วิธีการใช้โปรแกรม Open Broadcaster Software (OBS) เบื้องต้นสำหรับการเรียนการสอนออนไลน์

Witchaya Towongpaichayont
Witchaya.me
Published in
9 min readMar 16, 2020

โปรแกรม OBS เป็นโปรแกรม Open-Source สำหรับใช้ในการช่วยสตรีม (Live Stream) และบันทึกวีดีโอ สามารถใช้ได้ฟรี และทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์ม ทั้งวินโดวส์ แม็ก และลินุกซ์ ในช่วงเวลาที่การเรียนการสอนออนไลน์เป็นสิ่งที่จำเป็นในตอนนี้ ในบทความนี้จึงอยากอธิบายวิธีการติดตั้งและใช้งานเบื้องต้น เพื่อในไปใช้ร่วมกับโปรแกรมอื่น ๆ ที่ใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ต่อไป

สารบัญบทความ

  1. โปรแกรม OBS มีไว้ใช้เพื่ออะไร
  2. วิธีการติดตั้งโปรแกรม OBS
  3. การเริ่มต้นใช้งานขั้นพื้นฐาน
    3.1 Scene และ Source
    3.2 การสร้างและควบคุม Scene
    3.3 ประเภทของ Source ใน Scene
    3.4 การจัดการ Source ใน Scene
    3.5 การเปลี่ยนจาก Scene หนึ่งสู่อีก Scene หนึ่ง
    3.6 การควบคุม Audio Mixer
  4. การใช้โปรแกรม OBS เพื่อบันทึกวีดีโอ
  5. การใช้โปรแกรม OBS เพื่อสตรีม
    5.1 การสตรีมบน YouTube
    5.2 การสตรีมบน Facebook Live
    5.3 วิธีการสตรีมและบันทึกวีดีโอพร้อมกัน
  6. การใช้โปรแกรม OBS กับโปรแกรม Video Conference
  7. ปัญหาที่พบบ่อยและวิธีแก้
    7.1 ไม่สามารถแสดงภาพหน้าจอบน Display Capture ได้ (เป็นจอดำ)
    7.2 ไม่สามารถแสดงภาพของ Chrome บน Windows Capture ได้ (เป็นจอดำ)
    7.3 ใช้ Window Capture แสดงผล Slide ของ PowerPoint แล้ว หน้าจอแสดงผลแค่หน้าแรกเท่านั้น
    7.4 ใช้ Window Capture แสดงผลโปรแกรมแบบ Universal Windows Program (UWP) หรือโปรแกรมที่มาจาก Microsoft Storeไม่ได้
  8. อื่น ๆ

1. โปรแกรม OBS มีไว้ใช้เพื่ออะไร

โปรแกรม OBS นี่ไว้ใช้เพื่อช่วยจัดการการไลฟ์สตรีมและอัดวีดีโอให้ง่ายขึ้น สามารถใช้ในการแสดงหน้าจอของโปรแกรมที่ใช้งานต่าง ๆ ในเครื่องได้ ทั้งยังเพิ่มลูกเล่นในหน้าจอตามที่ต้องการได้อีกด้วย รวมถึงการควบคุมการเปลี่ยนชุดหน้าจอต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้

การสอนด้วยโปรแกรม OBS ผ่าน YouTube Live หน้าจอนี้ประกอบด้วยสไลด์ PowerPoint, โลโก้ภาควิชา, ตัวหนังสือบอกชื่อวิชา, และกล้องจับหน้าคนสอน

2. วิธีการติดตั้งโปรแกรม OBS

**อัปเดต 19 มีนาคม 2563 เวอร์ชั่น 25 ออกมาแล้วครับ**

สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://obsproject.com/download โดยเวอร์ชั่นปัจจุบัน (ณ วันที่เขียน 16 มีนาคม 2563) คือเวอร์ชั่น 24.0.3 มีข่าวว่าเวอร์ชั่น 25 จะออกมาเร็ว ๆ นี้ ให้เลือกดาวน์โหลดตามแพลตฟอร์มที่ใช้ ในบทความนี้จะเป็น Windows 64-bit

