สร้าง Startup ในประเทศไทยอย่างไรถึงจะรุ่ง! (ตอนที่ 3 - Execution)

Peeranat Thoonsaengngam
Muze Innovation
Published in
4 min readApr 25, 2016
Muze Office on Focus!

บทความนี้เป็นบทสรุปของ 4 ขั้นตอนในการสร้าง Startup ของผมแล้วครับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ Execution ซึ่งผมขอให้ความหมายว่า “การทำให้มันเกิดขึ้น” ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนชี้เป็นชี้ตายว่า Startup ของคุณจะได้ไปต่อหรือไม่

(ถ้าใครเปิดมาแล้วเจออันนี้เลยแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่าน ตอนที่ 1 - Idea & Product และ ตอนที่ 2 - Team ก่อนนะครับ)

Founder ป้ายแดงส่วนใหญ่มอง Startup เป็นโอกาสรวย ได้สร้างผลงานจาก Idea จัดปาร์ตี้สนุกสนาน หรือได้ขึ้นหน้าปกนิตยสาร แต่ในความเป็นจริงคุณกำลังกระโดดเข้าสู่หนทางอันแสนหฤโหด

ในช่วง 2–3 ปีแรกคุณจำเป็นอย่างมากที่จะต้องทำเกือบทุกอย่างในบริษัท ถ้าคุณอยากให้ Culture ของบริษัทดี คุณจะต้องเป็นคนเริ่มต้นด้วยตัวเองทั้งหมด เพราะว่าคุณคือต้นแบบของพนักงานทั้งหมดในบริษัท ถ้าคุณไม่ได้ทำบางอย่างด้วยตัวคุณเอง พนักงานคนอื่นๆก็อาจจะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่มีความสำคัญ

Y-Combinator ศูนย์บ่มเพาะ Startup ชื่อดังได้แบ่งหน้าที่ของ Founder ที่จะต้องทำ 5 ข้อ คร่าวๆดังนี้

Credit: How to Start a Startup Lecture 2

จากภาพด้านบน ในตอนเริ่มต้นนั้นคุณต้องเน้นข้อ 5 เป็นพิเศษ คุณต้องทำให้พนักงานทำงานให้เสร็จและทั้งบริษัทต้องมีความคืบหน้าอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะให้เป็นแบบนั้นได้คุณจำเป็นที่จะต้อง

1. Focus (โฟกัส)

Focus, เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการ Execution เพราะถ้าคุณไม่ Focus ไปทีละอย่างมันจะไม่ได้ดีสักอย่าง เหมือนเป็ดที่ว่ายน้ำก็ได้ บินก็ได้แป๊บหนึ่ง แต่ทำไม่สุดสักอย่าง ดังนั้นคุณต้องจัดลำดับความสำคัญ แล้ว Focus ในสิ่งที่ต้องทำก่อน

ในฐานะที่คุณเป็นผู้นำของบริษัท จะมีอะไรประดังประดาเข้ามาให้ทำทุกวัน แต่ถ้าคุณไม่สามารถ Focus ให้มันเสร็จไปได้วันละประมาณ 3 อย่าง มันก็จะไม่มีอะไรคืบหน้าได้เลย Founder ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ชอบ Idea ใหม่ๆเสมอ แต่ในทาง Execution คุณอาจจะต้องทำการปฏิเสธหลายๆอย่างเพื่อทำให้ทีมงาน Focus ในสิ่งที่จำเป็นต้องทำจริง

บางที Founder ก็ต้องปฏิเสธ Idea มากมายเพื่อจะได้ Focus

และเมื่อเรา Focus เราจะทุ่มเททำงานอย่างหนัก ผมก็เชื่อว่าทุกคนที่กำลังทำ Startup ทำงานหนักและทุ่มเทกันมาก ตรงนี้แหละครับที่น่ากลัว เพราะคุณต้องแน่ใจว่าลูกทีมของคุณกำลังทำงานหนักในสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็นต้องทำ ไม่งั้นทำไปสักพักพอรู้ตัวอีกทีว่าผิดทางอาจจะหมดไฟไปเลยก็ได้ Founder จึงมีหน้าที่ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ดี แต่นั่นทำให้ต้องหาคำตอบให้ได้ก่อนว่า …

“จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เรา Focus มันถูกหรือผิด?”

