Communication Tactic : การสื่อสารสำหรับเด็กยุคใหม่ เริ่มที่ความเข้าใจ ไม่ใช่คำพูด

Ekkaphop Chuengkul
BASE Playhouse
Published in
3 min readNov 18, 2018

--

บทความในซีรีย์ต่อเนื่องจาก 21st-Century Skill : ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ของ BASE Playhouse

ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในโลกยุคปัจจุบันทุกคนล้วนต้องใช้ทักษะการสื่อสารทั้งสิ้น ไม่ว่าจะวัยเรียนหรือวัยทำงาน ไม่ว่าจะทำงานกลุ่มกับเพื่อน เจรจางานกับลูกค้า หรือสื่อสารกับเจ้านาย

ในแต่ละวันเราต้องพูดคุยกับผู้คนมากมายที่มีนิสัยต่างกัน ซึ่งทักษะการสื่อสารจะทำให้เราสามารถโดดเด่นกว่าใคร ถ้าเราเป็นคนที่สื่อสารได้ดี พูดรู้เรื่อง!

หลายคนอาจจะมองว่า ไม่เห็นยากเลย แค่พูดให้รู้เรื่อง

ว่าแต่ แน่ใจรึเปล่าน้า?

“เราพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือ เราเข้าใจกันไม่มากพอ”

“four people standing in open field near building at daytime” by rawpixel on Unsplash

ลองคิดตามนะครับ…

ปัญหาหลักในการสื่อสารที่หลายคนต้องเคยเจอไม่มากก็น้อย หรืออาจจะเป็นทุกๆ คนที่ต้องเคยเจอแน่ๆ เพราะถือว่าเป็นปัญหาใหญ่มากๆ หรืออาจจะไม่ใหญ่สำหรับทุกคน แต่สำหรับคนหมู่มากก็ถือว่าใหญ่ คือการอธิบายที่ค่อนข้างซับซ้อน มีหลายความหมาย หลายสาระ หลายประเด็น ที่ไม่รู้จะอธิบายให้กระชับ เข้าใจได้ง่ายได้อย่างไร เพื่อให้คนที่เราคุยด้วย หรือ คนที่เรากำลังสื่อสารอยู่รับฟังและสามารถเข้าใจในสิ่งที่พูดได้ รวมไปถึงการพูดที่วนไปวนมา จับใจความได้ยาก และเนื้อหาไม่ได้เดินหน้าไปไหนเลย แม้จะผ่านมา 6 บรรทัดแล้วก็ตาม…

ใช่ครับ! ในย่อหน้าด้านบนคือตัวอย่างหนึ่งของปัญหาการสื่อสารที่สำคัญที่สุด คือ “พูดไม่รู้เรื่อง”

หลายครั้ง เราพยายามเป็นคนที่พูดรู้เรื่องเลยพยายามใส่ข้อมูลและใช้คำพูดให้ครอบคลุมมากที่สุด ขยายความให้มากที่สุด จนลืมไปว่าใจความสำคัญจริงๆ คืออะไร

และก็มีอีกหลายครั้ง ที่เราพูดสั้นเกินไปตามความเข้าใจของเราจนทำให้ใจความสำคัญหายไป

แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าเมื่อไหร่เราควรพูดเยอะ พูดน้อย หรือเลือกใช้คำแบบไหน

คำตอบที่ตรงและครอบคลุมที่สุดสำหรับคำถามนี้คือ
เราเข้าใจคนที่กำลังสื่อสารอยู่ด้วยมากแค่ไหน?

“ผู้รับสาร” คือหัวใจหลักในการสื่อสาร

“three people holding puzzles and assembling on brown wooden table” by rawpixel on Unsplash

คนส่วนใหญ่เมื่อจะต้องพูดหรือต้องสื่อสารกับใคร เรามักจะทำสิ่งที่เราเคยชินกันมาตลอด โดยจะเริ่มจาก “จะพูดอะไรกับเขาดี” หรือ “เราจะพูดยังไงให้เขาเข้าใจ” นี่ถือเป็นกระบวนการที่เริ่มจากตัวเรา ซึ่งเป็น “ผู้ส่งสาร” ไม่ใช่ “ผู้รับสาร”

การเริ่มต้นด้วยกระบวนการสื่อสารที่เริ่มคิดจากตัวเรา ทำให้การสื่อสารเป็นการสื่อสารที่เราเข้าใจมันได้ดีที่สุด

แต่คนที่เราสื่อสารด้วยอาจจะไม่เข้าใจเราเลยก็ได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือการสื่อสารข้าม Generation เช่น เด็ก-ผู้ใหญ่ หรือเด็ก Gen Y - เด็ก Gen Z เป็นต้น การคุยข้ามช่วงอายุที่มีปัจจัยในชีวิต รวมถึงทัศนคติต่างๆที่แตกต่างกัน ทำให้หากเริ่มคิดการสื่อสารจากตัวเรา อีกฝั่งก็ยากที่จะเข้าใจ

แล้วต้องเริ่มจากอะไร?

เรามาลองปรับแนวคิดกันใหม่ ต่อไปหากเราจะต้องทำการสื่อสารกับใคร หรือต้องพูดกับใครก็ตาม ให้เราคิดและทำความเข้าใจก่อน ว่าคนที่เรากำลังคุยอยู่เป็นใคร เป็นคนแบบไหน ชอบหรือไม่ชอบอะไร

สรุปง่ายๆ คือ

ให้เริ่มจาก “ผู้รับสาร” ก่อน!

