ประสบการณ์แลกเปลี่ยนที่ National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ที่ประเทศญี่ปุ่น

Ayuth Mangmesap
Ayuth’s Story
7 min readMay 16, 2022

--

บทความนี้กะจะเอาไปลงในเว็บมหาลัยครับแต่ด้วยความที่กลัวมันจะหายไปจึงตัดสินใจว่าใส่ไว้ใน Medium ดีกว่าและให้ทางมหาลัยลิงค์มาที่นี่ ฉะนั้นหัวข้อก็จะแบบดูเป็นนักศึกษาที่ดีนิดหนึ่งรวมถึงภาษาด้วย ฮ่า ๆ เอาละไปอ่านกันเลยครับ

Photo by @ajny

ในช่วงประมาณปี 4 ผมได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่นที่สถาบันวิจัย National Institute of Advanced Industrial Science and Technology หรือเรียกสั้น ๆ ว่า AIST ณ ประเทศญี่ปุ่น

ขอเกริ่นก่อนว่าบล็อกนี้ดองจนได้ที่นับตั้งแต่อาจารย์ทักมาบอกว่าอยากให้ช่วยเขียนแชร์ประสบการณ์ให้หน่อย ฉะนั้นข้อมูลของการขอพวก VISA หรือขั้นตอนต่าง ๆ อาจจะไม่ได้อัพเดทล่าสุดนะครับ ทางที่ดีเราควรจะติดต่อถามทางกงสุลญี่ปุ่นให้แน่ใจว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างจะชัวร์ที่สุด

บล็อกนี้จะแชร์ถึงการไปแลกเปลี่ยนที่ AIST และแชร์ประสบการณ์ของการไปใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างแดนตลอด 2 เดือน ไม่ว่าจะเป็น การเตรียมตัวในการเดินทาง การใช้ชีวิตประจำวัน สถานที่ที่ควรจะไปเมื่ออยู่ Tsukuba หรือแม้แต่ทริปการปั่นจักรยานขึ้นเขา Mount Tsukuba ที่ทรหดประชดชีวิตมาก

🙉 ไปได้อย่างไร?

Photo by Dim Hou

ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสถาบัน AIST ที่ญี่ปุ่นได้มีการเซ็น MOU ที่มีข้อตกลงที่จะแลกเปลี่ยน ร่วมมือกันในการพัฒนางานวิจัยและศึกษาในหลากหลายด้านที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Artificial Intelligence (AI), Data Science ที่เกี่ยวข้องกับ AI, System/Infrastructure, Human-Computer Interaction และ Internet of Things (IoT) ซึ่งแน่นอนว่าการไปแลกเปลี่ยนครั้งนี้อยู่ในข้อตกลงนี้ด้วยเช่นกัน

ทางผมก็เพิ่งทราบเหมือนกันว่ามีโปรแกรมที่จะแลกเปลี่ยนรวมถึงข้อตกลงนี้อยู่ด้วยเพราะตอนนั้นทาง Jason ได้บินมาสัมนาที่มหาวิทยาลัยและช่วงสุดท้ายหลังจากพูดจบก็มีกล่าวถึงโปรแกรมนี้ เราก็เลยสนใจพอดีพร้อมกับอาจารย์ที่ปรึกษาของเรากำลังหานักศึกษาสมัครโปรแกรมนี้อยู่เช่นกัน

สำหรับพวกข้อกำหนดขั้นต่ำในการสมัครก็จะต้องการเรื่องทั่วไปไม่ว่าจะเป็น Transcript และ CV เพื่อที่จะให้มั่นใจว่าเราไม่ติดอะไร และสามารถให้ความร่วมมือในโปรแรกมนี้ได้อย่างเต็มที่ ช่วงแรกที่ลองสมัครไปก็กระอักกระอ่วนนิดหนึ่งเพราะเกรดเราก็อยู่กลาง ๆ ไม่ได้ดีและแย่เท่าไร สกิลภาษาก็งูงูปลาปลา ฟังได้แต่เวลาจะพูดก็ต้องนึกคำ ตอนนั้นทำให้รู้ทันทีเลยว่าเรื่องเกรดที่ดีมีส่วนสำคัญไม่แพ้กันในการที่นำเราไปสมัครโปรแกรมจำพวกนี้หรือขอทุนต่าง ๆ อันที่จริงตอนนั้นไม่ค่อยได้สนใจเกรดเท่าไรนักแค่รู้สึกสนุกกับสิ่งที่อยากเรียนก็น่าจะเพียงพอ ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยเข็นและเชื่อมั่นในความสามารถของเราและลองคุยดูให้

เมื่อทางเขาพิจารณาเสร็จเรียบร้อย ผ่านเกณฑ์ ตกลงเรื่องสโคปของงาน และเรื่องที่เราต้องทำเสร็จเรียบร้อย เราต้องทำอะไรเรียบร้อย เราก็จะไปสู่หัวข้อถัดไปนั่นคือ การเตรียมตัวการเดินทาง

✈️ การเตรียมตัวสำหรับการเดินทาง

Photo by @anniespratt

สำหรับการเตรียมตัวสำหรับการเดินทางจะประกอบด้วยกัน 2 ส่วนคือ

  1. 📄 เอกสาร
  2. 🧸 สิ่งของที่ควรจะเตรียม

📄 เอกสาร

ระยะเวลาของการแลกเปลี่ยนคือ 2 เดือนเพราะฉะนั้นเราจำเป็นที่จะต้องทำ Passport ให้เรียบร้อยและขอวีซ่าไว้ ให้ครอบคลุมสำหรับช่วงเวลาที่จะไปซึ่งผมคงจะไม่ลงรายละเอียดกันเพราะเชื่อว่าทุกท่านคงจะสามารถหากันได้เองและข้อมูลที่เขียนไปอาจไม่ได้อัพเดทอย่างสม่ำเสมอหรืออาจจะเปลี่ยนไปได้ในอนาคต ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือโทรไปสอบถามทาง สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง

เอกสารที่นอกเหนือจาก Passport และ Visa เราคุยกันผ่านทางอีเมล์กับ Tasaki-san ซึ่งเป็นผู้ช่วยในการจัดการเรื่องเอกสารว่าเราควรเตรียมอะไรไปบ้างและเอกสารที่ทาง AIST ส่งมาให้เพื่อที่จะให้เรานำไปยื่นตอนเข้าเข้าประเทศญี่ปุ่น

Tasaki-san เรียกได้ว่าเป็นคนคอยประสานงานพวกงานเอกสารเพื่อให้เราเข้ามายังญี่ปุ่นได้อย่างราบรื่น เช่น Visa Application Form สำหรับเข้าประเทศญี่ปุ่นมาให้เรากรอกพร้อมใส่รายละเอียดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนที่เราเชิญเข้าไปคือใคร เราจะเข้าไปที่ไหน มีความสัมพันธ์กับ ตำแหน่งอะไร เป็นต้น รายละเอียดพวกนี้ก็จะถูกกรอกมาในฟอร์มมาก่อนแล้วทำให้เรากรอกแค่รายละเอียดเฉพาะสำหรับตัวเรา และพวกเอกสารที่ต้องส่งมาจากญี่ปุ่นพร้อมตราประทับเพื่อให้เราเตรียมไปยื่นตอนเข้าประเทศ ตั๋วเครื่องบิน ฯลฯ บอกเลยว่าถ้าไม่ได้ Tasaki-san ช่วยประสานงานให้คือจบตั้งแต่ยังไม่ได้เดินทางไปแน่นอน ซึ่งเอกสารหลักที่พอจะจำได้คือ

  1. Passport พร้อมวีซ่าเข้าประเทศ
  2. เอกสารรับรองทั้งหลายจากทาง AIST ที่ Tasaki-san เตรียมมาให้ไม่ว่าจะเป็น เราเข้าไปทำอะไร ที่ไหน ตำแหน่งอะไร ทำอะไร เป็นต้น
  3. เอกสารการทำประกันการเดินทางไปต่างประเทศในระยะเวลาที่ครอบคลุมตลอด 2 เดือนที่อยู่และครอบคลุมถึงประเทศญี่ปุ่น

ในการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ทาง AIST จะออกค่าตั๋วเครื่องบิน ไป — กลับ พร้อมค่าที่พัก แต่ค่าที่พักเราจำเป็นจะต้องสำรองจ่ายล่วงหน้าไปก่อนจากนั้นทาง AIST จะโอนกลับคืนมาที่บัญชีเราพร้อมกับภาษีอันแสนจะโหดร้าย 20.5% tax 😭 (ถ้าใครไปแนะนำให้เตรียมเงินจ่ายเงินค่าที่พักล่วงหน้าไปเลยและเอาใบเสร็จไปเบิกค่าที่พักเพราะกระบวนการนี้ค่อนข้างจะใช้เวลานิดนึง)

🧸 สิ่งของที่ควรจะเตรียม

Photo by @anniespratt

นอกเหนือจากเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องเตรียมไปอย่างแน่นอนก็มีอีกสิ่งของสำคัญไม่แพ้กัน เช่น เสื้อผ้าเราก็ต้องเตรียมให้เหมาะสภาพอากาศ ณ ขณะนั้น ในตอนที่ผมไปจะเป็นฤดูปลายหนาวอุณภูมิจะอยู่ที่ประมาณ 0 องศาเซลเซียส ก็ต้องเตรียมเสื้อกันหนาวที่กันหนาวได้ในอุณหภูมิ ณ ขณะนั้น ยารักษาโรคกรณีฉุกเฉิน

สิ่งที่ควรจะเตรียมไปอย่างยิ่ง

สิ่งของที่ต้องเตรียมไปมิเช่นนั้นชีวิตท่านอาจจะติดขัด

  • 💰 เงินสด — ขาดไม่ได้อย่างแน่นอนเพราะบางทีทานข้าว ไปร้านอาหารที่ไม่ได้รับบัตรเราจำเป็นจะต้องมีจ่ายเงินสด
  • 💳 บัตร Debit, Credit หรือบัตรที่แลกเงินต่างประเทศเผื่อไว้ — เพราะร้านสะดวกซื้อสามารถใช้บัตรจ่ายแทนเงินสดได้
  • 👕 เสื้อผ้าที่เหมาะแก่สภาพอากาศ ณ ขณะนั้น — หรืออาจไปซื้อหน้างานก็ได้แต่เตรียมไปจะอุ่นใจที่สุด
  • 💊 ยา — รักษาโรคประจำตัว หรือลองถามเภสัชที่ร้านยาก็ได้ว่าควรจะเตรียมยาประเภทอะไรไปเพราะบางทีได้อ่านผ่านตาว่าร้านยาในต่างประเทศจำเป็นที่จะต้องมีใบสั่งแพทย์มาก่อนมิฉะนั้นจะซื้อไม่ได้ นั่นคือถ้าอยู่ดี ๆ เป็นอะไรขึ้นมาเดินดุ่มดุ่มไปซื้อไม่ได้สะดวกเหมือนไทยแน่นอน
  • 👓 แว่นสำรอง → ไม่กี่วันหลังจากนอนทับแว่นจนเลนส์หลุดใส่ไม่ได้ก็ได้ใช้เลย
  • 🌏 ซิมอินเทอร์เน็ต — สิ่งนี้ควรเตรียมไปจากไทยเพราะถ้าซื้อจากที่สนามบินหรือพวกร้านค้าทั่วไปก็ราคาก็จะพอกันแต่ในราคาไทยจะได้เน็ต Unlimited หรืออาจถูกกว่าด้วยซ้ำ
  • 💻 อุปกรณ์ต่อพ่วงคอมพิวเตอร์ → ที่พักไม่มี WiFi ในห้องให้แต่มีสาย Ethernet ให้ต่อเข้าคอม ถ้าใครใช้พวก MacBook อย่าลืมเตรียม Ethernet Adapter ไปด้วยนะครับมิเช่นนั้นท่านอาจจะต้องหิ้วคอมหรือโทรศัพท์มือถือไปใช้ WiFi ที่ Lobby กลาง
  • 🍜 อาหารกันตาย → ผมเตรียมมาม่าไปหลายห่ออยู่เผื่อเป็นอาหารสำรอง ซึ่งวันแรกก็บด ๆ กินวันแรกจากนั้นก็ค้นพบว่ากินมาม่าไทยไปทำไมเราอยู่ญี่ปุ่นเลยแจกคนในแลปเลย(ฮา)

สิ่งที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไป

ของใช้ที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไปไม่ต้องเตรียมไปให้หนักกระเป๋า เช่น

  • 🧴 สบู่อาบน้ำ ยาสระผม ครีม → ความจริงที่พักจะมีให้อยู่แล้วแหละไม่ต้องเตรียมไปก็ได้
  • 🧼 ผงซักฟอก (detergents) → ที่พักมีเครื่องซักผ้าให้แต่ไม่มีพวกผงซักฟอก

ความจริงแล้วมีพี่ท่านหนึ่งที่เดินทางไปอยู่หลายประเทศเป็นเวลานาน ๆ แนะนำมาว่าให้ไปซื้อของพวกนี้เอาตามหน้างานก็ได้ถือว่าเปลี่ยนบรรยากาศจะได้ไม่ต้องแบกของไปให้หนักกระเป๋า ซึ่งตอนแรกก็ไม่เชื่อหลังจากนั้นพออยู่ไปสักพักก็สังเกตเห็นว่าเจ้าพวกนี้ราคาก็พอกับที่เราซื้อที่ไทยและแบกไปเลย แถมบางตัวที่ญี่ปุ่นมีที่เหมาะกับสภาพอากาศของบ้านเขาด้วยด้วย เช่น กัน UV หรืออะไรก็ว่ากันไป 😂

🚌 จากสนามบิน Narita สู่ AIST

ภาพถ่ายจากสนามบิน Narita ถ่ายตอนลงจากเครื่อง อากาศคือหนาวมากกกกก

การเดินทางจากสนามบินดอนเมืองไป Narita Airport ประเทศญี่ปุ่นจะใช้เวลาประมาณ 6–7 ชั่วโมง เมื่อถึงสนามบินและก้าวออกจากเครื่องบินเวลาย่ำรุ่งเราก็สัมผัสได้ถึงความหนาวเหน็บระดับ 0 องศาครั้งแรกในชีวิต นับว่าโชคดีมากที่ใส่เสื้อกันหนาวและผ้าพันคอมาเผื่อก่อนบินออกจากสนามบินดอนเมือง

เมื่อถึง Narita Airport ก็จะมีด่านตรวจคนเข้าเมือง การเข้าไปก็จะมีเจ้าหน้าที่คนนึงคอยตรวจเอกสารของเราและจุดนี้เองก็คิดถึงอานิสงส์ของ Tasaki-san ☺️ ที่ทำให้เราผ่านเข้าเมืองไปได้อย่างราบรื่นมาก ตม. ถามประมาณว่า ไปทำอะไร อยู่กี่วัน มีเอกสารรับรองไหม คำถามเราก็ตอบไปแล้วก็ยื่นเอกสารที่เตรียมมาซึ่งเขาใช้เวลาอ่านสักพักแล้วเราก็ไปแล้วก็ผ่านฉลุย เย้!

