Transit Oriented Development (TOD)
แนวคิดการพัฒนาเมืองตามแนวระบบขนส่งมวลชน
แนวคิดนี้มีต้นกำเนิดจากทวีปยุโรปในราวศตวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาที่ระบบขนส่งทางรางถูกใช้กันอย่างแพร่หลายตามหัวเมืองในแถบยุโรป หลังจากนั้น 140 ปีต่อมา แนวคิดดังกล่าวถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาจากกระแสการกระจายความเจริญจากศูนย์กลางเมือง (De-suburbanization) ที่เกิดขึ้นตามเมืองขนาดใหญ่ในสหรัฐ ในเวลานี้เองที่แนวคิดถูกเรียกว่า Transit Oriented Development (TODs) และถูกพัฒนาใช้ในหมู่ผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองมาจนถึงปัจจุบัน
ความหมายของแนวคิด Transit-Oriented Development (TOD)
หมายถึงแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชนโดยเฉพาะระบบราง เช่น รถไฟ รถไฟฟ้า เป็นต้น การสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาพื้นที่บริเวณใกล้จุดขึ้นลงระบบรถขนส่งมวลชนนี้ อาศัยแรงจูงใจจากความสะดวกในการเดินทางที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้คนให้สามารถสัญจรไปมาได้สะดวก พื้นที่โดยรอบสถานีจะประกอบไปด้วยที่พักอาศัย สำนักงาน ร้านค้าหรือย่านการค้ารูปแบบอื่นๆ รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งทางเท้าทางจักรยานที่เอื้อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์ส่วนตัว
•เป็นแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบบริเวณสถานีขนส่งมวลชนโดยเฉพาะระบบราง สนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่เป็นชุมชนหนาแน่นบริเวณใกล้สถานีตามหลักการเมืองกระชับ (Compact city)
•เชื่อมต่อแต่ละชุมชน (Neighborhoods) ด้วยระบบขนส่งมวลชน โดยเฉพาะระบบราง
•มีเป้าหมายเพื่อเอื้อให้ผู้อยู่อาศัยสามารถใช้ชีวิตได้โดยไม่ต้องพึ่งรถยนต์ส่วนตัว
หลักการของการวางผังตามแนวคิด Transit-Oriented Development (TOD)
- Walking สร้างพื้นที่เมืองที่สนับสนุนการเดิน ทำให้การเดินเท้าเป็นทางเลือกในการเดินทางที่สะดวกและมีประสิทธิภาพ
- Cycling ให้ความสำคัญกับการสัญจรโดยพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ (non-motorized transport)
- Connections สร้างการเชื่อมต่อที่ดีระหว่างชุมชนด้วยระบบขนส่งมวลชน และสนับสนุนการใช้จักรยานและการเดินเพื่อเชื่อมต่อภายในชุมชน
- Transit จัดระบบขนส่งมวลชน พร้อมจุดเชื่อมต่อและจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินจากทุกพื้นที่
- Mix สร้างชุมชนที่มีการใช้งานพื้นที่อย่างหลากหลาย เป็นทั้งที่ทำงาน ที่อยู่ ที่จับจ่ายซื้อของ ที่กิน ที่เล่นและพักผ่อน รวมทั้งมีพื้นที่พักอาศัยที่คนหลายกลุ่มรายได้สามารถมีกำลังซื้อได้ (Affordable housing)
- Density ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างหนาแน่น โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบสถานี
- Compact แทรกการพัฒนาลงในพื้นที่เมืองเดิม จำกัดขอบเขตและป้องกันการกระจายตัวของเมือง ทำให้การเดินทางภายในเมืองและระหว่างเมืองสะดวกสบาย ไม่ติดขัด
- Shift เปลี่ยนการสัญจรภายในเมืองจากการให้ความสำคัญกับถนนและรถยนต์มาให้ความสำคัญกับขนส่งมวลชนและคน
แนวคิด TOD เป็นการพัฒนาพื้นที่โดยใช้โครงข่ายเส้นทางขนส่งมวลชนร่วมกับการกำหนดรูปแบบใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อสร้างพื้นที่รอบสถานีที่น่าใช้งาน เอื้อต่อการเดินเท้า มีกิจกรรมและการใช้งานพื้นที่ที่หลากหลาย พื้นที่บริเวณรอบสถานีที่กล่าวถึงนี้เรียกว่า TOD neighborhoods โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่สถานีล้อมรอบด้วยพื้นที่กิจกรรมที่มีความหนาแน่นโดยเฉพาะภายในเขตรัศมีจากตัวสถานีประมาณ 800 เมตร หรือในเขตที่ใช้ระยะเวลาเดินประมาณ 10 นาที
ระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมอาจหมายถึงระบบรถรางหรือรถไฟฟ้าที่สามารถทำได้ทั้งลอยฟ้า บนดิน และใต้ดิน ทั้งนี้หลักการสำคัญของ TOD คือการประสานการใช้พื้นที่ศูนย์กลางชุมชนเข้ากับสถานีที่เป็นจุดขึ้นลงตามแนวเส้นทางการสัญจร
องค์ประกอบของ TOD neighborhood
อาจจะมีการใช้ประโยชน์และรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามลักษณะเฉพาะของแต่ละชุมชน อย่างไรก็ดีองค์ประกอบต่อไปนี้เป็นมาตรฐานเบื้องต้นที่ทุกพื้นที่ TOD ควรจะต้องมี (Metropolitan Council 2006)
- ตัวสถานีที่เข้าถึงได้สะดวก เป็นย่านที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ชุมชนโดยรอบ
- พื้นที่สาธารณะที่ประกอบด้วยลานอเนกประสงค์ สวนสาธารณะขนาดเล็กและใหญ่
- ทางเท้าและพื้นที่ริมถนนสองข้างทางที่มีประสิทธิภาพ ใช้งานได้ดี
- การใช้ประโยชน์พื้นที่ที่มีความหนาแน่นและผสมผสานทั้งที่อยู่อาศัย ย่านการค้า สำนักงาน อาคารสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ
- อาคารที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบ ทั้งคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์
- อาคารสำนักงานและร้านค้าในรูปแบบที่หลากหลายตั้งแต่อาคาร low-rise ไปถึง high-rise
References:
http://www.urbanwhy.com/2016/12/20/transit-oriented-development/
https://www.estopolis.com/article/TOD-คือ-อะไร