อยากมี AWS Certifications

เตรียมตัวยังไงดีหนอ?

Mr.Sem
ACloudNomad
2 min readMay 15, 2020

--

สวัสดีครับคุณผู้อ่าน ผมขออนุมานว่า การที่คุณผู้อ่านเลือกเข้ามาดูบทความนี้ ก็เพราะมีความสนใจที่จะทำการสอบ AWS Certifications ด้วยเหตุผลซักอย่าง ไม่ว่าจะเป็น บริษัทบังคับให้สอบ, อยากทดสอบความรู้ของตัวเอง หรือ มีเก็บไว้ประดับบารมีขำ ๆ เผื่อเอาไปสมัครงานใหม่ 😄

ตัวผมเอง พอพี่ ๆ น้อง ๆ ในวงการ IT ทราบว่ามีความคุ้นเคยกับการสอบ AWS Certifications (จะเรียกว่าสอบเป็นอาชีพก็ได้) และงานประจำที่ทำอยู่ก็วนเวียนอยู่กับ AWS Services (Design + Implement + Troubleshoot) ก็มีการโทรเข้ามาขอคำแนะนำอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า ควรจะเตรียมตัวอย่างไรดี ในบทความนี้ ผมก็เลยขอเขียนสรุปวิธีที่ผมใช้สำหรับเตรียมตัวสอบอย่างคร่าว ๆ ครับ เผื่อจะมีประโยชน์กับคุณผู้อ่านไม่มากก็น้อย

Available AWS Certifications
รายชื่อของ AWS Certifications (อัพเดท: 12 พฤษภาคม 2020)

ตอนนี้ตัวผมเองถือ AWS Certifications อยู่ 5 ใบครับ ได้แก่

  • Solution Architect-Associate
  • SysOps Administrator-Associate
  • Developer-Associate
  • DevOps Engineer-Professional
  • Solution Architect-Professional

ปีนี้ตั้งใจว่าจะสอบตัว Security กับ Machine Learning Specialty เพิ่ม แต่พอดีวุ่น ๆ กับสารพัดเรื่อง เลยยังไม่ได้เตรียมตัวซักที

AWS Certification ตัวแรกที่ผมสอบ คือ Solution Architect-Associate ครับ ได้มาตอนต้นปี 2018 เพราะตอนนั้นจะต้องทำการสอบเป็น Amazon Authorized Instructor (AAI) แล้วก็สอบเก็บไล่มาตามลำดับดังรายการด้านบน ส่วนความรู้ที่ผมเอาไปใช้ตอนสอบ ก็ได้มาจากหลายทางครับ