ส่วนตัวผมจะใช้วิธีแบ่งงานออกเป็นก้อนเล็กๆจากนั้นลงมือทำแล้ววัดผลเพื่อให้ Focus ได้ถูกทาง ซึ่งงานที่ทำแต่ละครั้งจะต้องเสร็จในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 สัปดาห์และไม่เกิน 1 เดือน มันจะทำให้เราสามารถปรับแผนและปรับ Focus ให้ถูกทางได้มากขึ้น

ก่อนไปต่อ…ผมขอพูดถึงเรื่อง Growth Rate นิดหนึ่งเพื่อจะได้เห็นภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับ Startup จะรุ่งหรือร่วงมันจะขึ้นกับ Growth Rate ครับ ลองพิจารณาจากรูปต่อไปนี้

ถ้า Startup ของคุณอยู่บนแกนสีแดงคุณก็จะไปรุ่งแน่นอนเพราะว่ามันคือ Growth แบบก้าวกระโดด แต่ถ้าเป็นสีฟ้าคุณก็จะร่วงแน่นอนเช่นกัน จะเห็นได้ว่า Growth Rate สีแดงกับสีฟ้านั้นต่างกันแค่ 1.01 กับ 0.99 เพียงแค่นี้ก็จะทำให้มันรุ่งหรือร่วงได้แล้ว คุณจึงมีหน้าที่ที่ต้องทำให้ Growth Rate มากกว่า 1 เสมอ

ดังนั้นคุณต้องจัดเรียงลำดับความสำคัญของงานเพื่อให้ Focus สิ่งที่สำคัญก่อน ​คุณสามารถใช้ Growth Rate เป็นตัวจัดเรียงงานได้ ซึ่งต้อง Focus ในเรื่องที่ทำให้ Growth มากที่สุดก่อน ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะงง … เรามาดูตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นแล้วกันครับ (ขออนุญาติยกจากงานที่ทีมตัวเองทำแล้วกันนะครับ)

Spendio - ตัวอย่างนี้เป็นแอพสำหรับจดบัญชีรายรับรายจ่ายส่วนบุคคล โดยทีมผมมีเวลาจำกัดมาก และในช่วงท้ายเราต้องเลือก 2 Features ระหว่าง 1. User สามารถเพิ่ม Transaction แบบ Repeat ทุกเดือนได้ กับ 2. Feature ที่ให้ User สามารถเลือก Export หรือ Backup ข้อมูลลง Excel ได้

สุดท้ายเราเลือกทำ Repeat เพราะถ้า Repeat ไม่ได้ เวลาเขาเพิ่มพวกเงินเดือนต้องมาเพิ่มทุกเดือนมันจะน่าเบื่อมากแล้วสุดท้ายก็จะเลิกใช้หรือไม่ประทับใจ ไม่บอกต่อให้คนอื่นมาใช้ ซึ่งต่อให้ Backup ได้มันก็ไม่มีประโยชน์เพราะว่า User ไม่ใช้ตั้งแต่แรกแล้ว และหลังจากปล่อยไป User หลายๆคนก็บอกในทำนองเดียวกันว่ามันใช้ง่ายขึ้นเยอะที่มี Repeat แต่ไม่มีใครบ่นเรื่อง Report & Backup มากเท่าไหร่ในช่วงต้น

และเมื่อคุณสามารถ Focus และเรียงลำดับงานที่ต้องทำได้ถูกแล้ว

“ก็อย่าหลงไปกับการทำ PR เยอะจนเกินไป”

