ทำไมต้อง #เด็กไทยสู่AIโลก

Korakot Chaovavanich
AIResearch.in.th
Published in
2 min readMar 12, 2020

โลกปัจจุบัน เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาเร็วขึ้นทุกวันโดยเฉพาะในสาขา AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ยากที่ผู้สูงวัยทั้งหลายจะเรียนตามได้ทัน

ส่วนเด็กๆ ที่เป็นอนาคตของชาติ อยู่ในวัยที่สามารถเรียนรู้อะไรได้อย่างรวดเร็ว ถ้าหากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำความเข้าใจเทคโนโลยีเหล่านั้น รู้จักนำมาใช้ประโยชน์เพื่อประเทศ และร่วมมีบทบาทสร้างสรรค์เทคโนโลยีในเวทีโลกได้ ไม่แพ้ชาติอื่นๆ เห็นได้จากผลงานการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ที่เด็กไทยสามารถชนะได้เหรียญทองเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIResearch)โดย VISTEC-depa ได้เห็นตัวอย่างการสนับสนุนการศึกษา AI ให้แก่เด็กมัธยมของประเทศจีนและสิงคโปร์ ซึ่งประเทศจีนได้ทำหลักสูตรและตำราเรียน AI โดยเฉพาะให้เด็กมัธยม และประเทศสิงคโปร์ได้จัดโครงการ AI for Students ให้เด็กสามารถเรียนเนื้อหาบนเว็บไซต์ DataCamp กว่า 1,000 ชั่วโมงได้ฟรีทั้งหมด

ประเทศไทยก็ควรจะมีการสนับสนุนการศึกษา AI ของเด็กไทยในลักษณะเดียวกัน ไม่ให้ด้อยกว่าประเทศที่ก้าวหน้าทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยพัฒนาตัวเองจนเป็นผู้สร้างเทคโนโลยี AI ให้กับโลกยุคดิจิทัลนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการ Junior Digital Ambassadors (JDA — ยุวทูตดิจิทัล)

โครงการ JDA จะสนับสนุนเด็กนักเรียน ในทั้ง 2 เส้นทางหลัก คือ

  1. เรียนรู้เพื่อสร้าง AI product ได้จริง ตามแนวทางของ fast.ai

โครงการ fast.ai เป็นการจัดการเรียนการสอน AI แบบทางลัดที่สั้นที่สุด มุ่งนำ Deep Learning มาใช้งานได้จริงก่อน​ แล้วค่อยสอนให้ผู้เรียนทำความเข้าใจทฤษฎีในภายหลัง โดยมีเงื่อนไขเพียงว่า ผู้เรียนควรมีประสบการณ์เขียน Python มาไม่น้อยกว่า 1 ปี ซึ่งโครงการ JDA จะนำเนื้อหาบทต้นๆ มาแนะนำ เพื่อช่วยให้เด็กสามารถเริ่มเรียนรู้ตาม fast.ai ได้โดยไม่ยากนัก

2. เรียนรู้เพื่อเป็นนักวิจัย AI สามารถติดตาม paper ชั้นนำได้ ผ่าน Papers with Code

โครงการ Papers with Code เป็นการรวบรวมงานวิจัย AI ที่ล้ำหน้าที่สุด มาจัดอันดับ พร้อมทั้งแจก code ของ papers เหล่านั้นไปพร้อมกัน โดยนักวิจัยสามารถเลือกสาขาที่สนใจ และค้นดู paper ในสาขานั้น หรือ source code บน Github ของ paper นั้นๆ ได้ โครงการ JDA จะนำตัวอย่างงานวิจัย AI จากบางสาขา บาง Paper บาง Github Project มาแนะนำ เพื่อให้เด็กเรียนรู้วิธีดึงผลงานวิจัย มาเป็นสร้าง prototype เองได้

เนื้อหาที่จะมีให้

โครงการ JDA จะรวบรวมเนื้อหาฟรีในภาษาไทย มาจัดหมวดหมู่เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้โดยสะดวก เช่น Python Programming, Python for Data Science เป็นต้น และจะมีการเพิ่มเติมเนื้อหาที่จำเป็นในภาษาไทย เช่น การใช้ Google Colaboratory, Github, PyThaiNLP หรือ เนื้อหาอื่นที่เด็กนักเรียนสามารถขอเพิ่มเติมได้.

