วิเคราะห์ แนวโน้มสภาพอากาศระยะสั้น: กุญแจสำคัญเกษตรไทยรุ่งหรือร่วง

R.Phot
AgriThaiIoT
Published in
2 min readApr 24, 2023
Photo by Steven Weeks on Unsplash

เมื่ออุปกรณ์ตรวจวัดเริ่มแพร่หลาย และสามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวนจนไม่มีใครปฎิเสธแล้วว่าภาวะโลกรวน จากโลกร้อนไม่มีจริง การเก็บบันทึกข้อมูลปัจจัยสภาพแวดล้อมทางการเกษตรกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น

แต่การมีอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพแวดล้อมก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้กระบวนการผลิตหรือผลผลิตดีขึ้น (หลายคนมีมายาคติเดียวกับการใส่ปุ๋ย เมื่อติดอุปกรณ์=ผลผลิตดี) หรือแม้จะจะติดตั้งอุปกร์ณแล้ว มีข้อมูลและสามารถอ่านข้อมูลทั้งแบบตัวเลข แบบเปอร์เซ็นต์ และแบบกราฟได้แล้ว ก็ยังคงมีคำถามว่า “รู้ข้อมูลแล้ว ต้องทำยังไงต่อ?”

วันนี้จะขอเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดสภาพแวดล้อมทางการเกษตรนั่นคือ Micro climate-Trend หรือแนวโน้มขนาดเล็กที่สุด ที่ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต

เมื่อแนวโน้มขนาดใหญ่เปลี่ยนไป

ก่อนจะเข้าเรื่อง อยากให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าทุกวันนี้สภาวะโลกรวนเกิดขึ้นกับเราจริงๆ เราสามารถพบเห็นสัมผัสได้กับตัวเองทุกวันคือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป หากเทียบจากพื้นที่ขนาดใหญ่ลงมาหาเล็ก คงต้องไล่เรียงจาก

  • กระแสน้ำในมหาสมุทรโลกเริ่มเปลี่ยนแปลง
  • สภาพอากาศบนแผ่นทวีปทุกทวีปเปลี่ยนไป
  • ฤดูกาลในภาคพื้นทวีปหนึ่งๆ เริ่มไม่คงที่
  • ฤดูกาลในประเทศไทยเลื่อน และแปรปรวน
  • สภาพอากาศในพื้นที่ระดับภูมิภาคไม่สม่ำเสมอ
  • สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดแกว่งรายวัน
  • สภาพอากาศในพื้นที่เพาะปลูกแกว่งรายชั่วโมง
  • แถมด้วย สภาพอากาศรุนรแงสุดขั้วพบบ่อยมากขึ้น ร้อนแรง/หนาวแรง/ฝนแรง/ลมแรง
Photo by NOAA on Unsplash

สำหรับภาคเกษตรกรรมแล้ว สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพและปริมาณของผลผลิต กระทบถึงต้นทุน-กำไรของรอบการปลูกนั้นๆโดยตรง ตั้งแต่ต้นทุนการให้ปุ๋ยที่ถูกชะล้างไปกับน้ำฝนในฤดูที่ไม่ควรมีฝน หรือผลผลิตไม่ออกดอก ไม่ติดดอก หรือดอกร่วงกราวจากลมในฤดูที่ไม่ควรมีลม

แนวโน้มรายวันและปัจจัยที่ควรรู้

ขอยกตัวอย่างเป็นข้อมูลอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ท่านคิดว่าแนวโน้มจะเป็นอย่างไรบ้างในหนึ่งวัน? คิดตามสามัญสำนึกพื้นฐานได้ดังนี้

  • เที่ยงคืน-เช้า: อุณหภูมิต่ำลงเรื่อยๆ จนถึงช่วงก่อนเช้ามืด ความชื้นในอากาศสูงขึ้นเรื่อยๆจนถึงก่อนเช้ามืด
  • เช้า-เที่ยง: อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นจนถึงเที่ยง ความชื้นในอากาศลดลงจนถึงเที่ยง
  • เที่ยง-เย็น: อุณหภูมิยังสูงต่อเนื่องจนถึงเย็น ความชื้นลดลงต่อเนื่องจนถึงเย็น
  • เย็น-เที่ยงคืน: อุณหภูมิค่อนลดลงจากหัวค่ำจนถึงดึก ความชื้นค่อนๆสูงขึ้นจากหัวค่ำจนถึงดึก
Photo by GraphiDA on Unsplash

เหล่านี้เป็นแนวโน้มทั่วไปที่ใครๆก็เดาได้ แต่!!! สภาพอากาศจริงๆมีปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดเวลาตัวอย่างเช่น