ระหว่างอยู่ที่ Narita Airport ก็เอาแต่ถ่ายรูปตัว Mockup ขนมที่สนามบินเพราะมันสวยชนิดทีว่าอยากจะทุบกระจกหยิบขึ้นมากินเลยทีเดียว

ก่อนจะเล่าการเดินทางออกไปยังจุดนัดหมาย ขอแนะนำตัวละครก่อนสักนิดหนึ่ง คนที่คอยดูแลเราตอนอยู่ที่ญี่ปุ่นจะเป็น Senior Researcher ที่ชื่อ Jason ที่จะคอยให้คำปรึกษาโปรเจค คอยแนะนำว่าไปเที่ยวที่ไหนดี ทำตัวอย่างไร วัฒนธรรมที่นี่เป็นอย่างไร

Jason เป็นคนเชื้อสายญี่ปุ่นแต่อยู่อเมริกาแล้วกลับมาอยู่ญี่ปุ่นและทำหน้าที่คอยให้คำปรึกษาร่วมกับโปรเจคของเราโดยที่เรามี อ. ประภาพร(นุ่น) เป็นที่ปรึกษาหลักอยู่ที่ไทย ซึ่งเราจะมี Video Conference กันประมาณ 2 อาทิตย์ครั้งหรือไม่ก็เดือนละครั้งแล้วแต่สถานการณ์และความคืบหน้าของโปรเจค ณ ขณะนั้นแต่ถ้างานเร่งมากไฟลนก้นเราก็จะคุยอาทิตย์ละครั้ง แต่ความจริงแล้วเราไม่ได้มีแค่ Jason เรามีทั้ง Shava และ Nadya ที่คอยเป็นที่ปรึกษาร่วมที่คอยให้คำปรึกษาอยู่เช่นกันพร้อมช่วยเหลือตลอด เช่น จัดเตรียม Infrastructure หรือสิ่งทั้งหลายทั้งมวลที่เราไม่สามารถจัดเตรียมเองได้ เมื่อแนะนำตัวละครเสร็จเรียบร้อยก็ถึงเวลาจากสนามบิน Narita ไปที่ Tsukuba Center ซึ่งเป็นจุดนัดพบของเรา

ที่สนามบินจะมีให้เราซื้อตั๋วรถไป Tsukuba Center อยู่แล้ว ขอเพียงเราไปจ่ายเงินให้ถูกช่องก็จะได้ตั๋วมาและไปรอขึ้นตรงจุดที่กำหนดไว้ให้ตรงเวลา สำคัญมากนะครับต้อง “ตรงเวลา” เพราะวันแรกผมก็เกือบหายนะบังเกิดเพราะเรื่องเวลานี่แหละ

เราคงเคยได้ยินว่าประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความตรงต่อเวลามาก จำได้ว่าวันแรกที่ผมซื้อตั๋วเสร็จ เดินเล่น ถ่ายรูปเล่น เพื่อจะรอเวลาขึ้นรถคิดว่าจะเหมือนรถเมล์ไทยที่สายได้ เลทนิดหน่อยก็คงไม่เป็นไร แต่ความเป็นจริงแล้วไม่ใช่อย่างนั้น

เราซื้อตั๋วและนัดเอาไว้ตอน 8:00 น. เราควรจะไปเตรียมรอที่ป้ายที่ระบุไว้ในตั๋วรถเมล์ก่อนจะถึงเวลาเพราะ 8 โมงตรงคือรถจะออกจากป้ายทันทีโดยที่ไม่รอใครทั้งสิ้น! จำได้ว่าตอนนั้นเกือบตกรถแล้ว 😭 แต่ด้วยบุญเก่าที่ทำมาทำให้เราไม่ได้ตกรถตั้งแต่วันแรก พอเรารีบวิ่งไปที่ป้ายที่รอก็เจอรถที่จะขึ้นพอดีพร้อมกับเจอกระเป๋าทำท่าหงุดหงิดชนิดที่ว่านี่มันกี่โมงกี่ยามแล้วไม่ดูเวลาเลย(พูดเป็นญี่ปุ่นนะเราฟังไม่ออกหรอกแต่สัมผัสได้) แต่เขาก็ยกกระเป๋าให้ นับตั้งแต่วันนั้นก็ไม่ขึ้นรถสายอีกเลย 🤒

วิวจุดรอ Jason ที่ Tsukuba Center

เมื่อถึง Tsukuba Center เราอีเมล์ไปบอก Jason ที่เป็น Advisor ของเราว่าถึงแล้ว เขาก็จะมาในบัดดลก็ได้ทักทายจับมือเซย์ฮัลโหลกันตามประสาคนเพิ่งเจอกัน มีคำถามนู่นนั่นนี่มากมาย

จะบอกว่าเวลาติดต่อกันว่าถึงจุดนัดพบแล้วไม่ได้มีเบอร์ติดต่อนะ ใช้อีเมล์ติดต่อเอา พอเมล์ไปปั๊บเขามาเร็วมาเราก็ถามว่าทำไม อ๋อ! เพราะป้ายรอรถที่ AIST มีรถรับ-ส่งจาก AIST มาที่ Taukuba Center ซึ่งตอนจะกลับไปที่สนามบินก็ต้องขึ้นที่ป้ายนี้และเดินทางไปต่อรถไปสู่สนามบิน Narita ที่ Tsukuba Center

เจอ Jason แล้วก็ถ่ายรูปไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาอุ่นใจหน่อยว่าถึงแล้ว 555 คนที่อยู่ในรูปด้านขวาคือเคนที่เป็นคู่โปรเจคชื่อ เคน

จากนั้นพอถึงป้ายลงรถ เราก็ลากกระเป๋าไปในที่ทำงานใน AIST ไปถ่ายรูปทำบัตรเข้าตึกและพูดคุยกันแนะนำให้คนที่แผนกรู้จัก พาไปเดินทัวร์แผนกว่ามีใครบ้างชื่ออะไร อ่านเอกสารและข้อตกลงเป็นหลายสิบหน้า ตั้งค่าอะไรบ้างในคอมหรือให้เข้าอะไรบ้างต่อมิอะไรก็จำไม่ได้ละ เราก็ได้แต่นั่งอ่านทำไปตามหน้าที่ ถ่ายรูปทำบัตรเข้าพนักงานเข้าตึกอะไรก็ว่าไป กว่ากระบวนการทั้งหมดจะจบก็ใช้เวลาทั้งวันเหมือนกัน

บัตรผ่านเข้าชั้น

หลังจากผ่านมรสุมการ onboarding และเสร็จสิ้นกระบวนการทุกอย่าง ตอนเย็น Jason ก็พาเราเดินไปที่พักครับเพื่อเช็คอินและพักผ่อนเตรียมพร้อมสำหรับในวันพรุ่งนี้

ระหว่างเดินทางกลับขอบอกว่าบรรยากาศดีมาก ลมเย็นเย็นระดับ 0 องศา เสียงนกร้องจากมุมไกล อากาศบริสุทธิ์ชนิดที่สูดหายใจแล้วสดชื่นไปยังขั้วปอดซ้ายขวา ❄️😊

🌺 ที่พัก Sakura-Kan

วิวจากหน้าต่างห้องนอน ณ วันที่หิมะตก ❄️

หลังจากที่ทำบัตรเข้าที่ทำงาน และทำเอกสารต่าง ๆ เรียบร้อย ตอนเย็น Jason ก็พาเราเดินไปที่พัก ในระหว่างทางที่เดินรู้สึกฟินมากเพราะมีแม่น้ำ ต้นไม้ และลมเย็นสดชื่นปะทะผิวหน้าและทั่วทั้งร่างกายในยามเย็น เอาละมาดูในที่พักดีกว่าว่าจะมีอะไรบ้าง

