สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ

Wirot Watana
3 min readJun 1, 2022

--

ประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2564

สืบเนื่องจากได้มีประกาศ ก.พ.อ. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ.2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนพิเศษ 4 ง วันที่ 7 มกราคม 2565 ส่งผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ในระดับอุดมศึกษาที่จะต้องขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการภายใต้ประกาศ ก.พ.อ.ฉบับใหม่นี้ มีความสนใจที่จะเรียนรู้ทำความเข้าใจถึงสาระสำคัญและวิธีการปฏิบัติตามประกาศ ก.พ.อ. ดังกล่าว ในโอกาสนี้ ผู้เขียนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ(ก.พ.ว.) จึงได้สรุปสาระสำคัญให้มีลักษณะที่ง่ายต่อการศึกษาเรียนรู้และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาขั้นต้นเพื่อการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ ดังนี้

แนวคิดหลักของประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2564

1. เน้นการผสมผสานข้อดีและแนวการปฏิบัติต่าง ๆ ตามประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2560 และ พ.ศ. 2563 เข้าด้วยกัน

2. การเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการ ที่เอื้อต่อคณาจารย์ที่เป็นนักปฏิบัติในพื้นที่ หรือในศาสตร์เฉพาะทางที่สร้างผลงานต่างๆ จากการปฏิบัติงานที่มีลักษณะเฉพาะด้าน เช่น ผลงานรับใช้ท้องถิ่นและสังคม ผลงานสร้างสรรค์ด้านสุนทรียะ ศิลปะ ผลงานด้านนวัตกรรม เป็นต้น

ภาพรวมของประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2564

จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น มีสาระสำคัญในภาพรวมของประกาศ ดังนี้

1. การยกเลิกประกาศ ก.พ.อ. ฉบับเดิม ๆ ทั้งหมด รวมทั้งประกาศที่ ก.พ.อ.ที่ระบุให้ใช้หลักเกณฑ์และวิธีการ ตามประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2560 และ ฉบับ พ.ศ. 2563 คู่ขนานไปได้จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 ด้วย

ซึ่งในเวลาต่อมา อว.ได้มีหนังสือที่ อว 0209.5/ว1 ลงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อแจ้งสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทุกแห่ง เกี่ยวกับมติ ก.พ.อ. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2565 วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 ที่มีมติเห็นชอบให้สภาสถาบันอุดมศึกษา อาจนำประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2560และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 มาบังคับใช้แก่การยื่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้โดยอนุโลม ถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2565 แล้วแต่ความประสงค์ของผู้ยื่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

2. กำหนดแนวทางในการปฏิบัติในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ จำแนกเป็น 2 แนวทาง คือ

2.1 ตำแหน่งทางวิชาการทั่วไป กำหนดสาระสำคัญไว้ ดังนี้

2.1.1 จำแนกการเสนอขอตามระดับ ผศ. รศ. และ ศ. ด้วยการนำหลักเกณฑ์และวิธีการของประกาศ พ.ศ.2560 และ พ.ศ.2563 มาบูรณาการกันเป็นแนวทางปฏิบัติตามประกาศ พ.ศ.2564 โดยกำหนดผลงานวิชาการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 งานวิจัย

กลุ่มที่ 2 ผลงานวิชาการในลักษณะอื่น จำแนกเป็น 12 ประเภท

กลุ่มที่ 3 ตำรา หนังสือ บทความทางวิชาการ

2.1.2 ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.)” (ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งได้แต่งตั้งไว้แล้วและปฏิบัติงานอยู่แล้วในปัจจุบัน) จากบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการที่ ก.พ.อ.กำหนด

2.1.3 การแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการทั่วไป กระทำได้ 2 วิธี คือ การแต่งตั้งโดยวิธีปกติ และ การแต่งตั้งโดยวิธีพิเศษ

2.2 ตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้าน กำหนดสาระสำคัญไว้ ดังนี้

2.2.1 จำแนกการเสนอขอตามระดับ ผศ. รศ. และ ศ. โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นมาใหม่ ซึ่งเน้นไปที่การเสนอขอด้วยผลงานเฉพาะด้านนั้น ๆ โดยมีผลงานทางวิชาการตามแนวทางเฉพาะด้าน แบ่งเป็น 5 ด้าน คือ

1) ด้านรับใช้ท้องถิ่นและสังคม

2) ด้านสร้างสรรค์สุนทรียะ ศิลปะ

3) ด้านการสอน

4) ด้านนวัตกรรม

5) ด้านศาสนา

2.2.2 ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการ (ก.พ.ว.) เฉพาะด้าน”จาก “บัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการที่ ก.พ.อ.กำหนดเพิ่มเติม” ซึ่งคณะกรรมการ ฯ ในแต่ละด้าน ประกอบด้วย

