ปากกา — โพสต์อิท — จับกลุ่ม — ความเงียบ

เพื่อการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Piyorot
Agile Development in Thai
2 min readMar 26, 2015

--

ทอม วูเชค (Tom Wujec) พูดในงานของ TED เรื่องที่น่าสนใจอีกแล้วครับ … จริงๆเก่าแล้วแต่ผมเพิ่งได้ดู ฮ่าๆ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับโมเดลที่ใช้ในการแก้ปัญหายากๆของบุคคล ทีม และองค์กร

คลิ๊กที่นี่เพื่อดูวิดีโอ

Tom Wujec: TED TALKS

เค้าทำการทดลองและวิจัยกับบุคคลทั่วไปด้วยโจทย์ง่ายๆว่า “จงอธิบายวิธีการขนมปังปิ้ง” ขั้นแรกเค้าเริ่มต้นด้วยการให้กระดาษหนึ่งแผ่นและปากกาหนึ่งด้าม สิ่งที่เห็นคือทุกคนเริ่มวาดรูปขั้นตอนการทำขนมปังปิ้งตามจินตนาการของแต่ละคนครับ บางคนวาดสวย บางคนวาดห่วย … จะสวยจะห่วยก็มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือโหนด (Node) ที่แสดงให้เห็นถึงวัตถุและขั้นตอนและลิ้งค์ (Link) ที่เป็นตัวเชื่อมลำดับของขั้นตอนนั้นๆ

Nodes & Links — Tom Wujec

สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือด้วยกระดาษหนึ่งแผ่น ปากกาหนึ่งด้าม จำนวนโหนดโดยเฉลี่ยจากผู้ทดลองทั้งหมดคือ 4–8 โหนด

จากนั้นเค้าก็ให้ผู้ร่วมทำการทดลองอธิบายวิธีการทำขนมปังปิ้งใหม่ แต่คราวนี้เค้าแจกโพสต์อิทให้คนละปึก ผลลัพธ์ที่ได้คือพวกเค้าอธิบายขั้นตอนได้ละเอียดและชัดเจนขึ้นกว่าเดิมมาก จำนวนโหนดโดยเฉลี่ยเพิ่มเป็น 9–13 โหนด

How to Make Toast — Tom Wujec

ขั้นตอนสุดท้ายของการทดลองคือให้พวกเค้าอธิบายขั้นตอนการทำขนมปังปิ้งใส่โพสต์อิทแบบเป็นกลุ่ม สิ่งที่เห็นได้คือพวกเค้าแต่ละคนเริ่มต้นจากการตะบันเขียนขั้นตอนที่จินตนาการไว้ใส่โพสต์อิทแล้ว เสร็จแล้วพวกเค้าจะเริ่มหันไปดูผลงานของเพื่อนข้างๆแล้วเริ่มสลับที่โหนดของกันและกันเพื่อสร้างผลงานกลุ่ม นี่คือขั้นตอนการปรับปรุงผลงานร่วมกันซ้ำๆ (ขอเรียกว่า Refine and Iterate) เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันแบบนี้ทำให้จำนวนโหนด (ไอเดีย) โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าเดิมอีกเป็น 14–20 โหนด

Average Number of Nodes — Tom Wujec

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ ทอมบอกว่า “ถ้าพวกเค้าทำแบบทดสอบนี้ด้วยความเงียบ พวกเค้าจะทำได้ดีกว่าและเร็วกว่ามาก” ทอมสรุปบทเรียนที่ได้จากการทดลองนี้ว่า

  1. การวาดรูปในกระดาษทำให้เราอธิบายขั้นตอน (Node) และความสัมพันธ์ของพวกมัน (Link) ได้ง่ายและชัดเจน
  2. การอธิบายขั้นตอนในโพสต์อิทเป็นโมเดลที่ดีกว่าเพราะเราสามารถปรับปรุงผลงานของเราได้ดีขึ้นด้วยการย้ายโพสต์อิทไปมาหลายๆครั้ง (Iteration)
  3. การอธิบายขั้นตอนในโพสต์อิทแบบเป็นกลุ่มเป็นโมเดลที่ดีที่สุดเพราะเรายังสามารถรวมไอเดียของคนอื่นๆในกลุ่มเข้าด้วยกันเพื่อหาผลลัพธ์ที่ดีที่สุด (Synergy)

เล่ามาทั้งหมดนี้ไม่ได้อะไรมากครับ แค่จะชี้ให้เห็นว่าเวลาเราต้องการแก้ปัญหาอะไรยากๆซักอย่างหนึ่ง โมเดลแบบนี้เจ๋งมาก อีกประเด็นคืออยากให้ลองมองดู Retrospective Meeting ของพวกเราครับว่า เราทำแบบนี้มั้ย ตามตำราที่ผมอ่านมา (จำไม่ได้แล้วเล่มไหน) เค้าแนะนำวิธีการแบบนี้เป๊ะเลย

  • รู้แล้วใช่มั้ยทำไมผมถึงขอความร่วมมือให้คิดเองคนเดียว
  • รู้แล้วใช่มั้ยทำไมต้องเขียนสิ่งที่ตัวเองคิดลงโพสต์อิท
  • รู้แล้วใช่มั้ยทำไมผมถึงขอความร่วมมือให้แปะโพสต์อิทบนกระดาน
  • และที่สำคัญ รู้แล้วใช่มั้ยทำไมผมถึงขอร้องว่าอย่าคุยกันซึ่งไม่เคยสำเร็จเลย ฮ่าๆๆ

โมเดลนี้ผมไม่ได้คิดเองนะ … ทุกอย่างที่เค้าทำมันมีที่มาที่ไปและเหตุผล รอบหน้าถ้าจะทำ Retrospective Meeting อีก … เลียนแบบโมเดลของทอม วูเชคซะหน่อย ผมว่าผลลัพธ์น่าจะออกมาดีกว่าเก่าครับ

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
Agile Development in Thai

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com