  • 🛏 ห้องนอน → ในห้องนอนจะมี เตียงนอน TV โต๊ะทำงาน โคมไฟ โทรศัพท์ ตู้เย็น แก้ว เครื่องต้มน้ำ ที่เป่าผม ราวตากผ้า ไม้แขวนเสื้อ ผ้าขนหนู ผ้าเช็ดหน้า เสื้อคลุมอาบน้ำของญี่ปุ่น(ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น เหมือนในหนังเลย), สบู่ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ห้องน้ำส่วนที่มีเครื่องทำน้ำอุ่นพร้อมอ่างที่เราสามารถลงไปแช่ได้ ที่สำคัญที่สุดในห้องมีชักโครกแบบโครตจะไฮเทค
  • 🔪 ครัวรวม → จะเป็นครัวที่ถ้าใครต้องการใช้เราจะต้องไปขอทำเรื่องยืมอุปกรณ์ที่ Reception โดยจะมีพวกอุปกรณ์พื้นฐานไม่ว่าจะเป็น จาน ชาม มีดทำครัว มีด เขียง หม้อ กระทะ อย่างอื่นลืมหมดแล้วแต่เรียกได้ว่าครบครันสำหรับการทำอาหารกินเองเพื่อประทังชีวิต หม้อหุงข้าวก็มี
  • 🚬 ห้องสูบบุหรี่ → ทางที่พักเขามีห้องให้สำหรับสิงห์นักสูบโดยเฉพาะ
  • ❌ สิ่งของที่โรงแรมไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ → กระดาษทิชชู่ และ น้ำยาซักผ้า เราต้องเตรียมไปเองแต่พวกน้ำยาซักผ้าไปหาซื้อใน 7–11 ที่ญี่ปุ่นก็ได้ครับกลิ่นหอมดี
  • 🛋 ของส่วนกลาง → ไมโครเวฟ เครื่องซักผ้า(แต่ไม่มีผงซักฟอกให้เราต้องเตรียมไปเอง ถ้าให้แนะนำคือไม่ต้องหิ้วมาจากไทยครับหาซื้อเอาในร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่นดีกว่าราคาเท่ากันแถมยังได้กลิ่นญี่ปุ๊นญี่ปุ่นด้วย)
  • 🌂 ของที่สามารถยืมได้ → จักรยาน(จะไปไหนก็ปั่นจักรยานนี่แหละยืมได้ที่ Reception)

ขอเล่าเรื่องราวสั้น ๆ สำหรับความประทับใจของชักโครกในห้องนิดนึงครับ ในฤดูหนาวมันจะค่อนข้างหนาวมาก หนาวชนิดที่ห่มผ้าก็ยังเอาไม่อยู่ คราวนี้หายนะจะบังเกิดขึ้นทันทีถ้าคุณไปเข้าห้องน้ำคือฝารองมันจะมีความอบอุ่นมากชนิดที่เราขอบคุณคุณคนออกแบบผลิตภัณฑ์ว่าทำไมเขาช่างใส่ใจในรายละเอียดแบบนี้ TT

🤺 การใช้ชีวิตประจำวัน

ภาพด้านข้างตึกที่ทำงาน บรรยากาศสวยมาก อากาศดีมากกก

เคยสงสัยกันไหมว่าแต่ละวันเราทำอะไรกันบ้าง ในหัวข้อนี้จะมาเล่าชีวิตประจำวันครับตั้งแต่ตื่นนอน เดินทางไปทำงาน ตกเย็นไปร่อนที่ไหน เสาร์อาทิตย์ไปทำอะไรบ้าง

👨‍💻 เดินทางไปทำงาน

ที่จอดจักรยานด้านข้างตึกที่ทำงาน ที่จอดจักรยานจะเป็นงานมากสังเกตเห็นว่ามันลอยจากพื้นและสามารถเลื่อนได้ด้วย จักรยานสีฟ้าก็จะเป็นจักรยานที่ยืมมาจากที่ Sakura-Kan

ทาง Jason และคนในแลปของเราค่อนข้างจะยืดหยุ่นเรื่องเวลาเข้า-ออกครับจะไม่ได้เคร่งชนิดที่ตรงเวลาเป๊ะต้องมานั่งที่โต๊ะนั่งทำอะไรต่อมิอะไรไป เช่น ไปกินข้าวเที่ยงก็ไม่ต้องไปตรงเวลา รอไปตอนที่คนไม่เยอะแล้วไปทานพร้อมกันครับ ส่วนนี้ถือเป็นเรื่องที่โชคดีงามมากจริง ๆ

สำหรับเวลาเข้า-ออกก็ประมาณ 9:00–17:00 ครับ อาจจะเร็วหรือช้ากว่านั้นได้ไม่มีปัญหา โดยการเดินทางไปในตึกที่ทำงานมี 2 วิธีครับ

  • 🚶‍♂️ เดิน → ใช้เวลาประมาณ 10–15 นาที แล้วแต่ความรีบร้อน
  • 🚲 ปั่นจักรยาน → ใช้เวลาประมาณ 5–10 นาที แล้วแต่ความรีบร้อนอีกเช่นกัน โดยในเวลาที่ค่อนข้างจะรีบร้อนสุดสุดผมปั่นไปประมาณ 5 นาทีกว่า ๆ (ฮา)

สำหรับการจอดจักรยานนั้นที่ข้างตึกขามีที่จอดสำหรับจักรยานให้โดยเฉพาะครับ และความน่ารักอย่างหนึ่งของที่ญี่ปุ่นคือไม่ว่าคุณจะไปที่ไหนก็ตาม เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อก็จะมีที่ช่องเล็ก ๆ สำหรับจักรยานเสมอ 😊

⌛️👨‍💻 ช่วงเวลาการทำงาน

วิวตรงทางเดินเห็นในแลป เห็นภูเขาด้วย 🏔

วันแรกของการทำงาน Jason ก็ได้พาเราไปแนะนำตัวให้รู้จักคนในแผนก ซึ่งเราก็จะได้แนะนำตัวและรู้จักทุกคนทั่วทั้งชั้นเลย อีกความประทับใจคือเราจะได้พบ Tasaki-san ที่ช่วยเตรียมทุกอย่างให้เราเดินทางถึงที่หมายได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย

ที่แลปของเราจะค่อนข้างยืดหยุ่นเรื่องเวลา การเข้ามาส่วนมากจะมาตั้งแต่ 9:00 และออกประมาณ 18:00 เป๊ะ แต่ Tasaki-san เขาจะมาตรงเวลาและกลับตรงเวลามาก ถ้าต้องความช่วยเหลือก็จะมาในเวลาคนปกติมา แต่ถ้าเย็นเกินไปเขาก็จะกลับบ้านแล้ว

ส่วนของการทำงานก็ทำตามสโคปและแพลนที่ได้ตกลงกันไว้ถ้าติดปัญหาตรงไหนก็สามารถถามได้ทันที มีทรัพยากรให้พร้อมตลอดครับ เราก็มาคุยกันว่าเราจะทำอะไร แก้ปัญหานี้ยังไง ออกแบบการทดลองอย่างไรดี ผลลัพธ์ที่ได้สามารถเอาไป conference หรือตีพิมพ์ต่อไปเป็น paper ได้ไหม เรียกได้ว่าค่อนข้างท้าทายครับ เราได้ Jason มาช่วยแนะนำให้ว่า ไปทางไหน ควรทำอย่างไร เก็บข้อมูลอะไร และเอาข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์อย่างไร เพราะทาง Jason เขาค่อนข้างมืออาชีพทางด้านนี้ครับ

เวลาบ่ายแก่ ๆ นานน๊านทีจะมีเพื่อนจากเกาหลีที่อยู่ Lab ข้าง ๆ 2 คนชื่อ Han กับ Yeon มาเม้าท์มอยเล่นกันตามประสาวัยวัยรุ่นที่มาเที่ยวต่างเมือง บ้างก็มาโม้ว่าไปที่ไหนมาบ้าง สถานที่ที่แนะนำมีมั้ย มีจัดทริปไปลุยในเมืองด้วยกันด้วยแต่ยอนไม่ไปเพราะแฟนบินมาจากเกาหลี 🤣

