ปัญหาการศึกษา ความล้มเหลวของการศึกษากับทางออกของปัญหา

Waroonrat khonsue
1 min readFeb 13, 2024

ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรุณรัตน์ คนซื่อ

หลาย ๆ ฝ่ายให้ความสำคัญต่อการศึกษา เนื่องจากมองว่า การศึกษาเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาสังคม และยังมีความเห็นต่อไปอีกว่า การศึกษาในประเทศไทย
มีความเหลื่อมล้ำสูง ทั้งยังมองว่าการศึกษาของไทยยังมีคุณภาพต่ำ โดยมีเกณฑ์
ของทักษะความรู้ต่ำกว่าเกณฑ์ ทักษะในการอ่านช้า โดยเฉพาะนักเรียนในชนบท ทั้งนี้มีสาเหตุมาจากสภาวการณ์ทางสังคมที่ปัจจุบันเป็นสังคมผู้สูงอายุ ทำให้จำนวนเด็กที่เกิดลดน้อยลง มีผลให้จำนวนผู้เข้าเรียนในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ ลดน้อย
ตามไปด้วย ทั้งยังมีการแข่งขันของสถานศึกษาระดับต่าง ๆ ซึ่งเป็นสาเหตุ
ด้านคุณภาพการศึกษาของผู้ที่อยู่ในวัยเรียนลดลง ทั้งยังมีตัวป่วนให้ระดับคุณภาพของเด็กในวัยเรียนต่ำลงไปอีก สิ่งนั้นได้แก่ เทคโนโลยี (TDRI, 2020) ความคิด
ต่อการศึกษาในระดับโรงเรียน เห็นว่าปัญหาที่สำคัญในระดับต้น ๆ ของการศึกษาไทย
ในปัจจุบันเป็นปัญหาการขาดแคลนครูผู้สอน จนทำให้เกิดความคิดที่โยงไปถึงโครงสร้างการผลิตครูของไทย สำหรับความล้มเหลวในระดับอุดมศึกษา คือการนำแนวคิดด้านธุรกิจมาใช้ โดยมองว่า นักศึกษาคือลูกค้า มหาวิทยาลัยคือผู้ให้บริการ (Cheewid, 2023) อย่างไรก็ตาม ทัศนะนี้อาจเป็นทัศนะที่สุดโต่งเกินไป ความเห็น
อีกด้านหนึ่งมองว่า เกิดสภาวะการณ์ความขาดแคลนบัณฑิต แต่มีบัณฑิตตกงาน
เป็นจำนวนมาก และเชื่อว่ามาจากสาเหตุของการผลิตบัณฑิตที่ไม่สอดคล้องตามความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งยังขาดการพัฒนางานวิจัย และการสร้างสรรค์นวัตกรรม อันเนื่องมาจากการขาดความร่วมมือกับภาคเอกชน

ข้อสรุปของปัญหาด้านการศึกษา ด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของ นณริฏ
พิศลยบุตร (2559) เสนอว่า การพัฒนาคุณภาพและปริมาณของผู้เรียน สามารถตอบสนองตลาดแรงงานมาก แต่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ทัศนะดังกล่าวอาจไม่ถูกต้องมากนัก เนื่องจากปัญหาด้านการศึกษาได้เกิดขึ้นมานานนับหลายทศวรรษ และในหลายประเทศทั่วโลกก็กำลังเผชิญอยู่เช่นกัน นอกจากนั้น นณริฏ
พิศลยบุตร (2559) ยังได้เสนออีกว่า ควรมีการเพิ่มปริมาณครูเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ด้วยการศึกษาจากงานวิจัยของ วีระยุทธ พรพจน์ธนมาศ (2561) ศึกษาปัญหา
การศึกษาไทยในระดับโรงเรียนด้วยการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง พบว่า เป็นปัญหา
เชิงโครงสร้าง ที่มาจาก ครูผู้สอน ผู้บริหารโรงเรียน งบประมาณ สังคม วัฒนธรรมชุมชน สภาพเศรษฐกิจ สภาพครอบครัว เป็นต้น ข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาด้าน
การศึกษาของ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ (2566) ภายใต้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและ
ความล้าสมัยของการศึกษาไทย รวมทั้งการสูญเสียการเรียนรู้จากปัญหาโรคโควิดระบาด คือ การปฏิรูปการศึกษาไปสู่การบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพด้าน
การศึกษาในระดับโรงเรียน ด้วยการลดขนาดของโรงเรียนให้มีขนาดที่เล็กลง และเสริมงบประมาณให้แก่โรงเรียนในชนบทที่ห่างไกล นอกจากนั้น ยังมีความเห็นต่อ
การลงโทษนักเรียน ว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงควรกระทำได้ ตรงกันข้ามสิ่งดังกล่าวกลับเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน สำหรับด้านอื่น ๆ คือการปรับวัฒนธรรม
ให้เกิดความกล้าหาญในการคิด และการกระทำเพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ในการสร้างนวัตกรรม

การนำเสนอถึงปัญหาในการศึกษาและข้อเสนอของทางออกในการแก้ไขปัญหา
การศึกษาของประเทศไทย เป็นการนำข้อมูลด้านความคิดเห็นและการศึกษาวิจัย
เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเห็นที่ค่อนข้างสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อย่างไรก็ตาม แนวทางแก้ไขปัญหาบางประการอาจไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขที่ถูกต้องและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากนัก

เอกสารอ้างอิง

นณริฏ พิศลยบุต. (2559). ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของไทย: อีกหนึ่งปัญหาด้านการศึกษาที่ภาครัฐควรใส่ใจ. สืบค้น 6 กุมภาพันธ์, 2567 https://thaipublica.org/2016/05/pier-4/

วีระยุทธ พรพจน์ธนมาศ. (2558). ปัญหาการศึกษาไทย : การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษา. วารสารศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ. 15(2).48–55.

สมเกียรติ ตั้งเกิจวานิชย์. (2566). ข้อเสนอ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ คลายปมปัญหาที่ฉุดรั้งเด็กไทย. TEP White Paper: ความท้าทายในการปฏิรูปการศึกษาและข้อเสนอต่อพรรคการเมือง โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในเวทีสัมมนา ‘ชวนพรรคร่วมคิด ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก’ วันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ.

Cheewid. (2023). ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหา และแนวทางแก้ไข. Retrieve February 6, 2024 https://blog.cheewid.com/social-mpowerment/educational-inequality-issues/

TDRI. (2020). Disrupt Technology Venture. Retrieve February 6, 2024 https://www.disruptignite.com/blog/problem-of-thailand-education.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรุณรัตน์ คนซื่อ
สาขาวิชาบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ มรภ.บ้านสมเด็จเจ้าพระยา, 2567.

--

--