รีวิวหนังสือ “The Rules of Work” — โดย Richard Templar
The Rules of Work
ผู้เขียน: Richard Templar
สำนักพิมพ์: Change+
สำหรับหนังสือเล่มนี้ผู้เขียนได้บอกเล่าเรื่องราวการปฏิบัติตนในสถานที่ทำงานโดยบอกเล่าเรื่องราว แง่คิด ผ่านสิ่งที่เรียกว่า “กฎ” ให้เราได้เลือกนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม
ภายในเล่มจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นทั้งหมด 10 หมวดและมีกฎทั้งหมด 108 ข้อ เราจะขอสรุปภาพรวมถึง “กฎ” ที่น่าสนใจ ที่เราคิดว่าสามารถนำมาปรับใช้ได้อย่างง่ายดายและใช้ได้ทุกๆ วันมาเล่าให้ดังนี้นะคะ
วางตัวให้เหมาะสม
สิ่งสำคัญในการทำงานนั้นไม่ใช่เพียงเพื่อให้เราทำงานได้ ”เสร็จ” แค่เพียงเท่านั้น แต่เรายังต้องมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดีในงานที่เราทำด้วย เราต้องหมั่นเป็นคนที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้เข้าใจเนื้องานและมีทักษะที่จำเป็นมากเพียงพอที่จะส่งเสริมให้เราทำงานได้สำเร็จลุล่วงและออกมาดี
ถ้าหากว่าเรารู้ว่าเราต้องการเป็นใครในที่ทำงาน เราสามารถที่จะวางตัวให้เป็นคนที่เราอยากจะเป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น หากเราต้องการที่จะเป็นผู้จัดการ เราก็ควรที่จะต้องเรียนรู้ว่าคนที่เขาเป็นผู้จัดการนั้นจำเป็นจะต้องมีทักษะที่จำเป็นอะไรบ้าง เขาทำงานอะไรและวางตัวอย่างไรในที่ทำงาน
หากเราต้องการก้าวหน้าในการทำงาน สิ่งสำคัญที่สุดคือเราต้องหาต้นแบบให้ได้และเข้าใจตัวเองให้ได้ด้วยว่าเราต้องการพาตัวเองไปถึงจุดไหน จากนั้นถึงเริ่มต้นศักษาเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น
หลังจากที่เราเข้าใจตัวเองแล้วนั้นสิ่งที่จะตามมาก็คือเราจะสนุกกับงานที่เราทำ ถึงแม้ว่ามันจะมีปัญหาในการงานใดๆ เกิดขึ้นก็ตามแต่ตราบใดที่เรามีเป้าหมาย รู้หน้าที่ เราจะสามารถยืดหยัดอดทนทำในสิ่งที่เราเชื่อมั่นจนสำเร็จและพาตัวเองไปถึงสิ่งที่เราต้องการได้
เรื่องส่วนตัวกับเรื่องในใจเก็บเอาไว้คนเดียวก็ได้
อย่าให้ใครรู้ว่าคุณทำงานหนัก ยกตัวอย่างเช่นมันจะต้องมีช่วงที่เราทำงานหนักมากใช่ไหมคะ แบบหัวหมุนสุดๆ งานล้นมือชนิดที่ว่าต่อให้ทำข้ามวันข้ามคืนก็ยังไม่มีทางที่มันจะเสร็จเป็นแน่! ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่ชีวิตมนุษย์เงินเดือนนั้นจะต้องประสบพบเจออยู่บ่อยๆ แต่ทว่าถ้าคนคนหนึ่งเอาแต่ตัดพ้อสิ่งต่างๆ ทำไปบ่นไป ร้องแรกแหกกระเชิงว่าตนเองนั้นทำงานหนักและเหนื่อยแทบขาดใจ! เพื่อนผู้อ่านคิดว่าคนที่มีภาพลักษณ์แบบนี้จะเป็นยังไงคะ?
ตรงกันข้ามถ้ามีอีกคนหนึ่งซึ่งงานยุ่งไม่แพ้กัน แต่คนๆ ดูทำงานได้แบบสบายๆ ใจเย็น ไม่วู่วาม ไม่ใจร้อน ไม่ขี้โวยวายคนแบบนี้ดูเป็นยังไงคะ?