เคยมีคนชวนผมให้ทำ PR เพราะว่าจะได้มีคนมาใช้งานเยอะๆ ซึ่งผมก็ปฏิเสธไปแทบจะทันที ในความคิดผมนั้นการ PR มันอาจจะทำให้เรามีชื่อเสียงหรือดูดีในสายตาคนอื่น แน่นอนถ้าคุณได้ออกทีวีมันน่าตื่นเต้น แต่จริงๆแล้วเราไม่ได้มี Product หรือ Feature อะไรใหม่เกิดขึ้นจากการทำ PR เลย

ยกตัวอย่าง Product ยิ่งใหญ่อย่าง Music Streaming ที่ชื่อ Rdio ซึ่งเกิดก่อน Spotify ซะอีก แถมได้เงินลงทุนทั้งหมด 125.8 ล้านเหรียญ แต่เนื่องจาก Rdio พยายามหาเงินจาก User ของตัวเองเร็วเกิน ทั้งๆที่ Product ยังไม่เป็นที่รักของผู้ใช้งานจนโตได้ด้วยตัวของมันเอง ผลก็เลยจบลงไม่สวย

rdio ยังสามารถตายได้ทั้งๆที่ได้เงินลงทุนไปทั้งหมด 125.8 ล้านเหรียญ

ถ้าคุณมัวแต่โฆษณาออกสื่อทั้งที่ Product คุณไม่มีคนใช้ สักพักพองบ PR หมด Product ของคุณก็คงจะเงียบหายเข้ากลีบเฆมไปในที่สุด ดังนั้นผมคิดว่าในตอนช่วงต้นคุณควรจะ Focus กับ Feature และทำให้ Product คุณ Grow ด้วยตัวของมันเองจะดีที่สุดนะครับ

เรื่องต่อไปที่จะต้องคำนึงถึงต่อจาก Focus ก็คือ

2. Intensity (ความเข้มข้น)

Intensity — ต้องเข้มข้น “จงทำงาน จงทำงาน จงทำงาน” 3 คำซ้ำที่คุ้นเคยคล้ายสิ่งที่คุณต้องท่องให้ขึ้นใจตอนเรียนลูกเสือ มันไม่มีคำว่า “Work Life Balance” ตาม #ชีวิตดี๊ดี ของคนทั่วไปกับชีวิตของ Startup หรอกครับ พอพูดแบบนี้ใครได้ยินอาจจะคิดว่า “ตายแล้ว… ทำแต่งานมันจะมีความสุขได้ไง?” ในความเป็นจริงผมว่ามันดีกว่าที่คนทั่วไปคิดไว้มากนะครับ อาจจะดูว่าเราทำงานเยอะก็จริง แต่มันเหมือนเรากำลังเล่นอยู่ตลอดเวลามากกว่า ซึ่งสำหรับผมแล้วสิ่งนี้คือ

“The Real Practical Way of My Work Life Balance”

เพราะถ้าคุณชอบ Idea และ Product ที่ทำอยู่จริงๆ มันจะไม่เครียดเลย ออกจะมันส์และสนุกที่ได้คิดมากกว่า ได้ลองทำโน่นทำนี่ Enjoy ไปกับทุกสิ่งที่ได้ทำ คนทั่วไปคงไม่เข้าใจเราหรอกเนอะ :)

นอกจาก Intensity ในการทำงานแล้ว คุณต้องทุ่ม Intensity ไปในทุกๆส่วนของ Product ด้วย ลองนึกภาพบริษัทอย่าง Apple หรือ Google บริษัทเหล่านี้จะไม่ยอมปล่อยให้ Product ที่ห่วยๆหลุดออกมา ส่ิงนี้ทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้งาน ถ้าบริษัทเหล่านั้นสร้างอะไรมันก็น่าจะดีซะส่วนใหญ่ แต่ที่ยากก็คือคุณต้องทำให้เร็วอีกด้วย​ … ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าหลายคนคงคิดว่า…

