อยากเรียนวิศวฯ ต้องมีทักษะอะไรบ้าง

Nathawat
BASE Playhouse
Published in
2 min readFeb 23, 2019

--

บทความในซีรีย์ต่อเนื่องจาก 21st-Century Skill : ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21

โลกที่เปลี่ยนไป วิศวฯ ก็ต้องเปลี่ยนตาม — 4 ทักษะที่วิศวกรขาดไม่ได้

โลกในปัจจุบัน การแข่งขันได้ก้าวไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าที่หลายคนคาดคิด ทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงหลาย ๆ อาชีพก็ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับโลกในปัจจุบัน ‘วิศวกร’ ก็เช่นกัน

‘วิศวกร’ คือ คนที่นำคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาประยุกต์เพื่อแก้ไขปัญหาหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าวิศวกรที่หลาย ๆ คนใฝ่ฝัน ต่างอาศัยทักษะสำคัญบางอย่างที่ทำให้อาชีพวิศวกรสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ในปัจจุบัน

ข้างล่างนี้เป็นตัวอย่างการใช้ทักษะที่จำเป็นต้องมีในวิศกรสาขาต่าง ๆ

Photo by rawpixel on Unsplash

Critical Thinking ทักษะการคิดวิเคราะห์ ในวิศวกรโรงงาน/วิศวกรโยธา

ถือว่าเป็นทักษะหลักที่จำเป็นสำหรับอาชีพวิศวกร เพราะในทุก ๆ ครั้ง ที่วิศวกรต้องเจอกับปัญหาหรือต้องการสร้างสิ่งใหม่ ๆ วิศวกรจะอาศัยทักษะนี้ในการวิเคราะห์ทุก ๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อจะได้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

สำหรับชีวิตของ วิศวกรโรงงาน นั้นจะเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นในสายพานการผลิต เมื่อเกิดของที่ผลิตแล้วเสียเกิดขึ้น วิศวกรจะเป็นผู้ที่มีบทบาทหลักในการเข้าไปแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งเราจะต้องไปวิเคราะห์ว่าของเสียที่เกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุอะไร ปัจจัยอะไรที่มีผลต่อของเสียที่เกิดขึ้น ปัจจัยอะไรไม่ใช่ต้นเหตุหลัก

ตัวอย่างเช่น…
กรณีบริษัทแห่งหนึ่งที่ได้ผลิตหนังปลาทอดกรอบ และมีผู้บริโภคคนหนึ่งเจอจิ้งจกอยู่ในซองขนม ในสถานการณ์นี้วิศวกรจะเข้ามาตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น โดยวิศวกรจะต้องวิเคราะห์ว่าจิ้งจกเข้าไปอยู่ในซองขนมได้อย่างไร
การวิเคราะห์ก็ต้องอาศัยทักษะ Critical Thinking เพื่อดูว่าจุดไหนในสายพานการผลิตมีช่องโหว่ที่ทำให้สัตว์ชนิดนั้นหลุดเข้าไปในอาหารได้ แล้วจะมีวิธีอย่างไรที่จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด

Photo by Samuel Zeller on Unsplash

ในบทบาทของ วิศวกรโยธา ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างตึกหรืออาคาร ต่างก็ต้องอาศัยทักษะนี้ในการทำงาน เห็นชัดที่สุดคือ การสร้างบ้าน

สำหรับการสร้างบ้านจะต้องเลือกวัสดุที่นำมาใช้ จึงต้องมี Critical Thinking เพื่อวิเคราะห์ว่า วัสดุชนิดนั้นเหมาะสมในการนำมาสร้างบ้านหรือไม่ โดยไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างจากผู้ขาย วิศวกรโยธาจะต้องนำความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์มาพิจารณาคำกล่าวอ้างจากผู้ขายว่าเป็นจริงหรือไม่ เช่น คนขายบอกว่าหลังคานี้ช้างเหยียบไม่พัง ในฐานะของวิศวกรก็จะพิจารณาถึงค่าความแข็งแรงของวัสดุที่จะมาสนับสนุนข้อความดังกล่าวว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน โดยไม่เชื่อคนขายทันที

Collaboration ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ในวิศวกรโครงการ/วิศวกรคอมพิวเตอร์

