สภาพอากาศกับเกษตรกรรม ความสัมพันธ์แบบค่อยเป็นค่อยไป

R.Phot
AgriThaiIoT
Published in
2 min readSep 8, 2020

สภาพอากาศในรอบสองร้อยปีที่ผ่านมาถือได้ว่า “นิ่ง” พอสมควร หรือกล่าวได้ว่ามีรอบฤดูกาลที่ชัดเจน คาดการณ์ได้ ถึงจะมีความแปรปรวนก็ไม่มากหรือรุนแรงถึงขั้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต จึงเป็นเวลานานมาแล้วที่การเพาะปลูกในแถบเอเชียอุษาคเนย์มีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป กระทั่งถูกเร่งให้เป็น “อุตสาหกรรม” ตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม การค้าทาส และการปฏิวัติอุตสาหกรรมเครื่องจักรหนัก

แต่นับจากนี้ต่อไปสิ่งที่จะเข้ามาเป็นตัวแปรนการปรับเปลี่ยยนรูปแบบการเพาะปลูกคือสภาพอากาศ มีการเปิดเผยหลักฐานเชื่อมโยงผลกระทบมากขึ้นเรื่อยๆถึงสถานการณ์ที่เรียกว่า “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง”

หนึ่งในความชะล่าใจของไทยเราอาจเป็นเพราะภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศและภูมินิเวศน์ของเราที่เสมือนปราการป้องกันความเปลี่ยนแปลงฉับพลัน การมีมหาสมุทรสองด้าน มีหมู่เกาะล้อมรอบ ภูมิอากาศและกระแสน้ำที่พัดพาเอาสารอาหาร ความชื้นเข้าหล่อเลี้ยงพืชพันธุ์และสรรพสัตว์ให้อุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านั้นไม่ได้จีรังอีกต่อไปแล้ว

เราพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกพืชแทบทุกด้านตามเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด วิจัยทดลองถึงขั้นปรับปรุงสายพันธุ์ของพืชเพื่อให้ผลผลิตจำนวนมาก มีคุณภาพตามที่ต้องการตอบสนองตลาดได้อย่างเพียงพอ แต่อายุบนชั้นวางที่เพิ่มขึ้น 1 วัน อาจหมายถึงผลกระทบเสียหายแบบเท่าทวีคุณกับกระบวนการผลิตเมื่อสืบย้อนกลับไป

http://www.pkpark.org/?p=278

ทว่าพรมแดนสุดท้ายของเกษตรกรรมคือการควบคุมสภาพแวดล้อม ด้วยเป็นสิ่งที่เปิดกว้างและมีระบบความสัมพันธ์สลับซับซ้อน การสร้างสภาพแวดล้อมจำลองจึงต้องอาศัยเงินทุนมหาศาล กับผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเพื่อสร้างมันขึ้นมา หลายประเทศที่มีข้อจำกัดด้านพื้นที่เพาะปลูก ขาดแคลนทรัพยากรดินและน้ำต่างก็ดิ้นรนจนเอาชนะได้ในที่สุด

การปรับตัวตามสภาพอากาศนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น มนุษย์ในฐานะนักปรับตัวตามธรรมชาติได้ลงทุนลงแรงปรับปรุงการเพาะปลูกมานานตั้งแต่อารยธรรมแรกของมนุษย์เกิดขึ้น และเช่นกันหลายอารยธรรมที่ล่มสลายไปมีการค้นพบหลักฐานชี้ชัดมากขึ้นเรื่อยๆว่าปัจจัยหนึ่งเกิดจาก “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” สถาการณ์ปัจจุบันนี้อาจเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

เรารับมือได้ทัน?

เพราะเบาบางจึงมองข้ามไป

อากาศก็คืออากาศ สัมพันธ์กับเราผ่านการสัมผัสรอบๆตัวเรา บ้างแผ่วเบา บ้างรุนแรง ส่งเสริมสุขภาวะเราให้สุขสบาย ขับเหงื่อเราให้เนื้อตัวเหนอะหนะ ดึงความชื้นจากเราให้ผิวแตก หรือพรำเราให้เปียกปอน หากไม่นับปรากฏการณ์ที่ชัดเจนอย่างฝนตกแล้ว ที่เหลือเราก็แทบไม่ใส่ใจมัน

สำหรับเกษตรกรอาจต่างออกไปในช่วงวิกฤติของพืช เพราะแดดแรงต่อเนื่องหลายวัน ความชื้นสะสมเกินไป หรือที่ควรจะเย็นกลับร้อน อาจหมายถึงเงินมูลค่าหลักล้านในปีนั้นสลายไปต่อหน้าต่อตา ด้วยภาพบรรยากาศที่แสนสวยงามสำหรับนักท่องเที่ยว แต่แฝงด้วยน้ำตาซึ่งสู้อุตส่าเฝ้าดูแลมาขวบปีของเกษตรกร

สภาพอากาศเปลี่ยนไปแล้ว

อาจไม่มี “ภูมิอากาศ” อีกต่อไป

ภูมิอากาศ(Climate) หมายถึง รูปแบบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นซ้ำๆเป็นรอบฤดูกาล ณ พื้นที่หนึ่งๆเสมอ เป็นอากาศที่เราพอจะคาดเดาได้ว่าเดือนไหนจะมีอากาศลักษณะใด ส่วนคำว่าสภาพอากาศ(Weather) หมายถึงรูปแบบอากาศ ณ เวลานั้นๆ เช่นตอนนี้ ฝนตก แต่ไม่ได้หมายความว่าพื้นที่นั้นฝนตกบ่อยจนเป็น ภูมิอากาศประจำบริเวณนั้น เป็นต้น

