การเขียนบทความคุณภาพ สำหรับ Professional Digital Writer

byrd paranath
PHYGITAL AGENCY
4 min readMar 12, 2018

--

จุดประสงค์การเรียนรู้ :

- คุณสมบัติและความแตกต่างระหว่างนักเขียนยุคดิจิทัลกับนักเขียนในสื่อเก่า

- บทความที่ดีควรเขียนยังไง เอาอะไรมาเป็นตัวชี้วัดคุณค่าของบทความ

- ทำ SEO ด้วยตัวเองง่าย ๆ โดยการใช้ Keyword ในบทความจะช่วยให้ผู้คนค้นหาบทความของเราเจอได้ง่ายยิ่งขึ้น

- วิธีเช็คบทความซ้ำ ก็อปไม่ก็อป ลอกไม่ลอก เดี๋ยวรู้เลย

ตั้งแต่การกำเนิดตัวอักษรชุดแรกในยุคอียิปต์โบราณ วิวัฒนาการมาจนทำให้เกิดอักษรอื่น ๆ ตามขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสาร ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปในแต่วัฒนธรรม และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก นอกจากตัวอักษรแล้วก็ยังต้องมี “นักเขียน” ที่ใช้ตัวอักษรสร้างผลงานเขียนกันจนก่อให้เกิดผลงานขึ้นมามากมาย ตั้งแต่บทกวี วรรณกรรม นิทาน ตำรา สิ่งพิมพ์ หนังสือ นิตยสาร อีบุ๊ค ไปจนถึงสเตตัสในโชเชียลมีเดีย โดยในปัจจุบันการเขียนมีความเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของรูปแบบสื่อนั้น ๆ โดยบทความในรูปแบบดิจิทัล จะมีความแตกต่างกับการเขียนในสื่อ offline มากพอสมควร และมีความเฉพาะเจาะจงไปหลากหลายแบบแยกย่อยกันไปในแต่ละแพลตฟอร์ม

คุณสมบัติที่ดีในการเป็นนักเขียนยุคดิจิทัล

บทความนี้จะแนะนำไปทางด้านของบทความที่ใช้ในสื่อดิจิทัลต่าง ๆ โดยนักเขียนในยุคดิจิทัลนี้นอกจากจะต้องเขียนเนื้อหาที่มีคุณภาพแล้วยังต้องรู้จัก “ออกแบบประสบการณ์ในการอ่าน” ของผู้อ่านอีกด้วย เพราะในปัจจุบันผู้คนมีความใจร้อน และสมาธิสั้น ถ้าหากว่าคอนเทนต์ของคุณไม่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้เสพได้ภายในระยะเวลาสองวินาที ก็เท่ากับว่าคอนเทนต์นั้นไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อย่างเต็มที่ ถึงแม้ว่าจะเขียนดีแค่ไหน คิดมาดีแค่ไหน ก็ถือว่าล้มเหลว

วิ่งให้ไว ตามเทรนด์ให้ทัน

เคยอ่านกระทู้พันทิปที่อยู่มาวันหนึ่งกลายเป็นข่าวดังไหม ? หรือข่าวชาวบ้านที่เราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่กลายเป็นว่าทุกคนในตลาดกำลังพูดถึงข่าวนี้กันอยู่ ถ้าคุณไม่รู้เรื่องที่พวกเขาคุยกันก็แสดงว่าคุณกำลังตกข่าวนั่นเอง นักเขียนที่ดีมักจะเลือกหยิบจับคอนเทนต์ใกล้ตัว หรือโหนข่าวที่กำลังเป็นกระแสอยู่มาหยิบจับขยี้ขยายในมิติที่ต่างออกไปตามมุมมองที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นดราม่าบนโลกออนไลน์ หรือพาดหัวข่าวรายวัน แบบนี้เรียกว่า “Newsjacking” เป็นการใช้ประโยชน์ของกระแสข่าวนั้น ๆ นำมาใส่ไว้ในคอนเทนต์ของตัวเอง ซึ่งถ้าทำดี คอนเทนต์นั้นก็จะสามารถเกาะกระแสร่วมไปได้ แต่ถ้าทำไม่ดีก็ถูกด่าเละ ฉะนั้นวิธีการนี้ต้องระมัดระวังและรอบคอบในการหยิบจับมาใช้พอสมควร ถ้าหากคิดจะใช้วิธีนี้แล้วต้องทำให้ดูสร้างสรรค์ มีรสนิยม ที่สำคัญต้องดูจังหวะและกาลเทศะให้ดี ๆ ไม่เช่นนั้นแทนที่จะปัง อาจจะกลายเป็นแป้กก็ได้