โอย! แล้วมันจะเป็นไปได้ไงกัน … ที่จริงมันก็พอมีวิธีอยู่บ้างนะครับ

ผมขอยกตัวอย่างมาจากแอพ Spendio ที่ได้กล่าวถึงในข้างต้นมาแล้ว จริงๆพวกเรามี Idea สำหรับจะทำแอพประมาณนี้อยู่นานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาสได้เริ่มสักที แล้วอยู่มาวันหนึ่งเราได้รับอีเมลจาก Apple ว่าบริษัทเราได้รับเชิญไปทดสอบ Apple Watch ก่อนที่จะมีการขายจริง

โอ้ จาร์วิส! … อย่างกับฝันที่เป็นจริงที่ Apple จะหันมาให้ความสนใจกับ Developer ตัวเล็กๆจากไทยแลนด์อย่างเรา พวกเราจึงไม่รีรอที่จะตอบรับไปทำการทดสอบ แต่มันติดอยู่นิดหนึ่งตรงที่ว่าเขาจะให้เราทดสอบก็ต่อเมื่อมีแอพที่เสร็จแล้วและใช้งานได้จริงบน Apple Watch เท่านั้น ซึ่งเหลือเวลาอีก 20 กว่าวัน …

… งานเข้าสิครับ! ยังไม่ได้ทำ(ตื๊ด)อะไรเลย ทำไงกันละนี่!

ผมเลยคุยกับน้องๆในทีมว่า “เรามา Hackathon ทำแอพนี้กันดีกว่า” ซึ่งตอนนั้นเรามีเวลาแค่ 10 วัน ในการทำให้มันเสร็จก่อนจะเดินทาง ด้วยคนเพียง 3 คนครึ่งและด้วยสถานการณ์ที่บีบขนาดนี้ มันเลยเป็นผลทำให้เราต้อง Focus กันสุดตัว และยังทำให้มี Intensity สูงมากในการทำแอพนี้ เพราะมันต้องดูดีใช้งานได้ และเราไม่มีทางยอมให้มันออกมาแบบเห่ยๆ

และแล้วหลังจากปั่นกันอยู่ 10 วัน …

เราก็ทำได้ทันเวลาครับ! (ต้องขอบคุณทีมงานที่ทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ อิอิ)

เราได้ไปทดสอบบน Apple Watch ตัวจริงเสียงจริง เข้าไปนั่งในห้องสี่เหลี่ยม 3x3 เมตร โดนเอาเทปปิดกล้องไอโฟนและแมคบุ๊ค แอบถ่ายมาได้แต่ภาพด้านบน lol

สุดท้ายแอพที่เราปั่นกันนั้นก็ยังสามารถยัด Key Feature อย่างเช่น คุณสามารถพูดลงไปบน Watch แล้วมันจะบันทึกรายจ่ายของคุณโดยรู้อัตโนมัติว่าเป็นรายการอะไร ยอดเงินเท่าไหร่ ไม่ต้องพิมพ์เองเลย ซึ่งก็เป็น Feature ที่ Apple ประทับใจ และบอกว่าเราสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีบน Watch ได้ดี แถม Featured แอพเราลงใน Appstore ให้อีกด้วย

ซึ่งจากการทำแอพนี้ก็พิสูจน์ได้ว่าต่อให้คุณทำงานในเวลาที่จำกัดคุณก็ยังสร้าง Product ที่เท่ๆดีๆได้ ถ้าคุณ Focus และใส่ความเข้มข้นในการทำงานลงไป และถ้าคุณอยากให้ทีมคุณ Focus และมี Intensity ที่สูง คุณต้องตั้ง Goal ที่ท้าทายและมีกำหนดเส้นตายที่ชัดเจน ลองดูกราฟด้านล่างนี้นะครับ

งาน 5 สัปดาห์ก็เสร็จภายในไม่ถึง 2 สัปดาห์ได้! แต่ถ้าเป้าหมายคุณไม่ท้าทายพอ คุณก็จะไม่สามารถเหยียบคันเร่งทีมคุณได้เต็มที่ ซึ่งในกรณีนี้เป้าหมายของผมก็คือ

“พวกเราจะได้ไปทดสอบ Apple Watch กัน … มีสักกี่คนได้ทำ?”