ทักษะการประสานงาน หรือ การทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญมากที่ถูกนำมาใช้ในการทำงานของวิศวกรให้สำเร็จลุล่วง ซึ่งอาชีพวิศวกรเป็นอาชีพที่หลีกเลี่ยงการพบเจอกับคนหลายๆส่วนไม่ได้ เพราะในการแก้ปัญหาหรือสร้างสิ่งนวัตกรรมใด ๆ ก็ต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 คน ทักษะนี้จะคอยสนับสนุนให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

ในสายงานของ วิศวกรโครงการ (Project Engineer) ที่ทำหน้าที่รับโครงการจากผู้บริหารระดับสูงและทำให้โครงการเหล่านั้นเป็นจริงให้ได้ และถ้าพูดถึงคำว่า ‘โครงการ’ ทุกคนอาจจะต้องมีภาพคนจำนวนมากมาอยู่ด้วยกัน ซึ่งในฐานะวิศวกรคนหนึ่ง ต้องขอยืนยันเลยว่า “ใช่!”

วิศวกรโครงการจะต้องเป็นคนที่ต้องพูดคุยและสร้างความเข้าใจให้ตรงกันกับทุก ๆ คนภายในโครงการหนึ่ง ๆ ทักษะการประสานงานเลยเป็นทักษะที่จะช่วยให้การทำงานกับคนจำนวนมาก ๆ ไปได้ด้วยดี และนำทักษะนี้มาประยุกต์ใช้ให้เรารู้ว่าในการประสานงานกับคนระดับเดียวกันต้องมีรูปแบบอย่างไร การประสานงานกับผู้บริหารระดับสูงมีขั้นตอน พิธีการอย่างไร ถือได้ว่าทักษะ Collaboration สำคัญมากกับอาชีพผู้ประสานโครงการ

Photo by rawpixel on Unsplash

สำหรับ วิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่หลายคนคงนึกภาพของมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ทำงานเป็นภาษาต่างดาวเต็มไปหมด เห็นแบบนี้วิศวกรคอมพิวเตอร์ก็ต้องใช้ทักษะ Collaboration ในการทำงานเช่นกัน โดยบทบาทของวิศวกรคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดแค่การเขียนภาษาคอมพิวเตอร์เท่านั้น การพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นคนบอกความต้องการ ก็ได้กลายมาเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของวิศวกรคอมพิวเตอร์เช่นกัน ทักษะการประสานงานก็จะถูกนำมาใช้ในการประสานงานกับลูกค้าว่าจะเข้าหาลูกค้าด้วยวิธีไหน ติดต่ออย่างไรให้เหมาะสม

Communication ทักษะการสื่อสาร ในวิศวกรเครื่องกล/วิศวกรไฟฟ้า

การติดต่อสื่อสาร เป็นทักษะที่มีผลกระทบอย่างมากในการทำงานต่าง ๆ ในสายอาชีพของวิศวกร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารกับลูกค้า การสื่อสารกับผู้บริหาร หรือแม้กระทั่งการสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน ที่ในแต่ละบทบาทในการทำงานต่างก็มีรูปแบบในการสื่อสารที่แตกต่างกันตามแต่ละสถานการณ์

วิศวกรเครื่องกล ที่สร้างเครื่องจักรใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้ใช้งาน ก็ต้องอาศัยทักษะในการสื่อสารนี้ เพื่อพูดคุยกับผู้ใช้งานถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้ใช้งาน และเมื่อวิศวกรออกแบบเครื่องจักรเสร็จ การนำไอเดียไปขายให้ลูกค้าซื้อเครื่องจักรก็ต้องอาศัยทักษะในการสื่อสารอย่างยิ่ง เพื่อสื่อสารอย่างตรงจุดและตรงใจลูกค้า ให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าของเรา จะเห็นได้ว่าสุดท้ายแล้ว งานที่เกิดขึ้นของวิศวกรก็ถูกตัดสินด้วยการนำเสนอต่อลูกค้า ถ้าเราขาดความสามารถในการสื่อสารกับลูกค้าก็จะทำให้งานที่เราทำมาไม่ได้นำไปใช้งาน ทุ่มเททำไปเสียเปล่า

