เบื้องหลังการค้นหา “เด็กมีของ” ในรูปแบบ Virtual Hackathon Event 24-hr Non-stop

Ueakarn Rotchanachiraphaisan
BASE Playhouse
Published in
4 min readMay 18, 2021

--

Highlight

  • ความเก่งแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง และ “ทักษะแห่งอนาคต” เป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีเพื่อรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึง
  • การวัดผลทักษะออนไลน์สามารถทำได้จริง ถ้ารู้กระบวนการที่ถูกต้อง แล้วทำให้เราเห็น Insight ความสามารถของ Candidate
  • “Digital Literacy” คือทักษะใหม่ที่จะทำให้ฝั่งองค์กรดำเนินการคัดเลือกบุคลากรง่ายขึ้น และฝั่งผู้สมัครสามารถเข้าถึงโอกาสที่ตนเองต้องการได้
  • กระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการวัดทักษะจะต้อง “สนุก” เพื่อที่ผู้สมัครจะแสดงความเป็นตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ เผยทักษะที่ซ่อนอยู่ออกมาให้เห็นแบบไม่มีกั๊ก
  • เราสามารถท้าทายข้อจำกัดของระบบออนไลน์ ให้สร้างกระบวนการทดสอบและการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ ด้วยความคิดสร้างสรรค์

ในปี 2564 นี้ BASE Playhouse มีโอกาสได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ มากมาย เช่น การสร้างหลักสูตรออนไลน์ การเปิดตัวโครงการพัฒนานักธุรกิจรุ่นเยาว์ ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นเรื่องท้าทายทีม BASE อย่างมาก

เช่นเดียวกับเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา BASE Playhouse ได้รับโจทย์จาก SCG WEDO ให้เข้าไปสนับสนุนการคัดเลือกนักศึกษาฝึกงานเข้าร่วมในโปรแกรม WEDO Young Talent 2021 ในรูปแบบออนไลน์ ซึ่งจะต้องวัด T-Shape skills (Business Technology และ Design) และ soft skills ที่เด็กรุ่นใหม่ควรมี ให้ออกมาเป็นวิธีการที่จับต้องได้ และล้ำกว่าใคร ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ของการคัดเลือกบุคลากร แม้ในครั้งนี้จะเป็น project คัดเลือกเด็กมีของเพื่อเข้าสู่โปรแกรม Internship แต่ความเข้มข้นก็ต้องอยู่ในระดับที่ใช้คัดเลือกพนักงานเข้าองค์กร เพราะน้อง ๆ Young Talent เหล่านี้จะมีโอกาสร่วมงานกับ SCG Wedo แบบเต็มตัวในอนาคต

จึงเกิดเป็น WEDO Young Talent Hell Day 2021 supported by BASE Playhouse virtual event 2 วัน 1 คืน ที่จะมาเฟ้นหา Young Talent “ตัวจริง” ที่มีความสามารถ ผ่านกิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 12:00 น. ของวันที่ 1 พฤษภาคม จนถึง 12:30 น. ของวันที่ 2 พฤษภาคม

ตลอด 24 ชั่วโมงนี้เต็มไปด้วยกิจกรรมที่สนุก และท้าทาย สามารถวัดทักษะแบบออนไลน์ของผู้เข้าร่วมทั้ง 140 คน ให้ออกมาเป็น individual report ในทั้งหมด 9 core skills ซึ่งเข้มข้นและท้าทายแบบสุด ๆ องค์ประกอบของงานนี้ทำให้รู้ว่าความเก่งแค่ด้านใดด้านหนึ่ง ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง และทักษะแห่งอนาคตเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมีเพื่อรับมือกับสิ่งที่คาดไม่ถึงและความผันผวนในยุคปัจจุบัน

