แชร์ประสบการณ์ สอบ TOPIK ครั้งแรก : จากใจแฟนคลับนักร้องเกาหลี

Bellbum PA. (혜성)
Artisan Digital
Published in
3 min readFeb 28, 2018

ปัจจุบัน “ภาษาที่สาม” ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะภาษาที่สองอย่างภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องของความสามารถพิเศษแล้ว แต่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องสามารถสื่อสารได้โดยทั่วไป ทำให้ภาษาที่สามกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ได้เปรียบยิ่งขึ้นในยุคสมัยนี้

เป็นอันทราบกันดีว่าประเทศไทย เข้าสู่ AEC แล้ว และภาษาที่กำลังมาแรงในแถบนี้ก็คงไม่พ้น ภาษาจีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ที่เป็นประเทศสมาชิก ASEAN+3 ด้วย เนื่องจากได้รับวัฒนธรรมมาจากสื่อกระแสหลักอย่างอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ละคร ดนตรี ที่เข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก รวมถึงทางด้านการค้า เศรษฐกิจ ที่มีบริษัทเข้ามาลงทุนและเปิดบริษัทในประเทศไทยจำนวนมาก ซึ่งบทความนี้จะพูดถึงภาษาที่สามของผู้เขียน ซึ่งก็คือ “ภาษาเกาหลี” นั่นเอง

ชอบนักร้องเกาหลี เลยอยากเรียนภาษาเกาหลี

เริ่มเรียนภาษาเกาหลีครั้งแรกด้วยตัวเองตอนมัธยมต้น ด้วยความที่ช่วงนั้นกระแสเพลงเกาหลีและศิลปินจากเกาหลีกำลังเข้ามาบุกตลาดไทยในยุคแรก ๆ เราชื่นชอบวงบอยแบนด์ Super Junior จึงเริ่มสนใจภาษาเกาหลี และซื้อหนังสือเรียนเกาหลีมานั่งอ่านเอง จนเริ่มอ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ตอนนั้น ระหว่างนั้นเราฟังเพลง ซื้ออัลบั้ม ไปตามงานอีเวนท์ และคอนเสิร์ต ตามประสาแฟนคลับปกติ แต่สิ่งที่ทำให้เราหันมาสนใจภาษาเกาหลีนั้นมาจาก “โซเชียลมีเดีย” ในสมัยนั้น อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียยังไม่ได้หลากหลาย และเข้าถึงได้อย่างง่ายดายเหมือนในปัจจุบัน ศิลปินจะเซอร์วิสแฟนคลับทีนึงก็จะออกมาโพสต์ตามโซเชียลมีเดีย และด้วยความเป็นชาตินิยมของเกาหลี โดยพื้นฐานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีทักษะภาษาอังกฤษมากนัก ก็จะโพสต์เป็นโซเชียลของประเทศเขาเอง สมัยนั้นจะเป็น Cyworld , Me2day ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีล้วน ๆ เลย เราก็ต้องมานั่งรอคนตั้งกระทู้ Translate คำแปลให้อ่านว่าแปลว่าอะไร ในกระทู้หน้าเว็บ Siamzone ต่อมาก็มี Twitter และ Instragram เข้ามา

(dek-d.com)

จึงเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เราอยากรู้จักภาษาเกาหลี อยากแปลสิ่งที่อปป้าเขียนได้เอง โดยไม่ต้องนั่งรอคนแปลให้อ่าน อยากคุยกับอปป้ารู้เรื่องบ้างอะ 555555

ช่วงที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย เป็นปีแรกที่เปลี่ยนระบบการเปิดเทอมใหม่ตามอาเซียน ทำให้เราที่สอบติดโควตาได้ก่อนเพื่อน มีเวลาว่างก่อนเปิดเทอมถึง 6 เดือน จึงไปเรียนภาษาเพิ่มเติม ซึ่งเรียนทั้งภาษาเกาหลีและภาษาจีนไปด้วย ถึงแม้ภาษาเกาหลีจะมีรากศัพท์มาจากภาษาจีนเกือบทั้งหมด แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่จะเรียนรู้ทั้งสองภาษาไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งสำหรับเราภาษาเกาหลีมีแรงจูงใจในการเรียนมากกว่า (เพราะอปป้าเลยนะ) สุดท้าย ตอนนี้ก็ลืมภาษาจีนที่เรียนมาหมดแล้ว ฮื่อออออ

