ทางของฝุ่น: เรื่องเล่าของฝุ่นจากมุม DEV

Chun Rapeepat
Abacuz Developer
Published in
3 min readFeb 7, 2019

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาตินั้น พวกเราต้องพบพานกับเรื่องราวทั้งดีและร้ายหลายชั่วอายุคน มีคำพูดที่ว่า “คนโง่เรียนรู้จากประสบการณ์ คนฉลาดเรียนรู้จากประวัติศาสตร์” ก็ไม่ทราบหรอกนะครับว่าใครเป็นผู้กล่าวไว้ แต่สำหรับผมแล้ว ผมเชื่อว่ามันเป็นความจริง และเผอิญทั้งผมและคุณผู้อ่านก็ต่างเป็นคนฉลาดด้วยกันทั้งนั้น วันนี้เราจึงจะมาเรียนรู้เรื่องของมลพิษจากฝุ่นแบบคนฉลาดๆกันนะครับ

​​​​ย้อนกลับไปในช่วงวันที่ 5 ธันวาคม 1952 นับย้อนกลับไปก็เป็นเวลาราวๆ 70ปีมาแล้ว มีปรากฏการณ์กลุ่มควันฝุ่นความหนาแน่นสูงกระจายปกคลุมทั่วกรุงลอนดอน ที่ซึ่งชาวผู้ดีตะวันตกเรียกขานกันว่า

“The Great Smog of London”

เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับราชอาณาจักร มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ร่วม 12,000 คน มีผู้ป่วยอีก นับแสนคน ผมบอกได้เลยว่าจำนวนผู้เสียชีวิตในครั้งนี้เทียบเท่ากับจำนวนกำลังพลที่ไทยส่งไปร่วมรบในสงครามเวียดนาม

ซึ่ง 4,000คน จากผู้เสียชีวิตทั้งหมดนี้ มันเกิดขึ้นโดยใช้เวลาเพียง 4 วันเท่านั้น บดบังสายตาขนาดที่ว่าตาบอดไม่เห็นทางกันเลยทีเดียว ทั้งยังสามารถเข้าถึงในอาคารได้ ว่ากันว่าแม้แต่ในโรงหนังยังไม่สามารถเห็นจอกันได้เลย มันได้แสดงให้เห็นถึงความอันตรายที่ยากจะต้านทานของเจ้าหมอกพิษนี้ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

​​Great Smog of London หรือ Great Smog of 1952 นี้ เป็นปรากฏการณ์ที่มีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ทั่วกรุงลอนดอน โดยกลุ่มหมอกควันเหล่านี้ได้กระจายตัว สลายไปในเวลาอันรวดเร็วพร้อมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป ผมจะขอเล่าถึงภาพรวมของสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในตอนนั้นของลอนดอนนะครับ มันเป็นช่วงหน้าหนาวของปี ผู้คนมากมายที่ได้เตรียมตัวสำหรับฤดูหนาวมาแล้ว ก็เริ่มทำการใช้เชื้อเพลิง เผาถ่านสร้างความอบอุ่นให้ครัวเรือนของตน ซึ่งในยุคนั้นพวกถ่านที่ใช้ๆกันก็มีหลากหลายชนิด หลากหลายเกรด ให้เลือกใช้ ชาวบ้านโดยทั่วไปเลือกที่จะใช้ถ่านจำพวก Ignite Coal ซึ่งถือเป็นถ่านที่คุณภาพแย่มากในด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่ว่ามันเผาไหม้แล้วให้กำมะถัน โดยเป็นหนึ่งในสารก่อมลพิษที่ร้ายแรงหลักของกลุ่มหมอกสังหารนี้