“พี่ม๋ำ” — เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ CEO ของ BASE Playhouse ให้สัมภาษณ์ในไลฟ์ของงาน WEDO Young Talent Hell Day 2021 ว่างานรูปแบบนี้เป็นงานที่ตนเองก็ไม่เคยทำมาก่อน ท้าทายทีม BASE Playhouse อย่างมาก ทั้งแง่ของการสร้างสรรค์ skill test ที่ต้องสดใหม่ ใช้วัดทักษะได้ตรงจุด และน้อง ๆ จะต้องได้พัฒนาทักษะจากกระบวนการนี้ด้วย แง่ของ production ที่ต้องล้ำกว่างานอื่นที่เคยทำมา และต้องไม่ลืมที่จะสอดแทรก signature ของ BASE Playhouse คือ “ความสนุก” ไว้ในทุกกระบวนการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมาก็นับว่าเป็นวิถีใหม่ของ Virtual Event ในการพัฒนาและดึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ตรงกับจุดมุ่งหมายของ BASE Playhouse

การออกแบบกิจกรรมทดสอบศักยภาพที่จริงจัง และเข้มข้น ฉบับ BASE Playhouse (skill test & team challenge & pitching)

บรรยากาศกิจกรรมช่วง The Last Stand งาน WEDO YOUNG Talent Hell Day 2021 supported by BASE Playhouse

จุดแข็งที่มีมาตลอดของ BASE Playhouse คือการสร้างโจทย์เพื่อทดสอบศักยภาพ โดยปกติมักจะอยู่ในรูปแบบ on-site assessment แต่เมื่อต้องปรับมาเป็น virtual event ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับพวกเราเลย

“พี่แม็ค” — ภีศเดช เพชรน้อย Co-founder ของ BASE Playhouse บอกไว้ว่า ในตอนแรกตนเองยังมีความสงสัยอยู่บ้าง เพราะปกติจะสร้างกระบวนการทดสอบแบบออฟไลน์มาตลอด ถ้าทำออกมาในรูปแบบออนไลน์ คนไม่ได้เจอหน้ากัน จะให้เขาดึงศักยภาพออกมาได้อย่างไร แต่พอได้มาทำจริง ๆ แล้วมันเป็นไปได้ แค่เลือก activity ให้ตอบโจทย์ จุดเด่นของทีม BASE Playhouse คือเรามีคลังความรู้เรื่อง soft skills เยอะมาก ทักษะอะไรที่ต้องให้ทดสอบคนเดียว ทักษะอะไรที่จะเฉิดฉายเวลาทำภารกิจร่วมกับคนอื่น เราตอบได้หมด ก็เลยเกิดเป็น set กิจกรรมที่ตอบโจทย์การค้นหา Young Talent ที่สุด

ด้วยเหตุผลนี้ การวัดศักยภาพของเหล่าว่าที่ WEDO Young Talent จึงถูก design เป็นกิจกรรม 3 ส่วนคือ 1. การวัดทักษะผ่าน individual test และ skill test แบบกลุ่ม 2. การสร้าง “บอร์ดเกม” แนวใหม่ ในรูปแบบของ team challenge และ 3. การนำเสนอไอเดีย หรือ Project Pitching

  1. Individual test & Skill test

ส่วนของการทดสอบ soft skills แบบ 100% นี้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องโชว์ของที่ซ่อนอยู่ในตนเอง ด้วยกลไกที่ BASE Playhouse เลือกมาแล้วว่าทุกคนจะได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ทั้งการวิเคราะห์ชุดข้อมูลเพื่อดูทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) การออกไอเดียอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking) ในกิจกรรมแบบเดี่ยว ทุกคนจะต้องใช้ความรู้ของตนเอง ทำภารกิจให้เสร็จในเวลาที่กำหนด

อีกรูปแบบหนึ่งคือกิจกรรมวัดทักษะแบบกลุ่ม BASE Playhouse เลือกทำการทดสอบทักษะความเป็นผู้นำ (Fearless Leadership) ของผู้เข้าแข่งขันผ่านเกมสนุก ๆ ที่สามารถสะท้อนกลยุทธ์ของผู้เล่นทุกคนได้จริง และทดสอบทักษะการสื่อสาร (Communication) ผ่าน prompt question ที่ให้เวลาเตรียมตัวเพียง 10 วินาทีเท่านั้น ผู้เข้าแข่งขันบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าสนุกและท้าทายความสามารถสุด ๆ!