  1. เมฆบดบังแสงแดด: ตอนเราตากแดดแล้วมีเงาของเมฆเคลื่อนตัวเข้ามาบัง เราจะรู้สึกเย็นทันที พืชพรรณที่เราปลูกก็รู้สึกและสัมผัสกับอากาศที่เปลี่ยนแปลงจากการบดบังแสงของเมฆได้ทันทีเช่นเดียวกัน หากวันนั้นมีเมฆมาก แน่นอนว่าอุณหภูมิและความชื้นบริเวณแปลงเพาะปลูกจะไม่เป็นตามแนวโน้มที่เราเข้าใจ และแน่นนอนว่าส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชโดยเฉพาะพืชที่ไวต่อแสง หรืออุณหภูมิ หรือเป็นช่วงที่พืชอยู่ในช่วงวิกฤติที่กำลังถูกเร่งให้ออกดอก ติดยอด
  2. ฝนตก: เรื่องนี้ไม่ต้องอธิบายให้มากความเพราะไม่เพียงเปลี่ยนแปลงอากาศอย่างฉับพลันเท่านั้น ยังหมายถึงน้ำที่ลงสู่ดินเข้าสู่ระบบรากของพืชอีกด้วย ฤดูที่ควรจะมีฝนน้อยพืชที่ปรับตัวมาได้ จะให้ผลผลิตตามที่ผู้ปลูกต้องการ แต่ฝนที่ผิดฤดู จะทำให้สมดุลในพืชเปลี่ยนใหม่ทั้งหมด จากแล้งมานานๆแล้วฝนตก หรือกลับกันฝนตกต่อเนื่องกลับหายไปแล้วร้อนจัดทันที ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต
  3. ลม: ลมคือการเคลื่อยย้ายมวลอากาศที่พลังงานต่างกัน ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความชื้นของสถานที่ที่มันจากมาและสถานที่ที่มันพัดพาไป หมายความว่าหากช่วงที่มีลมพัดตลอดอุณหภูมิสะสมในพื้นที่เพาะปลูกตอนกลางวันก็อาจจะไม่สูงมากหรือมีการขึ้นและลงตามช่วงที่ลดพัด (เท่าที่ความถี่ในการเก็บข้อมูลของอุปกรณ์จะตรวจวัดจนสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงได้) และคงไม่ต้องพูดถึงกรณีลมที่แรงมากๆ อันนี้ผลผลิตปลิวต่อหน้าต่อตาแน่นอน
  4. แหล่งน้ำขนาดใหญ่/พื้นที่ป่าใกล้เคียง: ผืนน้ำ และป่ามีศักยภาพในการแบ่งปันความชุ่มชื้น รวมถึงเป็นแนวป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นหากพื้นที่เพาะปลูกอยู่ใกล้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ หรือป่าก็ไม่ต้องกังวลไปหากสภาพอากาศของแปลงนั้นจะชุ่มชื้นสูงและอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าพื้นที่อื่นๆ และอาจหมายถึงมีการแกว่งของอากาศที่น้อยกว่าอีกด้วย
  5. กิจกรรมเพาะปลูกในพื้นที่/พื้นที่ใกล้เคียง: การให้น้ำพืชเป็นกิจกรรมการเพาะปลูกที่ส่งผลต่อสภาพอากาศของแปลงปลูกมากที่สุด หากมีการตรวจวัดสภาพอากาศก็จะพบว่าอุณหภูมิจะลดลง ค่าความชื้นจะพุ่งสูงเมื่อถึงเวลาให้น้ำ แม้จะไม่เทียบเท่ากับฝนตก แต่สภาพอากาศก็เปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน

แนวโน้มขนาดเล็ก Micro-Trend

คำตอบของบทความนี้คือการปรับตัว และปรับตัวด้วยการวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศขนาดเล็กในพื้นที่ของตนเอง ขออนุญาติเรียกว่า micro-trend

การวิเคราะห์ micro-trend ในที่นี้หมายถึงการพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการตรวจวัดในพื้นที่เพาะปลูกเฉพาะช่วงเวลาสั้นๆ แล้วนำมาเปรียบกับคุณภาพ/ปริมาณ/ต้นทุนกระบวนการผลิต

ไม่ว่าข้อมูลจะได้จากการจดบันทึกด้วยตนเอง หรือด้วยเซ็นเซอร์ก็ตาม แล้วนำข้อมูลมาจัดอยู่ในรูปแบบของกราฟเส้น เพื่อความง่ายอยากให้พิจารณารายวันหรือ 24 ชั่วโมง แล้วนำมาเทียบว่าสภาพอากาศที่ผ่านมานั้นส่งผลอะไรต่อผลผลิต รายการต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของแนวทางการพิจารณาข้อมูล

  • แนวโน้มอุณหภูมิสูงสุด 7 วันช่วงออกดอก-ติดดอก ส่งผลต่อจำนวนดอก-คุณภาพการติดดอกหรือไม่ อย่างไร
  • แนวโน้มความชื้นสูงในช่วง 3 วัน ส่งผลต่ออาการของโรค-แมลงหรือไม่ อย่างไร
  • ชั่วโมงแสงแดดในช่วงเร่งผลผลิต มีผลต่อคุณภาพหรือจำนวนของผลผลิตหรือไม่ อย่างไร

หรือมองในมุมย้อนกลับ

  • ผลผลิตรอบนี้ได้คุณภาพหรือปริมาณมากที่สุด ผ่านสภาพอากาศอะไรมาบ้างตั้งแต่เมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยว หรือตั้งแต่เริ่มบำรุงดิน จนเก็บเกี่ยวผล
  • ต้น A ให้ผลผลิตรสหวานที่สุด,ลูกใหญ่ที่สุด,ผลดกที่สุด เมื่อเทียบกับต้นอื่นในแปลง ต้น A ผ่านสภาพอากาศอะไรมาบ้าง สัมพันธ์กับสภาพอากาศหรือไม่ อย่างไร
  • รอบนี้แมลงลงสวนมากที่สุด ช่วงนั้นสภาพอากาศย้อนหลังเป้นอย่างไร สัมพันธ์กับสภาพอากาศหรือไม่ อย่างไร

ถอดบทเรียนอดีต-ไขอนาคต

กระบวนการข้างต้นเป็นการ “ถอดบทเรียน” “สร้างองค์ความรู้ใหม่” ในวงการเกษตร จริงอยู่ที่มีตำราวิชาการวิจัยทดสอบจนพบแล้วว่าพืชชนิดไหนต้องการสภาวะแวดล้อมอย่างไร แต่เมื่อโลกรวนจนสภาพอากาศแตกต่างออกไปจากบริบทการทดลองในตำรา บทเรียนใหม่ที่เราสร้างขึ้นนี้เองที่จะเป็นตัวช่วยให้เราออกแบบการจัดการต่อไปได้

Photo by Eugene Triguba on Unsplash

ข้อสำคัญของกระบวนลักษณะนี้คือ “ห้ามรีบ” และใจร้อนไม่ได้เด็ดขาด หากต้องการถอดบทเรียนในเชิงลึกแล้วองค์ประกอบเพียงเล็กน้อยที่เรามองข้ามก็อาจเป็นองค์ประกอบสำคัญก็เป็นได้ ยิ่งเราเปรียบเทียบข้อมูลกับผลผลิตมากเท่าไหร่ เรายิ่งได้องค์ความรู้ที่จะเสริมกระบวนการผลิตมากเท่านั้น

บทเรียนจากการเชื่อมโยง micro-trend กับกระบวนการเพาะปลูกที่ถอดได้อย่างเช่น

  • ถ้าอากาศชื้นมากกว่า…% เกิน 5 วัน อาจเกิดโรคที่มากับความชื้นได้
  • ถ้าอุณหภูมิสูง…C ติดต่อกัน 3 วัน อาจมีแมลงจะมามาก
  • ฯลฯ

กุญแจสำคัญของ micro-trend คือ บทเรียนที่ถอดได้จากข้อมูลเหล่านี้สามารถแปลความเป็น มาตรการป้องกัน/แก้ไขได้ โดยอาจไม่ต้องพิจารณาฤดูกาล เพราะการเทียบฤดูกาล อาจเป็นช่วงเวลากว้างเกินไปแล้วในยุคโลกรวน

ข้อแนะนำในการถอดบทเรียน

  • ออกแบบการทดลองตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ มีตัวแปรต้น ตัวแปรตาม ตัวแปรควบคุม กระบวนการตรวจวัดที่เชื่อถือได้ ไม่มีอคติ
  • สืบค้นและอ้างอิงองค์ความรู้เดิมเป็นพื้นฐาน เช่น กำลังศึกษาเรื่องอุณหภูมิที่มีผลต่อการติดดอก ให้หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องในเรื่องนั้นๆ
  • เข้าใจพืชที่ตนเพาะปลูกอย่างแท้จริง กล่าวคือ ศึกษากรณีศึกษาหรืองานวิจัยที่มีอยู่ว่าพืชที่ตนปลูกนั้นมีพัฒนาการการปลูก เทคโนโลยี หรือมีข้อมูลใหม่ๆ ไปถึงไหนแล้ว

--

--

R.Phot
AgriThaiIoT

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way