ติดตั้งสถานีตรวจอากาศ-เพชรบุรี: งานที่เริ่มก่อร่างสร้างรูป

R.Phot
AgriThaiIoT
Published in
2 min readJun 7, 2022

สวัสดีครับ ห่างหายไปนานกับการเขียนบทความ ตอนนี้ขอเล่าถึงการเดินทางล่าสุด ที่ทีมงานและตัวผมเองอยากเล่าเก็บเอาไว้ ว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่เราพูดถึงมานาน (ติดตามเรื่องราวอื่นๆได้ที่ AgriThaiIoT )

งานวิจัย-เกินคาดคิด

ทีมงาน เกษตรไทยIoT ของพวกเราได้พัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดความชื้นในดินชื่อ Soil stick วางจำหน่ายมาตั้งแต่ปี 2020 แล้ว(เริ่มขายตอนโควิดระบาดในไทยรอบแรก) โดยก่อนหน้านี้พวกเราศึกษาวิจัย และพัฒนาอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ก็ยังถือได้ว่าขาดส่วนสำคัญของงานไปนั่นคือ งานวิจัยรองรับตัวอุปกรณ์

ต้องขอยอมรับว่าพวกเราเป็นทีมงานในบริษัทเล็กๆที่มีกันไม่กี่คน การจะส่งอุปกรณ์ไปทดสอบ หรือสร้างการทดลองที่น่าเชื่อถือขึ้นมาเองนั้นเป็นไปได้ยาก ที่ผ่านมาพวกเราจึงเน้นการใช้งานเชิงบริบท กล่าวคือข้อมูลจากการตรวจวัดสามารถใช้ประเมินแนวโน้มของความชื้นในดินได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อต้องนำไปเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานแล้วนั้น เราไม่อาจทราบได้ว่าเราอยู่ตรงไหนของตลาด

Soil Stick เซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดิน

ไม่ใช่ว่าอุปกรณ์ของเราทำงานได้ไม่ดี หรือไม่มีคุณภาพ แต่เราเพียงต้องการหาว่าอุปกรณ์ของเราอยู่ในคุณภาพระดับใด เมื่อเทียบกับสินค้าประเภทหรือกลุ่มเดียวกัน เปรียบได้กับรถยนต์ที่ทุกรุ่นมีตำแหน่งของตัวเองในตลาด ต่างคนต่างความคิด ต่างการใช้งานก็เลือกใช้ให้เหมาะกับตนเอง ทีมงานของเราต้องการหาตำแหน่งเช่นเดียวกัน

จนเราได้รับการติดต่อจาก อาจารย์ ชูพันธุ์ ชมภูจันทร คณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน เพื่อสั่งซื้อ Soil stick ไปทดลองใช้ ระหว่างนั้นได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อจำกัดและการใช้งานอย่างละเอียดกับอาจารย์ จนในที่สุดอาจารย์บอกว่า จะขอนำอุปกรณ์ของเราไปใช้ในงานวิจัย!!!

ดีที่สุดที่เราหวังเอาไว้คือ งานวิจัยที่อาจารย์ชูพันธุ์ กล่าวถึงนี้ คือการทดลองด้านอื่นๆ เช่นการเกษตร หรือการจัดการน้ำ และอ้างอิงถึงการใช้ Soil stick เป็นหนึ่งในอุปกรณ์การทดลองเท่านั้น นั่นคือสิ่งดีสุดที่เราหวัง เพราะเพียงเท่านี้ก็หมายถึงอุปกรณ์ของเราสามารถทำงานและมีคุณภาพดีเพียงพอจะใช้เป็นอุปกรณ์เพื่อการวิจัยเชิงวิชาการ แต่เหมือนเราจะหวังน้อยเกินไป

เพราะงานวิจัยจริงๆ คือการนำเอา Soil stick ของเราไปทดสอบเปรียบเทียบกับอุปกรณ์ของต่างประเทศ!!! นั่นหมายความว่าเรารู้แล้วว่าอุปกรณ์ของเรามีค่าความถูกต้อง แม่นยำในระดับใดเมื่อเทียบกับอุปกรณ์ชนิดเดียวกันของสหรัฐฯ ที่ต้นทุนอยู่ที่ราคาตัวละ 3,000 บาท ส่วนของเราอยู่ที่ประมาณ 400 บาทเท่านั้น!!!