เด็กที่เรียนจบ Python และ Data Science เบื้องต้นในภาษาไทยแล้ว สามารถเลือกเรียนเนื้อหา Data Science ตามความสนใจ โดยเนื้อหาจะเป็นภาษาอังกฤษ จาก DataCamp ได้ฟรีทั้ง 327 คอร์ส รวมกว่า 1 พันชั่วโมง ซึ่งมีตัวอย่างโครงการให้ทดลองกว่า 80 projects หรือจะเรียนเนื้อหา fast.ai ก็ได้เช่นกัน

หากเด็กมีปัญหาติดขัด ในคอร์สใดคอร์สหนึ่ง สามารถถามคำถามเป็นภาษาไทยได้ ในหน้า community ของ JDA.

สิ่งที่คาดหวังจากนักเรียน

ความรับผิดชอบของนักเรียน คือ การเรียนความรู้ และการคิดสร้างโครงการ

นักเรียนมีหน้าที่ในการศึกษา ความรู้ Data Science เบื้องต้นที่จัดให้ ด้วยตนเอง เพื่อพัฒนาตนให้มีความสามารถ ในการเรียนรู้เนื้อหา AI ที่ยากขึ้นได้ในอนาคต

ผู้เชี่ยวชาญ AI ทั้งหลาย ล้วนเป็นผู้ที่รักในการเรียนรู้ค้นคว้าด้วยตนเองทั้งสิ้น ไม่ได้รอเรียนจากครูป้อนให้

นักเรียนที่เก่งในบางหัวข้อ สามารถช่วยเหลือตอบคำถามหรือถ่ายทอดให้ผู้อื่น ในโรงเรียนเดียวกัน หรือต่างโรงเรียนได้ เมื่อต้องค้นหาคำตอบเพื่อช่วยผู้อื่น จะทำให้ความรู้ที่มีแม่นยำชัดเจนขึ้น และหน้าที่สำคัญของ ยุวทูตดิจิทัล(JDA) ก็คือการเผยแพร่ความรู้ด้วย

สุดท้าย คือเรื่องการสร้าง Project โครงการที่อยากทำ จะเป็นตัวกำหนดความรู้ ที่นักเรียนจะไปศึกษาค้นคว้า เพื่อนำมาแก้ปัญหา หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้​ นักเรียนสามารถเลือกจากตัวอย่าง project ที่มีให้ หรือนำแนวคิดที่มี มาพัฒนาต่อเป็นธุรกิจ startup ก็ได้ โดยอาจจะเริ่มจากโครงการที่ง่ายๆ เช่น การสร้าง open dataset, การนำเสนอความรู้ด้วย data visualization, การสร้างต้นแบบการทำนายด้วย AI, ไปจนถึงที่ยาก เช่น การพัฒนาแผนธุรกิจ startup เป็นต้น ขึ้นกับความสนใจของนักเรียน

การประเมินผล

ประเมินจาก 2 ด้านคือ คุณภาพของโครงการ ที่พัฒนาขึ้น และการเผยแพร่ความรู้ในฐานะยุวทูตดิจิทัล

  • โครงการแสดงถึงความรู้ความเข้าใจทาง Data Science และ AI
  • โครงการมีประโยชน์ นำไปสู่การแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง เช่น AI model, chatbot
  • โครงการมีความน่าสนใจ ดึงดูดให้คนมาสนใจได้ เช่น Visualization
  • โครงการเป็นแหล่งทรัพยากร ให้คนอื่นนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น Open Dataset
  • โครงการมีโอกาสนำไปสู่งานวิจัย AI เพื่อตีพิมพ์ได้
  • เขียนบทความ,​ เว็บไซต์, YouTube ให้ความรู้ เป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนรุ่นต่อๆ ไป

หลังจากจบค่าย JDA

เส้นทางสู่การเป็น AI Expert จำเป็นต้องใช้เวลาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง หลายวัน หลายเดือน หรือหลายปี

สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ฯ มีแผนจะสร้างชุมชนของเด็กที่สนใจ AI และสนับสนุนให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าเด็กจะประสบความสำเร็จ การจัดค่าย JDA ในเดือนพฤษภาคมนี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เด็กที่ผ่านการอบรมจากค่ายแล้ว ก็ยังคงสามารถเรียนรู้จากเนื้อหาออนไลน์ เช่น DataCamp ต่อได้ฟรี และสถาบันฯ จะจัดกิจกรรมลักษณะเดียวกันนี้ ในปีการศึกษา 2563 อีกเช่นกัน โดยจะแจ้งรายละเอียดกิจกรรมทาง Website และ Facebook ของโครงการต่อไป

เงื่อนไขและวิธีการสมัครโครงการ JDA

Facebook สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ฯ (AIResearch)

Facebook Junior Digital Ambassadors (JDA — ยุวทูตดิจิทัล)

--

--

Korakot Chaovavanich
AIResearch.in.th

To learn, to research, to experiment, and to invent new things.