ติดอาวุธให้พร้อม แล้วอัพเลเวลตัวเองซะ

สื่อในยุคเก่าเราจะเห็นได้ชัดว่าจะมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานอย่างชัดเจน นี่คือคนเขียน นั่นคือช่างภาพ พี่คนนี้ทำกราฟฟิก คนนู่นคือบรรณาธิการ แต่พอมายุคสมัยนี้ที่คอนเทนต์ต้องการความรวดเร็ว โลกเลยต้องการคนที่จะสามารถจัดการทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียวแทบทุกสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหาข่าว เขียน ถ่ายภาพนิ่ง วิดีโอ ทำกราฟฟิก รู้จักใช้เครื่องมือทางด้านดิจิทัลและโชเชียล ทุกอย่างต้องสามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เราเรียกตำแหน่งที่เกือบจะเหมือนซุปเปอร์แมนนี้ว่า “Content Creator” นอกจากจะต้องทำทุกอย่างที่กล่าวมาได้แล้ว คุณยังต้องมีความรู้ทางด้าน Digital Marketing อีกด้วย คุณต้องสามารถสร้างคอนเทนต์โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมของคนบนโลกออนไลน์ วิเคราะห์ได้ว่าเป็นคนกลุ่มไหน ชอบอะไร ต้องหมั่นคอยเช็คฟีดแบคของผลงานอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นยอดการเข้าถึง ยอดปฏิสัมพันธ์ มีมากน้อยขนาดไหน เรื่องไหนที่คนชอบ เรื่องไหนที่ได้รับความนิยมน้อย คุณต้องรู้เรื่องพวกนี้เพื่อที่จะได้นำมาวิเคราะห์ และสามารถเอาข้อมูลในส่วนนี้มาเพื่อสร้างคอนเทนต์ที่ดี และเป็นที่นิยมในโลกออนไลน์ต่อไป

แล้วการเขียนที่ดีเป็นอย่างไร ?

สิ่งหนึ่งที่จะต้องคิดก่อนเขียนก็คือเขียนเพื่ออะไร ? เขียนไปทำไม ? เขียนให้ใคร ? โดยเฉพาะกับการเขียนลงบนดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจกลไกและสิ่งแวดล้อมบนโลกออนไลน์ให้ดีเสียก่อนแล้วจึงจะเริ่มลงมือเขียนได้ แต่ถ้าจะให้ต้นเริ่มเขียนงานได้เลยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก โดยแต่ละตำรา แต่ละสถาบัน แม้กระทั้งครูบาอาจารย์ก็ยังให้นิยามการเขียนที่ดีไม่เหมือนกัน ทีนี้เรามาทำความเข้าใจถึงหลักการเขียนที่ดีก่อนที่เราจะผลิตผลงานออกมาได้อย่างมีคุณภาพกันดูสักหน่อยดีกว่า ว่ามันมีหลักการและกลเม็ดเคล็ดวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้งานเขียนของคุณนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด

1. ชื่อต้องดี

ชื่อเรื่องถือข้อบ่งชี้ว่าบทความนั้นน่าอ่านหรือไม่ ถ้าตั้งชื่อได้ไม่ดี ไม่โดน ผู้อ่านก็จะผ่านแล้วผ่านเลย การตั้งชื่อหัวข้อที่ดีนั้นต้องสั้น ๆ แต่ได้ใจความ สามารถสรุปภาพรวมของเนื้อหาภายในได้ในไม่กี่ตัวอักษร ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย โดยจะขอยกตัวอย่างรูปแบบหัวเรื่องที่นิยมใช้กัน ดังนี้

