Warapond N
2 min readJul 12, 2021

ว่ากันด้วยเรื่องงาน Pipeline TD (3D Animation)

เป็นเรื่องที่คิดมานานแล้วว่าอยากจะเอามาเขียนเป็นเรื่องเป็นราวให้ทุกคนได้อ่านกัน โดยมันเริ่มจาก เหตุการณ์ง่ายๆที่ว่า เวลามีคนถามว่าทำงานอะไร แล้วเราจะไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเป็น Pipeline เพราะคนน้อยมากที่จะเข้าใจว่างานของเราคืออะไร

แต่ตอนนี้น่าจะเริ่มมีคนคิดในใจแล้วว่า ทำงานเกี่ยวกับท่อน้ำเหรอ…ไม่ใช่นะคะ Pipeline เป็นชื่อที่เปรียบเปรยในแง่นามธรรมมากกว่าสำหรับเรา ถ้าอยากรู้กันแล้ว เดี๋ยวเราจะมาอธิบายให้ฟังกันค่ะ

เราคิดว่าหลายๆคนเวลาที่ดู animation ก็จะคิดถึงคนที่ทำงานเป็น animator ซึ่งเป็นคนที่รังสรรค์งานให้ออกมาเป็นแบบที่เราดูๆกันอยู่ทุกวันนี้ แต่งาน animation ไม่ได้มีแค่ animator โดยเรื่องนี้สามารถสังเกตเห็นได้ง่ายจาก end credit ของหนังต่างๆ หรือ พวกเพลง title การ์ตูนที่จะมีชื่อคนขึ้นมาเยอะแยะมากมายที่ร่วมกันทำ animation นั้นๆขึ้นมา หนังการ์ตูนบางเรื่องอาจใช้คนหลายร้อยคนในการทำให้งานสำเร็จได้ โดยแต่ละคนก็มีหน้าที่ต่างๆกันไป เหมือนกับที่เราทำงานบริษัทนั่นแหละ (ก็เป็นบริษัทจริงๆนั่นแหละ)

การเริ่มต้นทำ animation สักเรื่องจะเริ่มจากการคิดไอเดียว่าเรื่องที่จะเอามาเล่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร(แผนกที่1) แล้วก็เข้าสู่กระบวนการเขียนบท(แผนกที่2) เริ่มทำ design ภาพ concept ของตัวเรื่อง(แผนกที่3) เริ่มทำ storyboard (แผนกที่4) และเล่าเรื่องเป็น animatic (แผนกที่5) ทำ asset ถ้าทำเป็น 3D ก็จะมีการทำ Model(แผนกที่6) และใส่ Rig หรือกระดูกที่ช่วยในการขยับ model (แผนกที่7)

แล้วส่งต่อเข้าไปทำ shot ซึ่งจะเริ่มจากการทำ layout ที่ต้องกำหนด camera movement และ timing (แผนกที่8) ทำ animation ที่จะมาทำให้ asset หรือตัวละครขยับและเคลื่อนไหวได้อย่างสมจริง (แผนกที่9) นอกจากนี้ยังมีส่วนของการทำ effects(แผนกที่10) ซึ่งจะเพิ่มรายละเอียดการเล่าเรื่องอย่างเช่น น้ำตก, ภูเขาไฟระเบิด, ตึกถล่มต่างๆ

และมาถึงส่วนที่ทำสีสันให้กับงาน animation โดยจะเริ่มจาการทำ texture shading ให้ asset (แผนกที่11) แล้วเอาทุกอย่างมารวมกันเพื่อจัด lighting(แผนกที่12) แล้ว render ออกมา ปรับแต่งเพิ่มบรรยากาศและเพิ่ม effect แบบ 2D ใน composite(แผนกที่13) โดยมี edit (แผนกที่14) เข้ามาทำหน้าที่ตัดต่อภาพทั้งหมดที่เกิดขึ้นให้กลายเป็น animation 1 เรื่อง

นี่ยังไม่รวมถึงการทำ sound, การ grade สี, การตรวจงานเช็คคุณภาพ ที่กว่าจะทำให้งาน animation สักเรื่องออกมาสู่สายตาคนดูได้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆเลย

นี่เขียนมาตั้งยาวขนาดนี้ ไม่เห็นมีคำว่า pipeline อยู่ตรงไหนเลยนี่นา… แต่ขอบอกตรงนี้เลยว่าความจริงแล้ว pipeline นั้นอยู่ในทุกตรงของการทำงานเลย เพราะ pipeline ในที่คือ data pipeline หรือกระบวนการในการจัดการข้อมูลต่างๆน้่นเอง

จากที่ได้อ่านกันมา เราจะเห็นว่าข้อมูลในการทำงาน animation เรื่องหนึ่งๆนั้นต้องผ่านมือคนมากมาย แล้วเราคงจะไม่สามารถส่งต่อข้อมูลเหล่านี้ โดยการแค่โยน file ส่งๆไว้สักที่หนึ่งใน server แล้วก็บอกให้คนเข้าไปหยิบมา แต่พอเข้าไปเราก็เจอว่า folder นั้นมันไม่ได้มี file แค่อันเดียว มันอาจมีหลาย 10 files แล้วไฟล์ไหนคือไฟล์ที่ถูกต้องกันล่ะ

ไหนยังจะพวก brief เอย, note เอย, reference ต่างๆอีกที่เราต้องใช้ในการทำงานนั้น เราจะรู้ได้ยังไงว่ามันถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์มากพอที่คนทำงานจะเอาไปใช้ต่อได้แล้วหรือยัง, งานไหนเริ่มได้เริ่มไม่ได้, ตารางงานเป็นยังไง ต้องทำงานเสร็จเมื่อไหร่ อะไรควรทำก่อนหลัง และยังคำถามอื่นๆอีกมากมาย

เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ pipeline จะคอยช่วยดูแลและจัดการให้มันเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นที่เป็นทาง คอยบอกให้คนอื่นรู้ว่า ถ้าจะหาอะไรต้องไปตรงไหน ซึ่งรวมถึงการสร้างเครื่องมือที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนทำงาน เพื่อให้สามารถส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์และรวดเร็วที่สุด ภายใต้เวลาที่จำกัดของตารางงาน

แต่ในเชิงลึกกว่านั้นคือ คนทำ pipeline จะต้องมีความเข้าใจว่าการทำ animation เรื่องหนึ่งๆนั้น มันน่าจะมีปัญหาทางเทคนิคอะไรเกิดขึ้นได้บ้าง เรียกว่าพยายามมองหาปัญหานั้นก่อนที่มันจะเกิด แล้วพยายามป้องกัน หรือถ้าทำไม่ได้ อย่างน้อยๆก็ควรจะบอกวิธีที่จะหลีกเลี่ยงปัญหากับคนทำงาน เพื่อให้เมื่อต้องทำงานจริงแล้วเราจะเจอกับปัญหาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

pipeline นั้นมักจะมองภาพการทำงานของทั้งระบบอยู่เสมอ ว่าข้อมูลต่างๆต้องไหลไปอย่างไร หากเกิดปัญหาแล้วจะส่งผลกระทบไปถึงอะไรได้บ้าง ถ้ามีการติดขัด เราอาจต้องปรับเครื่องมือ หรือแก้วิธีการทำงานของคนให้สามารถส่งต่อข้อมูลไปได้อย่างไรโดยไม่สะดุด

เราคิดว่าการทำ pipeline ขึ้นมานั้น ก็เหมือนกับการสร้างวัฒนธรรมการทำงานขึ้นมาโดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่ ต้องทำให้การทำงานของทุกคนนั้นไหลลื่นที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ พวกเขาสามารถมีเวลากับตัวงานที่กำลังสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ และไม่ต้องกังวลว่าข้อมูลที่ได้รับหรือส่งออกนั้นจะมีปัญหาตามมา

เราเชื่อว่าอ่านมาถึงตรงนี้ทุกคนคงพอเข้าใจไม่มากก็น้อยว่างานของเราคืออะไร ไว้ครั้งถัดไปเราจะมาเขียนถึงเรื่องถ้าจะมาเป็น Pipeline TD นั้นจำเป็นจะต้องมีทักษะอะไรบ้าง ทั้ง hard skill และ soft skill เลย

ไว้เจอกันใหม่ถ้าไม่ขี้เกียจไปซะก่อน…

วรา