การเริ่มคิดกระบวนการสื่อสารจากคนที่เราคุยด้วย ช่วยให้การสื่อสารดีขึ้นอย่างไร?

“woman in white-and-black striped tops looking each other” by Trung Thanh on Unsplash

เมื่อเราเข้าใจคนที่เรากำลังคุยด้วย การสื่อสารที่ออกมาจะเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพที่สุด นั่นคือ ผู้รับสารจะเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อได้อย่างครบถ้วน เช่น เมื่อเราจำเป็นต้องอธิบายให้ผู้ใหญ่เข้าใจว่า “บอร์ดเกม” คืออะไร

1. เริ่มคิดการสื่อสารจากตัวเราเอง

ผู้ใหญ่ : บอร์ดเกมนี่มันคืออะไรเหรอ

เด็ก : เกมที่วัยรุ่นชอบเล่นกันไงครับ มีหลายแบบเลย ต้องใช้สมองคิดเยอะๆ มีทั้งเล่นเป็นทีม เล่นคนเดียว

ผู้ใหญ่ : แล้วมันเล่นยังไงเหรอ

เด็ก : ก็แล้วแต่เกมเลย มีทั้งทอยเต๋าสู้กัน พูด bluff หลอกกัน หรือแนววางแผน มีค่า status, ATK, DEF แล้วก็ไปสู้กับ Monster เพื่อเอาชนะก็มีครับ

ผู้ใหญ่ : …

2. เริ่มคิดการสื่อสารจากผู้รับสาร

ผู้ใหญ่ : บอร์ดเกมนี่มันคืออะไรเหรอ

เด็ก : เป็นเกมที่วัยรุ่นชอบเล่นกันอยู่ตอนนี้ครับ อาจจะมีทั้งเป็นแบบมีกระดานวางไว้ให้เล่น หรือไม่มีกระดานก็ได้ (แค่นี้น่าจะยังไม่เห็นภาพ ทำให้ผู้ใหญ่เห็นภาพยังไงดี) ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ก็ คล้ายๆ เกมเศรษฐี ที่เป็นกระดานแล้วก็มีเพื่อนหลายคนมาเล่นด้วยกันครับ

ผู้ใหญ่ : อ๋อ คล้ายๆ เกมเศรษฐีนี่เอง งั้นก็เล่นเหมือนกันเลยหรือเปล่า

เด็ก : ไม่ครับ มีหลายแบบเลย เล่นแบบคล้ายๆ เกมเศรษฐีก็มีครับ แต่อันนี้จะหลากหลายกว่า อาจจะไม่มีการทอยเต๋าก็ได้ครับ (สำหรับผู้ใหญ่คงต้องอธิบายให้ละเอียดหน่อย เพราะไม่คุ้นเคยกับบอร์ดเกมขนาดนั้น) มีทั้งแบบ ใบ้คำ ให้อีกฝั่งทายบ้าง มีแบบต้องปกปิดตัวเอง เพื่อไม่ให้อีกฝั่งรู้ หรือเป็นแบบวางแผน มีค่าพลังชีวิต ค่าพลังต่อสู้ แล้วเราก็ต้องมาคิดว่า จะเพิ่มหรือลดอย่างไรระหว่างที่เล่น เพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายครับ แต่อันนี้แค่ส่วนเดียวนะครับ หลักๆ ของบอร์ดเกมก็คือ มีกฎกติกาของแต่ละเกมขึ้นมา แล้วแต่ละคนก็มานั่งเล่นรวมกัน เป็นเกมเพื่อฝึกการคิดนี่แหละครับ :)

ผู้ใหญ่ : โอ้ โอเค พอเข้าใจแล้ว!

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ว่าทำไม เราถึงแนะนำให้เราเริ่มต้นจากผู้รับสารหรือคนที่เราคุยด้วยก่อนนั่นเอง!

ถ้าเราเข้าใจกันมากพอ มีเหรอที่จะคุยกันไม่รู้เรื่อง คำถามคือเราได้ลองพยายามทำความเข้าใจอีกฝ่ายมากพอแล้วหรือยัง ;)

โอกาสดีๆ สำหรับเด็กรุ่นใหม่

บทความข้างต้นเป็นเพียงเนื้อหาเล็กๆ ส่วนหนึ่งของคอร์ส Communication Tactic ของ BASE Playhouse น้องๆ ม.ปลาย คนไหนที่กำลังมองหาสนามฝึกการสื่อสาร หรืออยากเรียนรู้และฝึกทักษะการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น ก็สามารถมา join คอร์สนี้กันได้เลย! แล้วมาปรับแนวคิดการสื่อสารกันใหม่ ว่าการสื่อสารเริ่มจากความเข้าใจ ไม่ใช่คำพูด! :)

มาถึงตรงนี้ถ้าใครอยากเป็นนักพูดคนต่อไป ไปดูรายละเอียดกันได้ ที่นี่เลย!

บรรยากาศคอร์ส Communication Tactics ของ BASE Playhouse

Reference

  • Krogerus M. & Tschappeler R. (2018). The Communication Book: 44 Ideas for Better Conversations Every Day. Penguin UK
  • Carnagie D. (1998). How to Win Friends & Influence People
  • Sobel A. & Panas J. (2012). Power Questions: Build Relationships, Win New Business, and Influence Others. New jersey : John wiley & Sons, Inc.

--

--

Ekkaphop Chuengkul
BASE Playhouse

Integrated Media planner at Wavemaker (GroupM, WPP group). Certificated in core & planning program from Facebook.