  • สรุปเนื้อหา อ่านไม่เกินสองประโยค รู้เรื่อง นิยมใช้กันในบทความประเภทข่าวที่เป็นการแสดงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยสามารถอ่านแล้วเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดโดยไม่จำเป็นจะต้องอ่านเนื้อหาทั้งหมดก็ได้
  • ตั้งคำถามให้ผู้อ่านเกิดความสงสัย แล้วลงท้ายด้วยเครื่องหมายคำถาม (?) ทำให้ผู้อ่านต้องการที่จะทราบคำตอบนั้น
  • กระตุ้นด้วยประโยคสั้น ๆ ตามด้วยเครื่องหมายตกใจ (!) เช่น “เปิดเผยแล้ว!” “น้ำท่วมใหญ่!” เป็นต้น
  • สรุปวิธีการโดยแบ่งเป็นข้อ ๆ เช่น “ 10 วิธีการทำความสะอาดห้องน้ำ” “7 เคล็ดลับที่ผู้หญิงควรรู้” เป็นวิธีที่คลาสสิคสำหรับการตั้งหัวข้อคอนเทนต์ เนื่องจากสามารถเลื่อนอ่านหัวข้อย่อย ๆ แล้วทำความเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว
  • แบบ Clickbait ที่จั่วหัวด้วยการทิ้งประเด็นที่น่าสนใจทิ้งความสงสัยและอยากรู้ให้ผู้อ่านได้ค้างคาใจ หรือชวนให้เข้าใจผิดได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ก็จะเห็นหลาย ๆ แหล่งจะใช้วิธีการจั่วหัวแบบ Clickbait ไม่เว้นแม้กระทั่งสำนักข่าว เพื่อดึงดูดให้ผู้อ่านสนใจ ถือว่าเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง เพราะสามารถสร้างปริมาณคนกดคลิกเข้าไปอ่านได้มากกว่าการตั้งชื่อหัวข้อแบบปกติ

นอกจากนี้ยังมีการตั้งชื่อเพื่อบอกถึงจุดประสงค์ของหัวข้อบทความนั้นแบบชัดเจนไปเลย โดยตั้งใจให้ผู้เสพรับทราบว่าบทความนี้เป็นบทความที่เกี่ยวข้องในเชิงพาณิชย์ ซึ่งสามารถใส่ได้ทั้งหัวและท้ายบทความ เช่น

  • [Review] เป็นการแนะนำสินค้า บริการ รวมไปจนถึงสถานที่นั้น ๆ โดยเป็นการบอกเล่าถึงรายละเอียดต่าง ๆ จากความคิดเห็นของผู้เขียนโดยตรง ซึ่งบางบทความก็เป็นการรีวิวในแบบที่ผู้เขียน เขียนเอง และแบบที่มีผู้สนับสนุนขอให้ผู้เขียนนั้นรีวิว มีทั้งข้อกำหนดเงื่อนไขในการรีวิว และไม่มีเงื่อนไขในการรีวิว
  • [PR] เป็นการประชาสัมพันธ์ข่าวของแบรนด์ หรือองค์กร โดยอาจจะเป็นการประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อของตัวเอง หรือใช้สื่อและพาร์ทเนอร์อื่น ๆ มาช่วยประชาสัมพันธ์ มีทั้งแบบเนื้อหาที่มาจากฝ่ายประชาสัมพันธ์โดยตรง และแบบเป็นที่สื่ออื่นช่วยเผยแพร่
  • [Advertorial] คือบทความที่ได้รับค่าโฆษณา บางแห่งอาจจะใช้คำว่า Sponsored post, Sponsored by หรือเขียนโดยขึ้นชื่อบทความก่อนและลงท้ายด้วย by ชื่อผู้สนับสนุนนั้น ๆ
  • [ชื่อสื่อ x ชื่อผู้สนับสนุน] เป็นการผลิตแคมเปญร่วมกันที่ทั้งสองฝ่ายได้รับประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่

