ชาวเน็ต 101 — จะเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดี เราต้องมีความรู้อะไรบ้าง

Thanyanan
2 min readSep 26, 2017

--

หลายคนคงได้ยินข่าวผู้ประกาศข่าวสาวที่โดนพลังข่าวลือของชาวเน็ต กล่าวหาว่าไปเป็นกิ๊กของนายตัวรวจใหญ่ที่แต่งงานกับนางเอกชื่อดัง ที่สุดท้ายลงเอยว่าเป็นงานมโนไปซะงั้น แล้วใครเคยโดนเพื่อนแชทมาหาเพื่อขอยืมตังค์มาบ้างไหม ก่อนที่จะทราบภายหลังว่าแอคเคานท์เพื่อนเราโดนแฮค แค่สองเคสนี้จะเห็นว่าถึงการเป็นชาวเน็ตมันง่ายแค่สร้างอีเมลแล้วสมัครไอดี แต่จะไปเป็นชาวเน็ตที่มีรู้เท่าทันข่าวสาร และอยู่รอดปลอดภัยในโลกออนไลน์มันก็ไม่ง่ายเลย

สมัยนี้นอกจากจะมีสติปัญญาหรือความฉลาดทางอารมณ์ (IQ และ EQ) ก็คงไม่พอ ต้องมีความรอบรู้โลกดิจิทัลหรือ DQ เข้ามาด้วย

ในสหรัฐอเมริกามีการก่อตั้ง DQ Institute เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ สิ่งที่ทางสถาบันต้องการส่งเสริมอย่างมากคือ การเป็นชาวเน็ต หรือเรียกให้เป็นทางการหน่อยว่า “พลเมืองดิจิทัล” (Digital Citizen) ที่ดี ทาง DQ Institute สร้างหลักสูตรให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่เด็กอายุ 8 -12 ปี เพื่อปูพื้นฐานที่ดีก่อนที่เด็กเหล่านั้นจะเข้าเริ่มใช้โซเชียลมีเดียตอนอายุ 13 ปี (อายุขั้นต่ำในการสมัคร)

การเป็นชาวเน็ตที่ดีนั้นทาง DQ Institute เสนอไว้ว่าต้องมีความรู้ 8 ข้อนี้ด้วยกัน

1. การสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ — Digital citizen identity — เราต้องสามารถสร้างและจัดการตัวตนของเราในโลกออนไลน์และออฟไลน์ได้อย่างปลอดภัยและซื่อสัตย์

2. การแบ่งเวลาอยู่หน้าจอ — Screen time management –แบ่งเวลาอยู่หน้าจอกับเรื่องอื่นๆในชีวิตประจำวันได้ รวมถึงสลับทำหลายๆ อย่างพร้อมกันเช่นเล่นเกมสลับกับทำงานได้ไม่ให้งานเสีย

3. การรับมือกับ Cyberbully — Cyberbullying management — รู้ว่าอะไรคือ Cyberbully หรือการกลั่นแกล้งทางอนไลน์ และรับมือกับมันได้อย่างถูกต้อง

4. การสร้างความปลอดภัยทางออนไลน์ Cybersecurity management –ตั้งพาสเวิร์ดที่แข็งแรงและรับมือกับการโจมตีทางออนไลน์ได้ เช่น malware หรือ ransomware ต่างๆ

5. การปกป้องความเป็นส่วนตัว Privacy management — รู้ว่าเราควรเปิดเผยข้อมูลตัวเองทางออนไลน์เท่าไหร่จึงจะเหมาะสมและปลอดภัย

6. ความคิดรอบด้าน — Critical Thinking — ต้องแยกแยะให้ได้ว่าสิ่งที่เจอในโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ แยกแยะว่าคนที่เข้ามาติดต่อเราทางออนไลน์นั้นไว้ใจได้หรือไม่

7. หลักฐานออนไลน์ — Digital footprints — รู้ว่าสิ่งที่ทำลงไปในโลกออนไลน์อาจคงอยู่ไปตลอด และเข้าใจผลกระทบที่จะตามมา

8. การแสดงความเห็นใจ — Digital Empathy — แสดงความรู้สึกเห็นใจตัวเองและผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมในอินเทอร์เน็ต

ส่วนในเมืองไทยนั้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดูแลเรื่องการเผยแพร่ความรู้เรื่องการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Literacy) ที่ครอบคลุมทั้งเด็ก วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน เช่นเดียวกับสถานศึกษาและหน่วยงานเอกชนต่างๆ ก็ได้จัดอบรมเรื่อง Digital Literacy กันอย่างต่อเนื่อง ลองติดตามข่าวสารหรือจะเข้าร่วมอบรมได้เช่นกัน

ถ้าใครสนใจและอยากอ่านเพิ่มเติมล่ะก็ ลองเข้าไปอ่านในเว็บนี้ https://www.dqinstitute.org/ หรือถ้าของประเทศไทยละก็ เว็บนี้เลย https://thainetizen.org/

--

--

Thanyanan

รวบรวมงานเขียนของ ธัญญานันต์