ไขความหมายของคำว่า รัฐ ชาติ ประเทศ มันคืออะไร และมีอะไรซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้ไหม?

totoropap
2 min readJun 23, 2020

--

หลังจาก Intro ผ่านไป 2 บท ครั้งนี้ถึงเวลาต้องเอาเกร็ดความรู้จากวิชาสังคมมาเล่าสู่กันฟังละ เริ่มแรกด้วยเรื่องราวที่มาจากเนื้อหาทางรัฐศาสตร์ เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำว่า รัฐ ชาติ หรือประเทศ กันมาบ้าง แต่เคยนึกสงสัยกันไหมว่า สามคำนี้มันคืออะไรกันแน่? มีความแตกต่างกันบ้างไหม? มีนัยยะของความหมายอะไรที่ซ่อนอยู่ในคำเหล่านี้หรือไม่? ในบทนี้เราจะมาร่วมไขคำตอบของคำทั้งสามนี้กัน!

ธงชาติของอดีตสหภาพโซเวียต; ตัวอย่างของรัฐที่สูญสลายไปแล้ว

เริ่มจากคำว่า “รัฐ” (State) ความหมายของคำนี้ จะเน้นไปที่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมือง นิยามหลักๆ ของมัน คือ “ชุมชนทางการเมือง” ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบทั้ง 4 ประการ ได้แก่ ประชากร (ในที่นี่จะหมายรวมถึงคน 3 กลุ่ม คือ พลเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ และคนต่างด้าว) ดินแดน รัฐบาล และอำนาจอธิปไตย ลักษณะเด่นอย่างหนึ่งเมื่อเราเอ่ยถึงคำว่า รัฐ คือ รัฐจะมีตำแหน่งของตัวเองในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งถ้าพูดกันแบบบ้านๆ ก็คือ ต้องได้รับการยอมรับจากรัฐอื่นด้วย ในกรณีรัฐของตนเองอันนี้ไม่ต้องพูดถึง เพราะถ้าไม่ยอมรับก็เป็นรัฐบาลไม่ได้อยู่แล้ว ใช่ไหม? จุดที่สำคัญอีกอย่างของความเป็น รัฐ คือ รัฐจะสูญหายหรือเกิดใหม่ ได้ไม่ยากนัก เนื่องจากรัฐเน้นในเชิงทางหลักกฎหมายมากกว่าความรู้สึก ตัวอย่างรัฐที่เกิดใหม่ อย่างเช่น ติมอร์ ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1999 เซอร์เบีย ซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2006 ส่วนรัฐที่สูญหายไปแล้ว เช่น โซเวียต ซึ่งล่มสลายไปในปลายปี ค.ศ. 1991

เด็กหญิงชาวมอญ ซึ่งปัจจุบันมอญเป็นชนกลุ่มน้อยที่อาศัยในพม่าและไทย

เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า รัฐ คร่าวๆ แล้ว ทีนี้เรามาดูความหมายของคำว่า “ชาติ” (Nation) กันบ้าง จุดเน้นที่แตกต่างของชาติกับรัฐ คือ ความหมายของคำว่า ชาติ จะเน้นที่ความผูกพันทางวัฒนธรรมซึ่งก่อให้เกิดความผูกพันกันในทางสายเลือด เผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา หรือการยึดถือหลักประเพณีร่วมกัน จากการที่ชาติมีความผูกพันเช่นนี้เองจึงส่งผลให้ชาติไม่สูญสลายไปได้ง่ายเหมือนรัฐ ซึ่งไม่มีความผูกพันดังกล่าว อีกทั้งการเป็นชาติก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐเสมอไป เช่น มอญ ซึ่งเป็นเชื้อชาติหนึ่งซึ่งอาศัยในพม่า และไทย ทิเบต ชนชาติซึ่งอาศัยอยู่ในจีน แต่หากเมื่อไรก็ตามที่เชื้อชาติต่างๆ เหล่านี้ต้องการสร้างรัฐของตนเองแล้วก็มักก่อให้เกิดปัญหากับรัฐที่ตนดำรงอยู่ได้ เช่น กรณีการเรียกร้องเอกราชของทิเบตต่อจีน การเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองของพวกทมิฬในศรีลังกา

สำหรับคำสุดท้าย คือ “ประเทศ” (Country) คำนี้จะเน้นความหมายไปในเรื่องดินแดน โดยถือเป็นแหล่งรวมของชาติและก่อให้เกิดรัฐขึ้น ทั้งนี้อาจมีมากกว่าหนึ่งเชื้อชาติภายในรัฐหนึ่งก็ได้ แต่จะมีเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งเป็นผู้ปกครองหรือกำหนดนโยบายต่างๆ ของประเทศ เช่น กรณีมาเลเซีย มี 3 เชื้อชาติหลักในประเทศ คือ มาเลย์ จีน และอินเดีย แต่ชนชาติหลักที่ปกครอง คือ มาเลย์ ตรงกันข้ามกับสิงคโปร์ ซึ่งมี 3 เชื้อชาติหลักเช่นเดียวกับมาเลเซีย แต่ผู้ชนชาติหลักที่ปกครองคือ จีน