ในการตั้งชื่อบทความนั้นต้องดูบริบทที่สัมพันธ์กันหลายอย่าง เพื่อที่จะได้ชื่อเรื่องที่น่าสนใจ และตรงกับอัตลักษณ์ของเว็บไซต์ หรือโชเชียลมีเดียที่เราต้องการจะเผยแพร่ด้วย นอกจากนี้ถ้าคุณเก่งในการเขียนบทกลอนแล้ว แนะนำให้ลองใช้วิธีสัมผัสนอก สัมผัสใน สัมผัสระหว่างบทดู จะทำให้ชื่อบทความของคุณมีความคล้องจองกัน แค่อ่านชื่อเรื่องก็รู้สึกสนุก และน่าสนใจมากกว่าเดิมหลายเท่า

2. อ่านเข้าใจง่าย

มีการเรียบเรียงภาษาด้วยสำนวนที่อ่านเข้าใจได้ง่าย โดยสามารถอ้างอิงจากผู้อ่านว่าเป็นกลุ่มใด มีความสนใจเนื้อหาในด้านไหนเป็นพิเศษ เป็นกลุ่มผู้ชาย ผู้หญิง หรือวัยรุ่น ซึ่งก็จะมีการใช้ภาษาเขียนที่ต่างกันออกไป เพื่อให้ได้อรรถรสและเข้าถึงผู้เสพในบทความนั้น ๆ ได้โดยตรง และที่สำคัญต้องใช้หลักไวยากรณ์ได้ถูกต้องในภาษาที่เขียนด้วย

3. มีโครงสร้างที่แข็งแรง

โครงสร้าง หรือโครงเรื่องต้องมีความสมบูรณ์แข็งแรง ชัดเจนว่ากำลังจะเขียน หรือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร มีความสอดคล้องกับหลักเหตุผล โดยต้องมีการแนะนำหัวข้อก่อน แล้วหลังจากนั้นจึงอธิบายหัวข้อนั้น คลี่คลายประเด็นหลัก และค่อย ๆ นำเสนอในแง่มุมอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่ต้องไม่หลงในประเด็นหลักที่จะนำเสนอ มีการสรุปใจความสำคัญของหัวข้ออย่างกระชับ ได้ใจความ ไม่ยืดเยื้อ โดยสามารถแบ่งโครงสร้างบทความได้สามส่วนง่าย ๆ คือ

  • บทนำ จะเป็นการเกริ่นก่อนที่จะเข้าเนื้อหาภายในเรื่อง โดยจะต้องเขียนให้ผู้อ่านรู้สึกอยากที่จะอ่านเนื้อหาต่อ ซึ่งสามารถกำหนดสัดส่วนของปริมาณเนื้อหาทั้งหมดได้ ประมาณ 30% ของบทความทั้งหมด
  • เนื้อหา สัดส่วนควรจะอยู่ที่ 60%
  • บทส่งท้าย จะอยู่ที่ 10% โดยจะต้องสรุปรวบรัดเนื้อหาทั้งหมดให้ผู้อ่านอีกครั้ง สามารถแสดงความคิดเห็น หรือทิ้งท้ายประเด็นให้ผู้อ่านนำไปต่อยอดทางความคิดเพิ่มเติมได้

4. ศัพท์เฉพาะวงการ

ถ้าหากว่าภายในบทความมีคำศัพท์เฉพาะวงการที่จำเป็นจะต้องใช้นำมาประกอบในบทความ ก็ต้องอธิบายคำศัพท์นั้น ๆ เพิ่มลงไปในบทความ หรือจะใช้วิธีสร้างลิงก์อ้างอิงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าไปศึกษาบทความที่อธิบายศัพท์นั้นเองก็ได้

5. แหล่งข้อมูลถูกต้อง

บทความที่มีการใช้แหล่งอ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม จะต้องแนบลิงก์ประกอบเพิ่มเติมในท้ายบทความ หรือในเฉพาะส่วนเนื้อหาที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ก็ได้ แต่แหล่งข้อมูลต้องมีที่มาที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง เที่ยงตรง สามารถยืนยันและพิสูจน์ได้ โดยนักเขียนที่ดีควรจะมีคลังแหล่งข้อมูลส่วนตัวเก็บสะสมไว้ ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่าเป็นแหล่งที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ ไม่ใช่เว็บไซต์แบบ Clickbait ข่าวปลอม ไม่มีแหล่งที่มาที่ไปที่ชัดเจน หรือมีการคัดลอกเนื้อหาต่อ ๆ กันมา

