โครงการยุวฑูตดิจิทัลปีที่ 1 (2563/64)

Yi Nutanong
AIResearch.in.th
Published in
1 min readApr 18, 2020

หลักการเบื้องต้นของโครงการยุวฑูตดิจิทัลคือการฝึกฝนให้เยาวชนในสังคมไทยเริ่มสนใจกับงานวิจัยทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ระดับมัธยม โดยในปีแรกเราจะเน้นไปทางด้านกลุ่มงานวิทยาศาสตร์ข้อมูลและงานปัญญาประดิษฐ์ สาเหตุหลักที่เรามองว่าศักยภาพในการทำวิจัยในสาขานี้เป็นสิ่งจำเป็นก็คือความรวดเร็วในการเปลี่ยนแปลงของความรู้และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆซึ่งคนสามรถนำไปใช้ประโยชน์ และศักยภาพในการทำวิจัยเป็นศักยภาพที่เราใช้ตักตวงโอกาสใหม่นี้ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วก็ก่อให้เกิดให้ความท้าทายในการติดตามความรู้ที่เป็นประโยชน์ และการพัฒนาทักษะที่จำเป็น (ผู้สนับสนุนและพันธมิตรโครงการอยู่ในรูปที่ 1)

จัดเพื่อใคร?: โครงการนี้จัดเพื่อนักเรียนมัธยมปลายที่มีความสนใจทั่วไป อยู่ที่ไหนในประเทศก็ได้ของให้มีครูที่โรงเรียนรับรองก็พอ

รูปที่ 1: โปสเตอร์โครงการ

สถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย หรือ AIResearch (ซึ่งถูกก่อตั้งร่วมโดย VISTEC และ depa) เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนศักยภาพวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นและได้จัดทำโครงการยุวฑูตดิจิทัล เพื่อฝึกฝนนักวิจัยรุ่นเยาว์ทางด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทางคณะทำงานได้จัดประสบการณ์การฝึกฝนเรียนรู้เป็น 4 ระดับด้วยกันโดยเริ่มจากระดับ 0 ในแต่ละระดับมีคำจำกัดความโดยคร่าวๆดังนี้

  • ระดับที่ 0: การสร้างความตระหนักในความสำคัญ
  • ระดับที่ 1: การรับความรู้และทักษะพื้นฐาน และการฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการแก้ปัญหาที่ใช้สิ่งที่เรียนมาประยุกต์ได้โดยตรง
  • ระดับที่ 2: การฝึกฝนการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตัวเอง และการแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยการประยุกต์ความรู้ชั้นแนวหน้า
  • ระดับที่ 3: การทำวิจัยเพื่ออุทิศความรู้ใหม่หรือเทคโนโลยีใหม่ให้กับสังคม

รายละเอียดของแต่ละระดับอยู่ในรูปที่ 2

สำหรับประสบการณ์การเรียนรู้ในระดับที่ 1 ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมโดยผ่านสื่อออนไลน์ที่ทางผู้สอนจัดไว้ให้ ผู้เข้าร่วมสามารถเรียนด้วยตัวเอง และถ้าประสบปัญหาติดขัดทางการเรียนรู้สามารถถามพี่เลี้ยงในโครงการได้ เราใช้ระบบพี่เลี้ยงแทนที่จะเป็นครูผู้สอนเป็นหลักสำหรับโครงการนี้เพราะเราต้องการผลักดันให้ผู้เรียนสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับระดับที่ 2 ที่เรามีความคาดหวังให้ผู้เรียนสามารถที่จะขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง

ในเรื่องของระยะเวลาของขั้นที่ 1 ทางผู้จัดตั้งใจไว้ว่าผู้เรียนจะใช้เวลาระหว่าง 6–18 เดือนในการสำเร็จตามความคาดหวังทางด้านประสบการณ์การเรียนออนไลน์และการทำโครงงาน ทางผู้จัดได้กำหนดระยะเวลานี้ไว้เป็นช่วงกว้างๆเนื่องจากเราทราบดีว่านักเรียนมัธยมที่เข้ามาเรียนอาจจะมีกิจกรรมการเรียนรู้อื่นๆที่ต้องดูแลและเราอยากจะให้โอกาสผู้มีความสนใจที่มีเวลาให้โครงการนี้ไม่มากได้เข้ามาเรียนด้วย อีกนัยหนึ่งคือโครงการเราสนับสนุนให้ผู้เรียนเป็นผู้บริหารจัดการเวลาในการเรียนรู้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามเราได้จัดเป็นเกมแข่งขันเล็กๆเพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณอย่างไม่เป็นทางการสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจอันเป็นเลิศ (บทความถัดไปผมจะกล่าวถึงประสบการณ์การเรียนรู้ของระดับที่ 1 อย่างละเอียด)

ไม่ว่าใช้เวลา 6 เดือนหรือ 18 เดือน ผู้สำเร็จการศึกษาระดับที่ 1 จะมีความรู้และความสามารถดังต่อไปนี้

  1. ความรู้พื้นฐานทางด้านการเขียนโปรแกรม
  2. ความรู้พื้นฐานทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์
  3. ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์เบื้องต้น
  4. ความสามารถแก้ปัญหาโดยนำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้โดยตรง
  5. ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตนเองตามคำแนะนำของพี่เลี้ยง

ระดับที่ 2 อยู่นอกเหนือของขอบเขตงานในช่วงเริ่มต้นของเราเนื่องด้วยว่าเราต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในระดับที่ 1 ก่อน แต่แผนคร่าวๆของเราคือระดับที่ 2 จะเป็นการฝึกการทำวิจัยเบื้องต้นโดยแนะนำให้ผู้เรียนกำหนดปัญหาวิจัยที่ผู้เข้าเรียนเล็งเห็นความสำคัญ และให้พี่เลี้ยงทำการแนะนำให้ผู้เรียนอ่านงานสิ่งตีพิมพ์วิจัยพื้นฐานที่มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาและศึกษาผลงานวิจัยชั้นแนวหน้าในขั้นต่อไป ผู้เรียนต้องแสดงศักยภาพในการขวนขวายหาความรู้ด้วยตนเอง และประยุกต์ใช้ความรู้ชั้นแนวหน้าให้เกิดประโยนชน์ก่อนที่จะสำเร็จการศึกษาระดับที่ 2 ในอีกส่วนหนึ่งผู้สำเร็จการศึกษาระดับที่สองควรแสดงศักยภาพในการถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้เรียนระดับที่ 1 โดยการเป็นผู้ช่วยพี่เลี้ยงหรือพี่เลี้ยงด้วยตัวเองด้วย

สำหรับระดับที่ 3 นั้นจะเป็นการต่อยอดระดับที่ 2 โดนผลักดันให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือเทคนิกใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่ยังไม่เคยถูกแก้มาก่อน และมีโอกาสได้ร่วมพัฒนาผลงานตีพิมพ์กับนักวิจัยของสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์และนิสิตบัณฑิตศึกษาของสถาบันวิทยสิริเมธี

ผู้เข้าเรียนระดับที่ 2 และ 3 จะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรวิจัยของสถาบันปัญญาประดิษฐ์ซึ่งร่วมไปถึงคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ: เรามั่นใจว่าโครงการนี้จะกระตุ้นความสนใจในการทำวิจัยในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนระดับมัธยมปลาย และเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาก็สามารถนำทักษะนี้ไปใช้ในการทำโครงงาน การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากวิชาเรียน และหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วผู้เข้าร่วมโครงการจะมีความพร้อมที่จะเป็นนักวิจัยในงานอุตสาหกรรม หรือในระบบบัณฑิตศึกษาทั้งในและนอกประเทศต่อไป

สรณะ นุชอนงค์

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
สถาบันวิทยสิริเมธี

--

--