Persuasive Presentation
5 เทคนิคโน้มน้าวใจ ใครฟังก็คล้อยตาม
วิธีการพูดโน้มน้าวใจผู้อื่น ถือเป็นศิลปะการสื่อสาร และหนึ่งในศาสตร์ทางจิตวิทยา การพูดโน้มน้าวใจดูเป็นเรื่องยากสำหรับมือใหม่ และใครหลายๆคน ทั้งตื่นเต้น ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร วันนี้ Achieve Plus มีเทคนิคดีๆ ในการพูดโน้มน้าวใจมาฝากทุกคนกัน
1.ให้ลูกค้าก่อน แล้วค่อยรับทีหลัง
มันคือกฎ “reciprocity rule” หลายๆ ท่านอาจเคยโดนเทคนิคนี้มาแล้วไม่รู้ตัว เทคนิคนี้พูดง่ายๆ ก็คือ ใครทำดีกับเรา เราก็จะรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณและอยากทำดีตอบแทน โดยเฉพาะในสังคมไทย เป็นสังคมที่ชอบความสงสารและเกรงใจคนอื่นได้ง่าย ขอยกตัวอย่าง คลินิคเสริมความงาม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เทคนิคนี้กันบ่อย เริ่มจากการให้เข้ามาทดลองมาร์สหน้าฟรี หรือ ทดสอบผิว โดยเครื่องมือของทางคลินิค หลังจากที่ลูกค้าเข้ามาทดลองใช้บริการในคลินิคแล้ว นี่คือหนี้บุญคุณ ที่สร้างให้กับลูกค้า หลังจากนั้นการเสนอขายจะตามมา แถมจัดเต็มด้วยโปรโมชั่นจากทางคลินิค ลูกค้ากว่า 90% รู้สึกอยากทำดีตอบแทนและคล้อยตามซื้อคอร์สรักษาใบหน้าหรือสินค้าของทางคลินิค นั่นเอง
2.ยอมรับจุดอ่อนของตัวเองบ้าง
ไม่มีใครที่ไหนจะสมบูรณ์แบบไปหมดทุกอย่าง การนำเสนอจุดอ่อนของตัวเองบ้างในบางครั้ง คือหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งในการพูดโน้มน้าวใจผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ตัวอย่าง บริษัทผลิตภัณฑ์ครีมทาใบหน้า มีจุดอ่อนในเรื่องของส่วนผสมบางอย่าง การบอกจุดอ่อนของสินค้า ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด แต่คุณจะต้องหาเหตุผลที่เหนือกว่าจุดด้อยนี้มาชูสินค้าให้โดดเด่นขึ้นมา อีกหนึ่งตัวอย่าง สมมติว่าคุณคือผู้สมัครงาน ในการสมัครงานแต่ละครั้ง คุณไม่จำเป็นจะต้อง perfect ทุกอย่าง การบอกจุดด้อยของคุณและระบุวิธีการปรับปรุงตัวเอง นี่คือสิ่งที่ควรทำ และทำให้คุณประสบความสำเร็จได้มากกว่า
3.เลียนแบบผู้ฟัง
วิธีนี้ไม่ได้หมายความถึงการล้อเลียนลูกค้าแต่อย่างใด เทคนิคนี้ในทางจิตวิทยา เรียกว่า “mirroring” คือการเลียนแบบพฤติกรรมของคู่สนทนาหรือลูกค้า เคยสงสัยกันไหม ว่าเราต่างเคารพและรับฟังคนที่มีความเชื่อคล้ายๆ กับตัวเราเอง นั่นเพราะว่าเรารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในสังคมของเรา นอกเหนือจากการเลียนแบบ การพูดคุยเรื่องเดียวกับสิ่งที่ผู้ฟังชื่นชอบและสนใจจะทำให้แนวโน้มในการเจรจา พูดคุยจะตรงกับความต้องการของเรามากขึ้นอีกด้วย ตัวอย่างการใช้ เช่น หากลูกค้าหรือคู่เจรจา พูดสักหนึ่งอย่าง การพูดซ้ำ (mirroring) ในสิ่งที่พวกเขาพูดออกมา เป็นการเน้นย้ำคำพูดว่าเราเองกำลังสนใจเรื่องนี้อยู่ เป็นวิธีการที่ดีที่ทำให้เราเชื่อมกับผู้เจรจาได้ดีมากยิ่งขึ้น
4. ทฤษฏี Social Proof
คนเรามักจะไม่เชื่อหากเจ้าของแบรนด์หรือสินค้าเป็นผู้พูด เพราะแน่นอนว่าพวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียกับตัวธุรกิจ แต่การใช้ Social Proof หรือข้อพิสูจน์ทางสังคม หากพูดง่ายๆ คือ รีวิวจากลูกค้าจริง นั่นเอง มาเป็นตัวช่วยให้การพูดเจรจาของเราดูมีน้ำหนักและทำให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตามได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น รายการตลกซิทคอม มักมีเสียงเอฟเฟคตลก เสียงคนหัวเราะ เพื่อดึงความรู้สึกให้ผู้ชมคล้อยตาม และหัวเราะไปตามๆกัน
5. มีความสุขในการพูด
เทคนิคสุดท้าย คือ การพูดอย่างมีความสุข นอกจากจะทำให้เราพูดออกมาจากใจแล้ว ยังทำให้ผู้ฟังรับรู้ได้ถึงความจริงใจที่เราอยากจะสื่อสารออกมา ลองสอบถามตัวเองก่อนพูดว่า สิ่งที่เราต้องการสื่อสารกับผู้ฟัง เราต้องการให้ผู้ฟังทำอะไร และสิ่งที่เราจะเสนอมันดีกับลูกค้ามากแค่ไหน หากเราเชื่อในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เราจะถ่ายทอดสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าคำพูดการขายออกไป
ขอบคุณข้อมูลจาก:
addicted2success.com