เลือกดาวน์โหลด
จะมาเป็นหน้าจอการดาวน์โหลด
เลือกเริ่มโปรแกรมติดตั้งที่โหลดมา
ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Plugins

เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว และเริ่มต้นโปรแกรม จะพบหน้าจอด้านล่าง

3. การเริ่มต้นใช้งานขั้นพื้นฐาน

ในเบื้องต้น ศัพท์ที่ควรรู้ในโปรแกรม OBS ได้แก่

  1. Stream คือการไลฟ์สตรีมวีดีโอออกไปแบบสด
  2. Record คือการบันทึกวีดีโอลงในเครื่อง
  3. Scene คือหน้าจอ 1 หน้าจอที่จะนำไปใช้สตรีมหรือบันทึก
  4. Source คือส่วนประกอบต่าง ๆ อาจเป็นรูป เสียง หรือโปรแกรมในเครื่องที่กำลังใช้งานอื่น ๆ
  5. Scene Transitions คือรูปแบบการเปลี่ยนจาก Scene หนึ่งสู่อีก Scene หนึ่ง

ข้อ 1 และ 2 จะพูดถึงในหัวข้อต่อไป ในที่นี้จะขอพูดถึงข้อ 3 — 5 ก่อน

3.1 Scene และ Source

Scene แต่ละ Scene ประกอบด้วย Source หลายชิ้นประกอบกัน ในแต่ละ Scene สามารถนำ Source ใช้งานร่วมกันได้ เช่น ในวิชาที่ผมสอนอยู่ ผมจะเซ็ตหน้า Scene ไว้ 3 Scene ได้แก่ Webcam Scene, Presentation Scene, และ Whiteboard Scene

ใน Webcam Scene จะประกอบด้วยกล้องที่จับหน้า ตัวหนังสือบ่งบอกวิชา รูปโลโก้ภาควิชา และเสียงจากไมโครโฟน ใช้สำหรับทักทายก่อนเริ่มเข้าสู่การเรียน

ในหน้า Presentation Scene จะมีหน้า PowerPoint เพิ่มขึ้นมา ส่วนประกอบอื่น ๆ เหมือน Webcam Scene แต่หน้าจอแสดงกล้องจะถูกย่อลงไปอยู่ที่มุมขวาล่าง ใช้สำหรับบรรยายด้วย PowerPoint

ในหน้า Whiteboard Scene จะแสดงผลคล้ายกับ Presentation Scene แต่จับหน้าจอโปรแกรม Microsoft Whiteboard แทนที่ PowerPoint ใช้สำหรับบรรยายด้วยการเขียน

สังเกตว่า ในแต่ละ Scene มี Source ที่ใช้งานร่วมกันอยู่ เมื่อเปลี่ยนที่มาของข้อมูลของ Source ใน Scene หนึ่งแล้ว อีก Scene หนึ่งจะเปลี่ยนด้วย แต่ในแต่ละ Scene เราสามารถย่อขยายขนาดของ Source ได้โดยไม่กระทบกับอีก Scene

3.2 การสร้างและควบคุม Scene

หน้าจอเริ่มต้น จะมี Scene สร้างไว้แล้ว 1 Scene และจะต้องมีอย่างน้อย 1 Scene เสมอ

หากต้องการสร้าง Scene ใหม่ สามารถกดที่เครื่องหมาย + เพื่อเปิด Dialog ตั้งชื่อ Scene

สามารถเปลี่ยนชื่อ Scene ได้ด้วยการคลิกขวาที่ชื่อ Scene และกด Rename หรือกด F2

**แนะนำให้ตั้งชื่อ Scene เองใหม่ทุกครั้งเพื่อป้องกันความสับสน**

สามารถเลื่อนเปลี่ยนลำดับ Scene ได้ด้วยปุ่มลูกศรขึ้นหรือลง ลำดับของ Scene ไม่มีผลกับการแสดงผล แต่ช่วยในการจัดระเบียบ Scene