2. Team Challenge

เพราะ WEDO Young Talent ไม่ได้ต้องการคนเก่งแบบ one man show แต่ต้องเป็นคนที่ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี

ภารกิจสำคัญใน virtual event ครั้งนี้จึงเป็นการสร้างสรรค์ผลงานบอร์ดเกมแบบกลุ่ม ร่วมกับผู้เข้าแข่งขันคนอื่น ๆ เพื่อดูว่าแต่ละคนสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีแค่ไหน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ท้าทายแบบนี้ และแต่ละคนไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การทำงานกับคนกลุ่มเดิมตั้งแต่ต้นจนจบงาน เพราะทุกคนต้องเจอกับ “เซอร์ไพรส์” การแบ่งกลุ่มใหม่รอบที่ 2 เพื่อฝึกรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และรับมือกับโจทย์ที่ใหญ่ขึ้น ท้าทายขึ้นกว่าเดิม ทุกคนในกลุ่มจะต้องปรับตัวเข้ากันให้ได้อย่างรวดเร็ว ช่วยกันเอาชนะความเหนื่อยล้าในค่ำคืนนั้นไปให้ได้ และไม่ทิ้งคนอื่น ๆ ในทีม เพราะทุกพฤติกรรมของผู้เข้าแข่งขันล้วนมีผลต่อการตัดสิน

3. Project Pitching

หลังจากภารกิจแบบทีมเสร็จสิ้นลง ผู้เข้าแข่งขันทุกกลุ่มจะต้องนำเสนอผลงาน หรือทำการ Pitch ต่อหน้าคณะกรรมการ (ทีม WEDO และทีม BASE Playhouse) ในห้อง Pitching แต่ละทีมจะต้องใช้ทักษะการสื่อสาร ผ่าน Presentation ภายในเวลาจำกัด เพื่อให้กรรมการเข้าใจ product ที่กลุ่มตนเองสร้างสรรค์ขึ้นมา และต้องใช้ทักษะการแก้ไขปัญหา เมื่อโดนคณะกรรมการถามคำถามยาก ๆ ที่ตนเองคาดไม่ถึง!

สิ่งที่ทีม BASE Playhouse เห็นจากน้อง ๆ ผู้เข้าแข่งขันคือ การทำงานรูปแบบออนไลน์ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสารกันภายในทีม และการสื่อสารให้คณะกรรมการเข้าใจ แถมยังมีข้อได้เปรียบคือ ทุกคนเป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่โดยไม่มีกรอบเรื่องพื้นที่หรือทรัพยากรมาจำกัดความสามารถ

ใช้ Educational Technology สร้างบรรยากาศ recruitment แบบใหม่

การใช้ Technology ในการจัดกิจกรรม เป็นจุดสำคัญที่ทำให้โครงการ WEDO Young Talent Hell Day 2021 ได้รับความสนใจจากสื่อต่าง ๆ ในแง่ความสำเร็จของการคัดเลือกบุคลากรในรูปแบบออนไลน์ จึงเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการรู้จักเทคโนโลยี และนำมาประยุกต์เพื่อสร้าง learning & assessment ในองค์กร คือทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อวงการ recruitment และ development

สิ่งแรกที่พี่ม๋ำคิดคือ งานนี้ BASE Playhouse ต้องไม่เล่นท่ามาตรฐาน ต้องหาวิธี unblock การสื่อสารระยะไกล ผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องได้รับความรู้สึกเหมือนกำลังทำกิจกรรมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทีม BASE Playhouse จึงตัดสินใจเลือกใช้แพลตฟอร์มใหม่ที่ทีมเลือกมาเป็นพิเศษเพราะมี feature หลากหลาย ที่ทำให้สามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบกระบวนการได้ และให้ประสบการณ์เหมือน offline event!