5 ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศ “แกว่ง” อย่างเห็นได้ชัด เหตุที่ใช้คำนี้เพราะสภาพอากาศหนึ่งๆ จะเกิดขึ้นจากการเคลื่อนตัวของมวลอากาศขนาดใหญ่ไปตามพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเมื่อเคลื่อนผ่านพื้นที่ใดจะเกิดสภาพอากาศลักษณะหนึ่งกินเวลานานหลายหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่มันเปลี่ยนไปแล้ว

อากาศค่อยๆเปลี่ยนไปในรูปแบบที่ “แกว่งไป-มา” ช่วงสัปดาห์ที่อาการเย็นก็ควรจะเย็นต่อเนื่องจาก “ร้อน-อบอุ่น-สบาย-เย็น-สบาย-อบอุ่น-ร้อน” กลายเป็น “ร้อน-เย็น-อบอุ่น-ร้อน-เย็น” เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์ การแกว่งขึ้นลงของอุณหภูมินี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการให้ผลผลิตของพืช เพราะขนาดคนยังรู้สึกแปลกแต่เราหลบเข้าอาคารบ้านเรือนได้ แต่ต้นไม้หลบไม่ได้อากาศอย่างไรก็ต้องปรับตัวรับอย่างนั้น

ลักษณะการแกว่งที่รุนแรง(ความต่างของอุณหภูมิมากขึ้น) และบ่อยครั้งมากขึ้น ทำให้ไม่อาจกล่าวได้ว่าบริเวณหนึ่งๆ มีภูมิอากาศแบบใดได้ชัดเจนอีกต่อไป จากที่เคยเป็นฤดูหนาวอาจไม่ร้อนและฝนสลับไปมาตลอด ในขณะที่ฤดูฝนอาจกลายสภาพเป็นฤดูร้อนทั้งหมด และอาจได้ชื่อไม่เป้นฤดูพายุเพราะความร้อนในบรรยากาศที่มากขึ้นเหมือนเร่งเครื่องให้พายุฝนแต่ละลูกรุนแรงมากขึ้น

ทางออก/ทางรอด?

เราพัฒนาเทคโนโลยีและปรับตัวมาเป็นเวลานานแล้วเพื่อผลิตอาหารให้ดีขึ้นและมากขึ้น แต่ทว่าคราวนี้ต่างออกไป สภาพอากาศครอบคลุมทุกสิ่ง และขับเคลื่อนทุกสิ่งได้ ความเปลี่ยนแปลงทีละน้อยที่เกิดขึ้นกว่าจะรู้ตัวพวกเราลืมตัวว่าได้เข้ามาอยู่ในปัญหาเสียแล้ว จะโวยวายหาทางออกกันทางหนึ่งก็ดูจะสายเกินไป อีกทางหนึ่งความหวังยังมีเสมอ

เพราะด้วยเราเริ่มรู้สึกตัวแล้วในตอนนี้ รู้ว่าอากาศเปลี่ยนไปแล้ว และมันค่อยๆเปลี่ยน อาศัยช่วงที่การเปลี่ยนแปลงยังไม่มากเกินความความรู้ความเข้าใจที่จะเสาะหาได้ในปัจจุบัน ทางเลือกเดียวของเราคือการ “เริ่มเรียนรู้ความเปลี่ยนแปลง” นั้น เราจะเฝ้ารอ “เทวดา” โปร่ยลงมาให้เหมือนที่เคยเป็นมา? หากเทวดาองค์เดิมลาออกไปแล้วเปลี่ยนองค์ใหม่เข้ามาทำงานแทน เราจะไม่เรียนรู้รูปแบบกลไกสภาพอากาศใหม่?

โครงการสร้างเครือข่ายข้อมูลสภาพอากาศเกิดขึ้นมากมายในช่วง 10 ปีหลังมานี้ แต่ทว่าวัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูลยังดำเนินไปไม่ถึงครึ่งของการประมวลผลที่ควรจะเป็น ยังไม่รวมความท้าทายแทบทุกด้านของเครือข่ายข้อมูลสภาพอากาศในไทย ตั้งแต่ระดับพื้นฐานที่สุดอย่างความรู้ความเข้าใจเรื่องสภาพอากาศ ไปจนถึงความเชี่ยวชาญของนักวิเคราะห์ข้อมูล และเครื่องมือประสิทธิภาพสูงที่ราคาสูงไม่แพ้กัน

ทางออกอยู่ตรงหน้า เพียงแต่บริบทของสังคมไทยซึ่งทุกวันนี้มุ่งเข้าหา “ความเร็ว/ความสะดวก” และหนึ่งในหลักเกณฑ์ที่เก่าไปหน่อยสำหรับการพัฒนาคือ “การประเมินผลงานที่ผิดพลาดไม่ได้” ของภาครัฐ เป็นฟันเฟืองที่ขบไม่ลงกับฟันเฟืองอื่นๆ ฉุดรั้งการสร้างเครือข่ายที่แท้จริง

ด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นไปอย่างช้าๆแบบที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว การจะเสนอโครงการ 10 ปี โดยที่ยังรับประกันผลไม่ได้หรือ โครงการ 5 ปี ที่ทำเพียงแค่เก็บข้อมูลอย่างเดียว ไม่ว่าองค์กรไหนๆก็ไม่อยากได้เพราะไม่มี “ผลงาน” ออกมา เพียงบริบทนี้ก็สวนทางกับบริบท “สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง” ตั้งแต่ต้นแล้ว

ความหวังยังมีเสมอ…

--

--

R.Phot
AgriThaiIoT

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way