ดังนั้น ทักษะการสื่อสารที่ดีจะสามารถสนับสนุนให้วิศวกรสามารถประสบความสำเร็จในการสายงานได้เลย

Photo by Teemu Paananen on Unsplash

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ วิศวกรไฟฟ้า ก็ต้องอาศัยทักษะในการสื่อสารนี้เพื่อติดต่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานหลายคนที่รับผิดชอบในการดูแลแหล่งพลังงานไฟฟ้า หากขาดทักษะในการสื่อสารที่ดี จะทำให้เวลาเกิดปัญหาขึ้น ปัญหาจะไม่ถูกแก้ตรงจุด ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะทำให้ปัญหาใหญ่มากขึ้นและไม่สิ้นสุด เช่น เกิดไฟดับเพราะหม้อแปลงระเบิดในศูนย์กระจายไฟฟ้า วิศวกรในพื้นที่ก็ต้องสื่อสารกันแบ่งหน้าที่ตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้น ช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดและปลอดภัยต่อทุก ๆ คน จะเห็นได้ว่าหากมีการสื่อสารที่ดีจะยิ่งทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและเกิดผลตามมาน้อยที่สุด

Creativity ความคิดสร้างสรรค์ใน วิศวกรเคมี/วิศวกรชีวการแพทย์

ความคิดสร้างสรรค์ ถือว่าเป็นทักษะเฉพาะตัวที่ทำให้วิศวกรแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป ทักษะนี้จะเป็นจุดเด่นที่สำคัญที่เป็นแบรนด์ของวิศวกรแต่ละคนเลยทีเดียว ในแต่ละสายอาชีพของวิศวกร ก็อาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น

ในหลาย ๆ อุตสาหกรรมต่างก็มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการใหม่ ๆ ซึ่งวิศวกรเคมี ก็เป็นหนึ่งในคนสำคัญกับการพัฒนาต่าง ๆ เช่น ถ้าจะผลิตแก้วน้ำให้แข็งแรงมากขึ้น วิศวกรเคมีจะดูแนวทางต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ อาจจะใส่สารเพิ่มความแข็ง เปลี่ยนวัตถุดิบ เปลี่ยนเครื่องจักรหรือสลับขั้นตอนการผลิต

การได้ผลลัพธ์ที่หวังไว้จะต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคน เพื่อสร้างวิธีการที่ต่างกันออกไป

แม้แต่อาชีพ วิศวกรชีวการแพทย์ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยสนับสนุนการทำงานของแพทย์หรือการช่วยเหลือผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่พิการต้องตัดขา สมัยก่อนผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่สามารถไปไหนด้วยตัวเองได้เลย วิศวกรชีวการแพทย์ก็จะมีบทบาทในด้าการประดิษฐ์อุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยเหล่านี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เช่น ไม้เท้า ขาเทียม หรือแม้กระทั่งขากลที่ควบคุมด้วยคลื่นสมองของผู้ใช้งาน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ยิ่งมีความคิดสร้างสรรค์มากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีมากขึ้น ความคิดสร้างสรรค์เลยสำคัญอย่างมากในสายอาชีพวิศวกร

Photo by andrew jay on Unsplash

สุดท้ายนี้หากน้อง ๆ คนไหนอยากเรียนต่อคณะวิศวกรรมศาสตร์ อย่าลืมเริ่มต้นฝึกทักษะที่จำเป็นตั้งแต่วันนี้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเป็นวิศกรที่ประสบความสำเร็จในอนาคตกันนะครับ

อย่างไรก็ตาม… ทั้ง 4 ทักษะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เวลาเริ่มสร้างและฝึกฝนจนกลายเป็นทักษะที่ติดตัวไปใช้ได้ทั้งชีวิต BASE Playhouse จึงเป็นตัวช่วยในการเตรียมความพร้อมน้อง ๆ ตั้งแต่วัยมัธยมเพื่อเป็นพื้นฐานไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ๆ ก็ตามในอนาคต ด้วยค่ายเสริมทักษะที่จำเป็นเพื่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21 อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่

--

--

Nathawat
BASE Playhouse

Lean engineer :: Operation improvement assistant BASE PLayhouse