แต่เพราะด้วยมีราคาที่ต่ำมันจึงถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ส่วนถ่านเกรดดีอย่าง Anthracite Coal เป็นของนำเข้าที่มีน้อย มันจึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่ชาวบ้านทั้งหลายจะไม่ค่อยใช้มัน นอกจากนี้ยังมีต้นเหตุมาจากพวกโรงงงานอุตสาหกรรม และยานพาหนะต่างๆจากหัวเมืองสำคัญในราชอาณาจักรทั้งสิ้นอย่าง Greater London Area รวมไปถึง Fulham, Battersea, Bankside, Greenwich และ Kingston upon Thames ด้วย โดนมีการปล่อย Soot หรือ ควัน อันเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งที่จริงแล้วสิ่งที่เป็นปัญหากับเราจริงๆมันคือสิ่งที่อยู่ข้างในควันเหล่านี้ มันคือ Pyrolysis มันเป็นสารประกอบเคมีที่เมื่อทำปฏิกิริยาจะมีการให้คาบอนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ และมันยังเป็นอีกสาเหตุสำคัญของการเกิดฝุ่นที่จะไปอยู่ในหมอกพวกนี้ด้วย

​​หลายๆคนอาจแปลกใจว่าแค่การเผาถ่านปล่อยควันเพียงไม่กี่เดือนในช่วงหน้าหนาวมันจะรุนแรงถึงกับสร้างหมอกที่คร่าชีวิตคนไปเป็นหมื่นได้ในเวลาไม่กี่วันได้อย่างไร ผมขอบอกก่อนเลยว่าการกระทำเหล่านี้สะสมกันมานานตั้งแต่ ศตวรรษที่ 13–16 มาแล้ว ตั้งแต่ช่วงที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในประเทศอังกฤษ ได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ ทำให้เหล่าบริษัท ห้างร้านต่างๆมากมาย ผันตัวเข้ามาจับสิ่งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และหัวใจสำคัญของพลังงานไอน้ำคือ ความร้อนที่ใช้ต้มน้ำ

แล้วจะไปหามาจากที่ไหนล่ะ? มันง่ายเหลือเกินที่เพียงแค่ใช้ถ่านเท่านั้น ความรุ่งเรืองที่ตั้งอยู่บนระเบิดเวลา และมันก็คงเป็นเช่นนี้อยู่เป็นศตวรรษจนนำไปสู่การสะสมมลพิษในอากาศที่เกินจะรับมือ แต่สิ่งที่เป็นตัวขยายผลให้ชัดเจนก็คือธรรมชาติเอง หรือจริงๆอาจพูดได้ว่าก็เป็นเพราะมนุษย์อย่างเราๆนี่เองที่เป็นตัวจุดชนวนที่แท้จริง

เรื่องมันเกิดที่ แอนตี้ไซโคลน (ลมหมุนขนาดใหญ่กลางพื้นทวีป ตรงข้ามกับไซโคลน) ประกอบด้วยอากาศเย็นที่ถูกปิดขังกั้นด้วยอากาศร้อนที่ลอยอยู่ด้านบน มันจึงผสมกับมลพิษที่มีอยู่เป็นการดั้งเดิม และกระจายตัวไปทั่วบริเวณในที่นี้คือทั้งกรุงลอนดอนเลยทีเดียว พร้อมกับภาวะไร้ลมที่ไม่ถ่ายเทสารพิษต่างๆที่ลอยฟุ้งอยู่ มันช่างเป็นส่วนผสมของเลวร้ายที่แสนจะใกล้ตัวของพวกเราเหลือเกิน

​​แม้ในปัจจุบันปัญหาของมลพิษทางอากาศก็ไม่ได้มีท่าทีว่าจะลดลงแม้แต่น้อยกลับเพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่องและแผ่ขยาย กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคทั่วโลก พวกเรากำลังเผชิญกับการถดถอยของสภาพแวดล้อมที่มีความโหดร้ายมากกว่าครั้งไหนๆ ภาพที่แสนน่ากลัวของวันสิ้นโลกในภาพยนตร์หลายๆเรื่อง มีหลายๆคนบอกว่ามันกำลังจะเกิดขึ้นจริง ถ้าเป็นในสมัย 10 ปีก่อนชาวเราก็คงนึกภาพไม่ออกเท่าไหร่ แต่ผมเชื่อว่าในตอนนี้ทุกคนแม้อย่างน้อยที่สุดก็สามารถรับรู้ได้แล้วว่ามันกำลังเกิดขึ้นจริงๆ แล้วพวกเราไม่มีการรับมือแก้ไขอะไรกันบ้างหรือ ในบางภูมิภาคอย่าง อเมริกา จีน และอีกหลายๆที่ ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งกับการรับมือมลพิษร้ายพวกนี้

ผมจะขอนำเสนอการรับมือของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนของเราก็แล้วกัน ว่าเขาไปทำอะไรกันมาบ้าง ผมว่าบางเรื่องที่จีนทำอาจทำให้คุณผู้อ่านต้องร้อง What The Heck กันเลยทีเดียว

​​ในประเทศจีนที่มีประชากรเป็นจำนวนมาก มีธุรกิจที่สำคัญกำลังดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นผลมาจากความพยายามเน้นการขับเคลื่อนประเทศด้วยความเติบโตของอุตสาหกรรมมากกว่าการดูแลจัดการสภาพแวดล้อม และพวกเขาก็ใช้ชีวิตเป็นอยู่แบบนี้กันมานานซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายประเทศที่ธรรมชาติกลับมาทวงคืนปัญหามลพิษ หมอกควันหนา เข้าปกคลุมหลายเมืองสำคัญของจีนมันมากมายหนักหนาจน นายกรัฐมนตรีของจีนออกมาประกาศสงครามกับมลพิษกันเลยที่เดียว

ที่น่าสนใจคือการทำสงครามนี้เป็นการประกาศ ความพยายามในการลดปริมาณละอองฝุ่นขนาดเล็กที่ฟุ้งกระจายทั่วประเทศดำเนินไปด้วยความเด็ดขาด รุนแรง สมกับที่ได้ประกาศไว้ โดยจีนนั้นก็มีที่มาของฝุ่นอันตรายนี้ไม่ต่างจากในประวัติศาสตร์ก็คือมาจากโรงงาน เหมือง ยานพาหนะ และการอุปโภค บริโภคของประชากรเรือนพันล้าน

พวกเขาจึงเลือกที่จะไปแก้กันที่ต้นต่อ ลดการผลิตฝุ่นเข้าสู่สิ่งแวดล้อม เริ่มจากสั่งปิดเหมืองถ่านหิน เหมืองเหล็กในหลายพื้นที่มีการจำกัดจำนวนรถยนต์ที่จะใช้ในท้องถนน ปรับการใช้พลังงานไปเป็นแก๊สธรรมชาติแทนการใช้พลังงานจากถ่านหิน ตามเมืองใหญ่อันรวมไปถึง ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา ด้วย ไม่อนุญาตให้เผาถ่านในพื้นที่มีปริมาณฝุ่นสูง หรือแม้แต่การเข้าควบคุมครัวเรือนที่มีเตาเผาถ่านที่ถูกใช้ในการให้ความอบอุ่น โดยบังคับย้ายเครื่องใช้เหล่านั้นอย่างไม่ปรานี ทำให้ประชาชนทั้งหลายต้องอดทนกับฤดูหนาวที่กำลังจะเข้ามาในจีนโดยปราศจากเตาผิงไฟ

และถึงขนาดที่ว่ามีการขายอากาศกระป๋องกันเลยทีเดียว !!!

สามารถพูดได้เลยว่าพี่จีนของเราทุ่มสุดตัวกับการจัดการปัญหามลภาวะเช่นนี้แม้กระทั่งการยึดความสุขจากประชาชนกันไปเลยทีเดียว ด้วยความที่ประเทศจีนมีการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ อาจจะเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่สร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง นั้นก็คือจากการดำเนินนโยบายนี้ทำให้สามารถลดปริมาณฝุ่นได้รวมถึง 40% ของปริมาณทั้งหมด ที่สำคัญกว่านั้นสามารถทำได้จริงหลังการประกาศสงครามกับควันฝุ่นนี้เพียง 4 ปี หลายๆคนอาจสงสัยว่าตรงไหนที่มันเป็นผลลัพธ์อันน่าทึ่ง ฉะนั้นจะขอย้อนกลับไปซักเล็กน้อยกับดินแดนอเมริกา ก็ประสบปัญหาที่คล้ายคลึงเช่นนี้ และก็ดำเนินการปรับลดปริมาณฝุ่นผงในอากาศที่คล้ายคลึงกับนโยบายของจีน แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือสามารถลดไปได้ 20%จากปริมาณทั้งหมด ซึ่งทำได้น้อยกว่าจีนที่ทำได้ร่วม 40%