สามารถลบ Scene ได้ด้วยปุ่มเครื่องหมายลบ

3.3 ประเภทของ Source ใน Scene

Source คือส่วนประกอบที่อยู่ใน Scene ซึ่งจะถูกแสดงผลออกทางหน้าจอของ Scene ที่กำลังถูกเลือก

Source ที่ถูกนำมาใช้บ่อยในการเรียนการสอนออนไลน์ มีดังต่อไปนี้

  1. Audio Input Capture ใช้สำหรับถ่ายทอดเสียงที่มาจากอุปกรณ์ Input ประเภทเสียง เช่น ไมโครโฟน
  2. Audio Output Capture ใช้สำหรับถ่ายทอดเสียงที่ออกจากอุปกรณ์ Output ประเภทเสียง เช่น ลำโพง
  3. Browser ใช้แสดงเวบไซต์จาก Address ที่ต้องการ หรือ แสดงไฟล์ใด ๆ ก็ตามที่อยู่ในเครื่องที่สามารถแสดงผลด้วย Browser ได้ เช่น รูป, PDF เป็นต้น แต่สำหรับอย่างหลัง ไม่แนะนำให้ใช้
  4. Display Capture ใช้แสดงหน้าจอของเครื่องทั้งหน้าจอ (ถ้าคอมพิวเตอร์มีหลายจอ สามารถเลือกแสดงผลเฉพาะจอที่ต้องการได้)
  5. Image ใช้แสดงรูปไฟล์ที่อยู่ในเครื่อง
  6. Media Source ใช้แสดงไฟล์มีเดียที่อยู่ในเครื่อง เช่น เพลง วีดีโอ เป็นต้น
  7. Text (GDI+) ใช้แสดงตัวอักษรที่ต้องการ สามารถเปลี่ยนสี แบบตัวอักษร หรือใส่เส้นขอบได้
  8. Video Capture Device ใช้สำหรับถ่ายทอดวีดีโอที่มาจากอุปกรณ์ Input ประเภทภาพ เช่น กล้องเวบแคม
  9. Window Capture ใช้สำหรับถ่ายทอดหน้าต่างโปรแกรมที่ต้องการ เช่น Slide ใน PowerPoint เป็นต้น

3.4 การจัดการ Source ใน Scene

การจัดการ Source คล้ายกับการจัดการ Scene คือสามารถเพิ่ม Source ใหม่ด้วยการกดเครื่องหมายบวก ลบ Source ด้วยการกดเครื่องหมายลบ และเปลี่ยนลำดับของ Source ด้วยเครื่องหมายลูกศรขึ้นและลง

ลำดับของ Source มีความสำคัญ คือ Source ที่อยู่บนจะทับ Source ที่อยู่ด้านล่าง

Source Webcam อยู่ด้านบน Source Whiteboard
เมื่อเลื่อนลำดับ Source Whiteboard ขึ้นมาอยู่บน Source Webcam จะเห็นว่า Whiteboard แสดงผลทับ Webcam ทำให้มองไม่เห็นภาพจาก Webcam

Source สามารถย้ายตำแหน่ง และ/หรือ ย่อขยายขนาด ด้วยการกดที่ Source ที่ต้องการให้มีกรอบสีแดง และลากหรือย่อขยายขนาดตามต้องการ

3.5 การเปลี่ยนจาก Scene หนึ่งสู่อีก Scene หนึ่ง

ระหว่างที่สตรีมหรือบันทึกวีดีโอ สามารถเปลี่ยน Scene ได้ด้วยการกดที่ Scene ที่ต้องการเปลี่ยนในลิสต์ของ Scene ซึ่งการเปลี่ยน Scene จะเป็นตามรูปแบบ Scene Transitions ที่กำหนดไว้

Scene Transitions โดยค่าเริ่มต้นจะตั้งเป็น Fade ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนหรือเพิ่มรูปแบบการเปลี่ยน Scene ที่ต้องการได้ที่เมนู Scene Transition