มันก็เลยทำให้น้องๆตั้งใจทำงานกันอย่างเต็มที่ นี่เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมในบทความตอนที่ 1 เรื่อง Product & Idea ผมถึงเน้นว่าคุณต้องมี Passion แล้วมันต้องโดนจริงๆ ไม่งั้นน้องๆจะอยากร่วมทำงานไปสู่เป้าหมายเดียวกับคุณได้อย่างไร?

ถ้าคุณทำมาจนถึงจุดนี้แสดงว่าคุณคงจะเริ่มปล่อย Product ของคุณออกสู่ท้องตลาดแล้ว คุณก็จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการพัฒนาทำให้มันดีข้ึนให้ผู้ใช้งานรักและแนะนำต่อให้ได้ ซึ่งสิ่งที่คุณควรจะต้องทำคือ

3. Always Keep Momentum & Growing (รักษาโมเมนตัมและการเติบโต)

เมื่อคุณปล่อย Product ออกไปแล้วคุณจำเป็นต้องรักษา Momentum (แรงขับเคลื่อน) ของทีมไว้ไม่ให้ทีมชะงัก ซึ่งผมมักจะใช้วิธีการแบ่งสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อออกเป็นชิ้นเล็กๆ เพราะอย่างที่กล่าวไว้แล้วว่าถ้าทีมมีเป้าหมายที่กระชับและมีเส้นตายที่แน่นอนมันจะทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นอกจากนี้การแบ่งงานเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ทำเสร็จให้เร็ว มันจะทำให้เราได้เรียนรู้และพัฒนาได้อย่างถูกทาง ลองคิดดูว่าถ้าเราทำ Feature เด็ดๆที่ไม่ต้องใหญ่มาก แล้ว Release ทุก 2 สัปดาห์ ถ้าปีหนึ่งผ่านไปเราก็จะรู้สึกเหมือนว่าได้ทำอะไรเยอะแยะ ได้มีประสบการณ์ และเข้าใจ User มากขึ้น

ซึ่งอันนี้ผมก็เคยผิดมาแล้วเช่นกัน…

ผมเคยทำโปรเจคที่มีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่มาก ทุ่มเท ทำมันทั้งทีม ทำไป 1 ปี พอใกล้เสร็จก็นั่งประเมินกันเองแล้วสรุปกันเองว่าไม่โดน! รื้อ! ทำใหม่ ทำไปทำมาผ่านไป 3 ปี สุดท้ายพอรู้ตัวเราก็เสียทั้งเวลา ทั้งเงินลงทุน บอกเลยครับมันเจ็บมาก!!!

ดังนั้นผมแนะนำให้พยายามพัฒนา Product ไปทีละเล็กละน้อยและวัดผลจาก User มันจะช่วยให้ไปได้ไกลและไม่หลงทาง และมันจะทำให้ทีมคุณไม่เสีย Momentum

และจงจำไว้ว่า…

“Always keep growing - ต้องโตเสมอ!”

ถ้าเป็น Software company ก็ต้องทำให้ User เพิ่มให้ได้ ถ้าเป็น Hardware ก็ต้องอย่าให้ Ship date เลื่อนออกไป เพราะถ้า Product คุณไม่มี Growth ทีมคุณจะเสีย Momentum และถ้าไม่รีบแก้ไขมันอาจจะแย่มากๆจนเป็นเหตุให้ทีมคุณแตกออกเป็นเสี่ยงๆได้เลยทีเดียว

แต่ในความเป็นจริงมันก็มีช่วงที่เราทำให้ Grow ไม่ได้ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบกับขวัญกำลังใจของทีมทันที วิธีที่จะช่วยกู้คืนความเชื่อมั่นของทีมถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้คือ การพยายามแก้ไขปัญหาเล็กๆ แต่สำคัญของ Product คุณ เพื่อให้มันกลับมาเข้ารูปเข้ารอยอีกครั้ง

อ้าว…แล้วจะรู้ได้ไงว่าปัญหาไหนสำคัญสุด!

