Persuasive Presentation

8 วิธีจัดการความกังวลใจ สำหรับมือใหม่หัดเล่าเรื่อง

Achieve.Plus
Achieve Space
Published in
1 min readAug 19, 2020

--

ทำไม Storytelling ถึงกลายเป็นทักษะ (Skill) ที่จำเป็นของนักการตลาด นักธุรกิจต้องมี คนไทยต้องใช้ คุณเมธี จารุมณีโรจน์ Managing Partner จาก BrandAholics นักการตลาดระดับมืออาชีพคนหนึ่งของวงการได้จุดประกายเรื่อง Storytelling ได้อย่างน่าสนใจว่า “ต่อให้ สินค้าและบริการดีมากแค่ไหน ถ้าเล่าเรื่องผิดพลาดทุกอย่างก็จบ”

ในองค์กรที่ผู้บริหารมีสกิล Storytelling ที่ดีมักจะได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุน พันธมิตร และพนักงาน เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จ สำหรับ Storyteller มือใหม่นั้นก็มักจะกังวลใจอย่างมากเมื่อต้องเล่าเรื่องสู่สาธารณะ วันนี้ CHULA MOOC Achieve จะช่วยให้คุณรู้เท่าทันเเละรับมือกับความกังวลทั้ง 8 ที่ทุกคนมักเจอระหว่างการเล่าเรื่องครับ

1. จังหวะเวลา

หากคุณศึกษาผู้ฟังมาบ้าง จะช่วยลดความกังวลของคุณลงไปได้มากเลยครับ เพราะคุณจะรู้ว่าควรเล่าเรื่องราวตอนไหน ไม่ควรเล่าตอนไหน ตัวอย่างเช่น คุณไม่ควรเล่าเรื่องที่มีเนื้อหาสำหรับผู้ใหญ่เมื่อมีเด็กอยู่ เพราะเด็กอาจไม่มีวุฒิภาวะมากพอเเละอาจไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณพูด ถึงเเม้ว่าคุณจะไม่ชอบคิดเยอะเเละไม่อยากกังวลใจในเรื่องความเหมาะสม เเต่คุณก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาสิ่งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมาทีหลังครับ

2. Hook

หากเรื่องราวของคุณนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมากคงไม่เเปลกที่ผู้ฟังจะเบื่อเเละเมินหน้าหนีอย่างไว ใจของคุณคงล่วงไปอยู่ตาตุ่มเเน่นอน ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการดึง (Hook) ผู้ฟังให้อยู่กับเราจนจบการบรรยายนั้นก็คือ การใช้ประโยคที่ทำให้ผู้ฟังอยากรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปนะ อย่างเช่น “คุณต้องไม่เชื่อเเน่ๆ ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นกับฉัน” หรือ “ฉันมีเรื่องบ้าสุดๆจะมาเล่าให้ฟัง” เเละในฐานะนักเล่าเรื่องเราไม่ได้มีหน้าที่เพียงบรรยายเหตุการณ์ต่างๆเท่านั้น แต่เพื่อทำให้ผู้ฟังน่าสนใจมากพอที่จะมีค่ากับเรื่องราวที่คุณต้องการบอกคนอื่น

3. ความกระชับ

คงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการที่ผู้ฟังไม่สามารถจับใจความ หรือ จำประเด็นสำคัญของเรื่องราวได้เลย ยิ่งเป็นฝันร้ายของผู้ฟังเข้าไปอีกถ้าเรื่องราวนั้นยืดเยื้อไม่จบซักทีจนเผลอหลับ วิธีเเก้ก็คือคุณควรเล่าเรื่องราวให้กระชับที่สุด ใช้คำที่มีสีสันเพื่อสื่อสารข้อความสำคัญของคุณเเทนรายละเอียดที่น่าเบื่อ