พอเข้ามหาวิทยาลัย ในคณะที่เรียนก็ได้มีโอกาสได้เลือกเรียนวิชาโทเพิ่มเติม จึงเลือกภาษาเกาหลีเป็นวิชาโทโดยไม่ลังเล ความเป็นวิชาโทก็จะต้องเลือกเรียนวิชาของภาคที่เราเลือก เรียนต่อกันทั้งหมด 5 ตัว ซึ่งตัวแรกที่เราเรียนก็จะเริ่มสอนตั้งแต่ รู้จักพยัญชนะ สระ ต่าง ๆ เหมือนเริ่มเรียนอนุบาลใหม่เลย ซึ่งเราพอจะมีพื้นฐานมาบ้างแล้วก็ถือว่าได้ทบทวนไปในตัว ส่วนตัวคิดว่าภาษาเกาหลี มีพยัญชนะและสระน้อย เส้นการเขียนไม่ซับซ้อน และมีการประสมคำที่ใกล้เคียงกับภาษาไทย ทำให้ในช่วงเริ่มต้นจึงไม่ยากเท่าไหร่ แต่พอเรียนตัวสูงขึ้นก็จะเริ่มยากขึ้นเรื่อย ๆ ในส่วนของไวยากรณ์ที่มีหลายระดับมาก ๆ มีการผันอักษร เปลี่ยนรูป และข้อยกเว้นเยอะมาก ๆๆๆ ต้องอาศัยความเข้าใจและความจำอย่างมาก

พอเราเรียนเกาหลีในวิชาโทครบ 5 ตัวเรียบร้อยแล้ว ก็นับเป็นเวลาสองปีกว่าที่เรียนแบบจริงจังมา จึงอยากมีใบรับรอง ไว้เป็นความสามารถเฉพาะติดไม้ติดมือก่อนจบมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจสมัครสอบวัดระดับความรู้ภาษาเกาหลี (TOPIK Test)

Test Of Proficiency In Korean (TOPIK)

ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับ TOEFL , TOEIC ที่เป็นการสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ TOPIK ก็เช่นกัน เป็นการทดสอบระดับความสามารถทางภาษาเกาหลี สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาเกาหลีเป็นภาษาแม่ ทั้งชาวเกาหลีที่อาศัยในต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่อาศัยในเกาหลี หรือบุคคลที่สนใจภาษาเกาหลี เพื่อวัดและประเมินผลในการนำภาษาเกาหลีไปใช้ในการเรียนต่อ ทำงาน ในประเทศเกาหลี หรือประเมินตัวเองสำหรับผู้สนใจภาษาเกาหลี

การทดสอบความสามารถทางภาษาเกาหลี หรือที่ในหมู่นักเรียนที่เรียนภาษาเกาหลีเรียกกันว่าการสอบ “กึบ” โดยแบ่งการสอบเป็น 2 ระดับหลัก และแบ่งเป็นระดับย่อยอีกทั้งหมด 6 ระดับ ซึ่งแบ่งเป็นการสอบ TOPIK I (กึบ 1, 2) และ TOPIK II (กึบ 3, 4, 5, 6) ซึ่งผู้สอบสามารถเลือกสอบได้ตามความสามารถของตนเอง โดยการสอบแต่ละระดับจะมีเกณฑ์การผ่าน คือ การสอบ TOPIK I คะแนนเต็ม 200 คะแนน ต้องได้เกินกว่า 80 คะแนนจึงจะผ่าน กึบ 1 และ เกิน 140 คะแนน จะผ่านกึบ 2

(topikguide.com)

สำหรับในประเทศไทย การสอบ TOPIK จะมีปีละประมาณ 3 ครั้ง แล้วแต่สนามสอบที่กระจายไปตามจังหวัด ซึ่งบางสนามอาจมีเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ซึ่งการสอบนี้ถือเป็นเอกสารที่ใช้ยื่นความสามารถทางภาษาเกาหลีได้อย่างเป็นทางการ และผลสอบมีอายุ 2 ปี นับตั้งแต่วันประกาศผลสอบ ค่าสมัครสอบครั้งละ 800 บาท

ขั้นตอนการสมัครสอบ รายละเอียดการจัดสอบ และสนามสอบ สามารถติดตามได้ทาง Facebook Page : TOPIK in Thailand (https://www.facebook.com/topikinthailand/)

