แชร์ประสบการณ์การออกแบบ UX กับ Blockchain ฉบับ Band Protocol (Part 1)

Ming Ming Ming
Band Protocol Thailand
2 min readJul 23, 2019

หลายคนคงเคยเห็นคำว่า Blockchain หรือ Cryptocurrency (สกุลเงินดิจิตอล) กันมาบ้าง เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวใหญ่ว่า Facebook กำลังจะออกสกุลเงินดิจิตอลที่เรียกว่า Libra ออกมา สื่อหลายสำนักก็ต่างให้ความสนใจกันอย่างแพร่หลาย

Band Protocol เองก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่สร้างอยู่บนเทคโนโลยี Blockchain เช่นกัน เป้าหมายของเราคือการทำให้นักพัฒนาแอปพลิเคชั่นบน Blockchain สามารถเข้าถึง ข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ง่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ถือเป็นข้อจำกัดใหญ่ที่ทำให้แอปพลิเคชั่นบน Blockchain มีประโยชน์เพียงในวงแคบและเข้าไม่ถึงกลุ่มคนทั่วไป Band Protocol กำลังทำลายข้อจำกัดนี้ลงและทำให้ Decentralized Application นั้นใช้ได้แพร่หลายมากขึ้น

ในบทความนี้เราจะมาแชร์ประสบการณ์ในการออกแบบ User Experience ในผลิตภัณฑ์ของเรา โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ

1. ปัญหา UX ที่พบบ่อยในแอปพลิเคชั่นบน Blockchain

2. กระบวนการแก้ปัญหาที่ใช้ในทีม Band Protocol

สำหรับผู้ที่สนใจ UX ที่ยังไม่รู้จักเทคโนโลยี Blockchain เราขอแนะนำให้อ่าน Blog เหล่านี้ เพื่อความเข้าใจเบื้องต้นกันก่อน

✍🏻 https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=900

✍🏻https://techsauce.co/tech-and-biz/understand-blockchain-in-5-minutes/

สำหรับพาร์ทแรกนี้หัวข้อที่เราจะพูดถึงก็คือ ปัญหา UX ที่พบบ่อยในแอปพลิเคชั่นบน Blockchain ในฐานะผู้ให้บริการข้อมูลที่น่าเชื่อถือนั้น โจทย์หลักของเราคือการสร้างประสบการณ์การใช้งานผ่าน API สำหรับนักพัฒนาให้ได้ดีที่สุด และในขณะเดียวกันเราก็ต้องสร้างประสบการณ์การใช้งาน รวมไปถึงหน้าตาของแอปพลิเคชันที่รองรับการใช้งานของผู้ใช้ทั่วไปที่ถือเหรียญของ Band Protocol ด้วยเช่นกัน ในช่วงเวลาหนึ่งปีกว่าๆ ที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ปัญหาการใช้งานของผู้ใช้ผ่านทั้งทางการสัมภาษณ์และจากประสบการณ์การใช้งานจริงของทีมเราเอง โดยปัญหาที่พบแบ่งได้เป็น 4 ข้อหลักๆ ดังนี้

  1. ระบบจัดการผู้ใช้งานที่ไม่เหมือนกับแอปพลิเคชั่นปกติ
  2. ระบบความปลอดภัยที่ดีจนใช้งานได้ลำบาก
  3. ความช้าของ Blockchain และความไม่แน่นอนของการเก็บข้อมูล
  4. ศัพท์เฉพาะและเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ซับซ้อน

1.ระบบจัดการผู้ใช้งานที่ไม่เหมือนกับแอปพลิเคชั่นปกติ

ขอยกตัวอย่างจากการทำแอปพลิเคชัน Wallet ซึ่งเป็นเหมือนกระเป๋าที่คอยเก็บเงินสกุลดิจิตอลเอาไว้ ปกติแล้วการเข้าถึงการใช้งานในเว็บหรือแอปพลิเคชันทั่วไปจะมีการ Login ด้วย Username และ Password แต่สำหรับ Blockchain แล้วเราไม่สามารถ Login ได้ด้วย Username และ Password โดยที่การเข้าใช้งานของ Wallet นั้นจะต้องมีทั้ง Public key และ Private key ซึ่งเปรียบเสมือน Username และ Password นั่นเอง นอกจากนั้นยังมีรหัสอีก 12 คำที่ผู้ใช้จำเป็นต้องเก็บเพื่อยืนยันตัวตนและห้ามหายเด็ดขาด ซึ่งใน 12 คำนี้ไม่ได้เกิดจากการสร้างเองได้ แต่เกิดจากการที่ตัวแอปพลิเคชันสุ่มคำสั้นๆ ที่ไม่ซ้ำกัน 12 คำให้เราจดใส่ในที่ๆ ปลอดภัยที่สุด ซึ่งถ้าเราจำ 12 คำนี้ไม่ได้ แอป Wallet ก็ไม่สามารถกู้รหัสผ่านให้เราได้ และเราจะไม่สามารถเข้าถึงกระเป๋าเงินของเราได้อีก

