สร้างหนังสือภาษาไทยใน Kindle

Wirote Aroonmanakun
3 min readMay 25, 2019

หลังจากได้มีโอกาสใช้ Kindle paperwhite 2018 อ่านหนังสือแบบจริงจังแล้ว ก็ชอบมาก ๆ เพราะอ่านหนังสือได้ง่ายและสบายตาขึ้นมาก ทำให้แต่ละวันอ่านหนังสือได้มากขึ้นกว่าอ่านผ่าน iPad สิ่งที่ต้องการต่อมา นอกจากหนังสือ kindle ที่ซื้อไว้แล้ว เลยอยากรู้ว่าจะย้ายหนังสือ ebook อื่นๆ มาอ่านใน Kindle e-reader ได้อย่างไร และอยากรู้ว่าถ้าหนังสือเป็นภาษาไทยจะอ่านได้ไหม

Send MOBI to Kindle

Kindle ให้เรา upload ebook ที่เป็น MOBI format เข้ามาอ่านได้ วิธีที่สะดวกสุดคือ ใช้โปรแกรม Send to Kindle ของ Amazon เอง (https://www.amazon.com/gp/sendtokindle) เพื่อ upload ไฟล์ MOBI ไปยัง device ที่เราต้องการอ่าน มีทั้งโปรแกรมบน Windows และ Mac การใช้งานนั้นง่ายมาก เพียงเปิดโปรแกรมมาแล้วลากไฟล์เข้ามาในหน้าต่างของโปรแกรมนี้ เลือก device ที่ต้องการให้ไฟล์นั้นถูกส่งไป

สร้างไฟล์ MOBI จาก EPUB

ไฟล์ ebook ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูป EPUB หากเรามีไฟล์เหล่านี้อยู่แล้วอยาก upload เข้าไปอ่านใน Kindle จะต้องแปลง EPUB ให้เป็น MOBI ก่อน โปรแกรมหนึ่งที่ช่วยได้คือ Calibre (https://calibre-ebook.com/) ที่นอกจากช่วยจัดการ collection ของ ebook ที่มี ยังให้เราแปลง format ของ ebook ได้ เราสามารถโหลดไฟล์ EPUB เข้าไปใน library แล้วเลือก convert หนังสือเล่มนั้นให้มี format MOBI ด้วย จากนั้นก็สามารถ save MOBI file ที่ได้มา send to Kindle ได้

สร้างไฟล์ MOBI จาก DOCX

ไฟล์ Word ปกติก็สามารถแปลงเป็น MOBI ได้ Amazon มีโปรแกรม Kindle Previewer (https://www.amazon.com/gp/feature.html?ie=UTF8&docId=1000765261) ที่ช่วยสร้างไฟล์ Kindle จากข้อมูลที่เป็น DOCX วิธีแปลงไฟล์ก็เพียงแค่ลากไฟล์ DOCX เข้ามา เมื่อแปลงเสร็จ จึง export เป็น MOBI format

ไฟล์หนังสือ DOCX ที่ใช้ควรจัดรูปแบบเป็นระบบมาก่อน มีการใช้ heading ต่างๆ และสร้าง Table of Contents อัตโนมัติจาก heading เหล่านั้น เพื่อให้เวลาแปลงข้อมูล Table of Contents เหล่านั้นจะถูกสร้างขึ้นมาใน MOBI ไฟล์ด้วย

หรือจะใช้โปรแกรม Calibre เพื่อแปลง .docx เป็นไฟล์ MOBI หรือ EPUB ก็ได้ เลือก Add books แล้ว upload ไฟล์ .docx เข้าไป จากนั้นเลือก Convert books — convert individually แล้ว save เฉพาะ MOBI ออกมา

หนังสือ MOBI ภาษาไทย

ใน Kindle ไม่ได้มีตัวเลือกรองรับภาษาไทยโดยตรง แต่จากการทดลองแปลงหนังสือภาษาไทยที่มี ก็สามารถเปิดอ่านภาษาไทยได้ แม้ว่าฟอนต์ภาษาไทยจะไม่สวยนัก สระและวรรณยุกต์บนดูขาด ๆ ก่อนแปลงอย่าลืมตั้งค่า Title กับ Author ใน Properties ของไฟล์ DOCX เป็นชื่อหนังสือและผู้แต่งให้ถูกต้องเสียก่อน เวลาแปลงข้อมูลและ send to Kindle จะได้ชื่อหนังสือออกมาตามนั้นด้วย เพราะถ้าไม่ใส่ไว้ อาจจะได้ชื่อหนังสือ UNKNOWN

สำหรับคนที่อยากทดลองเอาไฟล์ไปลองเล่นดู หรือจะอ่านจริงจังก็ได้ สามารถดาวน์โหลดหนังสือที่ทดลองสร้างเป็น MOBI ได้ที่ข้างล่างนี้

วิโรจน์ อรุณมานะกุล. 2562 ศาสตร์แห่งภาษา: ความเป็นมาและพัฒนาการ. draft

วิโรจน์ อรุณมานะกุล. 2553. ภาษาศาสตร์คลังข้อมูล: หลักการและการใช้. 2nd edition.