ผู้เขียนได้สมัครสอบ TOPIK I ในรอบการสอบครั้งที่ 55 สนามสอบมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ในแต่ละประเทศอาจไม่ได้มีการจัดสอบทุกรอบ เช่น ในประเทศไทยประจำปี 2560 จะมีการสอบ 3 ครั้ง เป็นการสอบครั้งที่ 51, 54 และ 55 ส่วนในปี 2561 ของประเทศไทยจะจัดสอบครั้งที่ 58, 59 และ 61 เป็นต้น) ซึ่งจะมีการสอบในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกด้วย

(topikguide.com)

การสอบ TOPIK ครั้งแรก

ก่อนจะสอบก็ได้มีการลงเรียนคอร์สติวสอบเล็ก ๆ น้อย ๆ เรียนสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง ส่วนใหญ่จะเป็นการลุยทำข้อสอบชุดเก่า ๆ ของการสอบที่ผ่านมา แต่ในช่วงนั้น ผู้เขียนกำลังอยู่ในช่วง ปี 4 เทอม 1 ที่ต้องทำโปรเจคตัวจบอย่างการออกกองถ่ายรายการทีวีและทำวิจัยด้วย เลยไปเรียนบ้างไม่ไปเรียนบ้าง เพราะติดถ่ายงาน วันไหนไปเรียนก็สับปะหงกหลับตลอดเพราะเหนื่อย ยุ่งจนเกือบลืมวันสอบเลยทีเดียว คืนก่อนสอบจึงนั่งทบทวนให้มีความรู้ในหัวซักเล็กน้อย ตั้งแต่โครงสร้างและการจัดเรียงประโยค รวมถึงคำศัพท์ที่สำคัญ ๆ

วันสอบก็ไปที่สนามสอบแบบงง ๆ บรรยากาศที่สนามสอบ มีเด็กนักเรียน ม.ปลาย ใส่ชุดนักเรียนมาสอบเยอะมาก ๆ ครูที่โรงเรียนพามาจากต่างจังหวัดกันเป็นหมู่คณะก็มี ส่วนเราก็แต่งชุดไปรเวทแบบสุภาพธรรมดาไป สิ่งติดตัวที่จำเป็นมีเพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น หรือใครสอบ TOPIK II ก็อาจเตรียมเทปลบคำผิดไปใช้ในพาร์ท การเขียนได้ (ทางสนามสอบไม่อนุญาตให้ใช้น้ำยาลบคำผิด ต้องใช้แบบเทปเท่านั้น) ไม่มีบัตรประจำตัวผู้เข้าสอบ เพียงแต่ตรวจสอบเลขประจำตัวผู้เข้าสอบของตนจากหน้าเพจไป ส่วนเครื่องเขียนอื่นไม่ต้องเตรียมเลย ที่สนามสอบจะมีปากกาเมจิกสีดำแจกให้ ใช้ฝนในกระดาษคำตอบ ซึ่งต้องใช้ปากกานี้ในการสอบเท่านั้น

ปากกาที่สนามสอบแจกให้ใช้ในการสอบ

ซึ่งความคาดหวังในการสอบครั้งนี้ ณ วันสอบ อยู่ที่ กึบ 1 เท่านั้น 555555 เพราะไม่ได้เตรียมตัวสอบอย่างดีเลย สำหรับ TOPIK I มีเวลาสอบทั้งหมด 1 ชั่วโมง 40 นาที จำนวน 70 ข้อ แบ่งเป็น 2 Part คือ Part Listening จำนวน 40 ข้อ มีเวลาในการฟัง 40 นาที จะมีเสียงอ่านคำถามข้อละ 2 รอบ ให้เลือกตอบ พาร์ทนี้จะเป็นพาร์ทเก็บคะแนนเลย เพราะแต่ละข้อคะแนนเยอะ เป็นคำศัพท์ในชีวิตประจำวันง่าย ๆ ควรกอบโกยคะแนนจากพาร์ทนี้ให้มากที่สุด ต่อจากนั้นจะเป็น Part Reading จำนวน 30 ข้อ มีเวลาทำข้อสอบ 1 ชั่วโมง มีทั้งส่วนที่เป็นประโยคสั้น ๆ ให้เลือกเติมคำ ส่วนที่ให้เรียงประโยคก่อนหลัง 4 ประโยคให้ถูกต้อง ไปจนถึงพารากราฟยาว ๆ เลย ซึ่งคนย้ำคิดย้ำทำแบบเราทำข้อสอบไม่ทัน 5555555 จวนจะหมดเวลาสอบแล้ว จึงต้องดิ่งข้อ 61-70 ไปที่ช้อย A ทั้ง 10 ข้อเลย (เดินออกห้องสอบมาก็คิดว่า เราจะผ่านกึบ 1 ไหมเนี่ย ดิ่งไปตั้ง 10 ข้อ TT)