เท่านั้นยังไม่พอระยะเวลาการดำเนินการของอเมริกาต้องใช้ถึง 12 ปีในการบรรลุผล แต่จีนสามารถทำได้ภายในเวลาเพียง 4 ปีหลังจากการแถลงการณ์ เรียกได้เป็นผลลัพธ์ที่แตกต่างกันพอสมควร

​​จากทั้งหมดที่ได้กล่าวมาในข้างต้น เป็นประวัติศาสตร์ของมนุษย์เราที่ต้องรับมือกับธรรมชาติ เราเรียนรู้พวกมันเพื่อจะได้พัฒนาตนเองไม่ให้ซ้ำรอยความผิดพลาด และแล้วประวัติศาสตร์ก็กำลังกลับมาในรูปแบบที่รุนแรงกว่าเดิม ผมกำลังพูดถึงสภาพความเป็นอยู่ของบ้านเมืองเรา เรารู้ดีว่าในกรุงเทพมหานครที่เราอาศัยอยู่นี้กำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์มลพิษทางอากาศอย่างรุนแรงหรือที่เราเรียกกันว่า PM 2.5 และอย่างที่รู้กันมันเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศที่ร้อยวันพันปีจะเจอกับภัยธรรมชาติซักครั้ง ประเทศของเรามีการตอบสนองและจัดการต่อสิ่งนี้อย่างไรผมไม่ขอพูดถึงก็แล้วกัน เราต่างก็รู้กันดี เอาเป็นว่าผมจะขอกล่าวถึงเจ้าสิ่งที่เรียกว่า PM 2.5 นี้ซักเล็กน้อย แม้หลายๆคนจะทราบดีแล้วก็ตาม

PM 2.5 เป็นชนิดของฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กเพียง 2.5 ไมครอน ที่กระจายฟุ้งอยู่ในอากาศที่เราหายใจ ความอันตรายของมันอยู่ที่ความเล็กของมันเนี่ยแหละครับ มันสามารถผ่านกรองจากส่วนของทางเดินอากาศในร่างกายของเราได้แล้วแพร่ตัวเข้าสู่กระแสเลือดนำไปสู่โรคร้ายต่างๆมากมาย โดย WHO องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้เป็นกลุ่มสารก่อมะเร็งอันดับ 1 กันเลยทีเดียว

มีรายงานจาก World Bank ว่า ในประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากฝุ่นพวกนี้ร่วม 50000 คนกันเลยทีเดียว โดยที่มาของฝุ่นพวกนี้ก็อย่างที่เราได้เรียนรู้กันไปในช่วงแรกซึ่งก็คือมาจากกิจกรรมของมนุษย์ในการใช้พลังงงานทั้งสิ้น ตอนนี้ในพื้นที่กรุงเทพของเราก็หลายเขตที่ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่มลพิษทางอากาศสูง มีคำสั่งปิดโรงเรียน มหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายที่จะเกิดขึ้น สำหรับความเห็นของผมแล้วมันค่อนข้างส่งผลกระทบอย่างแรงมากในสังคมไทยของเรา

เท่านั้นยังไม่พอมีรายงานการเจ็บป่วยของประชาชนบางกลุ่มเกิดขึ้น อย่างการไอเป็นเลือดสีดำดังที่ได้เป็นข่าวในช่วงนี้ เหตุมาจากการอาศัยอยู่ในพื้นเสี่ยงแล้วไม่มีการป้องตัวเองอย่างการหาหน้ากาก N95 มาใช้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณ ที่เตือนเราว่าถ้าไม่รีบทำอะไรซักอย่างพวกฝุ่นพวกนั้นจะมาจัดการกับคุณแน่ ถ้าลองเปรียบเทียบเวลาการเกิด Great Smog ในอดีตกับ ระยะเวลาของการปรากฏตัวของ PM2.5 ในไทยโดยส่วนตัวคิดว่ามีแนวโน้มที่จะกินระยะเวลานานกว่าและด้วยเหตุข้อนี้ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่เราจะต้องเจออีกด้วย

