ผู้เขียนเป็นครู จนเรื่อยมาถึงทำอาชีพมัคคุเทศก์ร่วมด้วย ก็ยังเห็นว่า

“ประวัติศาสตร์บ้านเรา ยังเรียนรู้แบบเดิมๆ ซะส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ท้ายสุด เราจะผลิตประวัติศาสตร์ในหน้าแบบเดิมๆ ซึ่งหนีไม่พ้นฝังแนวคิดแบบชาตินิยมลงไป มองบุคคลสำคัญต่างๆ ว่าเป็น Hero ทั้งหมด ไม่มีด้านลบใดๆ ลักษณะเช่นนี้ไม่มีทางทำให้เราเข้าถึงแก่นแท้ของวิชาประวัติศาสตร์และสามารถนำมันไปใช้ได้อย่างถูกต้องเลย….”

มาถึงตรงจุดนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้อ่านจะได้ความรู้จาก บทความ ของผู้เขียนใน Topic นี้ ตระหนักและเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์ ตลอดจนนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องนะครับ ในครั้งหน้าผู้เขียนยังมีประเด็นเกี่ยวกับการสร้างประวัติศาสตร์ในแบบฉบับรัฐชาติ อยากนำมาเล่าต่อจากบทนี้ ยังไงรอติดตามอ่านกันนะครับ

--

--

totoropap

My name is Pap. I'm a Social Studies Teacher. I like to improve the education in Thailand and develop Thai children.