3.6 การควบคุม Audio Mixer

Audio Mixer เป็นตัวควบคุมเสียงที่ออกมาจาก Source ต่าง ๆ เช่น ไมโครโฟน หรือกล้องเวบแคม รวมทั้งเสียงที่อยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์เอง

แนะนำให้ปิดเสียงจาก Source ที่ไม่ได้ใช้ เพื่อไม่ให้วีดีโอที่ส่งออกไปที่เสียงรบกวนจากหลายที่ โดยกดที่ลำโพงใต้แถบเสียงที่ต้องการให้เป็นสีแดงเพื่อปิดเสียงจาก Source นั้น

4. การใช้โปรแกรม OBS เพื่อบันทึกวีดีโอ

เมื่อเริ่มต้นครั้งแรก ให้กดที่ Settings ใน Controls เพื่อตั้งค่าที่ต้องการก่อน

ไปที่แท็บ Output

ตรง Recording เลือก Path ที่ต้องการให้เก็บให้ไฟล์เก็บไว้ที่ Recording Path

เลือก Quality และ Format ของวีดีโอที่ต้องการบันทึก และกด OK

เมื่อต้องการเริ่มบันทึกวีดีโอ ให้กดที่ปุ่ม Start Recording

เมื่อต้องการหยุด ให้กดที่ปุ่ม Stop Recording แต่ถ้าต้องการหยุดชั่วคราว (Pause) ให้กดที่ปุ่ม || ข้าง ๆ Stop Recording

เมื่อหยุดการบันทึก ไฟล์จะถูกเก็บไว้ที่ Path ที่เซ็ตไว้ ในรูปแบบชื่อไฟล์วันที่และเวลา สามารถเรียกเปิดโฟลเดอร์ที่เก็บไฟล์ได้ที่ File > Show Recordings

สำหรับผู้ที่บันทึกด้วย Format MKV หากต้องการแปลงเป็น MP4 หลังจากบันทึกแล้ว ให้ไปที่ File > Remux Recording และเลือกไฟล์ที่ต้องการ

5. การใช้โปรแกรม OBS เพื่อสตรีม

โปรแกรม OBS ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้กับสตรีมได้โดยง่าย โปรแกรมมีการตั้งค่าพื้นฐานสำหรับแพลตฟอร์มยอดนิยมอยู่แล้ว ในที่นี้จะขอแสดงการสตรีมเข้า YouTube และ Facebook Live

5.1 การสตรีมบน YouTube

เริ่มต้น ไปที่ Settings

ในแท็บ Stream เลือก Service เป็น YouTube / YouTube Gaming

จากตรงนี้ ให้ไปที่หน้า YouTube ใน Browser เลือกรูปกล้องวีดีโอที่อยู่ขวาบน และเลือก Go live

สำหรับผู้ที่ไม่เคยใช้ YouTube ในการสตรีมมาก่อน จำเป็นต้องทำตามกระบวนการของ YouTube ก่อนที่จะสามารถสตรีมได้ กระบวนการอาจกินเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งในบทความนี้จะไม่ครอบคลุมถึงกระบวนการนี้

หน้าจอของ YouTube Studio จะถูกแสดงขึ้นมา ไปที่แท็บ Stream และใส่ชื่อหัวข้อสตรีมที่ต้องการ แนะนำให้ผู้ที่ต้องการกรองให้กลุ่มคนที่ต้องการเท่านั้นที่สามารถเข้ามาดูได้ ให้เลือก Privacy เป็น Unlisted เลือก Audience เป็น No, It’s not made for kids และกด Create Sream

จะได้หน้าจอแบบนี้

อย่าปิดหน้าจอนี้ ให้กดปุ่ม Copy ข้างหลังหัวข้อ Stream key (paste in encoder) เมื่อกดแล้ว จะมีแถบข้างล่างขึ้นว่า Successfully copied to clipboard

กลับไปที่โปรแกรม OBS กด CTRL+V ในช่อง Stream Key และกด OK

กดที่ปุ่ม Start Streaming

เมื่อกลับไปที่หน้าจอ YouTube Studio รอสักครู่ หน้าจอมุมซ้ายบนจะเปลี่ยนเป็นหน้าจอที่ส่งมาจาก OBS