มาดูในส่วนถัดไปจะเป็นส่วนของโปรเจคที่ได้ไปช่วย Jason ทำครับ

Source: Immersive Visualisation of Big Data for River Disaster Management

ผมได้ไปช่วยโปรเจคของ Jason บ้าง 1–2 โปรเจคครับ อย่างตัวแรก เป็นโปรเจคที่เอาข้อมูลที่เก็บจากเซ็นเซอร์ที่เก็บข้อมูลสภาพอากาศทั่วญี่ปุ่น จากนั้นนำข้อมูลเหล่านั้นมาคลีนและ Visualize ในรูปแบบของ VR ทำให้เราสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้แบบ Immersive อย่างกับว่าเล่นเกมส์อยู่ โดยที่เราจะต้องสวมแว่นตาและถือที่ควบคุมไว้เพื่อชี้ดูข้อมูลต่าง ๆ หรือแม้แต่การย้อนกลับไป ณ วันที่ใด ๆ ก็ได้ คือมันคูลมาก ถ้าใครสนใจสามารถไปอ่านต่อได้ในเปเปอร์ที่ชื่อ Immersive Visualisation of Big Data for River Disaster Management ครับ

Source: https://sage2.sagecommons.org/project/introduction/

อีกโปรเจคหนึ่งที่จะคือเขียน extension ไปต่อกับ SAGE2 ที่สามารถทำให้เรา Visualised ข้อมูลที่เก็บมาจาก Real-time Database และพล็อตเป็นกราฟได้เพื่อที่ในอนาคตเราสามารถที่จะดึงข้อมูลและให้ Visualised บนจอขนาดใหญ่บิ๊กเบิ้มแบบ Real-time ได้ โดยเราจะใช้ติดตามพวกภัยพิบัติที่เกิดขึ้นได้ในญี่ปุ่นแบบ Real-time บอกได้ว่าท้าทายอยู่ครับทั้งในแง่ของการเก็บข้อมูล การดึงข้อมูลและแสดงผลบน Platform ที่ไม่คุ้นและมี Documentation มากเท่าไร มีแต่เพียงโค้ดคนที่ทำโปรเจคก่อนหน้าทำไว้ก่อนและใช้ได้ จากนั้นก็เอามาแกะและเขียนใหม่ขึ้นมา จริง ๆ ส่วนนี้เป็นส่วนที่เกินจากสโคปซึ่งตอนแรกคิดว่าไม่ทันแต่ก็เขียนออกมาได้ในวันสุดท้ายก่อนจะกลับไทย 😄 จุดนี้บอกได้เลยว่าดีใจมากจนกรี๊ดลั่นห้องเลยครับ

🍛 พักเที่ยง

ตอนพักเที่ยงจะมีพวกพี่จากแล็ปชวนเราไปทานข้าวด้วยกัน แต่ไม่ใช่เที่ยงตรงเลยครับจะไปสายหน่อยเพราะเที่ยงตรงคนจะค่อนข้างแออัดมาก พอได้เวลาก็มาชวนกันลงไปทานข้าวที่โรงอาหาร

ส่วนตัวชอบช่วงนี้มาก เพราะมันคือช่วงเวลาที่เราได้แลกเปลี่ยนพูดคุยระหว่างคนที่อยู่บนโต๊ะที่ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ครับช่วงนี้สนุกดีเหมือนกันได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอย่างสนุกสนานมาก จะมีบางคนที่พูดอังกฤษได้ก็จะพูดกับเรา บางคนพูดไม่ได้ก็จะถามคนที่พูดได้เป็นภาษาญี่ปุ่นแล้วก็ให้คนนั้นเป็นล่ามให้เรา 😆

ราคาอาหารในโรงอาหารจะประมาณ ¥100 — ¥1000 แล้วแต่ว่ามื้อนั้นอยากจะทานจุกแค่ไหน วิธีการก็คือเดินไปชี้ ๆ บอกเขาว่าต้องการอะไรแล้วเขาก็จะเสิร์ฟมาให้จากนั้นเดินไปคิดเงิน บางคนเอาข้าวกล่องมาจากบ้านก็มีครับเป็นกล่องเล็ก ๆ ที่คุณภรรยาทำมาให้ น่ารักมาก 🍱 พอทุกคนได้อาหารเรียบร้อยก็จะไปนั่งรอที่โต๊ะและจะรอทานข้าวพร้อมกัน

มีคำศัพท์วิเศษคำหนึ่งที่อยากจะแชร์ในวันที่หิวมาก ๆ นั่นคือ โอโมริ(ไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นเขียนอย่างไรนะ) มันคือการขอเพิ่มเวลาเขาตักข้าวหรือขอพิเศษทำนองนั้นครับ เราก็จะได้เยอะเป็นพิเศษ และโดนคิดตังค์เพิ่มด้วยเช่นกัน แต่รับประกันได้ว่าอิ่มแน่นอน

หลังเสร็จแล้วทุกคนต้องแยกอุปกรณ์ทั้งหมดลงในแต่ละถังครับก่อนจะนำจานไปคืนที่จุดคืนจาน

พอทานข้าวเสร็จเราก็จะเอาอุปกรณ์ไปคืนครับ การคืนอุปกรณ์จะมีถังแยกแต่ละชนิดอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น ตะเกียบ ขยะพลาสติก ขยะกระดาษ หลังจากนั้นก็พากันเดินกลับไปที่ชั้นและทำงานที่เรารักต่อ

ถังขยะในห้องทิ้งขยะ

มีอีกหนึ่งความประทับใจเรื่องการแยกขยะครับ ในวันแรกของการเข้ามาที่ AIST จะมี Tasaki-san มาบอกว่าห้องน้ำ ที่กดน้ำ ที่ทิ้งขยะอยู่ตรงไหน ถังที่นี่เขาจะแบ่งชัดเจนว่าถังไหนสำหรับใส่อะไรบ้าง เช่น กระป๋อง ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ในการทิ้งขวดแต่ละครั้งเราจะต้องทิ้งให้ถูกช่องและแยกฝาขวดทุกครั้ง ส่วนถ่านก็จะมีกระบะแยกต่างหาก ตอนแรกเราก็ยังไม่ทราบครับจนกระทั่ง Tasaki-san มาสอนให้ตั้งแต่วันแรกว่าเราควรจะทิ้งอย่างไร

🧘 หลังเลิกงาน

ช่วงเวลาที่ลั้ลลาปาจิงโกะที่สุดจะมี 2 ช่วงครับ คือ ช่วงที่ Jason ไม่อยู่ และหลังเลิกงานนี่แหละ ในตอนเย็นของญี่ปุ่นฤดูหนาวท้องฟ้าจะค่อนข้างมืดเร็วมากครับ ปกติแล้วเราก็จะออกจาก AIST ประมาณ 17:30–18:00 แต่เข็มนาฬิกายังชี้ไม่ถึงเลขหกก็มืดมากแล้ว เราก็จะไปเอาจักรยานและกลับเข้าที่พักเพื่อไปวางกระเป๋าในที่พัก

วันแรกหลังเลิกงานจำได้เลยว่าหาทางปั่นจักรยานไปซุปเปอร์มาร์เก็ตกันครับ เราถามทางจาก Reception และเปิด Google Maps และปั่นกันไป วันแรกจำได้ว่าแผนที่มันพาไปทางที่ไม่ค่อยฉลาดนักแบบมืดมากแล้วถนนก็ไม่ได้ดีเท่าไร ตอนหลังเลยเชื่อทาง Reception และปั่นไปเป็นเส้นตรง ถนนดี๊ดีถึงจุดหมายอย่างรวดเร็วมาก 😐