ทุกขั้นตอนของ virtual event เปรียบเสมือนการอยู่ร่วมกันจริงในพื้นที่งานนั้น เริ่มตั้งแต่ “ส่วนต้อนรับ” ที่จะให้ข้อมูลสำคัญกับผู้เข้าแข่งขันก่อนที่จะเข้าร่วมงาน แล้วไปต่อที่ “จุดลงทะเบียน” จุดนี้ผู้เข้าแข่งขันจะเจอกับ admin เพื่อยืนยันตัวตน และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเริ่มแข่งขัน ภายใน event มี “เวทีกลาง” ที่ทุกคนต้องมารวมตัวกันเพื่อฟังประกาศสำคัญ ฟังโจทย์กิจกรรมต่าง ๆ และ engage กับพิธีกรได้ เปรียบเสมือนการอยู่ร่มกันในห้องประชุมใหญ่ มี “โต๊ะกลุ่ม” เพื่อให้ผู้เข้าแข่งขันได้แยกตัวกันไปทำภารกิจแบบทีม ร่วมกับเพื่อนของตนเอง โดยที่มีพี่ ๆ ทีมงานประจำจุดให้ความช่วยเหลือ และเข้าไปตอบข้อสงสัยในแต่ละโต๊ะ และยังมี “บูธกิจกรรม” สำหรับเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษ และเข้าร่วมเกมทดสอบทักษะ ให้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่หลายคนไม่เคยเจอมาก่อน

และด้วยความเป็น online event จึงทำให้สามารถเผยแพร่ภาพไปให้บุคคลภายนอกติดตามการแข่งขันได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่าน Facebook Live ในเพจ “WEDO” ซึ่งมีการตัดสลับแต่ละช่วง หรือ transition แบบมืออาชีพ ถ่ายทอดตั้งแต่พิธีเปิด-พิธีปิด ช่วงสัมภาษณ์ทีมที่เกี่ยวข้อง และผู้เข้าแข่งขัน ช่วงแชร์ความรู้ด้านทักษะและบอร์ดเกมสำหรับคนทั่วไป ช่วงแจกโจทย์การแข่งขัน รวมถึงบรรยากาศการทำงานเป็นทีม และผลงานจากภารกิจแบบทีมด้วย ในระหว่างการถ่ายทอดจะมีกิจกรรมให้ผู้ชม Facebook Live สามารถเข้ามาร่วมสนุกเพื่อช่วยลุ้นรางวัลให้ทั้งตนเองและให้ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีม เป็นสีสันเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สร้างความประทับใจให้ทั้งผู้เข้าแข่งขัน และผู้ชม Facebook Live ของงาน WEDO Young Talent Hell Day 2021

Gamification: สอดแทรกความสนุกเข้าไปในกระบวนการได้เสมอ

บรรยากาศงาน WEDO YOUNG Talent Hell Day 2021 supported by BASE Playhouse

BASE Playhouse ให้ความสำคัญกับความ “สนุก” ในกระบวนการการเรียนรู้เสมอ เช่นเดียวกันกับกระบวนการทดสอบทักษะต่าง ๆ กระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการวัดทักษะจะต้อง “สนุก” เพื่อที่ผู้เข้าร่วมจะได้แสดงความเป็นตัวเองออกมาอย่างเต็มที่ เผยทักษะที่ซ่อนอยู่ออกมาให้เห็นแบบไม่มีกั๊ก

ในครั้งนี้ พี่ม๋ำและพี่แม็ค ก็ไม่ลืมที่จะจึงสอดแทรกความสนุกเข้าไปในแบบทดสอบทุกชิ้น ในภารกิจแบบทีม และในการออกแบบ minigame ที่จะสร้างความบันเทิงให้ผู้เข้าแข่งขัน WEDO Young Talent Hell Day 2021 ทุกคน

