การเทรดอย่างเป็นระบบ (Systematic Trading) คืออะไร ? แตกต่างจากการเทรดมือ (Discretionary Trading) อย่างไร ?

Tom Jakkarin
Algo Alchemist
Published in
2 min readNov 19, 2023

เทรดเดอร์หลายๆคน ทั้งมือใหม่ มือเก่า หรือแม้แต่มือเก๋า คงจะเคยได้ยินและคุ้นเคยกับคำว่า การเทรดอย่างเป็นระบบ มาอย่างยาวนาน ซึ่งบางคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า มันคืออะไรกันแน่ ต่างกับการเทรดมืออย่างไรบ้าง หรือในปัจจุบันก็ยังย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เราเทรดแบบไหนอยู่กันแน่นะ ??? วันนี้ผมจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจและเคลียร์ข้อสงสัยต่างๆกันครับ

เริ่มที่ Systematic Trading ก่อนเลย !

Systematic Trading คืออะไร

Systematic Trading ถ้าแปลเป็นไทยง่ายๆ คือ การเทรดอย่างเป็นระบบ โดยจะโฟกัสไปที่การกำหนดกฎเกณฑ์หรือ Algorithmic ไว้ล่วงหน้าในการตัดสินใจเทรดของเรา สามารถเป็นได้ทั้ง Semi-Automated หรือ Fully Automated ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ Skill Sets ของเราด้วย

ซึ่งกฎเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดว่า จะเข้าหรือออกจากการเทรดตอนไหน, Position Sizing ของแต่ละไม้ มีขนาดเท่าไหร่, ในพอร์ตสามารถถือหุ้นได้มากสุดกี่ตัว เป็นต้น โดยทั่วไปจะขึ้นอยู่กับ Technical Indicators, Risk Management และ Quantitative Analysis

วิธีการนี้สามารถช่วยลดผลกระทบของอารมณ์และอคติของมนุษย์ได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้การตัดสินใจมีความสอดคล้องและเป็นกลางมากขึ้น การเทรดที่เป็นระบบครอบคลุมกลยุทธ์ที่หลากหลาย ช่วยให้เทรดเดอร์สามารถกระจายพอร์ตการลงทุนและจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ

Main Features หรือหัวใจสำคัญที่ใช้กำหนดการเทรดอย่างเป็นระบบ มีดังนี้

  1. Rules-Based Approach: เทรดเดอร์ที่เทรดอย่างเป็นระบบจะสร้างชุดกฎและเงื่อนไขที่ใช้กำหนดการตัดสินใจซื้อขายของพวกเขาขึ้นมา กฎเหล่านี้อาจมีพื้นฐานมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น Technical Analysis, Quantitative Data, หรือแม้กระทั่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน (ระดับโหด *.*)
  2. Emotionless Execution: แปลเป็นไทยคือ ความสามารถในการดึงอารมณ์ออกจากสมการ การเทรดทุกไม้จะดำเนินการโดยอัตโนมัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่นหรือการตัดสินใจที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ของเราได้เป็นอย่างดี
  3. Backtesting: เทรดเดอร์ที่เทรดอย่างเป็นระบบจะใช้ข้อมูลในอดีตเพื่อทดสอบและเพิ่มประสิทธิภาพกลยุทธ์การซื้อขายของพวกเขาอย่างรอบคอบ แนวทางปฏิบัตินี้ช่วยให้เราสามารถประเมินประสิทธิภาพที่ผ่านมาของกลยุทธ์ ระบุข้อบกพร่อง และปรับปรุงตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
  4. Risk Management: อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้และจำเป็นอย่างมาก คือ การบริหารความเสี่ยง เช่น การกำหนดคำสั่งหยุดการขาดทุน เพื่อจำกัดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น หรือที่ทุกคนรู้จักกันในศัพท์ที่เรียกว่า การตั้ง Stop Loss นั่นเอง รวมไปถึงการตั้ง Take Profit, Trailing Stop, Position Sizing, Maximum Open Position, etc. (ขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ของแต่ละคน)
  5. Diversification: การกระจายการเทรดหรือการลงทุนไปยังสินทรัพย์และตลาดต่างๆ โดยไม่ได้โฟกัสแค่ตลาดหรือสินทรัพย์เดียว สามารถช่วยให้เราจัดการและควบคุมความเสี่ยงได้ดียิ่งขึ้น รวมไปถึงการเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้อีกด้วยครับ

หัวข้อหลักๆที่กล่าวมานั้น เรียกได้ว่า สำคัญและจำเป็นหมดทุกข้อสำหรับการเทรดอย่างเป็นระบบครับ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ ซึ่งยังมีรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละหัวข้ออีกเยอะพอสมควร ไว้จะมาเล่าให้ฟังภายหลังครับ

มาต่อกันที่ Discretionary Trading (เทรดมือ) กันครับ

ในทางตรงกันข้าม การเทรดแบบ Discretionary Trading จะใช้ดุลยพินิจในการเทรดเป็นหลัก ซึ่งต้องอาศัยสัญชาตญาณ ประสบการณ์ และการตัดสินใจของเทรดเดอร์มากขึ้น

