3 สิ่งสำคัญในการตัดสินใจเริ่มโครงการ AI

Chanwit Boonchuay
AIEAT
Published in
May 21, 2021

เมื่อเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) เป็นที่ยอมรับจากภาคธุรกิจ และหลายๆ องค์กรต้องการนำเทคโนโลยี AI มาแก้ปัญหา แต่อาจเกิดข้อสงสัยว่า จะพิจารณาคัดเลือกโครงการที่ประยุกต์ใช้งาน AI อย่างไร เพื่อให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด

การเริ่มโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ในการแก้ปัญหามีอย่างน้อย 3 ปัจจัยที่ควรพิจารณา ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และจำเป็นต้องใช้ AI หรือไม่?

2. ความเป็นไปได้และต้นทุนของเทคโนโลยี AI

3. ขนาดของปัญหาและประเมินความคุ้มค่า

ปัญหาที่แท้จริงคืออะไร และจำเป็นต้องใช้ AI หรือไม่? ทุกองค์กรที่ต้องการใช้งานเทคโนโลยี AI ควรเริ่มพิจารณาก่อนว่า ปัญหาที่องค์กรต้องการแก้ไขมีอะไรบ้าง อาจลิสออกมาเป็นข้อๆ ก่อน และจากนั้นสามารถเลือกปัญหาที่องค์กรให้ความสำคัญอันดับต้นๆ และวิเคราะห์ดูอย่างละเอียดว่าปัญหานั้นที่แท้จริงคืออะไร มีสาเหตุจากอะไรบ้าง จากนั้นจึงหาแนวทางแก้ปัญหาแบบต่างๆ โดยอาจหาทางใช้วิธีการที่สามารถแก้ปัญหาได้สะดวกที่สุดก่อน แต่กรณีที่วิธีการทั่วไปไม่สามารถแก้ปัญหานั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากความซับซ้อนของปัญหาและข้อจำกัดของเทคโนโลยีเดิม ก็อาจพิจารณาความสามารถของเทคโนโลยี AI ในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ได้

ความเป็นไปได้และต้นทุนของเทคโนโลยี AI เป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพิจารณา เนื่องจากในปัจจุบันเทคโนโลยี AI ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานจริงอยู่พอสมควร และมีต้นทุนค่อนข้างสูง เช่น ค่าออกแบบ การพัฒนาโมเดล การติดตั้ง รวมถึงการประมวลผล ทั้งนี้ การวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีอาจต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรืออาจศึกษาจากเคสตัวอย่างในบริษัทอื่นๆ หรือต่างประเทศเป็นข้อมูลประกอบในการตัดสินใจ ในส่วนของต้นทุนก็เช่นกัน จำเป็นต้องมีศึกษาและสำรวจราคาในตลาดเพื่อประมาณค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นด้วย*

ประการสุดท้าย ขนาดของปัญหาและประเมินความคุ้มค่า โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการออกแบบ พัฒนาและติดตั้ง AI จะค่อนข้างสูง หลักหลายแสนบาท หรือบางครั้งเป็นบาทล้านบาท รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อเนื่องเช่นค่าคลาวด์เซิร์ฟเวอร์หรือค่าบริการรายเดือน เพราะฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มคือ ขนาดหรือจำนวนการใช้งานเทคโนโลยี ยกตัวอย่างเช่น การนำเทคโนโลยี AI ด้านการวิเคราะห์ภาพมาใช้ตรวจจับสินค้าที่ไม่ผ่านคุณภาพ รวมถึงป้องกันความผิดพลาดในการจัดเรียงสินค้า เป็นต้น ถ้าโรงงานดังกล่าวมีจำนวนจุดที่ต้องตรวจเช็คหลายๆ จุด การที่จะนำ AI มาใช้ในการแก้ปัญหานี้จะมีโอกาสเกิดความคุ้มค่าสูงขึ้น เนื่องจากสามารถนำโมเดลที่พัฒนาขึ้นกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่งผลให้ต้นทุนต่อจุดลดลง เป็นต้น

โดยสรุปทั้ง 3 ปัจจัย ได้แก่ การวิเคราะห์ปัญหาที่จะนำ AI ไปใช้งานอย่างละเอียดก่อน การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือหาตัวอย่างเคสที่มีการเผยแพร่ตามแหล่งต่างๆ เพื่อประเมินความเป็นไปได้และต้นทุนเบื้องต้น และสุดท้ายเป็นการพิจารณาขนาดของปัญหาและความคุ้มค่าในการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยี จะช่วยให้องค์กรตัดสินใจเลือกทำโครงการด้าน AI ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

หมายเหตุ: *สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย อาจให้ข้อมูลความเป็นไปได้ของเทคโนโลยี AI และประเมินกรอบงบประมาณให้ได้

--

--