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ของเราก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ที่มีมลพิษสูงโดยในช่วงงานเกษตรแฟร์ครั้งที่ผ่านมา (งานเกษตรแฟร์ 2562) ชมรมของเรา ได้แบ่งทีมเพื่อเก็บข้อมูลตาม Internet รวมถึงเดินพื้นที่เก็บข้อมูลตามงาน พวกเราในฐานะที่เป็นชมรมน้องใหม่ของที่นี้ก็อยากจะหยิบยกประเด็นที่เกี่ยวข้องกันระหว่างมลพิษ และ งานมหกรรมเกษตรแฟร์ครั้งล่าสุดนี้ รวมถึงวิธีการรับมือกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม มาเล่าให้ฟังกัน

มาในส่วนของการจลาจรกันก่อนเลยนะครับ ถ้าใครที่ใช้รถใช้ถนนผ่านเส้นทางพหลโยธิน หรือ วิภาวดี ก็พอจะทราบกันดีว่าแยกเกษตรของเรานี้ขึ้นชื่อเรื่องการจราจรที่หนาแน่นบวกกับโครงการสร้างรถไฟฟ้าด้วย ทำให้ในบางช่วงเวลาของวันรถที่สันจรในบริเวณนี้จะติดขัดพอสมควรหนึ่งในทีมงานของเรามีความสงสัยว่าในช่วงเกษตรแฟร์นี้จะวิ่งรถได้คล่องที่สุดเท่าไหร่ เราจึงเริ่มรวบรวมข้อมูลจากการใช้ Google Map API ในบริเวณถนนรอบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

โดยเฉลี่ยแล้วรถคันๆหนึ่งจะสามารถวิ่งด้วยความเร็ว 42.67 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เร็วสุดที่สามารถเก็บค่าได้อยู่ที่ 65.53 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้เราพอจะคาดเดาได้ว่าปริมาณรถในช่วงเกษตรแฟร์มีจำนวนมาก จากการที่การขับรถโดยส่วนใหญ่ถูกจำกัดไว้ที่ 60กว่า กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้นเอง คงไม่ต้องพูดถึงปริมาณของฝุ่นควัน ที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากปกติเลยทีเดียว

กราฟค่าเฉลี่ยแต่ละชั่วโมงในช่วงวันงานเกษตรแฟร์ 2019

สำหรับการวัดค่า PM2.5 เราได้ใช้ API จาก Website: airq.ku.ac.th โดยหลังจากที่ได้เก็บข้อมูลในช่วงเกษตรแฟร์ เราพบว่าปริมาณ PM 2.5 พุ่งสูงที่สุดในเวลา 7.00 น. ของวันที่ 30 ม.ค ซึ่งสูงถึง 143.58 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตรและมันยังเป็นค่าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพด้วย

และเพื่อที่จะดูว่าเวลาไหนควรเป็นเวลาที่เหมาะกับการมาเดินงานมากที่สุด เราเลยได้เอาข้อมูลทั้งหมดไป Plot เป็นกราฟมาดู จะสังเกตุว่า ช่วงเช้าๆ หรือ ดึกๆ จะมีฝุ่นระดับมีผลกระทบต่อร่างกาย จนไปถึงระดับอันตราย แต่ช่วงเที่ยง ถึงเย็น จะพบว่าฝุ่นมีระดับปานกลาง จนถึงปลอดภัย จึงพอจะสรุปได้คร่าวๆว่าตอน 4–5 โมง ควรมาเดินงานมากที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นี้สมมูลกับหลักทฤษฎีที่ว่าเมื่ออากาศเย็นเหล่าหมอกพิษจะไม่ถูกถ่ายเท และเก็บขังอยู่ในบริเวณนั้น ต่างกับเมื่ออากาศร้อนมันจะทำให้อากาศที่โอบควันฝุ่นเหล่านี้ขยายตัวและลอยสูงนำพาให้ปริมาณฝุ่นในพื้นที่ลดอย่างรวดเร็ว ซึ่งในที่นี้ช่วงเที่ยงของวันจะเป็นช่วงที่มีอากาศร้อนด้วย