6. เป็นกลาง

บทความสามารถเขียนในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียนได้ แต่ต้องถูกแสดงอย่างยุติธรรม และไม่มีอคติเอนเอียง สามารถวิเคราะห์ทุกแง่มุมที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งด้านดีและไม่ดี แต่ต้องไม่ตัดสินด้วยตัวเอง แต่ถ้าหากว่าบทความนั้นจำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลไปในทางใดทางหนึ่ง ก็ต้องบอกลงไปในบทความว่าเป็นเพียงความคิดเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการชี้นำผู้อ่านมากจนเกินไป

7. จัดหมวดหมู่ อย่างเหมาะสม

ในเว็บไซต์หนึ่งอาจจะมีการจัดประเภทของบทความ เพื่อที่ผู้อ่านจะได้แยกแยะและค้นหาบทความที่ตัวเองสนใจได้ง่ายขึ้น การจัดวางหมวดหมู่ก่อนที่จะเริ่มเขียนจะช่วยให้ผู้เขียนกำหนดทิศทางบทความนั้นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น โดยบทความหนึ่งอาจจะมีหลาย ๆ หมวดหมู่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเนื้อหาภายในบทความนั้นมีความเกี่ยวข้องกันมากน้อยเพียงไหน

หลักการใช้ภาษาไทย

ปัญหาหนึ่งที่พบเจอกับบ่อย ๆ คือการเขียนคำผิด ไปจนถึงการใช้หลักไวยกรณ์แบบผิด ๆ ถ้าหากคิดจะเป็นนักเขียนแล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นนักเขียนแนวไหน ทักษะพื้นฐานในการเขียนภาษาไทยจะต้องมีติดตัวกันทุกคน โดยเราจะแนะนำหลักภาษาไทยเบื้องต้นที่นักเขียนทุกคนจะต้องได้ใช้แน่ ๆ มาทบทวนความจำในชั้นเรียนวิชาภาษาไทยกันบ้างดีกว่า

การเว้นวรรค

ภาษาไทยจะมีการเว้นวรรคประโยค หรือเป็นการเว้นช่องว่างระหว่างคำที่จะทำให้บทความสามารถอ่านได้ง่ายขึ้น โดยจะมีการเว้นวรรคอยู่สองแบบคือ

  • เว้นวรรคเล็ก คือการเว้นระยะหนึ่งตัวอักษร (เคาะหนึ่งครั้ง) เป็นการเว้นวรรคระหว่างคำ
  • เว้นวรรคใหญ่ คือการเว้นระยะสองตัวอักษร (เคาะสองครั้ง) เป็นการเว้นวรรคเพื่อจบประโยค

ทั้งการเว้นวรรคใหญ่ และเว้นวรรคเล็ก ต่างก็มีคนสับสน และใช้งานกันอย่างไม่ถูกต้อง สลับหน้าที่การใช้งานกันบ้าง หรือเว้นวรรคมั่วชั่วบ้าง ถ้าเว้นวรรคไม่ดีก็จะส่งผลต่ออรรถรสในการอ่านได้ โดยเฉพาะการออกออกเสียง ถ้ามีประโยคต่อเนื่องยาว ๆ ไม่รู้ว่าจะเว้นวรรคประโยคตรงไหนบ้าง ก็แนะนำให้ลองอ่านประโยคที่เราเขียนนั้นดู จังหวะไหนที่เราต้องหยุดอ่านเพื่อพักหายใจ ตรงนั้นก็คือการเว้นวรรค แต่ถ้าอ่านแล้วมีจังหวะหยุดพักหายใจที่แปลก ๆ ก็แสดงว่าเราเว้นวรรคผิดนั่นเอง เพียงแค่ต้องเว้นวรรคประโยคให้ถูกต้องแค่นั้นก็จะทำให้บทความของเราเป็นบทความที่น่าอ่านมากขึ้นเป็นกอง

การใช้เครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ

เครื่องหมายต่าง ๆ ที่ว่านี้ก็คือ เครื่องหมายที่ใช้เขียนกำกับประโยค คำ หรือข้อความต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้อ่านสามารถอ่านได้ถูกต้อง และเข้าใจความหมายรูปประโยค หรือคำนั้นได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยจะขอยกตัวอย่างเครื่องหมายพิเศษที่นิยมใช้กันบ่อย ๆ ได้แก่

