Film Photography

Back to Basic

m a c s f
3 min readMar 7, 2014

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คุณคนเขียนมีโอกาสถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มแบบเก่า แบบที่ไม่มีระบบช่วยเหลือใด ๆ (full manual) กว่าจะได้ภาพแต่ละภาพ ต้องใช้ทั้งสายตา ความคิด และความรู้สึก ในการบันทึกภาพแต่ละภาพออกมา มันทำให้คุณคนเขียนย้อนระลึกไปถึงความสนุกของการถ่ายภาพที่ลืมนึกถึงไปนานมากแล้ว

อุปกรณ์

คุณคนเขียนใช้กล้องมาหลายรุ่น หลายยี่ห้อ แต่มีความประทับใจกับกล้องรุ่นหนึ่งเป็นพิเศษ คือ Nikon FM2 ซึ่งเคยใช้ครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว (ม.ต้น มั้ง) นานจนไม่ได้นึกถึงอีกเลย เพราะคิดว่าเป็นกล้องเก่ามาก ไม่คิดว่าจะมีหลงเหลือ

ปรากฎว่าเข้าใจผิดครับ กล้องรุ่นนี้กลายเป็นกล้องรุ่นยอดนิยมรุ่นหนึ่งที่มีคนเสาะหากันมากมาย สรุปลงท้ายว่า คุณคนเขียนก็ไปเจอกับกล้องสภาพหน้าตาดี ใข้งานได้ ในราคาพอดีๆ ก็เลยตัดสินใจซื้อมา

The infamous Nikon FM2n

หลังจากได้กล้อง ก็มองหาฟิล์ม ตอนนั้นนึกออกอยู่ร้านเดียวคือร้าน Lomography Shop ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ ก็เลยได้ฟิล์มอันนี้มา

Lomography Color Negative ISO400

ปรากฎว่า สีสรรสวยสดใช้ได้เลยทีเดียวครับ

สายตา

นอกจากที่ต้องใช้ตาในการจัดองค์ประกอบภาพ (composition) แล้ว ด้วยความที่กล้องไม่มีระบบโฟกัสอัตโนมัติ ก่อนจะกดชัตเตอร์ได้แต่ละครั้งก็ต้องหมุนเลนส์เพื่อหาจุดที่ภาพชัด “ชัดที่สุดที่ตามองเห็น” เพราะฉะนั้นเรื่องภาพแคนดิด (candid) แบบเห็นปุ๊บยกกล้องถ่ายปั๊บคงเป็นไปได้ยาก กว่าจะได้ภาพแต่ละภาพ เล็งแล้วเล็งอีก หมุนแล้วหมุนอีก จากที่เคยถ่ายภาพได้ใน 2-5 วินาที กลายเป็นเกือบนาทีก็มี

Street vendor at a political rally

อันที่จริงจะถ่ายรูปให้เร็วก็ได้ ใช้วิธีกะระยะล่วงหน้า (zone focus) แล้วก็เปิดหน้ากล้องแคบหน่อย (f/8-16) แต่ด้วยความที่การถ่ายภาพด้วยฟิล์มมันแพงกว่าใช้ memory card และมีจำกัด ถ่ายภาพด้วยวิธี zone focus บ่อยๆ ก็น่าจะเปลืองไปสักหน่อย

ความคิด

อันที่จริงการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็ต้องใช้ความคิดทั้งนั้นหละนะครับ สำหรับการถ่ายภาพด้วยกล้องสมัยใหม่ ก็อาจเน้นไปที่การจัดวางองค์ประกอบของภาพซะมากหน่อย อาจเพิ่มการกะเกณฑ์ตำแหน่งถ้าถ่ายภาพที่ตัวแบบเคลื่อนไหว หรือกะระยะล่วงหน้า นอกนั้นระบบกล้องก็จะช่วยจัดการให้อยู่แล้ว เช่น สามารถกำหนดให้กล้องให้ความสำคัญกับความลึกของภาพ (Depth of Field / Aperture Priority — A) หรือ ระยะเวลาการเปิดหน้ากล้อง (Shutter Speed Priority — S) หรือแม้กระทั่งให้กล้องคิดให้ทุกอย่าง (Program Mode — P) ทำให้สามารถถ่ายภาพได้อย่างรวดเร็ว สามารถยกกล้องขึ้นมาแล้วกดปุ่มถ่ายภาพได้ทันที โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอื่น ๆ