ในช่วงที่ผู้เข้าแข่งขันต้องรอนำเสนอผลงานของตนเอง เป็นช่วงเวลาที่เครียดและกดดัน ทีมงานจึงสร้าง Minigame ที่สนุกและท้าทายเอาไว้ให้ทุกคนคลายความกดดันลง ได้แก่ Minigame “The Pixel Madness” ซึ่งเป็นเกมส์ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องดีลงานกับเพื่อนข้ามทีม ในการเติมสีในช่อง Pixel ให้ออกมาเป็นรูปที่สมบูรณ์ตามคำสั่งให้ได้ ในตอนสุดท้ายจะต้องนำรูปของเพื่อนทีมอื่น ๆ มาประกอบกับทีมของตนเอง เพื่อให้กลายเป็นรูปภาพที่สมบูรณ์รูปเดียว เกมนี้ต้องใช้ทักษะที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสาร (Communication) ความร่วมมือ (Collaboration) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการจัดการเวลา (Time Management) ภายใต้ขอบเขตช่องทางการสื่อสารและกฎกติกาที่กำหนดให้เท่านั้น

และตลอดช่วงกลางคืน ที่ทุกคนจะต้องใช้พลังเพื่อสร้างสรรค์ผลงานยาวนานจนถึงเช้าวันใหม่ ทีม BASE Playhouse ก็มีกิจกรรมสั้น ๆ 15 นาที ในช่วง ตี 1 ตี 3 และ ตี 5 ให้แต่ละทีมมาเข้าร่วมเพื่อคลายความตึงเครียดและเหนื่อยล้า ที่สำคัญคือ ใครที่มีทักษะยอดเยี่ยมจนเป็นผู้ชนะในเกมนั้น ๆ ก็จะได้รับรางวัลด้วย!

Event ครั้งนี้เพิ่มความสนุกด้วย Ticket system หรือระบบตั๋ว ที่มอบให้เป็นรางวัลในเกมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตั๋วสำหรับเพิ่มความรู้ ตั๋วสำหรับการออกไปพักผ่อน ตั๋วสำหรับการขอ Mentor หรือ Q&A จากพี่ ๆ WEDO และ BASE Playhouse ที่สำคัญคือมีตั๋วพิเศษที่ใช้ steal ตั๋วต่าง ๆ ของทีมอื่นได้ จึงเป็นการสร้างแรงจูงใจที่ได้ผลดีมาก ทั้งหมดนี้ทำให้กระบวนการสนุกขึ้น มีมิติ ท้าทาย แต่ไม่ตึงเครียดจนเกินไป

ครั้งแรกของ BASE Playhouse ในการสร้าง Virtual Event ผ่านไปได้ด้วยดี เราสามารถท้าทายข้อจำกัดของระบบออนไลน์ ให้สร้างกระบวนการทดสอบและการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพได้ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ จนในที่สุดเราก็ได้น้อง ๆ 50 คนสุดท้าย ที่เป็นตัวจริงของโครงการ WEDO Young Talent ในปี 2021

ไม่ใช่แค่น้อง ๆ ในงานนี้ที่ต้องเจอกับความท้าทาย ความสนุก และความเหนื่อยไปพร้อม ๆ กัน เพราะทีม BASE Playhouse เองก็ถือว่าผ่านประสบการณ์ที่ท้าทายขีดจำกัดของทีมมาอีกขั้นหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันกับเราว่า ศักยภาพของคนนั้น “ไร้ขีดจำกัด” และ “ไร้ข้อจำกัด” ไม่ว่าจะมีอุปสรรคใดขวางกั้น เราสามารถพัฒนาตนเองเพื่อก้าวข้ามมันไปได้เสมอ

BASE Playhouse ยังคงพร้อมท้าทายขีดจำกัดของการสร้างกระบวนการในการเรียนรู้ เพื่อปลดล็อคความสามารถที่ซ่อนอยู่ของคนในแต่ละองค์กร ทุกท่านสามารถติดตามเรื่องราวการสร้างสรรค์กระบวนการสนุก ๆ ของเราได้ที่นี่ หรือที่ https://corporate.baseplayhouse.co/ และสำหรับองค์กรที่กำลังมองหาวิธีการปลดล็อคศักยภาพของพนักงาน สามารถติดต่อเราเพื่อร่วมงานกันได้ตามช่องทางเหล่านี้เลย

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://corporate.baseplayhouse.co/

--

--

Ueakarn Rotchanachiraphaisan
BASE Playhouse

UX Writer @ CIMB Thai | Interested in education, business, and technology | philosophy-nerdy :-)