แม้ปริมาณของฝุ่นควันพวกนี้อาจจะนับได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่อย่างเราๆสามารถเดินเที่ยงงานได้ แต่ทางมหาวิทยาลัยของก็ไม่ได้นิ่งนอนใจดำเนินการจัดหา ระดมสรรพกําลัง ตามมาตรการบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละออง PM 2.5 โดยมอบหมายให้ กองยานพาหนะ อาคารและสถานที่ โดยงานสวนและรักษาความสะอาด ร่วมกับสำนักบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย กทม. ดำเนินการฉีดน้ำแรงดันสูงด้านหน้าการจัดงานเกษตรแฟร์ บริเวณประตูงามวงศ์วาน 1 การนี้กองยานพาหนะ อาคารและสถานที่ ได้ดำเนินการติดตั้งสายฉีดน้ำแรงดันสูงบนชันดาดฟ้าอาคารจอดรถวิภาวดีรังสิต เพื่อเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบจากฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะสงสัย (หรือสงสัยเลยก็ตาม) ว่าพวกเราอยู่ชมรมอะไรกัน พวกเรา คือ Abacuz เป็นชมรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นอีกหนึ่ง Community ของเหล่าผู้คนที่มีความสนใจในด้านการพัฒนา Software และเทคโนโลยี พวกเราใคร่จะหาผู้คนเหล่านี้เพื่อมาร่วม Joy ลงมือทำในสิ่งที่ทุกคนอยากจะทำ และช่วยสนันสนุนกันและกันเพื่อให้สมกับความเป็น Community และพวกเราเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยแก้ปัญหาที่เราพบเจอได้ไม่เพียงแต่ปัญหาของเรา แต่เราหวังยิ่งว่าสิ่งที่เราจำจะแก้ปัญหาให้กับใครๆอีกมากมายพร้อมรับประสบการณ์ที่ดีกลับไปเช่นกันครับ

สุดท้ายนี้พวกเราอยากจะฝากอะไรซักอย่าง จากที่ได้เห็นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เคยหายไป กลับกันมีแต่จะทวีความเร็วและรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น พวกเราเคยตั้งคำถามกันว่า มีสิ่งมีชีวิตใดที่สูญพันธ์ุจากโลกนี้ไปแล้วห่วงโซ่อาหารจะไม่พังทลาย สำหรับคุณผู้อ่านคำตอบเป็นอะไรครับ…

แต่สำหรับพวกเรามันคือ “มนุษย์” ไม่เพียงแต่คำถามนี้แต่ไม่ว่าคำถามใด ถ้าสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่ามนุษย์หายไปซักเผ่าพันธ์ุละก็โลกนี้คงได้มีโอกาสกลับมาสมดุลเหมือนเดิม จากการกระทำของเราที่ได้ทำร้ายบ้านหลังนี้มานานแสนนาน ไม่ว่าใครก็คงพอทราบเราว่ากำลังจะได้รับผลกรรมนั้นร่วมกันในไม่ช้า แต่ตามพุทธศาสนาเขากล่าวว่าเราเป็นสิ่งประเสริฐแม้เราจะทำชั่วได้ แต่เราก็ทำดีได้เช่นกัน โลกนี้ไม่ใจร้ายไปนักสำหรับพวกเราทุกคน ทำดีกับโลกนี้ให้มากๆนะครับ

Our Medium: https://medium.com/abacuz-developer

Our Facebook: https://www.facebook.com/abacuz.developer

Our Team: Tanakrid Chanburi, วชิรวิทย์ เวชรักษ์, Wattanai Sathuphan, กฤษณ์ธร แสงเวียง, Noppagorn Panpa, Chanawat Lohachala, Chinnawach Chaidech & Chun Rapeepat

--

--