“ง่ายสุดคือ … ถามจาก User ที่รักของคุณสิครับ”

“ถ้าผู้ใช้งานบอกว่าอยากได้อะไร … ก็เริ่มจากตรงนั้นแหละ!”

ในเวลาแห่งความยากลำบากนี้ มันอาจเกิดการทะเลาะกันขึ้นในทีม ซึ่งต้องคอยย้ำถึงเป้าหมายและเตือนกันนะครับว่าเราไม่ได้มาอยู่ที่นี่เพื่อทะเลาะกัน! แล้วพยายามทำส่ิงเล็กๆน้อยๆที่ User แนะนำให้ได้ ยึดสิ่งนั้นเอาไว้ให้ดี แล้วทีมคุณจะสามารถกลับมาก้าวต่อไปได้ … Product คุณจะ Grow ได้อีกครั้ง ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นกับ Startup ในตำนานอย่าง …

Facebook … ด้วยเช่นกัน!

เคยมีครั้งหนึ่งที่ Facebook มี Growth Rate ที่ช้าลงและทำให้คนทั้งองค์กรดูเครียดกันมากมาย เพื่อแก้ปัญหา Mark Zuckerberg ได้ตั้งทีมเล็กๆขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ หลังจากนั้น Growth Facebook เริ่มกลับมาก็ทำให้ Facebook มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งงานฝ่ายอื่นๆก็พลอยดีไปด้วย โปรแกรมเมอร์ที่ทำงานใน Facebook ถึงกับเรียกทีมนี้ว่าผู้กอบกู้ Facebook เลยทีเดียว

เมื่อทุกอย่างกลับมาเข้าที่เข้าทางคุณก็ต้องหมั่นสร้างเป้าหมายใหม่ๆเล็กๆ ทำมันและวัดผลไปเรื่อยๆเหมือนที่เคยทำมาก่อน ผมเชื่อว่าถ้าเรายึดตามแบบนี้แม้มันจะมีอุปสรรคเข้ามา คุณก็จะสามารถค่อยๆก้าวข้ามผ่านมันไปได้แน่นอนครับ

In The End…

สิ่งต่างๆ ที่ผมได้ลองผิดลองถูกมาตลอด น่าจะเป็นบทเรียน ข้อคิด และเครื่องเตือนใจให้กับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่กำลังอยู่บนเส้นทางเดียวกันนี้

ซึ่งสำหรับบทความนี้ก็มาถึงช่วงท้ายแล้ว แต่แน่นอน Startup ของคุณถ้าเดินมาถึงจุดนี้มันเหมือนเพิ่งเริ่มตั้งไข่และกำลังจะต้องก้าวต่อไปบนหนทางอันแสนยาวไกล หนทางหลังจากนี้มันไม่ได้มีหลักสูตรอะไรที่แน่นอนอีกแล้ว เพื่อให้ Product ของคุณ Startup ของคุณ ไปให้ถึงฝั่งฝัน คุณจะต้องใช้ทั้ง กลยุทธ์ ประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และ Skill มากกว่า Skill ของ Hero ใน DotA ทั้งหมดรวมกัน!

ผมก็ได้แต่ขอให้คุณโชคดีและสนุกกับสิ่งที่กำลังทำครับ ผมเชื่อว่าถ้าคุณตั้งใจทำมันจริง ทุ่มเท มีสติประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลาและไม่ยอมแพ้ คุณจะทำมันให้สำเร็จได้แน่นอน

สุดท้ายนี้ผมหวังว่าสิ่งที่ผมได้เขียนให้ทุกท่านอ่านจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย หวังว่าจะได้มาเขียนเรื่องแบบนี้ให้อ่านอีกในโอกาสต่อๆไป ขอบคุณที่ติดตามครับ

T. Peeranat :)

--

--