Technology Selection

Piyorot
Agile Development in Thai
1 min readJan 10, 2016

เมื่อต้องการการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องทำอะไรที่ต่างออกไปจากเดิมและเราต้องการความสดใหม่ … เทคโนโลยี เทคนิค หรือแม้แต่กระบวนการทำงาน

Standalone

รีแอ็ค (React) หรือ อังกูล่า ทู (Angular 2)? ยังพิจารณาอยู่ ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน ผมในฐานะคนที่ไม่ได้เขียนโค๊ด ผมชอบในคอนเซ็ปพื้นฐานของรีแอ็คมากกว่าหลังจากอ่านบทความนี้

  • โค๊ดที่สะอาดกว่า — ดูดี
  • การแบ่งคอมโพเน้นท์ยูไอย่อยๆได้ตามใจ — รียูสได้เต็มที่
  • มีตัวช่วย (Helping Tools) เยอะแยะ — คล่องตัว ลดเวลา หลากหลาย

เพื่อนผมในฐานะคนเขียนโค๊ดเริ่มต้นด้วยการลองศึกษารีแอ็คก่อน สามวันผ่านไปติดปัญหามากมายหลายเรื่อง

  • โค๊ดที่สะอาดกว่า — กลายเป็นเขียนยากกว่าเดิมมาก … ยากกว่าเพราะความไม่คุ้นเคย ต้องศึกษาใหม่หลายเรื่อง
  • การแบ่งคอมโพเน้นท์ยูไอย่อยๆได้ตามใจ — มีอิสระมากไปก็หาขอบเขตได้ยาก กลายเป็นต้องคิดมากว่าจะเลือกทางไหนดี
  • มีตัวช่วย (Helping Tools) เยอะแยะ — ยิ่งเยอะยิ่งงง ตัวไหนดีกว่าตัวไหน กลายเป็นเสียเวลาและเพิ่มความกดดัน … กลัวจะเลือกผิด

เพื่อนผมยังไม่ยอมแพ้ ผมเองก็ยังไม่เปลี่ยนใจ รีแอ็คยังดูน่าสนใจกว่าอยู่ดี ปัญหาที่เจอทั้งหมดมันน่าจะเป็นแค่ปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อเราเรียนรู้จนเข้าใจมันแล้วก็น่าจะโอเค

Integration

จะรีแอ็คหรืออังกูล่า ทู มันไม่ได้อยู่ตัวเดียวโดดๆ มันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ ภาพใหญ่ที่มีจุดเชื่อมต่อมากมาย … ออฟชั่นที่เรากำลังจะเลือกมันเชื่อมต่อกับส่วนอื่นได้ดีแค่ไหน?

รีแอ็คในฝั่งยูไอเชื่อมต่อกับโอเอสจีไอ เอ็นรูท (OSGi enRoute) ในฝั่งเซิร์ฟเวอร์ได้มั้ยแล้วทำยังไง?

มันทำได้แน่นอนอยู่แล้วในทางทฤษฎีแต่ทางปฏิบัตินี่น่ากลัว … น่ากลัวเพราะค้นดูในกูเกิ้ลแล้วยังไม่เห็นใครเค้าทำกัน ถ้าเชื่อมต่อไม่ได้หรือยากมากหรือทำแล้วพิกลพิการ ถึงแม้ด้วยตัวมันเองจะเป็นของใหม่ที่ดูดีมีอนาคตมากๆแต่รีแอ็คอาจจะไม่เหมาะกับเราตอนนี้?

ผมเริ่มลังเล ผมเริ่มกลับไปมองอังกูล่า ทูมากขึ้น … อังกูล่า ทูผิดอะไร? ไม่มีอะไรผิดเลย ของใหม่ของดี มีกูเกิ้ลเป็นคนซัพพอร์ต คนใช้เยอะ ตัวอย่างในอินเตอร์เน็ทให้ศึกษามากมาย แถมมาเจอทีหลังว่าโอเอสจีไอ เอ็นรูทรองรับอังกูล่าโดยมาตรฐาน การเชื่อมต่อทำได้แน่นอนอย่างสมบูรณ์

“สงสัยว่าผมต้องเปลี่ยนใจแล้วหวะ” — ผมบอกเพื่อนไป … ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง เพื่อนผมเข้าใจอังกูล่า ทูมากกว่าสามวันที่เรียนรู้รีแอ็คมา อาจจะด้วยความคุ้นเคยของภาษา เทคนิคการเขียน และโครงสร้างของไฟล์ต่างๆ คือมันเก็ตทันทีเลยอะนะ

“ผมว่าผมมาลองดูอังกูล่า ทูจริงๆจังๆหน่อยดีกว่าหวะ ขอเวลาสักวันสองวัน” — เพื่อนผมดวงตาเป็นประกายเริ่มมีความหวังในชีวิต

“ผมจะลองดูว่ามันอินทิเกรทกับส่วนอื่นๆได้ทั้งหมดมั้ยแล้วยากง่ายแค่ไหน ถ้าไม่ติดปัญหาอะไร ผมขอเลือกตัวนี้นะ ไม่เอารีแอ็คแล้ว” — เพื่อนผมปิดท้ายไว้แบบนี้เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา

ยังครับ ยังไม่ได้ตัดสินใจ ผมเล่าให้เห็นกระบวนการแบบง่ายๆในการพิจารณาเลือกหรือไม่เลือกเทคโนโลยีซักตัวมาใช้ของทีมผม

1. เราไม่ได้เลือกตัวเทคโนโลยี เราเลือกเพื่อเชื่อมต่อ เราเลือกเพื่อการใช้งานในภาพใหญ่ เราเลือกเพื่อเติมเต็มเป้าหมายปลายทาง

2. เราเลือกเพื่ออนาคตอันใกล้ ดังนั้นเราจะไม่ใช้อะไรที่เก่าและตกยุค ดังนั้นเราจะไม่คิดไกลเกินไป ดังนั้นเราจะไม่คิดมากและกลัวมากเกินไปในการเลือก และดังนั้นเราจะไม่ยึดติดกับสิ่งที่เราเลือก เพราะมันค่อนข้างแน่นอนว่ามันจะมีอะไรใหม่ๆออกมาให้เราเล่นอีก อาจจะปีนี้ ปีหน้า ไม่เกินสามปี

3. คนใช้ต้องเป็นคนเลือก คนอื่นที่รู้น้อยกว่าไม่เข้าใจในตัวงานอย่างลึกซึ้งเป็นแค่คนให้ความคิดเห็นไม่ใช่คนตัดสินใจ และผมไม่มีสิทธิเลือกแทนใคร

ขอให้สนุกกับการเลือกอนาคตของตัวเองครับ :)

คิดและเขียนคือสิ่งที่ผมชอบ แบ่งปันคือสิ่งที่ผมรัก เพราะแบบนี้ทุกวันผมเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง จากประสบการณ์ จากแนวคิด จากอนาคตที่ดีผมมองเห็น และทุกอย่างที่ผมประยุกต์ใช้เพื่อสร้างให้อินเท็นติกเป็นบ้านที่น่าอยู่ บ้านที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเล็กๆที่สร้างความแตกต่างในสังคมได้ — มันน่าภูมิใจที่ผมรู้ว่า … ไม่ใช่มีแค่ผมคนเดียวที่อยากเห็นการพัฒนา :)

Inthentic On Facebook | Inthentic On Twitter | Inthentic On Instagram

--

--

Piyorot
Agile Development in Thai

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com