  • วงเล็บ ( )
  • จุลภาค (,)
  • จุดไข่ปลา (…)
  • ปรัศนี (?)
  • อัศเจรีย์ (!)
  • ไปยาลใหญ่ (ฯลฯ)
  • ไม้ยมก (ๆ)
  • อัญประกาศ (“ “)

ที่ยกตัวอย่างมาเป็นเพียงแค่บางส่วนของเครื่องหมายพิเศษเท่านั้น และขออนุญาติไม่อธิบายเครื่องหมายเหล่านี้เพิ่มเติม เพราะเกรงว่าจะดูเป็นวิชาภาษาไทย ๑๐๑ มากเกินไป ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของนักเขียนแล้วว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องหมายพิเศษต่าง ๆ ในบทความของตัวเองได้ถูกต้องอย่างไรบ้าง

ตัวอย่างวิธีการเว้นวรรคที่ถูกต้องในการใช้ไม้ยมก

สลวยสวยเก๋ด้วยสันธาน

เคล็ดลับอย่างหนึ่งในการเขียนบทความให้อ่านลื่น อ่านง่าย นั่นก็คือการใช้คำสันธานหรือคำเชื่อมประโยคที่จะช่วยให้รูปประโยคต่าง ๆ มีความสละสวย และกระชับมากขึ้น โดยคำสันธานสามารถแบ่งวิธีการนำไปใช้ได้สี่อย่าง คือ

  • ความคล้อยตามกัน เช่น กับ, และ, และแล้ว, แล้ว…จึง, ก็, ครั้ง…ก็, ครั้น…จึง, เมื่อ…ก็, พอ…ก็, ทั้ง…และ, แล้ว…ก็, พอ…ก็
  • ความขัดแย้งกัน เช่น แต่, แต่ว่า, แต่ทว่า, แต่ก็, ถึง…ก็, แม้…ก็, แม้ว่า, กว่า…ก็
  • ความเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น ดังนั้น, เพราะ, เพราะว่า, เพราะฉะนั้น, ฉะนั้น, จึง, เพราะ…จึง, ดังนั้น…จึง, ด้วย, เหตุเพราะ, เพราะเหตุว่า, ด้วยเหตุที่
  • เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หรือ, มิฉะนั้น, ไม่เช่นนั้น, ไม่…ก็, หรือไม่ก็

หลาย ๆ ท่านเขียนบทความแล้วกลับมานั่งอ่านอีกครั้งก็ค้นพบว่ามันช่างไม่ลื่นไหล และสากเสี่ยนเสียเหลือเกิน ทำไมจึงเขียนออกมาแล้วมันถึงอ่านติด ๆ ขัด ๆ เหตุผลหนึ่งก็คือบทความของคุณขาดการใช้คำสันธานที่ถูกต้องนั่นเอง ถ้าเราวางรูปประโยคและมีคำเชื่อมดี ๆ ก็จะทำให้บทความนั้นมีการเรียบเรียงภาษาที่มีความต่อเนื่อง ลื่นไหลขึ้นนั่นเอง

Keyword และ SEO พระเอกขี่ม้าสีหมอก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า SEO มีบทบาทในการเขียนบทความบนเว็บไซต์มากยิ่งขึ้น บางแห่งถึงขั้นกำหนดเป็นมาตรฐานที่จะต้องมีในแต่ละบทความกันเลยทีเดียว โดยหัวข้อถัดไปนี้จะเป็นการแนะนำการใช้ประโยชน์จาก Keyword และการทำ SEO เบื้องต้นในบทความ โดยในภาพรวมจะพูดถึงการเขียนบทความลงบน Blogging Platform หรือ Content Management System (CMS) เช่น WordPress ที่เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำเว็บไซต์ และง่ายต่อกันทำ SEO อีกด้วย โดยหลักการต่อไปนี้นักเขียนต้องมีความรู้เบื้องต้นทางด้าน SEO และการใช้ CMS เสียก่อน ไม่งั้นเดี๋ยวจะอ่านไม่รู้เรื่องนะจ๊ะ