มีสถานที่ประจำที่ผมชอบไปหลังเลิกงานครับ

  • 📍 カスミ 梅園店 (Kasumi Food Market — Umezono) → เป็นร้านสะดวกซื้อคล้ายที่ขายอาหารสด เนื้อสัตว์ ขนม ข้าวกล่อง ขนมปัง และของใช้ต่าง ๆ ครบถ้วนมากครับ ในช่วงดึกผมจะปั่นออกไปสอยของกินลดราคาเป็นประจำ เช่น ซูชิปลาดิบ เบนโตะ ขนมปัง ดังโงะ ฯลฯ
  • 📍 味噌のジョーつくば本店 → ร้านราเม็งโปรดที่มักจะปั่นจักรยานไปในยามที่อากาศหนาวเหน็บเกือบ 0 องศาคงจะพลาดราเม็งร้อนถ้วยใหญ่ไปได้อย่างไร ไปนั่งทานราเม็งที่มีความหอม เข้มข้น จากนั้นซดน้ำซุป ตามด้วยเส้นที่มีความเหนียวหนึบหนับ เมื่อทานพร้อมกันทุกองค์ประกอบย่อมทำให้เราขึ้นสวรรค์แน่นอน
  • 🚲 ปั่นจักรยานเล่น → โดยส่วนตัวชอบไปปั่นจักรยานเล่นรอบเมืองที่อยู่ไม่ว่าจะเป็น รอบ AIST หมู่บ้านข้างเรือนเคียง เข้าไปในตัว Tsukuba Center เมืองบ้างอะไรบ้างเรียกว่าช่วงเวลาที่อยู่บนจักรยานนี่แหละมีความสุขที่สุด

🎉 Farewell Party

ก่อนที่เพื่อนฮันกับยอนจะไปเราจะมี Farewell Party ที่ทุกคนจะนำอาหารของตัวเองมาและมารวมกันหลังเลิกงาน

ภาพที่เห็นผมถือโทรศัพท์คือเป็นรูปของยอนที่ไปชนแก้วกับทุกคนแล้วเมาหนักจนกลับห้องไปนอนผมเลยเปิดรูปในโทรศัพท์เพื่อที่จะให้เห็นรูปแต่อย่างที่เห็นนี่หละครับ เห็นแต่จอขาวแทน 🤣

🚴‍♀️ Mount Tsukuba Challenge

อย่างเคยเล่าว่าช่วงเวลากลางวันที่ได้ไปทานข้าวเป็นเวลาที่สนุกที่สุดอีกช่วงเวลาหนึ่งเพราะเราจะได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ขอคำแนะนำว่าสถานที่ไหนที่น่าไปบ้าง หรือมีร้านข้าวไหนแนะนำไหม

มีวันหนึ่งเราได้นั่งตรงข้ามกับ Hirofuchi-san ที่เป็นที่ปรึกษาเพื่อนเกาหลีของเรานั่นเอง เขาเล่าว่าเขาเข็นจักรยานขึ้นภูเขาใช้เวลาเกือบสามชั่วโมงนี่แหละ พร้อมกับวันนั้นเป็นวันใกล้วันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนกลับ เลยเกิดไอเดียบ้า ๆ บอ ๆ ว่าอะไรที่ยังไม่เคยทำและอยากทำมากก็เหลืออีกอย่างเดียวคือไป Mount Tsukuba จุดนี้เลยเป็นไอเดียที่ถามเขาทันทีเลยว่าสามารถปั่นจักรยานไปได้เหรอ เพราะเราเคยเปิดแผนที่ดูว่าระยะทางจากที่พักของเราไป Mount Tsukuba ก็ไม่ไกลมากไม่กี่กิโลเองน่าจะไปได้สบาย ๆ ไม่มีปัญหาอะไร เพราะตอนนั้นเราปั่นจักรยานทุกวันจนชินไปละ ชินจนชนิดที่ว่าสามารถขี่จักรยานปล่อยมือได้เกือบ 20 นาทีแน่ะ(ฮา)

วันอาทิตย์ที่ 17 ก็ตื่นขึ้นมาอยู่ดี ๆ อะไรก็เข้าสิงไม่ทราบเหมือนกันครับก็ออกเดินทางเลยครับ กินข้าวที่ทำกับซื้อตุนไว้และเตรียมกระเป๋าละออกเดินทาง วันนี้เป็นวันดีมากที่เจอ Reception ที่เจอกันเป็นประจำและน่ารักมาก เขาบอกว่าให้เราเลือกจักรยานเลยว่าจะเอาคันไหน (เรายังไม่ได้บอกด้วยนะว่าจะปั่นไปภูเขา) ซึ่งแน่นอนว่าเราก็เลือกคันที่เคยปั่นและมั่นใจมากที่สุด ส่วนเส้นทางน่ะเหรอครับก็เปิด Google Maps จิ้มเอาจุดหมายและปั่นไปตามทางที่มันขึ้นมาเลย

[ภาพซ้าย] ดอกไม้สวยงามที่เจอระหว่างทาง, [ภาพกลาง] ทางที่เข็นจักรยานและกระเป๋าขึ้นไป ชันมากกกกก, [ภาพขวา] ในที่สุดก็เห็นป้ายที่บอกว่าใกล้จะถึงสักที TT

ระหว่างทางที่ปั่นมาบอกได้ว่ามีความสุขมากเพราะถนนดีมากปั่นได้เรื่อย ๆ อากาศก็ยังดีอีกไม่ร้อนมาก ตอนปั่นไปเราก็ได้เห็นในเมืองและนอกเมืองในส่วนที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อนได้เจอ ดอกไม้ที่ไม่เคยเห็น ศาลเจ้า ผู้คนในหมู่บ้านที่มาทำกิจกรรมกันในวันอาทิตย์ในหมู่บ้านที่ใกล้ ๆ ภูเขา เขาก็ยิ้มทักทายให้เรา ☺️ เราก็ได้โอกาสถามทางด้วยเลย จนในที่สุดก็ถึงศาลเจ้า 筑波山神社 大鳥居 (Mount Tsukuba Shrine Otorii)

เข็นจักรยานขึ้นมาจนถึง 筑波山神社 大鳥居 (Mount Tsukuba Shrine Otorii ⛩)

หลังจากเจอทางเข้าศาลเจ้าแล้วก็เข็นขึ้นไปต่อจนถึงจุดที่ไม่สามารถเข็นขึ้นไปต่อได้ คนส่วนใหญ่เขาจะจอดพวกมอเตอร์ไซค์กับรถยนต์ไว้ข้างล่างและเดินขึ้นไป เราก็เดินไปซื้อเกลือแร่ร้านข้าง ๆ และเจ้าของร้านใจดีมากบอกจอดจักรยานได้เลยและก็พาเราไปจอดข้างร้าน (น่ารักมากกก😊)

[ภาพซ้าย] ภาพของตั๋วที่ขึ้นไปครับ ค่าตั๋ว ¥1,050, [ภาพขวา] โชคยังดีที่ไปทันก่อน 17:00 ก่อนรอบสุดท้าย จำได้ว่าไปถึงประมาณ 16:00 กว่า ๆ

พอเติมพลังเสร็จเรียบร้อยก็เดินขึ้นไปต่อเรื่อย ๆ จนเจอศาลเจ้าและเดินต่อไปจนถึง 筑波山ケーブルカー山麓駅(宮脇駅) (Miyawaki Station (Mt. Tsukuba Cable Car)) และขึ้นรถรางไปด้านบนภูเขาต่อ นับว่าโชคดีมากที่ยังมีรอบให้ขึ้นไป แถมมีเวลาให้เดินด้านบนประมาณ 1 ชั่วโมง และลงมาให้ทันรถรางเที่ยวสุดท้าย เวลา ณ ตอนนั้นประมาณ 16:00 ซึ่งจะต้องกลับมาที่สถานีก่อน 17:00

หลังจากรู้ตัวว่ามีเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมงไปกลับก็รีบวิ่งไปเลยสิครับ ไม่อยากเสียเที่ยว เพราะกว่าจะ ปั่นจักรยาน เข็นจักรยานขึ้นมานั้นมันทรหดมาก มันแค่ต้องขึ้นไปอีกนิดเดียวเท่านั้น เลยใช้พลังเฮือกสุดท้ายไปเพื่อเดินขึ้นไปต่อจนถึงจุดยอดเขาซึ่งมีศาลเจ้าด้วย 😳