กด GO LIVE ที่มุมขวาบนเพื่อเริ่มสตรีม

เมื่อต้องการหยุดสตรีม ให้กดปุ่ม END STREAM ที่ YouTube Studio และ Stop Streaming ที่โปรแกรม OBS

5.2 การสตรีมบน Facebook Live

เริ่มต้น ไปที่ Settings

ในแท็บ Stream เลือก Service เป็น Facebook Live

กดที่ปุ่ม Get Stream Key

หน้าจอ Facebook Live จะถูกเปิดขึ้นอัตโนมัติ เลือก Create Live Stream

อย่าปิดหน้าจอนี้ ให้กดปุ่ม Copy ด้านหลังส่วน Stream key

กลับไปที่โปรแกรม OBS กด CTRL+V ในช่อง Stream Key และกด OK

กดที่ปุ่ม Start Streaming

เมื่อกลับไปที่หน้าจอ Facebook Live รอสักครู่ ภาพในหน้าจอจะเปลี่ยนเป็นหน้าจอที่ส่งมาจาก OBS เมื่อพร้อมให้กดปุ่ม Go Live ที่มุมขวาล่าง

เมื่อต้องการหยุดสตรีม ให้กดปุ่ม End Live Video ที่มุมขวาล่างและ Stop Streaming ที่โปรแกรม OBS

5.3 วิธีการสตรีมและบันทึกวีดีโอพร้อมกัน

ในแพลตฟอร์มสตรีมหลายเจ้า สามารถเรียกดูสตรีมย้อนหลังได้ แต่คุณภาพของวีดีโอที่ได้อาจถูกลดทอนจากสัญญาณอินเทอร์เน็ต ทำให้ในบางครั้ง การบันทึกวีดีโอระหว่างสตรีมและอัปโหลดเข้าสู่แพลตฟอร์มหลังการสตรีมอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

โปรแกรม OBS สามารถสตรีมและบันทึกวีดีโอไปพร้อมกันได้ ด้วยการกด Settings

ในแท็บ General ให้เลือก Automatically record when streaming และกด OK

เมื่อกดปุ่ม Start Streaming ปุ่ม Start Recording จะถูกกดด้วยอัตโนมัติ

6. การใช้โปรแกรม OBS กับโปรแกรม Video Conference

โปรแกรม OBS ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้กับ Video Conference เช่น Microsoft Teams, Google Hangout ฯลฯ โดยตรง แต่เราสามารถใช้โปรแกรมช่วย ทำให้การใช้งาน OBS บนโปรแกรม Video Conference สามารถเป็นไปได้

สิ่งที่เราต้องมี คือ Plugin เสริมของ OBS ชื่อ OBS-Virtual Cam สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://obsproject.com/forum/resources/obs-virtualcam.539/

โปรแกรมนี้ จะนำภาพจาก OBS ไปทำเป็นภาพเสมือนมาจากกล้องเวบแคม ทำให้โปรแกรม Video Conference สามารถนำภาพไปใช้ได้ แม้กล้องเวบแคมหลักจะถูกใช้โดย OBS

ติดตั้งโปรแกรมไว้ที่โฟลเดอร์เดียวกับ OBS เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ไปที่ Tools > VirtualCam

สำหรับกล้องที่มากับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค แนะนำให้เลือก Horizontal Flip หลังจากนั้นกด Start

ในโปรแกรม Video Conference ให้เลือก Source ของวีดีโอเป็น Target Camera ที่เลือก ดังตัวอย่างข้างล่าง คือการใช้งานในโปรแกรม Google Hangouts Meet เลือก Settings

ที่แท็บ Video เลือก Camera เป็น Target Camera ที่เลือกไว้ใน OBS ในที่นี้คือ OBS-Camera กด Done