  • ก่อนอื่นเราจะต้องหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับบทความที่กำลังจะเขียนเสียก่อน โดยสามารถหาได้จากในเครื่องมือวางแผนคีย์เวิร์ด Google Keyword Planner แล้วดูปริมาณการค้นหาคำนั้น ๆ ว่ามีมากน้อยเท่าไหร่ ยิ่งเราใช้คำที่มีผลการค้นหามาก บทความของคุณก็จะมีโอกาสแสดงผลในเสิร์ชเอนจินได้มากขึ้นเช่นกัน โดยอาจจะเลือกคีย์เวิร์ดที่จะเอามาใช้อย่างต่ำสัก 2 – 3 คำก็ได้
  • เมื่อได้คีย์เวิร์ดหลักเรียบร้อยแล้ว ก็ใส่คีย์เวิร์ดเข้าไปในชื่อบทความของเรา โดยต้องกระจายคีย์เวิร์ดให้เหมาะสม อ่านรู้เรื่อง และชื่อเรื่องต้องมีความยาวไม่มากจนเกินไป (ไม่เกิน 60 ตัวอักษร)
  • เราสามารถตั้งชื่อลิงก์ของบทความและใส่คีย์เวิร์ดลงไปในลิงก์ได้ โดยแนะนำว่าควรจะตั้งเป็นชื่อภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย เพราะจะช่วยให้การค้นหาง่ายมากกว่า อีกทั้งลิงก์ที่เป็นภาษาไทยจะถูกแสดงผลในการอ่านยากมากกว่าภาษาอังกฤษ ซึ่งนั่นก็จะทำให้ชื่อลิงก์เรายาวเกินไปนั่นเอง
  • การเขียนคำบรรยายบทความ (Description) เราสามารถเลือกเขียนได้ทั้งแบบเกริ่นนำ หรือจะเป็นบรรยายโดยสรุปก็ได้ แต่ต้องไม่เกิน 160 ตัวอักษร ซึ่งแน่นอนว่าเราควรจะใส่คีย์เวิร์ดประจำบทความของเราไว้ด้วยเช่นกัน
  • ในส่วนของหัวข้อภายในเนื้อหา (Headings) ถ้าหากว่าเรามีการวางโครงสร้างเนื้อหามาเป็นอย่างดีแล้ว การตั้งหัวข้อใหญ่ จนไปถึงหัวข้อย่อยก่อน ก็จะทำให้เราสามารถเขียนเนื้อหาและรายละเอียดได้เร็วและง่ายยิ่งขึ้น ที่สำคัญควรมีคีย์เวิร์ดปรากฏอยู่ในหัวข้อต่าง ๆ ของเราด้วยเหมือนกัน
  • รูปในเว็บไซต์ก็ต้องมีการตั้งชื่อด้วย หรือที่เรียกว่า Alternative Text นั่นเอง โดยชื่อนั้นต้องบอกว่ารูปนั้นเป็นรูปเกี่ยวกับอะไร ถ้าหากว่าเราระบุชื่อใน Alt Text ได้ตรงกับรูปภาพนั้น ก็จะทำให้ผลการค้นหาในคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับรูปของเราก็จะแสดงผลการค้นหาออกมาได้ง่ายขึ้น
  • ถ้าหากว่ามีคีย์เวิร์ดหลายคำ เราต้องการกระจายสัดส่วนของคีย์เวิร์ดทั้งหมดลงในบทความ แต่ไม่ควรเกิน 2.5% ของปริมาณตัวอักษรทั้งหมดที่อยู่ในบทความ โดยควรจะมีคีย์เวิร์ดหลักที่เราพูดถึงบ่อย ๆ อยู่ไม่ต่ำกว่า 5–7 ครั้ง ต่อหนึ่งคีย์เวิร์ด ซึ่งความเยอะความน้อยนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณเนื้อหาทั้งหมดของบทความด้วย