ด้านบนสุดของภูเขามีศาลเจ้าด้วย ถ้าเดินต่อไปอีกนิดจะเห็นจุดชมวิวที่มหัศจรรย์มาก

หลังจากขึ้นไปด้านบนเราก็เดินไปต่อจนสุดทางที่จะไปได้ก็จะเจอจุดชมวิวที่สวยงามชนิดที่ว่าพอเห็นแล้วหายเหนื่อยทันทีครับ ด้วย อากาศ วิวทิวทัศน์ บวกกับความหิมะตกเล็กน้อย เรียกได้ว่าโรแมนติกสุด ๆ สมกับคำร่ำรือว่า “Mount Fuji of the west and Mount Tsukuba of the east”

ภาพ Panorama ที่บนสุดของ Mount Tsukuba ในวันที่ท้องฟ้าไม่ค่อยจะเป็นใจเท่าไร แต่บรรยากาศดีทีเดียว หิมะตกด้วย

พอขึ้นไปก็ดูวิวสักพักและชื่นชมความทรหดที่ผ่านมาและถ่ายรูปกรุบกริบให้รู้ว่าเราขึ้นมาถึงแล้วนะ

ถ่ายเก็บไว้เป็นที่ระลึกสะหน่อย
[บนซ้าย] วิวขากลับลงมาจากเขาและมาเอาจักรยานเพื่อปั่นกลับที่พัก, [บนขวา] แวะถ่ายวิวระหว่างปั่นจักรยานกลับ, [ล่างซ้าย] แวะถ่ายวิวระหว่างปั่นจักรยานกลับ, [ล่างขวา] แวะกินราเม็งที่ร้าน Hariken Ramen

ขากลับก็ต้องปั่นจักรยานลงเขากลับบ้านครับ ขากลับสบายมากเพราะแทบไม่ต้องออกแรงเลยแค่ควบคุมความเร็วให้ได้ก็พอ (แหงล่ะเข็นขึ้นมาตั้งหลายชั่วโมง😌) และแวะพักทานราเม็งร้านที่ Professor Nagata คนหนึ่งที่เจอบนรถบัสขากลับจากโตเกียวแนะนำมา(จริง ๆ Professor คนนี้เป็นแรงบันดาลใจเหมือนกันครับเพราะตอนกลับก็นั่งบนรถแล้วก็คุยกันเกือบชั่วโมง ยังไม่พอขากลับก็เดินกลับทางเดียวกันอีกเลยได้คุยกันแลกเปลี่ยนกันเยอะมากรวมถึงทริปปั่นจักรยานนี้ด้วย)

วันจันทร์ต่อมาก็ไปเล่าเรื่องที่ปั่นจักรยานให้ Hirofuchi-san ฟังว่าเราไปมาแล้วนะ จังหวะนั้นหน้าเขาประหลาดใจนิดนึงครับ เพราะเขาไม่คิดว่าเราจะไปและเราเป็นคนแรกที่ปั่นไป เขาบอกว่าเคยบอกให้นักเรียนลองปั่นไปแล้ว แต่คุณเป็นคนแรกเลยนะเนี่ยที่ไปตามที่บอกจริง ๆ 😝

🤹‍♀️ สิ่งที่ได้จากการไปแลกเปลี่ยน

🇯🇵🇺🇸🇹🇭 ภาษา

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจนทุกคนที่ร่วมโปรเจคสังเกตอย่างเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเรื่อง ภาษา เพราะการแลกเปลี่ยนครั้งนี้จำเป็นจะต้องคุยกับที่ปรึกษาที่ร่วมโปรเจคที่อยู่ที่มหาวิทยาลัยในอีกฟากฝั่งของโลกผ่าน Zoom เพื่ออัพเดทความคืบหน้าเป็นประจำพร้อมทั้งรายงานทั้งหมดจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ การที่เราไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครพูดภาษาไทยได้จึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ดีเยี่ยม

ในตอนแรกสกิลด้านภาษาติดลบมาก กล่าวคือฟังออกแต่เวลาพูดจะต้องคิดคำในหัวสักประเดี๋ยว กว่าจะพูดออกมาได้แต่ประโยคนี่เจ็บปวดหัวใจสะเหลือเกิน จนกระทั่งวันหนึ่งอาจารย์ที่ปรึกษาน่าจะสุดทนที่เห็นเราในตอนนั้นจึงเกิดเหตุการณ์หนึ่งที่อาจารย์จับมาให้ทำรายงานทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษและ Weekly report เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดซึ่งช่วยได้เยอะมากครับ ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยบังคับให้ทำสิ่งเหล่านี้ 💪

หลังจากที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีใครสามารถพูดภาษาไทยกับเราได้ เราก็จำเป็นต้องฝึกเยอะขึ้นไม่ว่าจะเป็นการดูซีรี่ยส์ 2 season จบภายในคืนเดียว 🤣 หรือฟังพวก Podcast เก็บศัพท์ต่าง ๆ และคุยกับ Jason ก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้เป็นอย่างดีเช่นกัน

จากที่ไม่มั่นใจในการพูดและพูดติดขัดในช่วงแรกเหมือนกับว่ามันค่อยค่อยหายไป กระทั่งมีที่ปรึกษาทักว่าเราพูดภาษาอังกฤษได้คล่องขึ้นมากนะ และทุกคนใน Meeting ก็เห็นพ้องต้องกันว่าจริงด้วย เปลี่ยนไปมากจริง ๆ จนมาสังเกตตัวเองครับว่าจริงด้วย เพราะจากเมื่อก่อนเราต้องแปลงคำพูดในหัวจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ กลายเป็นว่าคิดเป็นภาษาอังกฤษไปเลยมันเลยเร็วและคล่องขึ้นมา

สกิลภาษาญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เราก็ได้คำศัพท์พื้นฐานมาก ๆ มาเพื่อการดำรงชีวิตรอด เช่น สวัสดีตอนเช้า บ่าย เย็น ราตรีสวัสดิ์ ขอบคุณ ขอโทษ รวมถึงสิ่งของต่าง ๆ หรือแม้แต่การนับเลข เรียกได้ว่าทำให้สนใจภาษาญี่ปุ่นมากขึ้นมาเยอะในช่วงนั้นเพราะอาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแต่ภาษานั้น ๆ ด้วย แต่ทว่าภาษาที่สื่อสารหลักและต้องเขียนเป็นรายงานและสรุปงานคืออังกฤษทำให้จำคำญี่ปุ่นเพื่อเอาตัวรอดเฉย ๆ (อันนี้เสียดายเหมือนกันถ้ารู้ไปสักนิดคงจะสนุกขึ้นเยอะมาก)

คนญี่ปุ่นที่ผมเจอส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษเท่าไร สกิลการเอาตัวรอดส่วนนี้ก็สำคัญเช่นกัน เช่น ไป Super Market หาของไม่เจอ ผมก็จะใช้ Google Translate เป็นภาษาอังกฤษแล้วแปลเป็นญี่ปุ่นออกมาให้ดูว่าเราต้องการสื่อถึงคำนี้นะ ซึ่งพนักงานก็พยักหน้าแล้วส่งเสียงเข้าใจดัง ๆ ออกมาว่า “ฮ่าาา … แล้วก็พึมพำเป็นภาษาญี่ปุ่น” ตรงนี้น่ารักดีนะครับเราจะเข้าใจได้ว่าเขาเข้าใจเราได้อย่างดีแล้วและจะพาเราไปสู่ของสิ่งนั้นอย่างกระตือรือร้น (ฮา)

🤔 กระบวนการคิด ทัศนคติ และประสบการณ์ใหม่

เนื่องจากจำเป็นจะต้องมีการทำการทดลองวัดค่าประสิทธิภาพต่าง ๆ ของสิ่งที่เราจะต้องทำการทดลองในโปรเจค เพื่อที่ว่าในอนาคตอาจจะได้นำไปตีพิมพ์เป็น paper การทำการทดลองหาค่าประสิทธิภาพ หรือกระบวนการทดลองอย่างเป็นระบบจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผู้ที่เข้ามาช่วยแนะนำในการทำสิ่งเหล่านี้ก็คงหนีไม่พ้น Jason นั่นเอง สิ่งที่ได้เรียนรู้เช่น เก็บข้อมูลการทดลอง การออกแบบการทดลอง การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และตีความต่อด้วยวิธีการทางสถิติที่เคยร่ำเรียนมาในชั้นปีแรกแต่คืนอาจารย์ไปหมดแล้ว