ตัวอย่างของหนังสือนิทาน ที่เน้นการใช้ 3 สถาบันหลักในการสร้างรัฐชาติของไทย

จากที่อธิบายไป ผู้อ่านคงพอมองเห็นความต่างของคำทั้ง 3 ที่เป็น topic หลักของบทความนี้แล้ว ทีนี้ผู้เขียนยังมีของแถมอีก 1 คำ คำๆ นี้ คือ คำว่า “รัฐชาติ” หรือ Nation State ในภาษาอังกฤษ ความจริงหากเราดูที่ความหมายก็จะเห็นได้ว่า มันก็คือการรวมกันของคำว่า รัฐ กับ ชาติ นั่นเอง โดยความหมายหลักหมายถึง รัฐซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน มีความผูกพัน มีความรู้สึกภูมิใจที่เป็นสมาชิกของกันและกัน พูดง่ายๆ คือ เริ่มจากการเป็นรัฐซึ่งต้องมี 4 องค์ประกอบตามที่ได้พูดไปแล้วในส่วนความหมายของรัฐ ครบถ้วน แล้วใช้ความหมายของชาติบวกรวมเข้าไปอีกที ซึ่งโดยปกติจะใช้สัญลักษณ์บางอย่างเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์เข้าด้วยกัน เช่น ประมุขของรัฐ ศาสนาหรือนิกายทางศาสนา เช่น ไทยเรา ใช้ สถาบันชาติ (สื่อได้ทั้งภาษา อัตลักษณ์ของคนไทย) ศาสนา (มุ่งเน้นพุทธศาสนา) และพระมหากษัตริย์ (สื่อถึงประมุขของรัฐ) ในการสร้างรัฐชาติในแบบไทยขึ้น

กรุงลาซา เมืองเอกของทิเบต ซึ่งปัจจุบันกำลังเผชิญการขยายความเป็นรัฐชาติของจีนเข้าไปในพื้นที่

เกี่ยวกับคำว่า “รัฐชาติ” นี้ ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างหรือพัฒนาประเทศของรัฐต่างๆ ในโลกเราจากอดีตสู่ปัจจุบันอยู่บ่อยครั้งมาก แน่นอนว่าการนำมาใช้นี้บางทีก็สร้างปัญหาให้เกิดขึ้นได้ในกรณีที่ประเทศนั้นๆ มีเชื้อชาติย่อยๆ รวมอยู่ เชื้อชาติเหล่านี้ก็คงไม่อยากถูกกลืนความเป็นชาติของตัวเองไปแน่นอน เช่น พวกทิเบต พวกอุยกูร์ในจีน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการขยายความเจริญต่างๆ ของจีนเข้าไป มีผลต่อการแผ่ขยายความเป็นชาติจีนเข้าไปในกลุ่มคนเหล่านี้ นอกจากนี้ คำว่า รัฐชาติ ยังมักถูกนำมาใช้ในการวางกรอบการศึกษาประวัติศาสตร์ด้วย แต่เรื่องนี้มีรายละเอียดพอควร ผู้เขียนขอเก็บไว้เล่าในบทต่อๆ ไป นะครับ

จาก Topic ที่นำมาเขียนในวันนี้ จริงๆ ก็เป็นประเด็นในระดับภูมิภาคหรือระดับโลกกันมาแล้ว…. ซึ่งความหมายโดยเนื้อแท้ก็คือตามที่เล่าไปข้างต้น แต่ปัญหามันไปเกิดตอนการตีความนี้แหละ ตัวอย่างที่ผู้เขียนจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็คือ กรณีไต้หวัน และฮ่องกง ซึ่งเราเห็นภาพของเรื่องราวนี้ชัดเจนมาก เป็นประเด็น Drama กันมานาน บางช่วงก็ Hot จนเป็นข่าวใหญ่กันเลยทีเดียว ตรงนี้หากเล่าต่อไปอาจทำให้บทความนี้เริ่มยาวเกิน ดังนั้นจึงขอยกยอดไปเล่าในบทถัดไปละกันนะครับ อย่าลืม…รอชมกัน แล้วพบกันนะครับ

--

--

totoropap

My name is Pap. I'm a Social Studies Teacher. I like to improve the education in Thailand and develop Thai children.