งานประเมินความแห้งแล้ง

ความดีใจยังจบเพียงเท่านั้น เมื่อเราได้รับการติดต่อเพิ่มเติมว่าสามารถทำสถานีตรวจวัดสภาพอากาศได้ด้วยหรือเปล่า ซึ่งนั่นเข้ากับแนวทางของบริษัท จึงตอบรับงานของคณะชลทานต่อไป

เมื่อได้พบปะพูดคุยกับ อาจารย์ชูพันธุ์ ชมภูจันทร และน้องนภัสกร ชุลี ซึ่งเป็นผู้ทำวิจัยทดสอบอุปกรณ์ในครั้งก่อน ทำให้เราทราบว่าการทดสอบอุปกรณ์ Soil stick นั้นเป็นเพียงหนึ่งในแผนการทำงานอื่นๆ ของทางคณะฯ ต่อไป กล่าวคือ เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถสร้างระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จำต้องหาและทดสอบอุปกรณ์ที่แม่นยำ(ในราคา+คุณภาพที่ยอมรับได้) มาใช้งาน จึงเกิดเป็นงานวิจัยครั้งนั้นขึ้น

โครงการต่อมาที่เราได้รับคือการ ประเมินความแห้งแล้งของจังหวัดเพชรบุรี โดยการติดตั้งสถานีตรวจวัดความชื้นในดิน(ที่ผ่านการทดสอบแล้ว ย้ำบ่อยเพราะภูมิใจ:D) และอุปกรณ์ตรวจวัดปัจจัยสภาพอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ และความกดาอากาศ โดยเป็นสถานี IoT ทำงานอัตโนมัติ 24/7 ส่งข้อมูลทุก 15 นาที มีแหล่งพลังงานของตัวเอง และใช้สัญญาญ 4G ในการสื่อสาร ติดตั้งจำนวนทั้งหมด 10 สถานีกระจายทั่วจังหวัดเพชรบุรี ส่วนมากอยู่ในพื้นที่ราบ และที่ราบเชิงเขา

โครงการนี้เป็นความร่วมมือของเครือข่ายฝนหลวงกับคณะวิศวกรรมชลประทาน มหาวิทยาลัยเกษตร กำแพงแสน โดยข้อมูลจากเครือข่ายสถานีตรวจวัด จะถูกนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลหลากมิติอื่นๆ เช่น ข้อมูลความชื้นในดินจากการตรวจวัดของดาวเทียม ข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมรายพื้นที่ฯ เพื่อนำไปบริหารจัดการน้ำและการทำฝนหลวงต่อไป

ตอนที่พูดคุยกัน พวกเราได้ฟังแล้วรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และดีใจที่แนวทางการทำงานของพวกเราตลอดหลายปี ไม่สูญเปล่า

ลงพื้นที่ติดตั้งสถานี

การติดตั้งสถานีตรวจอากาศนี้แบ่งออกเป็นสองรอบ รอบละ 5 สถานี รอบแรกเราลงพื้นที่วันที่ 1–2 มิถุนายน 2565 ทั่วจังหวัดเพชรบุรี เป็นทริปที่สนุก และเหนื่อยกำลังดี เพราะก่อนหน้านี้เราได้แต่ภาวนาว่าขออย่าได้เจอดินแข็งมาก เพราะนั่นหมายถึงความเหนื่อยและเวลาที่ใช้ไปในการติดตั้ง ผลปรากฎว่าเราไม่เจอดินแข็ง แต่เราเจอหินกรวดไปเลย!!!

พื้นที่ที่ไปติดตั้งมีตั้งแต่สวนผลไม้ ไปจนถึงสวนหลังบ้านเพราะผู้ที่อนุเคราะห์เป็นหนึ่งในเครือข่ายของทั้งมหา’ลัย และเครือข่ายฝนหลวง วันติดตั้งมีน้องนักศึกษาปริญญาโทเป็นผู้ประสานงานเดินทางไปกับเราด้วย

การติดตั้งสถานีของเราไม่ยาก(ขึ้นกับดิน-ฟ้า) หากกำหนดจุดติดตั้งที่ทางงานวิจัยได้เลือกไว้แล้วก็ไม่มีปัญหา ส่วนประเด็นจากทางฝั่งของเราได้แก่

  • ไม่รบกวนการใช้พื้นที่ เช่น ทำสวน
  • หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีเครื่องจักรการเกษตรหรือรถเข้าออก
  • เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพียงพอจะเป็นตัวแทนของ Micro-climate
  • เป็นพื้นที่เปิดโล่งเพียงพอให้แผงโซลาร์เซลล์ เติมพลังงานให้ระบบ

เราใช้เวลา 1 วันในการติดตั้งสถานีทั้ง 5 จนเสร็จสิ้น นับว่าการออกแบบและวางแผนของเราเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ แต่นั่นขึ้นกับระยะห่างของแต่ละจุด ความแข็งของดิน สภาพอากาศ การหลงทางของพวกเราและที่สุดคือแรงใจว่าไหวหรือเปล่า

โครงการติดตั้งสถานีตรวจวัดปัจจัยสภาพแวดล้อมของเรายังไม่หมดเพียงเท่านี้ สำหรับโครงการนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และถือเป็นหมุดหมายสำคัญให้ทีมงานของเรากล้าที่จะลุกขึ้นป่าวประกาศว่าเราสามารถสร้างคุณค่าได้มากกว่าแค่ส่งมอบระบบIoT

ความร่วมมือประสานพลังของพวกเรากับทางมหาวิทยาลัยยังไม่จบ ติดตามกันต่อไปนะครับ

ติดตามเรื่องราวอื่นๆได้ที่ AgriThaiIoT และ FB:เกษตรไทยIoT

--

--

R.Phot
AgriThaiIoT

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way