การเปลี่ยนฟอนต์ภาษาไทย

สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนฟอนต์ภาษาไทยให้ดูดีขึ้น สามารถทำได้โดยการต่อเครื่อง Kindle เข้ากับคอมพิวเตอร์ผ่านสาย USB ที่มาพร้อมกับเครื่อง (สาย USB บางสายที่คุณภาพไม่ดี จะทำให้ไม่เห็น Kindle drive) แล้วย้ายไฟล์ฟอนต์ที่เป็น TTF ไปที่ folder “fonts” ในเครื่อง Kindle ในที่นี้ลองย้ายไฟล์ TH Sarabun Chula เมื่อใส่ไปแล้ว ในเครื่อง Kindle จะเห็นตัวเลือกฟอนต์ภาษาไทยใหม่นี้ให้ใช้ในชื่อ Custom (TH Sarabun Chula)

อ่าน PDF ไฟล์บน Kindle

สำหรับผู้ที่มีไฟล์หนังสือเป็น pdf แล้ว ไม่สะดวกแปลงเป็น MOBI หรือหนังสือมีรูปภาพประกอบมาก จำเป็นต้องคงรูปแบบนั้นไว ้Kindle e-reader ก็สามารถอ่านไฟล์ pdf ได้โดยตรง ให้ส่งไฟล์ pdf ผ่านอีเมล์ไปที่ email ของเครื่องที่ต้องการ (ใน account ของ Amazon ดูที่ “Personal Document Settings” ในหมวด Send-to-Kindle E-Mail Settings จะเห็น email adress ที่ถูกกำหนดให้สำหรับแต่ละ device เช่น xxxxx@kindle.com) และต้องตั้งค่า Approved Personal Document E-mail List ให้มี email address ของตัวเองที่จะใช้ส่งไฟล์ เช่น xxxx@gmail.com

ข้อเสียของการอ่านไฟล์ pdf คือปรับขนาดตัวอักษรไม่ได้ ตัวหนังสือมักจะเล็กเกินไป แม้จะซูมเข้าออกได้แต่ไม่สะดวกเหมือนการใช้ tablet ที่พอจะทำได้คือใช้ e-reader ที่มีหน้าจอใหญ่ขึ้น หรือตั้งค่า Page Display เป็นแนวนอนแทนที่จะเป็นแนวตั้ง ก็จะทำให้ตัวหนังสือใหญ่ขึ้นพอจะอ่านได้ง่ายขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ดี หน้าที่หลักของการใช้ e-reader คือใช้อ่านหนังสือเป็นหลัก ไม่ได้ใช้จดแก้ไขเหมือน tablet Kindle e-reader จึงเหมาะสำหรับคนชอบอ่านและอ่านต่อเนื่องไม่ถูกขัดจังหวะจาก notification ของ email, Facebook, etc. เพราะ e-reader ไม่มีสิ่งเหล่านี้

อ่านหนังสือจาก Google Book บน Kindle

ในกรณีที่เราซื้อหนังสือจาก Google Play เราสามารถ download หนังสือออกมาได้ แต่ไฟล์ที่ได้จะมีนามสกุล .acsm ซึ่งไม่สามารถย้ายเข้า Calibre ได้โดยตรง จะต้องติดตั้ง Adobe Digital Edition บนเครื่องก่อน เมื่อติดตั้งโปรแกรม ADE แล้วให้เรียกโปรแกรมนี้ขึ้นมา ย้ายไฟล์ acsm ที่โหลดมาจาก Google Book เข้า ADE แล้วจึงจะเห็นไฟล์ epub จากนั้นจึงจะสามารถย้ายไฟล์ epub นี้เข้า Calibre เพื่อแปลงเป็น MOBI ไปอ่านบน Kindle ได้

** ปัจจุบัน ไม่สามารถใช้วิธีนี้นำหนังสือเข้า Calibre ได้แล้ว หากต้องการแปลงข้อมูลจริง ก็ต้องซื้อโปรแกรมอย่าง Epubor Ultimate เพื่อแปลงข้อมูล ebook ซึ่งอาจไม่คุ้มสำหรับการแปลงหนังสือไม่กี่เล่ม ** (7 กย 2564)

--

--