Photo by Nick Morrison on Unsplash
  1. E-Learning: ในตลาดมีอยู่หลายค่ายครับ ไม่ว่าจะเป็น Linux Academy, A Cloud Guru หรือ Udemy ค่ายที่ผมยอมควักตังจ่ายค่า Subscription จะเป็น LinuxAcademy ครับ เพราะนอกจาก AWS แล้ว ก็มี Courses อื่น ๆ ให้เลือกเรียนด้วย เช่น GCP, Azure หรือแม้กระทั่ง Linux OS ส่วนสื่อการสอนของเขาก็มี Video ที่สามารถดูแบบ Online หรือโหลดมาลงมือถือแบบ Offline (อันนี้ผมชอบมาก เพราะเอาไปดูตอนวิ่งในฟิตเนสได้) แล้วก็มี Lab ของสารพัด AWS Services ให้เอามาลองคอนฟิกเล่นได้ด้วย ซึ่ง อย่างหลังนี้ ผมบอกเลยว่า สำคัญมาก ๆ เพราะ ข้อสอบของ AWS จะทดสอบทั้งความรู้ทางทฤษฎีและปฏิบัติครับ
    หมายเหตุ การที่เราเรียนจบ Courses ใน E-Learning พวกนี้ ไม่ได้หมายความว่า เรามีความรู้พอที่จะสอบนะครับ มันเป็นแค่การปูพื้นฐานเท่านั้น
  2. AWS Documents: ถ้าเราจะพูดถึงแหล่งความรู้ที่ครบถ้วนที่สุดของ AWS Services ไม่มีที่ใดจะดีไปกว่า คลังเอกสารของ AWS ครับ คือ เราไม่ต้องถึงกับอ่านทุกหน้าของ Manual หรอกนะครับ แต่อย่างน้อยก็ต้องอ่านส่วนที่เป็น Introduction กับ Getting Starts เพราะมันจะทำให้เราได้ไอเดียคร่าว ๆ ว่า AWS Service ที่เรากำลังสนใจอยู่นั้น Concept มันคืออะไร มันทำงานยังไง และถ้าเราได้ลองคอนฟิกตามขั้นตอนที่เขียนใน Getting Starts แล้ว มันจะทำให้เราได้ Look and Feel ของ Service นั้นไปด้วย ซึ่งจะทำให้เรามีความเข้าใจมากขึ้นครับ
  3. AWS Service FAQs: ถ้าคุณผู้อ่านลองเข้าเวบ AWS แล้วเปิด Service ที่สนใจ มันจะมี FAQs อยู่ ยกตัวอย่างเช่น EC2 FAQs ถ้าจะสอบ ผมแนะนำให้อ่าน FAQs ของทุก AWS Services หลัก ๆ ครับ (EC2, S3, VPC และอื่น ๆ) เพราะผมค้นพบว่าตอนที่ผมสอบบรรดา Certificate ระดับ Associate ทั้งหลาย คำตอบของข้อสอบหลายข้อ ผมได้มาจากที่อ่านเจอใน FAQs ครับ
  4. ทำ Labs: อันนี้ผมขอ Highlight ไว้เลยว่า “ถ้าอยากสอบ AWS ผ่าน จะต้องลงมือทำเยอะ ๆ” ซึ่งมีหลายวิธีครับ ถ้าคุณผู้อ่านใช้บริการ Linux Academy หรือ A Cloud Guru เขาก็จะมี Labs ให้ลองทำซึ่งบวกไปแล้วกับค่า Subscription อีกเจ้าที่น่าสนใจ ก็จะเป็น Quiklabs ครับ แต่เจ้านี้จะไม่มี Video ให้ดูนะครับ ให้บริการเรื่อง Labs (AWS กับ GCP) เท่านั้น ก็มีให้ Subscription แบบรายเดือนเหมือนกัน ส่วนอีกวิธีนึงที่พอใช้ได้ แต่ผมไม่แนะนำให้กับผู้เริ่มต้น ก็คือ ให้ทดลองคอนฟิก AWS Services บน AWS Account ของตัวเองครับ ที่ไม่แนะนำกับมือใหม่ ก็เพราะ ถ้าสร้างอะไรขึ้นมาแล้ว ดันลืมลบทิ้ง ปลายเดือนอาจจะเจอหนี้บัตรเครดิตหลายพันครับ (ผมกระเป๋าฉีกมาแล้ว)
  5. ทำงานประจำวัน: ถ้าคุณผู้อ่าน อยากจะแค่สอบให้ผ่านระดับ Associate เท่านั้นแหล่งความรู้สี่ข้อข้างต้นอาจจะเพียงพอ แต่ถ้าอยากจะให้ถึงระดับ Professional แล้ว ยังไงก็ต้องผ่านการ Implement กับ Troubleshoot งานจริงมาเยอะ ๆ ครับ ยิ่งเจอโจทย์ยิ่งหลากหลายยิ่งดี แล้วถ้าต้องมา Troubleshoot ระบบที่ล่มเยอะ ๆ นี่ก็ยิ่งแจ่มครับ ความรู้พัฒนาไวมาก ๆ (แลกมาด้วยน้ำตา) เพราะโจทย์หลายข้อ ถ้าไม่เคยทำเรื่องนั้นมาก่อน ก็ไม่รู้จะตอบยังไงเหมือนกัน
  6. Exam Dumps: อันนี้ผมไม่แนะนำนะครับ และถ้าคุณผู้อ่านจะเสียเงินซื้อ เพื่อมาท่องจำเอาไปสอบ ผมบอกเลยว่า “ไม่ตรงแน่นอน” ผมเสียตังฟรีมาแล้ว

นี่ก็คือแหล่งความรู้ที่ผมเอาไปใช้สอบ AWS Certifications ครับ

Photo by Tim Gouw on Unsplash

ส่วนเรื่องความยากของข้อสอบ AWS ส่วนตัวผมเอง ผมคิดว่าเป็นชุดของข้อสอบที่ยากเอาเรื่องเลยครับ แม้จะเตรียมตัวมาเยอะขนาดไหน ไม่มีครั้งใดเลยที่ผมนั่งทำข้อสอบแล้วรู้สึกชิว ยิ่งตอนที่สอบระดับ Professional นี่ ผมรู้สึกปลงตกตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงแรก ความคิดแวบแรกคือ “ตกแหงเลยหวะ” ต่อมาด้วย “ช่างมัน สอบ ๆ ให้มันจบ ๆ ไป ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว” ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า ด้วยความที่ปลงตกไปแล้ว เลยทำให้ไม่เครียด จนทำให้สอบผ่านแบบแคล้วคลาดมาตลอดหรือเปล่า ^^

สุดท้ายนี่ก็ ขอให้คุณผู้อ่านโชคดีนะครับ แล้วก็ขอปิดท้ายด้วยความคิดส่วนตัวของผมว่า

การมี Certifications เยอะ ๆ ไม่ได้หมายความว่าคน ๆ นั้นจะเก่งในเรื่องงาน แต่การที่สามารถ Implement ระบบที่หลากหลายและ สามารถ Troubleshoot ปัญหายาก ๆ ได้จนจบต่างหาก ที่จะแสดงถึงความเก่งและความเป็นมืออาชีพของคน ๆ นั้น

--

--