ในเชิงเทคนิคก็จะมีเช่นกัน เช่น การเรียนภาษา Go เพื่อไปเขียนส่วนต่อขยายและเปิด PR ในโปรเจค Open Source ที่ไม่เคยแตะมาก่อน หรือเขียนพวก Terraform เพื่อใช้ในการสร้างพวก instance ใน Google Cloud เพื่อสร้าง Instance ขึ้นมาใช้ในการทดลอง และสามารถปรับค่าในหลากหลายตัวแปรที่กำหนดไว้ จำได้ว่าตอนนั้นรันเครื่องขึ้นมากว่า 30 เครื่องจนถึงลิมิตที่กำหนดไว้จนต้องติดต่อทาง support เพื่อเพิ่มลิมิตให้ 😆 แน่นอนว่าทั้งหมดบางส่วนก็ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมดจากศูนย์

นอกจากงานแล้วก็ได้คุยกับ Jason ที่เป็นที่ปรึกษาเหมือนกัน เพราะเขาไม่ค่อยจะอยู่ที่แลปเท่าไรนัก บินไป Conference หลายที่ พอเขาอยู่แลปก็เลยคุยชวนคุยชีวิตทั่วไป นักเรียนที่มาที่นี่เป็นอย่างไรบ้างหลังจากจบไป จะเรียนต่อดีไหม จะบอกว่า Jason คุยสนุกมากครับบางทีก็คุยกันเพลินปาไปชั่วโมงกว่าก็มี แต่บทสนทนาค่อนข้างจะได้แนวคิดค่อนข้างเยอะดี ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะและได้เรียนรู้เยอะมากเช่นกัน

🤪 ได้รู้จักคนใหม่

ได้รู้จักหลายคนครับทั้ง พี่ในแลป เพื่อนร่วมแลป หรืออาจารย์ที่เจอในรถบัสตอนขากลับจาก Tokyo

  • Hirofuchi-san พี่ที่ทำงานที่แนะนำทริปปั่นจักรยานขึ้นภูเขา Tsukuba รวมถึงสถานที่อื่น ๆ
  • Han และ Yeon เพื่อนชาวเกาหลีที่แนะนำร้านกินอาหารอร่อย พร้อมทั้งปั่นจักรยานไปกินข้าวกัน แถมไปทริปสนุกด้วยกันใน Tokyo ที่ Yeon ไม่ไปด้วยเพราะว่าไปเที่ยวกับแฟนที่บินมาจากเกาหลี 😏
  • Slavia, Sima เพื่อนชาวอินเดียที่เจอกันในห้องครัวตอนทำกับข้าวเย็น ๆ ตอนนั้นจะมีแบ่งอาหารกันชิมบ้างอะไรบ้างในครัว มีครั้งหนึ่งเคยทำกาวที่ติดรองเท้าหกบนโต๊ะเลยไปขอพวกน้ำยาล้างเล็บกับ Slavia ซึ่งเขาบอกเขาไม่มีแต่ในแลปมีเดี๋ยวเอามาให้ น่ารักมาก

🎎 วัฒนธรรม

มีสิ่งหนึ่งที่น่ารักที่ได้เจอจากครอบครัวญี่ปุ่นระหว่างทานร้านซูชิข้างที่พัก เผอิญว่ามีครอบครัวที่มีคุณแม่มาทานข้าวอยู่โต๊ะด้านข้าง ในครอบครัวมีน้องเล็ก ๆ บังเอิญว่ามาทักเราพอดีเราก็ได้สนทนากัน คุณแม่เขาสอนเรื่อง การพูดขอบคุณควรจะก้มหัวอย่างไร พูดอย่างไร

เรื่องความตรงต่อเวลา อย่างที่ทราบกันดีในช่วงต้นว่าผมเคยเกือบจะพลาดรถเพราะไม่ตรงเวลา เพราะทุกท่านก็ทราบกันดีว่ารถโดยสารสาธารณะที่ไทยกะเวลาได้ค่อนข้างลำบากเมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่ถ้าถึงเวลาหรือก่อนเวลาปุ๊บจะมาถึงป้ายทันที สิ่งนี้คือข้อดีที่ทำให้เราสามารถวางแผนการเดินทางได้อย่างแม่นยำและไม่เสียเวลาครับ

ถ้าพูดถึงความตรงต่อเวลาอาจจะคิดแค่ว่าก็แค่มาตรงเวลาไม่เห็นจะมีอะไรนิ แต่ท่านลองคิดดูครับว่าถ้าทุกคนในประเทศตรงเวลาไม่ว่าจะเป็น การขนส่งสาธารณะอย่าง รถไฟ รถเมล์ รถส่งของต่าง ๆ หรือแม้แต่การประชุม การเรียนการสอน จะให้เราสามารถวางแผนได้ คาดเดาทุกอย่างได้เพราะทุกคนจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้มาถึงเวลาที่นัดหมายไว้

เรื่องวัฒนธรรมมีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ ๆ เขียนอย่างไรก็คงจะไม่หมด เอาเป็นว่าลองไปสัมผัสกันดูสักครั้งในชีวิต

🙏 Special Thanks

  • ดร. ประภาพร รัตนธำรง (อาจารย์นุ่น) ที่คอยเป็นทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเรื่องโปรเจค เป็นไลฟ์โค้ชในยามที่ท้อแท้ หมดหวัง หมดกำลังใจ และท่านได้เป็น ผู้นำทางจิตวิญญาณ ให้พวกเราจนจบโปรเจคได้ และแน่นอนว่าการได้มาแลกเปลี่ยนครั้งนี้ด้วย 😊
  • Jason ไม่ต้องพูดถึง เป็น Advisor ที่ดีมากไม่ว่าจะเป็นทางด้านงาน ที่กิน สถานที่ที่พลาดไม่ได้และการให้คำปรึกษาเรื่องชีวิต เรียนต่อ เป็นต้น รวมถึง Shava, Nadya รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด
  • เพื่อนร่วมโปรเจคอย่างเคนที่ทำให้ทุกอย่างเสร็จทันและผ่านไปได้ด้วยดี
  • Tasaki-san ที่คอยเป็นไกด์ให้เราในตั้งแต่ก่อนบินมาที่ญี่ปุ่นรวมไปถึงการอยู่ที่นี่ ทั้งแนะนำสถานที่กินอร่อย ๆ สถานที่เที่ยวตามฤดูกาลที่ไม่ควรพลาด พร้อมวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นซึ่งบางทีเราอาจจะไม่รู้มาก่อน คำศัพท์ภาษาญี่ปุ่นพื้นฐานทั้งหลาย
  • พี่ ๆ ในในภาคที่ช่วยทำเอกสารเรื่องการสอบรวมถึงเอกสารจำเป็นต่าง ๆ ที่ถ้าพวกพี่เขาช่วยเตรียมเอกสารให้ก็คิดไม่ออกเช่นกันว่าจะได้ไปไหม
  • รวมไปถึงผู้สนับสนุนที่อาจจะไม่ได้กล่าวถึงรวมถึงแต่อยู่เบื้องหลังที่ทำให้การมาครั้งนี้เป็นจริงได้ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ พี่น้อง และญาติทุก ๆ คนครับ

อยากฝากอะไรไหมสำหรับคนที่จะไป?

ทำตัวให้เบาที่สุด ให้ไม่เหลืออะไรที่เราจะต้องกังวลในช่วงเวลาที่เราใช้ชีวิตอยู่ที่ต่างเมืองและทำให้เต็มที่โดยที่ไม่ต้องเหลืออะไรให้เสียใจในภายหลัง

เขียนด้วย ❤️ โดย Ayuth Mangmesap

--

--