Main Features ของ Discretionary Trading มีดังนี้

  1. Subjective Decision-Making: การเทรดที่ใช้ดุลยพินิจเป็นหลักจะขึ้นอยู่กับการตีความข้อมูลตลาดและการตัดสินใจตามสัญชาตญาณ โดยสิ่งนี้จะแตกต่างกันตามการตีความของแต่ละคน เช่น กราฟแบบเดียวกัน เทรดเดอร์บางคนบอกว่า หุ้นตัวนี้มีโอกาสขึ้น เนื่องจากเจอแพทเทิร์นมังกร (แค่ชื่อก็กินขาดแล้ว) แต่เทรดเดอร์บางคนก็บอกว่า หุ้นตัวนี้มีโอกาสลงเพราะเจอ Head & Shoulders ที่ไม่ใช่ยาสระผม แต่เป็น Reversal Pattern !!!
  2. Flexibility: ความยืดหยุ่นในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป และนำข้อมูลใหม่มาประกอบการตัดสินใจซื้อขายตามที่เห็นสมควร สิ่งนี้ทำให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ในทางกลับกัน ก็มีโอกาสที่จะเจอ noise จากแหล่งต่างๆ ทำให้เกิดความสับสนหรือความลังเลได้เช่นกัน
  3. Intuitive Analysis: การวิเคราะห์โดยสัญชาตญาณ อาจใช้การผสมผสานระหว่างการวิเคราะห์พื้นฐาน การวิเคราะห์ทางเทคนิค และปัจจัยอื่น ๆ โดยนำมารวมเข้าด้วยกันในการตัดสินใจซื้อขาย ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสไตล์และความชอบที่เป็นเอกลักษณ์หรือ Character ของแต่ละคนได้
  4. Emotional Impact: ผลกระทบทางอารมณ์ สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการซื้อขายโดยใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจที่หุนหันพลันแล่น โดยได้รับอิทธิพลมาจากความกลัว ความโลภ ความมั่นใจมากเกินไป หรือปัจจัยทางอารมณ์อื่นๆ ของเทรดเดอร์ ณ เวลานั้นๆ เช่น การทะเลาะกับเมียหรือแฮงค์จากปาร์ตี้ ทำให้เข้าออเดอร์พลาดก็เกิดขึ้นมาแล้ว !!

เนื้อหาข้างต้นได้กล่าวถึงการเทรดแต่ละแบบให้ทุกคนได้เห็นภาพคร่าวๆกันพอสมควรแล้ว ต่อไปจะขอเล่าถึงข้อแตกต่างที่สำคัญของการเทรดทั้ง 2 แบบกันครับ

Key Difference

  1. Emotion: การเทรดอย่างเป็นระบบจะโฟกัสไปที่การลดบทบาทของอารมณ์ในการตัดสินใจให้เหลือน้อยที่สุด โดยเสนอแนวทางที่มีระเบียบวินัยและเป็นกลางมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม การเทรดโดยใช้ดุลยพินิจจะทำให้เกิดพื้นที่สำหรับอิทธิพลทางอารมณ์ได้ง่าย
  2. Consistency: การเทรดอย่างเป็นระบบมีความสม่ำเสมอในระดับสูงในการดำเนินการซื้อขาย โดยการเทรดแต่ละครั้งจะดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ในขณะที่การเทรดตามดุลยพินิจ สามารถทำให้เกิดความแปรปรวนที่สำคัญในการเทรดแต่ละครั้งได้ เช่น ลืมเข้าออเดอร์, ลืมตั้ง SL, TP เป็นต้น
  3. Backtesting: การเทรดอย่างเป็นระบบจะอาศัยข้อมูลในอดีตและการ Backtest อย่างเข้มงวด เพื่อให้แน่ใจว่าประสิทธิภาพของกลยุทธ์นั้น มีพื้นฐานมาจากหลักฐานที่พิสูจน์ได้ ส่วนการเทรดตามดุลยพินิจอาจขาดแนวทางที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลนี้
  4. Flexibility: การเทรดตามดุลยพินิจให้ความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะตลาด ในทางตรงกันข้าม การเทรดอย่างเป็นระบบ แม้จะปรับเปลี่ยนได้ในระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะปฏิบัติตามกฎที่กำหนดไว้ล่วงหน้าเท่านั้น
  5. Time Commitment: การเทรดอย่างเป็นระบบนั้น ต้องใช้เวลาและความพยายามอย่างมากในการพัฒนากลยุทธ์ การทดสอบ และการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ ส่วนการเทรดตามดุลยพินิจจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจแบบ Real-time มากขึ้น ซึ่งอาจต้องมีการตรวจสอบตลาดอย่างต่อเนื่อง

สรุป

ถ้าจะถามว่า ควรเทรดแบบไหนดี ระหว่าง Systematic Trading หรือ Discretionary Trading ผมคิดว่า ไม่มีแนวทางการเทรดแบบใดที่เหมาะกับทุกคน มิเช่นนั้น ถ้าทุกคนเทรดเหมือนกัน ทำแบบเดียวกันหมด ตลาดหุ้นคงกลายเป็น Efficient Market เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเทรดแต่ละแบบก็ขึ้นอยู่กับความชอบส่วนบุคคล ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และความรู้ที่คุณมี

ไม่ว่าคุณจะเทรดแบบไหนก็ตาม ถ้าการเทรดนั้น สามารถทำให้คุณได้กำไรที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความเสี่ยง (Outstanding R-Multiple & Dominant Expectancy) และเป็นการเทรดที่คุณสามารถทำซ้ำได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง ก็เทรดไปเถอะครับ ไม่มีผิดถูกหรอก

โปรดจำไว้ว่า การเรียนรู้และการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกความสำเร็จในโลกแห่งการเทรดที่ไม่เคยหยุดนิ่งครับ

“Never stop learning”

Algo Alchemist

Algo Alchemist

--

--