Positive Communication — สนับสนุนลูกด้วยพลังแห่งคำพูดเชิงบวก

Chompoo Chimes
BASE Playhouse
Published in
3 min readMar 28, 2020

--

“เขียนแบบเนี้ย เรียกว่าขี้เกียจ”
“เค้าเป็นคนไม่ค่อยมีความมั่นใจ ขี้อายมากๆ เลยค่ะ”
“ไม่มีความรับผิดชอบเลย ที่นอนยังไม่เก็บเลยค่ะ”
“ติดเกมทั้งวันเลยค่ะ หนังสือหนังหาไม่ตั้งใจเรียน”
“โตไปไม่รู้จะยังไงเลยค่ะ กังวลจังเลย”
“กลัวเค้าเข้ากับเพื่อนไม่ได้ค่ะ เค้าค่อนข้างเข้ากับคนไม่ได้”
ฯลฯ

หากนี่คือตัวอย่างหลายๆ เสียงจากผู้ปกครองเวลาที่ให้เล่าเกี่ยวกับลูกตัวเองให้ฟัง
ถ้าเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญฟังเพื่อหาทางแก้ไข อาจจะไม่เป็นอะไร

แต่ถ้าเด็กๆ ได้ยินเมื่อไหร่

“อาจมีเรื่อง!”

Photo by Sai De Silva on Unsplash

แม้ว่าเทคโนโลยีจะค่อยๆ ทำให้การพูดคุยต่อหน้าลดน้อยลง แต่การสื่อสารยังคงเป็นพื้นฐานกาวใจของครอบครัวที่สำคัญ

คุณพ่อคุณแม่สามารถสื่อสารกับลูกๆ ได้หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การคุยเล่น การสอน การถามไถ่ ไปจนถึงการถกถึงประเด็นที่จริงจัง

แต่ในหลายๆ ครั้งที่การพูดคุยของคุณพ่อคุณแม่ อาจจะออกมาในรูปแบบอื่น

เช่น การ “บ่น” หรือ การ “ตราหน้า” เวลาที่คุณพ่อคุณแม่พูดเรื่องเค้าให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ ฟังว่าเค้ามีลักษณะพฤติกรรมยังไง

ในกรณีการบ่น แม้ความตั้งใจจะดี แต่ก็เหมือนกับการไม่ยอมรับสิ่งที่เค้าทำ ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่เริ่มไม่เข้าใจตัวตนของเค้า

เลยไม่แปลกที่เค้าจะเริ่มทิ้งระยะห่างกับคุณพ่อคุณแม่

ยิ่งถ้าไม่ค่อยมีเวลาไปทำกิจกรรมร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็จะยิ่งห่างเหินมากขึ้นไปอีก

Photo by Katherine Chase on Unsplash

หลายๆ ครั้งเวลาที่เด็กๆ เริ่มสร้างตัวตนของเค้าขึ้นมา ทั้งผ่าน การเลียนแบบ (modeling) หรือผ่านการ Reflect หรือ การฟังเสียงสะท้อนจากคนอื่น

การตราหน้าว่าเค้าเป็นคนแบบไหน เป็นแหล่งที่เด็กๆจะหยิบมาใช้สร้างตัวตนของตนเองเช่นกัน ถ้าเป็นการตราหน้าในทางที่ดี เช่น เป็นคนขยัน ตั้งใจ พยายาม ชอบเรียนรู้ กล้าลองผิดลองถูก ก็ดีไป แต่ถ้าเป็นการตราหน้าในเชิงบ่น เช่น เป็นคนขี้เกียจ นอนทั้งวัน ทำอะไรก็ไม่ได้เรื่อง ไม่มีความมั่นใจ ค่อนข้างโง่ ดื้อมาก

ลองนึกภาพเด็กที่ได้ยินคำเหล่านั้นซ้ำๆ เค้าจะคิดว่าเค้าจะรู้สึกยังไง?
ถ้าไม่ฮึดสู้ ก็ประชด ไม่ก็ เป็นตามที่คนบอก ไปเลยละกัน

ซึ่งสองกรณีหลังพบได้เยอะกว่า

นี่คือ ‘การสื่อสารเชิงลบ’ (Negative Communication) ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีอะไรนอกจากโฟกัสสิ่งที่ไม่ดี ให้มันยิ่งขยายใหญ่ขึ้น แม้บางครั้งเราคิดว่าการทำแบบนี้จะช่วยลดพฤติกรรมแย่ๆ ได้ แต่มันได้ผลเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น

ยิ่งถ้าพูดเยอะ เด็กจะเริ่มชินและเพิกเฉยเรา และถ้าพูดบ่อยๆ ยิ่งตอกย้ำ จนเด็กกลายเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจไปอีก

ถ้าอย่างนั้น หากเราเป็นผู้ปกครอง เราควรทำอย่างไรดี?