แต่พอหันกลับมาถ่ายภาพด้วย “ระบบมือ” นอกจากการโฟกัสอัตโนมัติที่หายไปแล้ว คุณคนเขียนยังต้องระลึกถึงวิธี “อ่านแสง” เพื่อปรับค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เหมาะสม ก็อ้างอิงจากหลักพื้นฐานง่าย ๆ ว่า ถ้าอยู่กลางแจ้งแสงสว่าง ก็ให้เปิดหน้ากล้องที่ f/16 และปรับความเร็วชัตเตอร์ไปที่ 1/ISO (โดยประมาณ) หรือที่รู้จักกันว่า Sunny 16 Rule แล้วก็ค่อยปรับตามความเหมาะสม เช่น ถ้ามีเมฆก็ปรับหน้ากล้องเป็น f/8 และปรับความเร็วชัตเตอร์ต่ำลง 2 stop เป็นต้น

กล้องเกือบทุกรุ่น (แม้จะรุ่นเก่า) จะมีตัวช่วยสำหรับการวัดแสงอยู่ เช่น สำหรับ Nikon FM2 จะมีสัญลักษณ์บอกว่าแสงสว่างเกิน (over / +) น้อยเกิน (under / -) หรือ พอดี (o) แต่ก็จะเป็นการบอกแบบคร่าว ๆ ต่างกับกล้องรุ่นใหม่ ๆ ที่มี bar graph บอกชัดเจนว่าเกินหรือน้อยไปเท่าไหร่

ฟิล์มม้วนแรก วัดแสงพลาดไปหลายรูป แต่รวม ๆ แล้วก็น่าพอใจ

ความรู้สึก

นอกจากการ “จำสูตร” แล้ว การถ่ายรูปด้วยฟิล์มต้องอาศัยความรู้สึกร่วมด้วย เพราะเสน่ห์ของการถ่ายรูปด้วยฟิล์ม คือ ถ่ายได้อย่างไรก็ใช้อย่างนั้น ไม่ต้อง Photoshop เพื่อแก้ไข เพราะฉะนั้นก่อนกดชัตเตอร์แต่ละครั้ง ต้องคิดล่วงหน้าว่าภาพที่ออกมาต้องการให้เป็นแบบไหน เช่น บางภาพอาจอยากให้แสงสว่างกว่าที่ตาเห็น (over) เพื่อแสดงความสดใส มีความสุข สนุก หรือบางภาพให้แสงน้อยกว่า (under) เพื่อแสดงความหดหู่ กดดัน เศร้า ลึกลับ

ทีนี้มันไม่มีสูตรตายตัวเช่นว่า ถ้าสว่างขึ้น 1 stop จะสุขเพิ่มเป็น 2 เท่า หรือถ้ามืดลง 1/2 stop จะหดหู่นิดหน่อย “ความรู้สึก” จึงสำคัญมากสำหรับการถ่ายภาพด้วยฟิล์ม

พูดถึงความรู้สึกก็ต้องพูดถึงอีกข้อนึง บางทีคุณคนเขียนรู้สึกว่า การถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล ก็ปลูกฝังความ perfect มากจนเกินไป หลายครั้งที่กดชัตเตอร์กล้องดิจิตอลแล้ว ต้องตรวจภาพดูว่า “ชัดไหม” แต่พอหันมาถ่ายฟิล์ม ด้วยความที่ไม่มีโอกาสตรวจสอบภาพจนกว่าจะล้างฟิล์ม มันทำให้รู้สึกว่าต้องคิดให้เยอะ เพราะโอกาสที่จะถ่ายภาพนั้นๆ อาจมีแค่ครั้งเดียว พอล้างแล้วก็เห็นว่าบางภาพที่ถ่ายออกมาแล้วไม่ชัด (เบลอ) หรือกล้องขยับ แต่แทนที่จะรู้สึกว่าภาพมันเสีย ใช้ไม่ได้ กลับเห็นว่า มันก็ให้อารมณ์ของการเคลื่อนไหว ความมีชีวิตชีวาดีเหมือนกัน

ถ้ามีโอกาส ลองปรับกล้องดิจิตอลของคุณ ๆ ให้เป็น “กล้องเก่า” บ้างก็ดีนะครับ ปล่อยทุกอย่างให้เป็น manual หมดเลย สนุกดีนะ

สวัสดีครับ

--

--

m a c s f

✝️ catholic. anthony of padua. frm sf, ca. fmr programmer. fmr craft shop owner. read, photograph, movies, cook, garden, and see the world. sg72. isfj. 🇹🇭