1) ประธานกรรมการ ซึ่งแต่งตั้งจากกรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาประเภทผู้ทรงคุณวุฒิที่ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ (ถ้าไม่มีในสภาสถาบันอุดมศึกษานั้น ๆ ให้แต่งตั้งจาก “บัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ ฯ ที่ ก.พ.อ.กำหนด” ซึ่งไม่ใช่กรรมการสภาสถาบันอุดมศึกษาประเภทผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานก็ได้)

2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่น้อยกว่า 6 คน ซึ่งต้องไม่ใช่บุคลากรและ ไม่เคยเป็นบุคลากรในสังกัดสถาบันอุดมศึกษานั้น โดยครอบคลุมผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นอย่างสูงในด้านนั้น ๆ

สำหรับบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการที่ ก.พ.อ.กำหนดเพิ่มเติมเฉพาะด้านนั้น มีสาระสำคัญที่สัมพันธ์กับเงื่อนไขช่วงเวลา ดังนี้

(1) ได้ระบุไว้ในหมวดที่ 2 ข้อ 11.2 วรรค 3 ว่า “สภาสถาบันอุดมศึกษา อาจมีมติให้ “คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละด้าน ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการด้านนั้น ๆ” ของสภาสถาบันอุดมศึกษาก็ได้

(2) ได้ระบุไว้ในบทเฉพาะกาล ข้อ 30 ว่าให้ “คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา”ในแต่ละด้านจัดทำ “บัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านแต่ละด้าน” และ “บัญชีรายชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อทำหน้าที่ประเมินผลงานทางวิชาการในแต่ละด้าน” ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี

(3) ในกรณีที่การดำเนินการในข้อ (2) ยังไม่แล้วเสร็จ ให้สภาสถาบันอุดมศึกษาเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ให้“คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้านของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา”ให้ความเห็นชอบ

2.2.3 การแต่งตั้งอาจารย์ประจำให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้าน กระทำได้ 2 วิธี คือ การแต่งตั้งโดยวิธีปกติ และ การแต่งตั้งโดยวิธีพิเศษ

3. กำหนดระดับคุณภาพของผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ในการประเมิน จากเดิมที่ใช้ตามประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2560 ใน 3 ระดับ คือ ดี ดีมาก ดีเด่น และตามประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2563 ใน 4 ระดับ คือ B B+ A A+ ปรับเป็น 3 ระดับ คือ B A A+ ทั้งนี้ ลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการต่าง ๆ ในแต่ละระดับที่ปรับขึ้นใหม่ส่วนใหญ่จะมีความใกล้เคียงกับลักษณะคุณภาพตามประกาศ ก.พ.อ. ฉบับ พ.ศ.2560 โดยนำรายละเอียดของระดับคุณภาพของประกาศ ก.พ.อ.ฉบับ พ.ศ.2563 เพิ่มเติมเข้าไปในบางส่วน

4. หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณา ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทั่วไป มีสาระสำคัญ ดังนี้

ขอกำหนดตำแหน่ง ศาสตราจารย์ (จำนวน/คุณภาพ) มี 3 วิธี จำแนกตามสาขาวิชา ดังนี้

  • วิธีที่ 1 และวิธีที่ 2 จำแนกตาม (1) สาขาวิชาทุก ๆ สาขา และ (2) สาขาวิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
  • วิธีที่ 3 จำแนกตาม (1) สาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด (2) สาขาวิชาทางบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และสาขาวิชาอื่น ๆ ตามที่ ก.พ.อ. กำหนด

การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการทั่วไป โดยวิธีพิเศษ

การแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการโดยวิธีพิเศษ ใช้ในกรณีที่ผู้ขอมี “คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง” ที่แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่งตามประกาศ ก.พ.อ. มีสาระสำคัญของการดำเนินการ ดังนี้

5. หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณา ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการเฉพาะด้าน

ในการประเมินผลงานทางวิชาการเฉพาะด้านใช้ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 3 ท่าน โดยในวิธีปกติให้ถือเสียงข้างมาก ส่วนในวิธีพิเศษต้องใช้เสียงเอกฉันท์ มีสาระสำคัญ ดังนี้

อย่างไรก็ตาม ในการขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการนั้น ผู้ขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการจำเป็นต้องศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ในเอกสารแนบท้ายประกาศ ก.พ.อ. ฉบับนี้ ซึ่งมีสาระสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ แบบคำขอรับการพิจารณากำหนดตำแหน่ง ฯ แบบเสนอแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง ฯ ลักษณะการมีส่วนร่วม แนวทางการประเมินการสอน แนวทางการประเมินผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาระสำคัญเกี่ยวกับคำจำกัดความ รูปแบบ การเผยแพร่ และลักษณะคุณภาพของผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท ทั้งนี้การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญในประกาศ ก.พ.อ. นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่นำไปสู่การวางแผนในการดำเนินการต่าง ๆ ทั้งในด้านการจัดทำผลงานทางวิชาการและกระบวนการในการนำเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ

--

--

No responses yet