การหา Keyword และการทำ SEO กำลังจะกลายเป็นข้อบังคับเริ่มต้นสำหรับนักเขียนในยุคดิจิทัลเสียแล้ว เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ถ้าหากว่าคุณยังอยู่ในเส้นทางการเขียนบทความผ่านแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์ ฉะนั้นจงใช้เวลาศึกษาเรื่อง SEO สักนิด ถึงตอนนี้จะเรียกได้ว่าเป็นข้อได้เปรียบมากกว่านักเขียนคนอื่น แต่อีกหน่อยมันจะกลายเป็นทักษะพื้นฐานสำหรับนักเขียนหลังจากนี้ไปอย่างแน่นอน

ก๊อปไม่ก๊อป ก็ลองเสี่ยงดวงอีกสักนิด

เมื่อเราได้นั่งเขียนบทความกันเป็นตุเป็นตะใกล้จะเสร็จแล้ว ซึ่งแต่ละคนก็จะมีวิธีการเขียนที่ไม่เหมือนกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่านักเขียงเองบางครั้งก็ไม่ได้รอบรู้ไปซะทุกเรื่อง ไม่ได้ชำนาญจะเสียทุกด้าน วิธีการแก้ไขก็คือ ค้นคว้าหาข้อมูลมาประกอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางครั้งเราก็อาจจะเผลอนำเอาประโยคสำคัญในบทความ คัดลอกมาทั้งดุ้น เพื่อเอามาใส่ในบทความของเรา ยิ่งถ้าหากว่าคุณก๊อป-วางเยอะ ๆ แล้ว คะแนน SEO ของคุณก็จะเสียไปด้วยเหมือนกัน ซึ่งนั่นก็จะทำให้เว็บไซต์ หรือบทความของคุณนั้นไม่ติดอันดับการค้นหาเลยก็เป็นได้ ฉะนั้นคิดจะคัดลอกก็ต้องเรียบเรียงให้เป็นภาษาของตัวเองด้วยถึงจะรอดตาย แล้วเราจะรู้ได้ยังไงล่ะ ว่าบทความที่เราเขียนดันไปเหมือนชาวบ้านชาวช่องเขาหรือเปล่า วิธีการตรวจเช็คก็ง่ายมาก เพียงแค่คุณก๊อปบทความของตัวเองมาตรวจสอบบทความซ้ำในเว็บไซต์ Plagiarism Checker ก็จะรู้ได้ในทันทีว่าประโยคไหนที่ก็อปมา ประโยคไหนที่เป็นเราเขียนขึ้นมาใหม่ โดยจะขอแนะนำสามเว็บไซต์ที่สามารถทำการตรวจเช็คได้ ดังนี้

ถ้าเป็นไปได้บทความของคุณควรจะต้องได้ 100% Unique นั่นคือเป็นบทความ Original Content ที่เขียนขึ้นมาใหม่เองกับมือ ไม่ได้มีส่วนใดส่วนหนึ่งไปเหมือน หรือลอกบทความจากชาวบ้านมา วิธีนี้อาจจะเป็นวิธีที่ยากเกินไปสักหน่อยสำหรับนักเขียนหน้าใหม่ แต่เชื่อเถอะว่าทุกครั้งที่คุณเขียนงานออกมา แล้วมานั่งเช็คทุกบทความให้ได้ใกล้เคียง 100% ที่สุด ทำบ่อย ๆ แล้วมันจะสั่งสมให้คุณเป็นนักเขียนมือฉมังได้อย่างไม่ยากเย็นมากนัก

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการอ่านของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปจากบนผนังถ้ำ กระดาษ จนมาถึงการแสดงผลแบบอิเล็กทรอนิค แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไปคือ “คุณภาพและคุณค่าของเนื้อหา” บ้างก็ว่าของดีไม่ต้องพูดเยอะ ไม่ต้องไปหานิยามให้กับมัน ปล่อยให้บทความทำหน้าที่ของมันเองจะดีกว่า ที่ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไหร่ การเสพสื่อจะเปลี่ยนไปอย่างไร งานเขียนที่ดีก็ยังเป็นของดีอยู่วันยังค่ำ

เอาล่ะ…ถึงเวลาของคุณที่จะเริ่มเขียนแล้ว รู้สึกว่าตัวเองมีไฟที่จะเป็น Professional Digital Writer กับเขาบ้างแล้วหรือยัง ?

--

--