https://unsplash.com

2. ระบบความปลอดภัยที่ดีจนใช้งานได้ลำบาก

จุดมุ่งหมายของเทคโนโลยี Blockchain นอกจากจะทำไปเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้แล้วนั้น ความปลอดภัยก็เป็นอีกเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นเมื่อผู้ใช้ได้ทำการส่งธุรกรรมบน Blockchain ไปแล้วมันจะไม่ส่งไปอย่างอัตโนมัติเหมือนแอปพลิเคชันปกติ แต่จะมีการขออนุญาตผู้ใช้ให้เซ็นลายเซ็นเพื่อทำการยืนยันเสมอ หมายความว่าทุกครั้งที่เราเข้ามาใช้งานในแอปพลิเคชันและมีการส่ง Transaction เกิดขึ้น ผู้ใช้จะต้องคอยเซ็นลายเซ็นของตนเองเพื่อยืนยัน ซึ่งจุดนี้อาจจะสร้างความหงุดหงิดให้กับผู้ใช้ได้

https://unsplash.com

3. ความช้าของ Blockchain และความไม่แน่นอนของการเก็บข้อมูล

ปัญหาหลักของ Blockchain ตอนนี้คือช้ามากเมื่อเทียบกับระบบธุรกรรมทั่วไป ซึ่งอาจต้องรอการอัพเดตถึง 15 วินาทีขึ้นไปเลยทีเดียวถึงจะได้รับการบันทึกลงใน Blockchain นอกจากจะรอการอัพเดตที่นานกว่าแอปพลิเคชันทั่วไปแล้วในบางกรณีอาจโดนยกเลิกได้กลางคันถ้าสิ่งที่เราทำไม่ตรงตามเงื่อนไข เช่น ส่งเกินเวลาที่กำหนด หรือ ที่อยู่ที่จะส่งไม่ถูกต้อง เป็นต้น ขณะที่ระบบธุรกรรมออนไลน์ของธนาคารปกตินั้นสามารถโอนเงินหากันได้ภายในเสี้ยววินาที หรือถ้าข้อมูลไม่ถูกต้องก็ไม่ต้องรอนานมีการบอกผู้ใช้ถึงจุดที่ผิดพลาดทันที และนั่นทำให้เกิดการเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนถึงความล่าช้าในการรับส่งข้อมูล นอกจากนั้นผู้ใช้เองก็ไม่สามารถรู้ได้ว่าต้องรอนานขนาดไหนถึงจะเสร็จสิ้นขั้นตอน ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีเว็บที่คอยตรวจสอบได้ว่ากำลังทำการอัพเดตอยู่ในขั้นตอนไหน แต่ประสบการณ์การใช้งานก็ยังดูเข้าใจยากอยู่ดี

https://giphy.com

4. ศัพท์เฉพาะและเหตุผลเชิงเศรษฐศาสตร์ที่ซับซ้อน

เนื่องจากระบบของ Blockchain ถูกออกแบบมาให้ไม่มีคนกลาง จึงมีกระบวนการที่ซับซ้อนเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้งานทุกๆ คนไม่สามารถโกงกันได้ ดังนั้นจะพบว่ายังคงมีศัพท์เฉพาะทาง อยู่ในหลายๆจุดที่ผู้ใช้ต้องเจอ ซึ่งนี่เป็นอีกปัญหาที่ทำให้ผู้ใช้ต้องหยุดประมวลผล และทำความเข้าใจมากขึ้นถึงขั้นตอนต่างๆ และอาจใช้เวลาอยู่พักใหญ่ในการหาข้อมูลว่าคำเหล่านี้หมายความว่าอย่างไร ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถใช้งานได้ไหลลื่นเหมือนปกติ

https://giphy.com

สรุป

จากปัญหาทั้ง 4 ข้อที่เราได้เจอระหว่างการทำงาน UX กับ Blockchain จะเห็นได้ว่าปัญหานั้นเกิดจากการที่ระบบของ Blockchain พยายามทำให้ทุกอย่างโปร่งใสและปลอดภัยมากที่สุด โดยไม่มีใครเป็นผู้ควบคุมเพียงคนเดียว ทุกคนล้วนเป็นเจ้าของข้อมูลและต้องคอยช่วยกันตรวจสอบอยู่เสมอ ดังนั้นจึงทำให้มีหลายจุดที่ยังคงสร้างความยุ่งยากให้ผู้ใช้ต้องคอยยืนยันหรือทำความเข้าใจ Blockchain อยู่ค่อนข้างเยอะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นแรงจูงใจให้ทางทีม Band Protocol อยากจะทำระบบนี้ให้ดีขึ้น เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึง Decentralized Application ได้ง่ายขึ้น ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาที่ทางทีมเราได้ทำนั้นจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง จะเขียนออกมาให้อ่านในครั้งต่อไปค่ะ

--

--