ภาพใน Video Conference จะเปลี่ยนเป็นหน้าจอที่มาจากโปรแกรม OBS

7. ปัญหาที่พบบ่อยและวิธีแก้

7.1 ไม่สามารถแสดงภาพหน้าจอบน Display Capture ได้ (เป็นจอดำ)

เป็นปัญหาที่พบบ่อยกับคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊คที่ใช้การ์ดจอ Nvidia และใช้ระบบปฏิบัติการ Windows แก้ได้ดังนี้

  1. ไปที่ Windows Setting หาคำว่า Graphics Setting

2. เลือก Classic app

3. กด Browse หาไฟล์โปรแกรม OBS โดยมาก ถ้าเครื่อง Windows 64-bit จะอยู่ที่ C:\Program Files\obs-studio\bin\64bit เลือกโปรแกรม obs64.exe หรือไฟล์อื่น ๆ ถ้าอยู่ในแพลตฟอร์มอื่น กด A

4. เมื่อเพิ่มแล้ว กด Options

5. เลือก Power Saving กด Save หลังจากนั้นเปิด OBS อีกครั้ง จอดำจะหายไป

7.2 ไม่สามารถแสดงภาพของ Chrome บน Windows Capture ได้ (เป็นจอดำ)

แก้ได้ดังนี้

  1. ไปที่ Chrome ที่จุดสามจุด หา Settings

2. เลื่อนมาข้างล่าง เลือก Advanced และเลื่อนลงมาอีกครั้ง ในหัวข้อ System เลือก Use hardware acceleration when available ออก เมื่อกลับไปที่โปรแกรม OBS หน้าจอดำของ Chrome จะหายไป

7.3 ใช้ Window Capture แสดงผล Slide ของ PowerPoint แล้ว หน้าจอแสดงผลแค่หน้าแรกเท่านั้น

แก้ได้ดังนี้

  1. ไปที่ Microsoft PowerPoint ในแท็บ Slide Show เลือก Set Up Slide Show

2. ในส่วน Show type เลือก Browsed by an individual (window) ปัญหานี้จะหายไป

7.4 ใช้ Window Capture แสดงผลโปรแกรมแบบ Universal Windows Program (UWP) หรือโปรแกรมที่มาจาก Microsoft Storeไม่ได้

**อัปเดต 19 มีนาคม 2563 เวอร์ชั่น 25 ออกมาแล้วครับ**

โปรแกรมบนแพลตฟอร์ม Windows 10 จะถูกแบ่งเป็นสองประเภท คือ Classic Program คือโปรแกรมที่ไม่ผ่าน Microsoft Store กับ UMP ซึ่งผ่าน Microsoft Store เช่น Microsoft Whiteboard, Calculator, Skype ฯลฯ

ณ ตอนนี้ OBS เวอร์ชั่น 24.0.3 ยังไม่สามารถแสดงผล UWP ได้ แต่ในเวอร์ชั่น 25 ที่กำลังจะออก สามารถแสดงผลได้แล้ว หากต้องการลองใช้ ณ วันที่เขียนบทความ (16 มี.ค. 2563) เป็น Release Candidate Version 6 สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://github.com/obsproject/obs-studio/releases

8. อื่น ๆ

โปรแกรม OBS สามารถเพิ่มลูกเล่นได้อีกหลากหลาย ตาม Plugins อย่างเช่นการเบลอส่วนที่ไม่ต้องการโดยใช้ StreamFX (ดาวน์โหลดได้ที่ https://github.com/Xaymar/obs-StreamFX/releases/tag/0.8.0a2)

หรือการตัดส่วนที่ไม่ต้องโดยใช้ Green Screen

https://www.youtube.com/watch?v=M8bC4WgrW_Y

นี่เป็นแค่เบื้องต้นของการใช้งานโปรแกรม OBS หากใช้งานดี ๆ แล้ว โปรแกรมนี้จะมีความสามารถสูงมาก

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาการเรียนการสอนออนไลน์นะครับ

--

--

Witchaya Towongpaichayont
Witchaya.me

Lecturer & Researcher @CS_KMITL — AR, MR, Games, UbiComp, and anything exciting.