Wirada Saelim
1 min readSep 4, 2017

ภาพพานไหว้ครูประดับด้วยดอกไม้ที่แม้จะดูใกล้หรือไกลก็คล้ายโลโก้ของเซเว่นอีเลเว่น ถูกติดไว้บนบอร์ดห้องม.5/9 ห้องเรียนของสิบแปดชีวิตที่เลือกเรียนสายธุรกิจค้าปลีกในหลักสูตรทวิภาคีระหว่างโรงเรียนมัธยมสังกัดสพฐ.กับวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ของบริษัทซีพี ออลล์

อาจพูดได้ว่า เด็กทั้งสิบแปดคนกำลังเดินอยู่บนเส้นทางที่สอดคล้องกับคำเอื้อนเอ่ยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ฝากพ่อแม่ให้ไปบอกลูกว่าอย่าบ้าเห่อปริญญานัก เพราะอาชีวะและสายอาชีพต่างหากที่จบมามีงานทำและตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0

ถ้าเราบอกว่าสาเหตุของการเลือกเดินบนเส้นทางสายอาชีพนี้ไม่ได้มาจากการตระหนักถึงความสำคัญของตัวเองในฐานะทุนมนุษย์ หรือแรงงานฝีมือที่กำลังขาดแคลน แต่เป็นแค่ ‘เรื่องบังเอิญ’ ท่านั้น

‘ผู้ใหญ่’ จะยังยินดีกับเด็กๆ ไหม?

“ถ้าไม่มีการเรียนสายนี้ เจมส์ก็อาจจะไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่ได้ทำในสิ่งที่คิดไว้ หรืออาจจะกลายเป็นเด็กข้างถนนไปแล้วก็ได้ ”

เจมส์บอกยิ้มๆ ตอบคำถามที่เริ่มต้นด้วยคำว่าสมมติ ยังพอมีเวลาฟังเรื่องราวก่อนเริ่มงานกะเช้า บทสนทนาของเราดำเนินไปหลังร้านเซเว่นอีเลเว่น

ตารางชีวิตของเจมส์ในปีการศึกษานี้กำลังจะวนลูปเดิมเหมือนปีก่อน เรียนวิชาสามัญในโรงเรียนสามเดือน ฝึกงานที่ร้านเซเว่นอีเลเว่นสามเดือน สลับกันไปแบบนี้ไม่มีปิดเทอม ตอนนี้แม้จะยังไม่ถึงฤดูกาลฝึกงาน แต่เจมส์ก็เลือกมาทำงานก่อนเพื่อนๆ ในกลุ่ม เพราะเป็นช่วงที่ร้านขาดเด็กฝึกงานและหนึ่งพันกว่าบาทที่จะได้มาจากการทำงานก่อนเริ่มฝึกงานจริงๆ ไม่กี่วันก็ช่วยให้เขาหายใจหายคอพอสะดวกขึ้นบ้าง

ต่างจากเด็กม.3 คนอื่นๆ ที่ต้องตัดสินใจเลือกเส้นทางการเรียนต่อ เจมส์แทบไม่มีทางเลือก

ครอบครัวของเขาแยกทางกัน พ่อกลับไปอยู่ต่างจังหวัด แม่มีครอบครัวใหม่แยกย้ายกันไปคนละที่ เจมส์ที่เหลือตัวคนเดียวต้องมาขออาศัยอยู่บ้านของเพื่อน ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว ค่าเทอมที่ค้างไว้ตั้งแต่ ม.1 เทอม 2 ทำให้เจมส์ไม่ได้โควตาเรียนต่อสายศิลป์จีนตามที่คิดไว้ แต่เมื่อครูรู้เงื่อนไขชีวิต ประกอบกับโครงการความร่วมมือของโรงเรียนกับบริษัทเอกชนกำลังจะเริ่มต้นปีแรกพอดี เจมส์จึงเหลือทางเลือกเดียว เพราะนอกจากจะได้ทุนเรียนฟรีจนจบม.6 ยังมีรายได้จากการฝึกงานตลอดสามปี เป็นเหตุผลที่พอจะเยียวยาจิตใจของเจมส์และเพื่อนๆ ห้อง 5/9 จากการถูกบังคับด้วยสภาพการเงินของครอบครัวและเกรดเฉลี่ยสะสมที่ไม่มากพอสำหรับตัวเลือกอื่นๆ

ในมือมีนมกับขนมปังที่กินเป็นมื้อเช้า คุยกันไปสักพักเจมส์ก็เก็บขนมปังที่ยังเหลืออีกครึ่งหนึ่งใส่กระเป๋า บอกว่าอิ่มแล้ว ไว้กินต่อมื้อเที่ยง เพราะเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการทำงานต้องผ่อนจ่ายค่าเทอมที่ครอบครัวเคยค้างเอาไว้ ถ้ามองผิวเผินเราจึงไม่มีวันรู้เลยว่าเด็กหนึ่งคนที่ดูเหมือนเด็กวัยรุ่นในกรุงเทพฯ ที่ใช้ชีวิตตามวัยจะต้องแบกรับอะไรมากมายขนาดนี้

“ไหนๆ ผมมาทางนี้แล้ว ก็คิดว่าจะเรียนต่อกับทางปัญญาภิวัฒน์เลย ถ้าไม่เรียนคณะนิเทศ ก็อยากเรียนทำอาหาร จริงๆ มีความฝันอยากจะเปิดร้านอาหารเล็กๆ ของตัวเอง เพราะตอนเด็กๆ ที่บ้านทำร้านอาหารตามสั่ง เห็นพ่อทำอาหารมาตั้งแต่เด็กๆ”

บทสนทนาจบลงที่ความฝันเพราะถึงเวลาทำงานแล้วในความเป็นจริง

ขณะยืนมองเจมส์คิดเงินลูกค้า อุ่นข้าว ปิ้งขนมปัง หั่นไส้กรอก ใจก็นึกถึงสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาปีนี้ที่มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊คพูดว่า เราควรช่วยกันสร้างโอกาสให้แต่ละคนได้ทำตามความฝันเพื่อบรรลุเป้าหมายของตัวเอง เพราะการที่มีคนหนึ่งคนทำความฝันให้เป็นจริงได้ ก็จะส่งผลดีต่อเราทุกคนที่อยู่ในสังคมเดียวกัน

แต่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เด็กจำนวนไม่น้อยก็ยังวาดความฝันและสร้างตัวตนขึ้นมาจากครอบครัว สถาบันที่ไม่มีวันปลีกวิเวกจากสภาพสังคมได้ จึงไม่น่าแปลกใจเอาเสียเลยที่พวกเขาจะไม่มีเวลามาทำความเข้าใจความคาดหวังที่ประเทศฝากไว้

แม้วันนี้ระบบการศึกษาของประเทศยังเป็นได้เพียงโรงผลิตแรงงานป้อนตลาด แต่เมื่อนึกถึงแววตาของเจมส์ที่ยังดูมุ่งมั่น ภาพพานไหว้ครูบนบอร์ดห้อง 5/9 ก็เหมือนจะชวนเราตั้งคำถามว่า ในรัฐจินตนาการ เราจะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่ขับเคลื่อนประเทศด้วยความฝันของตัวเองได้ไหม?

Wirada Saelim

Freelance multimedia journalist, Mundus Journalism 2018-2020 Media & Politics. Bangkok, Thailand.