Photo by Caleb Jones on Unsplash

Positive Communication

‘Positive Communication’ หรือ ‘การสื่อสารเชิงบวก’ กับลูก คือกระบวนการที่จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและเสริมสร้างคุณค่าในตัวบุคคลให้ขึ้นได้โดยเป็นการพูดคุยเพื่อสร้างผลลัพธ์ในเชิงบวก

ไม่ว่าจะเป็น การกระทำ อารมณ์ ความคิด หรือ ความรู้สึก และยังช่วยเสริมความมั่นใจให้กับเด็กๆ ได้อีกด้วย

จากงานวิจัยพบว่า การสื่อสารเชิงบวก เป็นทักษะ ที่ต้อง “ฝึกฝน

ไม่มีใครเก่งสิ่งนี้ หรือ ทำเป็นมาตั้งแต่แรก ในฐานะผู้ปกครองเองโดยเราสามารถฝึกเทคนิคนี้ได้ทั้งหมดสองช่วง คือ เมื่อเด็กพูด และ เมื่อเราพูด

Photo by Ashton Bingham on Unsplash

1) เมื่อเด็กพูด

หลายๆ ครั้งการสื่อสารก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการพูดเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการฟังอย่างตั้งใจเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่ยอมรับเค้า สิ่งที่เค้าพูดเป็นสิ่งสำคัญ เค้าเองเป็นคนสำคัญ

การฟังเป็นหนึ่งในหลายๆ วิธีที่ทำให้ลูกได้รู้สึกได้รับความรัก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้การฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างเข้าใจ (Empathic Listening)เพื่อให้เข้าถึงเด็กๆ ได้มากยิ่งขึ้น

โดยในระหว่างที่ฟัง คุณพ่อคุณแม่สามารถพูดโต้ตอบกับลูกได้ด้วย แต่แบ่งเปอร์เซ็นต์ เป็น 80:20 เท่านั้นพอ คือ ลูกพูด 80% และคุณพ่อคุณแม่เสริมอีก 20% หรือถ้าอยากจะพูดลบบ้าง ให้แบ่งเป็นพูดบวก 80 พูดในเชิงลบแค่ 20 พอ

Photo by Eye for Ebony on Unsplash

2) เมื่อเราพูด

หากเด็กลุกขึ้นมาเล่าเรื่องอะไรให้เราฟังเมื่อไหร่ ขอให้คิดว่านี่คือ ‘นาทีทอง’ ที่จะสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น! โดยส่วนใหญ่ เด็กๆ มักจะมาเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้พ่อกับแม่ฟังอยู่แล้ว ดีบ้าง บ่นบ้าง

หนึ่งในวิธีที่ทำได้ คือ ‘การการโต้ตอบอย่างกระตือรือร้นและสร้างสรรค์’ (Active Constructive Communication) ซึ่งเป็นการโต้ตอบแบบฉายไฟสปอท์ไลท์ลงไปยังเวทีที่เค้ากำลังพูด

ให้เด็กๆ ได้เป็นดาวเด่นในเรื่องที่เค้ากำลังเล่า

โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องดีๆ เรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่เค้าทำได้ สิ่งที่เค้าได้ค้นพบเพิ่มเติม สิ่งที่เค้ารู้สึก คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทคนิคการขยายเรื่องราวให้เข้มข้นขึ้น เช่น

“มันทำให้หนูรู้สึกยังไงบ้าง”
“ตอนนั้นเกิดอะไรขึ้น”
“คิดว่าสิ่งที่หมายถึงอะไร”

รวมไปถึงกล่าวคำชม หรือ ส่งเสริม เช่น

“ดีจังเลย”
“ลูกตั้งใจดีมาก”
“ฟังแล้วแม่มีความสุขจัง”

เด็กๆ จะรู้สึกตัวเองมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะถ้าเป็นคำชมในเรื่องของที่มาของผลลัพธ์ หรือ จุดแข็ง (Strengths) ของเค้า เช่น ความพยายาม ความตั้งใจ ความกล้า การคิดวิเคราะห์ การเข้าใจผู้อื่น

การชมสิ่งเหล่านี้ก็จะยิ่งช่วยเสริมหรือพัฒนาทักษะนั้นให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

Photo by MI PHAM on Unsplash

เพราะคำที่เราพูด มีผลกับลูกมากกว่าที่คิด เราจึงไม่สามารถพูดไปเรื่อยๆ ได้

เด็กๆ ทุกคนสมควรได้รับความใส่ใจที่ดีจากผู้ปกครองทั้งจากการกระทำ และ คำพูด เพื่อที่เค้าจะดึงชุดข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ต่อยอดในการเติบโต

วันนี้เราได้ให้ข้อมูลดีๆ คำพูดดีๆ กับเค้าบ้างหรือยัง?

References

  • Altalib, H., AbuSulayman, A., & Altalib, O. (2013). Teaching Love. In Parent-Child Relations: A Guide to Raising Children (pp. 329–343). London; Washington: International Institute of Islamic Thought. Retrieved March 21, 2020, from www.jstor.org/stable/j.ctvktrvqn.21
  • Kang, S. K. (2015). The self-motivated kid: how to raise happy, healthy children who know what they want and go after it (without being told). New York, NY: Tarcher.
  • Leontovich, Olga. (2014). Positive Communication: Definition and Constituent Features. Vestnik Volgogradskogo gosudarstvennogo universiteta. Serija 2. Jazykoznanije. 24. 121–126. 10.15688/jvolsu2.2014.5.16
  • Singh. G. K. (2017). Appreciation And Well-Being: Proposing Active Constructive Complimenting (ACC) And Active Constructive Accepting (ACA) To Improve Appreciation. Retrieved from https://repository.upenn.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1115&context=mapp_capstone
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://corporate.baseplayhouse.co/

--

--

Chompoo Chimes
BASE Playhouse

Learning Designer, BASE Playhouse l Creative Psychologist, Glow Story l Business Analyst, Samsung l WorkInPsych Podcast Cohost l Freelance Writer l Speaker