(TOPIK in Thailand)

ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่จำเป็นในการสอบสำหรับคนที่ไม่มีเวลาเตรียมตัวมากนัก นั่นก็คือ คำศัพท์ คำศัพท์ และคำศัพท์ ยิ่งรู้คำศัพท์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้เปรียบ ในทุก ๆ พาร์ท ถึงแม้จะไม่เข้าใจทั้งประโยค แต่ถ้ารู้คำศัพท์ก็สามารถเดาบริบทจากคีย์เวิร์ดได้ รวมถึงการทำข้อสอบชุดเก่า ๆ ที่ผ่านมา ก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราสามารถรู้ว่าจะมีคำศัพท์ประมาณไหน และข้อสอบจะเป็นแนวไหน โดยเฉพาะ Part Reading ลองฝึกทำพร้อมกับจับเวลาไปด้วย จะทำให้รู้ลิมิตการอ่านของตัวเอง เมื่อถึงเวลาสอบจะได้กะเวลาในการทำข้อสอบได้อย่างพอดี

1 เดือนต่อมาวันประกาศผลสอบก็มาถึง ผลสอบที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก ถ้าเทียบกับการเตรียมตัวสอบในครั้งนี้ และสำหรับการสอบครั้งแรก เราสอบได้ กึบ 2 !! ถึงแม้คะแนนอาจจะไม่ได้เยอะมาก แต่ก็เกินความคาดหมายอย่างมากเลย และนี่ก็คือผลสอบของเรา

Part Listening ได้ 76/100 คะแนน ส่วน Part Reading ที่เราดิ่งไป 10 ข้อ นั้นได้ 67/100 คะแนน รวมแล้วได้ 143 คะแนน เกือบไม่ถึงกึบ 2 แล้ว แต่ก็ยังไม่เสียชื่อเด็กไมเนอร์เกาหลี 5555 ซึ่งผลสอบนั้นสามารถโหลดและปริ้นท์ออกมาได้ไม่จำกัด และสามารถใช้เป็นเอกสารทางการได้เลย นอกจากนั้นก็จะมีใบผลสอบที่ส่งมาทางไปรษณีย์อีกฉบับหนึ่งภายหลังอีกด้วย

และนี่ก็คือประสบการณ์ การสอบวัดระดับภาษาเกาหลีครั้งแรก สำหรับคนที่เริ่มสนใจภาษาเกาหลีจากการเป็นแฟนคลับนักร้องเกาหลีมาครึ่งชีวิต ซึ่งมีส่วนทำให้ทั้งการใช้ภาษาอังกฤษของเราดีขึ้น (Translate ที่เร็วกว่ามักจะแปลจากภาษาเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษก่อน บางอย่างก็ไม่มีแปลภาษาไทยโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ เพลง รายการวาไรตี้ ต่าง ๆ ทำให้การใช้ภาษาอังกฤษของเราแข็งแรงมากขึ้นจากการตามสิ่งเหล่านี้) แถมยังได้เรียนรู้ภาษาที่สามอย่างภาษาเกาหลีเพิ่มขึ้น จนเป็นความรู้ความสามารถเพิ่มเติมที่ติดตัว และสามารถนำไปใช้ในการเรียนต่อหรือสมัครงานได้ในอนาคตได้ และในปีนี้ก็มีความตั้งใจที่จะไปทดลองสอบ TOPIK II ให้ได้ กึบ 3 ต่อไป

สำหรับคนที่สนใจภาษาเกาหลี ปัจจุบันมีการเปิดสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ศิลป์-เกาหลี) และมีการเพิ่มในการสอบความถนัดทางด้านภาษา PAT7.7 ภาษาเกาหลี รวมทั้งในระดับอุดมศึกษาก็มีมหาวิทยาลัยที่เปิดเอกภาษาเกาหลีโดยตรงมากขึ้น นับว่ามีช่องทางที่หลากหลายในการเลือกเรียนภาษานี้ และคนที่สนใจสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาเกาหลีก็เตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมเงินให้พร้อม ขยันท่องศัพท์และลุยข้อสอบเก่า ๆ เพื่อสมัครสอบในรอบต่อไป ไม่ยากเกินความสามารถแน่นอน เราเป็นกำลังใจให้ สู้สู้จ้า

--

--