4. องค์ประกอบทางอารมณ์

เรื่องราวของคุณจะมีชีวิตชีวาขึ้นมาถ้าคุณใส่องค์ประกอบทางอารมณ์เหล่านี้ลงไปไม่ว่าจะเป็น ความสุข ความเศร้า ความประหลาดใจ ความโกรธ หรือ อารมณ์ต่างๆที่จะช่วยให้ผู้ฟังมีอารมณ์ร่วมไปด้วยเเทนการพูดเเต่ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียว อย่าลืมพูดถึงความรู้สึกของคุณเเละผู้อื่นต่อเรื่องราวนี้ด้วย ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้ฟังหันมาสนใจคุณมากขึ้นครับ

5. ความเร็ว

เเน่นอนครับ ใครๆก็มักจะวิตกกังวลเมื่อต้องพูดในที่มีคนหมู่มาก ซึ่งความวิตกนั้นมักทำให้คุณพูดเร็วขึ้นโดยไม่รู้ตัว ลองฝึกเล่าเรื่องราวบ่อยๆเพื่อหาจังหวะที่เหมาะสมพอที่จะทำให้ผู้ฟังมีเวลาคิดตามคุณทัน หากคุณไม่แน่ใจว่าพูดเร็วเกินไปหรือเปล่า ลองบันทึกเสียง ถ่ายวิดีโอ ถามสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนเกี่ยวกับความเร็วในการพูดของคุณก็ได้ครับ

6. เรื่องตลก

เล่นตัวเองเจ็บน้อยสุด ใช่ครับ สิ่งนี้เป็นการเล่นตลกที่ปลอดภัยที่สุด การพูดเรื่องตลกบ้าง เล่นมุขบ้างเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยให้ผู้ฟังเเละตัวคุณเองรู้สึกสบายๆไม่เครียดจนเกินไป เเต่ก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกันอย่างไม่ควรเล่นตลกไปทั่ว หรือพาดพิงคนอื่น ไม่ควรเล่าเรื่องราวที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ดีกับตัวเอง หรือเรื่องราวที่ตลกคุณเเต่ไม่ตลกเขา ซึ่งนั่นเป็นการเล่าเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ไม่เเนะนำครับผม

7. เสียง

นอกจากการพูดเร็วเกินไปนั้น ยังมีอีกส่วนหนึ่งก็คือ การเร่งความเร็วเพื่อเพิ่มความน่าสนใจเเละลดความเร็วลงเพื่อเพิ่มความดราม่า รวมไปถึงการใช้เสียงต่ำสูง เสียงดัง เสียงเบา ในส่วนต่างๆของเรื่องเพื่อเพิ่มลดความสำคัญกับสิ่งที่คุณจะพูด อย่าลืมตรวจสอบให้เเน่ใจด้วยว่า ขณะที่คุณเบาเสียงในส่วนนั้นๆ ทุกคนยังคงได้ยินเสียงคุณอยู่หรือเปล่า

8. จินตนาการ

ในฐานะนักเล่าเรื่อง สิ่งที่ต้องทำก็คือสร้างภาพในหัวให้กับผู้ฟังได้ โดยให้พวกเขาลองจินตนาการถึงบางสิ่งในเรื่องราวของคุณ ยกตัวอย่างเช่น “คุณลองนึกภาพฉัน … “ เป็นวลีที่ดีที่คนดังส่วนใหญ่มักใช้เวลาเริ่ม จำไว้ว่าแม้แต่นักเล่าเรื่องที่ยิ่งใหญ่ที่สุดก็ต้องฝึกฝนล่วงหน้า จงอย่ากลัวที่จะฝึกฝนหลาย ๆ ครั้งก่อนที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ ซึ่งการฝึกแบบนี้คุณจะมีความมั่นใจมากขึ้นและมีโอกาสที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดต่างๆได้ทันเวลาอีกด้วยครับ

อ้างอิงจาก :
https://www.verywellmind.com/
https://www.marketingoops.com/

--

--

Achieve.Plus
Achieve Space

Achieve Plus มุ่งที่จะสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลเพื่อคนไทย และ เพื่อการพัฒนา Thailand 4.0