เฉลยง่ายๆ คนแบบที่สองนั้นจะเป็นคนที่ดูมีความเป็นมืออาชีพมากกว่าเพราะว่าคนที่จะมีความสุขุมรับมือปัญหาและมรสุมของงานได้นั้นต้องเป็นคนที่เก่งมากๆ ถึงจะ Keep Calme and Work Smart ท่ามกลางสถานการณ์ที่สุดแสนจะวุ่นวายได้
ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า
เรื่องส่วนตัวบางอย่าง ปัญหาในครอบครัว รวมไปถึงปูมหลังในวัยเด็กไม่ใช่สิ่งที่จะต้องพกมายังสถานที่ทำงานด้วยเสมอไป นอกจากนั้นบางครั้งบางคนก็ไม่ได้ต้องการที่จะอยากฟังปัญหาของคุณให้ปวดหัวเหมือนกันเพราะว่าชีวิตคนเราทุกๆ คนย่อมมีปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้บางทีเพื่อนร่วมงานจะไม่ใช่คนใจไม้ไส้ระกำที่จะไม่พร้อมจะรับฟังเรื่องราวในชีวิตของคุณ
บุคลิกภาพเป็นเรื่องที่สำคัญ
การเดินเข้าไปในออฟฟิศด้วยหน้าตาที่สดใส มีชีวิตชีวา มีรอยยิ้มที่เปล่งประกายย่อมดีกว่าการที่เราทำหน้าบึ้งตึง หม่นหมอง เดินช้าอืดอาด เพราะแบบหลังจะเป้นคนที่ดูไม่พร้อมสำหรับการทำงานขึ้นมาทันที
การแต่งตัวดูดี มีสไตล์มีชัยไปกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หน้าผม ความสะอาดสะอ้านรวมทั้งสุขอนามัยส่วนตัว เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่เราควรที่จะต้องใส่ใจไม่แพ้เรื่องของการทำงานแถมสิ่งเหล่านี้ยังจะส่งเสริมความมั่นใจ
นอกจากนั้นท่าทางการเดิน นั่ง หรือยืนก็เป็นสิ่งสำคัญมากๆ เพราะเมื่อใดที่เราไหล่ตก หลังค่อม ห่อไหล่ เราจะดูเป็นกลายเป็นคนหดหู่ ซึมเศร้า เป็นคนตัวเล็กตัวลีบที่ขาดความมั่นใจขึ้นมาทันที ดังนั้นเราควรจะต้องปรับหลังให้ตรง เดินหรือนั่งให้มีความมั่นคงดูเป็นคนที่มีความมั่นใจจะช่วยให้เราเป็นคนที่เสน่ที่น่าดึงดูดและนอกจากนั้นยังกลายเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้นอีกด้วย
คนเรามักถูกตัดสินด้วยสายตาของผู้อื่นเป็นเรื่องปกติ การที่เรามีท่าทางที่ดีนั่นย่อมทำให้เราดูดีในสายตาของเพื่อนร่วมงานรวมทั้งยังส่งให้เราเป็นคนที่ดูดีมีเสน่ที่น่าดึงดูดใจ
ต้องเป็นคนพูดจาดีในที่ทำงาน ไม่สบถหรือใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ถึงแม้ในบางสถานการณ์มันอาจจะทำให้ได้อรรถรสในการสื่อสารหรือเพราะความเชื่อว่ามันดู “เท่ห์” ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงมันอาจจะดูตรงกันข้ามกันก็ได้ ถ้าเป็นไปได้พยายามอย่าได้ริเริ่มพูดมันออกมาโดยเด็ดขาด นิสัยบางอย่างก็ต้องใช้ให้ถูกที่เหมือนกัน
เป็นนักรับฟังอยู่เสมอโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานแต่ไม่เอาตัวเองไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องดราม่าการเมืองในองค์กร รวมทั้งการติฉินนินทาว่าร้ายต่างๆ รับฟังได้แต่อย่าไปถือเป็นแก่นสาร
เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจขององค์กร เข้าใจให้ได้ว่าองค์กรของเรามีเป้าหมายอะไร ดำเนินธุรกิจอย่างไรและมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่สำคัญๆ อย่างไร เพราะเมื่อเรามองเห็นและเข้าใจในหัวเรื่องทั้งหมดที่กล่าวมาแล้ว จะทำให้เรามองเห็นภาพรวมทั้งบริษัทและสามารถที่จะทำมันไปเป็นเป้าหมายในการพัฒนาตัวเองเพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กรของเราได้
ทำตัวให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตัว ภาพลักษณ์ภายนอกและสังคมการทำงานในองค์กรนั้นๆ ถึงแม้อาจจะมีบ้างที่เราอาจไม่เห็นดีเห็นงามกับบางสิ่งในองค์กรแต่เราไม่จำเป็นต้องทำตัวให้เป็นแกะดำเสมอไป (ในกรณีที่เรื่องนั้นๆ เป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ใช่เรื่องใหญ่อย่างการทุจริตในองค์กรนะคะ ในเรื่องนี้ในหนังสือก็แนะนำว่าอย่านำคอไปขึ้นเขียง ให้รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดีค่ะ)
อย่าลืมการเข้าสังคมกับที่ทำงานเพราะการที่จะบินขึ้นที่สูงได้ไม่ได้ใช้เพียงแค่แรงของเราเพียงแค่อย่างเดียวแต่ยังต้องได้รับแรงสนับสนุนและการยอมรับจากคนรอบข้างทั้งหัวหน้า เจ้าหาย เพื่อนร่วมงาน ให้ทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของพวกเขา ดูแลช่วยเหลือและสนับสนุนเพื่อสร้างความไว้วางใจ (ด้วยความจริงใจ)
หมั่นมองหาและสั่งสมประสบการณ์ในการทำงานอยู่เสมอเพราะนั่นจะช่วยให้เราเป็นคนที่เก่งขึ้นได้ในทุกๆ วันจนท้ายที่สุดจะนำพาความเจริญรุ่งเรื่องในการทำงานมาให้เราอย่างแน่นอน
ส่งท้าย
หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่เหมาะมากที่จะเป็น “คู่มือ” ให้แก่เหล่ามนุษย์เงินเดือนนะคะ เพราะหากคุณไม่ได้เป็นผู้ที่เป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง แต่เป็นมนุษย์เงินเดือนที่ทำงานให้แก่องค์กรใดองค์กรหนึ่งหนังสือเล่มนี้นั้นเหมาะมากที่จะเป็นโค้ชให้คุณ แถมยิ่งถ้ามีเป้าหมายอยู่ในใจอยู่แล้ว “กฎ” ในหนังสือเล่มนี้จะช่วยเตือนสติและนำทางให้คุณไม่ออกนอกลู่นอกทางแน่นอนค่ะ