System Thinking วิธีคิดที่ช่วยคลายความวุ่นวายและซับซ้อนของโลกใบนี้

Peesamac
BASE Playhouse
Published in
3 min readJul 29, 2021

--

เข้าใจวิธีคิดที่ขยายตามองปัญหาให้ละเอียดมากขึ้น และเน้นแก้ปัญหาที่ต้นตอจริงๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์

  • ถ้าสองปีที่แล้วโลกเน้นกระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking เพราะต้องการสร้างสิ่งใหม่ๆ ตอบโจทย์ให้ลูกค้า
  • ปีที่แล้วเน้นการคิดเชิงวิพากษ์​ หรือ Critical Thinking เพื่อรับมือกับโลกที่ต้องการกลั่นกรองข่าวสาร ข้อมูลปริมาณมาก ให้คิดได้เฉียบขึ้น คมขึ้น

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ความคิดที่ควรจะมีในปีนี้ (2021) คืออะไรกัน
คำตอบที่ได้นั้นก็คือ… System Thinking หรือ การคิดเชิงระบบ

ในบริบทของปีนี้ เราเจอปัญหามากมายที่แก้ไม่ได้อย่างง่าย เช่น วิธีจัดการกับปัญหาโควิด ที่ตัวแปรก็เปลี่ยนไปมาทุกวัน บางตัวแปรก็เพิ่มมาจากไหนไม่รู้ เช่น สายพันธุ์ใหม่ๆ บางวิธีการแก้ปัญหา ก็หยิบมาใช้โดยไม่ได้มองทั้งระบบ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์ขึ้นมา ยังไม่เห็นวิธีดีๆ ในการจัดการที่แก้ทีเดียวแล้วจบเลย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่พัวพันกันมากมาย ดังนั้น ชุดวิธีคิดที่น่าจะเหมาะกับสถานการณ์แบบนี้ ต้องช่วยให้เรามองภาพรวม เห็นป่าทั้งป่า ขุดไปถึงต้นตอของปัญหา และแก้มันให้ตรงจุดมากขึ้น ซึ่งตรงกับกระบวนการคิดอย่าง System Thinking เลย

3 เหตุผลที่ต้องใช้ System Thinking

  1. โลกซับซ้อนขึ้น : เราไม่รู้ปัญหาที่แน่นอน หรือไม่ก็ปัญหามันพัวพันกันมากไปจนไม่สามารถแยกมันเป็นชิ้นๆ แล้วเอามาแก้ได้ง่ายๆ
  2. ปัญหาที่ต้องแก้ บางทียังไม่รู้ว่ามีปัญหา : บางปัญหาอยู่ในระบบที่ผลลัพธ์บางอย่าง ไม่โผล่ออกมาให้เห็นเร็วๆ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง เช่น เรากักตัวกันในบ้าน แน่นอนมันช่วยลดโอกาสที่คนจะไปเจอกันและแพร่เชื้อโรค แต่ก็ไม่รู้วิธีนี้จะมีผลลัพธ์อะไรที่ตามมาไหม
  3. วิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบัน เราแก้มันแบบ Linear Thinking : หลายครั้งเราแก้ปัญหาไปแล้ว มันก็เกิดขึ้นอีก เช่น ลดอาหาร เพื่อให้น้ำหนักลด ผ่านไปสักพัก ไม่ไหว กลับมากินหนักๆ น้ำหนักก็กลับมาเท่าเดิม เพราะเราไม่ได้คิดให้ครบ ว่าระหว่างลด จะหิว และร่างกายทนไม่ได้ เลยไม่ได้ไปแก้ปัญหาตอนหิวที่ต้องเกิดขึ้น

ขั้นตอนการคิดแบบ System Thinking ในการแก้ปัญหา

เราขอแบ่งขั้นตอนแก้ปัญหาออกเป็น 2 ขั้นตอนหลักๆ

  1. Problem : การทำความเข้าใจปัญหา - เลือกปัญหาที่ต้องแก้
  2. Solution : การคิด Solution ในการแก้ปัญหา

1. Problem : การทำความเข้าใจปัญหา — เลือกปัญหาที่ต้องแก้

ปัญหาที่ควรใช้วิธีนี้ในการแก้
เข้าใจก่อนว่า ถ้าเป็นปัญหาที่ชัดเจน ปัญหาที่มีวิธีแก้อยู่แล้ว ปัญหาที่มีคู่มือ ปัญหาที่ขั้นตอนไม่ซับซ้อน ปัญหาที่เห็นภาพมันชัดเจนแบบ ปัญหา-ผลกระทบ-solution ทำ Solution เสร็จ -> ปัญหาหายทันที ปัญหาเหล่านี้ใช้กระบวนการ Problem Solving ธรรมดาก็ได้ แต่ปัญหาที่ควรใช้ System Thinking มันต้องซับซ้อนมาก เช่น ปัญหาเชิงระบบ ก็คือปัญหาที่เกี่ยวพันกับองค์ประกอบหลายๆ อย่าง

เมื่อบอกว่าเหมาะกับปัญหาเชิงระบบ และระบบคืออะไร
ระบบคือการรวมกันของหลายๆ องค์ประกอบ หลายๆ ตัวแปรเข้ามาไว้ด้วยกัน เพื่อมีเป้าหมายเดียวกัน เช่น ระบบร่างกาย อวัยวะต่างๆ เป็นองค์ประกอบของระบบ หรือแม้แต่องค์กรธุรกิจ ที่เป็นการรวมพนักงานหลายๆ คนเข้ามาเป็นแผนก เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร ความน่าสนใจของระบบคือ
1) หลายๆ องค์ประกอบมีความสัมพันธ์กัน
2) ขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบนึงไป จะทำให้ระบบเปลี่ยนแปลง
System Thinker ต้องเชื่อว่าทุกปัญหาที่ซับซ้อน เหตุการณ์ที่แสดงออกมา มีโครงสร้างของปัญหาที่สัมพันธ์กันเชิงระบบซ่อนอยู่เสมอ ถ้ามันเป็นระบบปิดอย่างเครื่องจักร ที่ทุกอย่างมันชัดเจน ก็ง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นระบบเปิด บางตัวแปร บางผลลัพธ์ไม่แน่นอน สิ่งที่ตามมามันคือความซับซ้อน (Complexity) ที่ต้องหาวิธีมาคลายปมมันออกให้ได้ แล้วเราจะได้แก้ปัญหาให้มันตรงจุดมากขึ้น

ความซับซ้อนมันอยู่ตรงนี้
ในโลกปัจจุบัน เวลาเราจะแก้ปัญหาอะไรสักเรื่อง ปัญหาเหล่านั้นมักจะไปอยู่ในระบบใดระบบหนึ่ง ถ้าเป็นระบบที่เรารู้จักดี การสามารถชี้จุดและคิดวิธีแก้ปัญหาได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นปัญหาที่ยากที่จะชี้ชัด เช่น Dynamic System หรือระบบที่มีตัวแปรที่เรา Control ไม่ได้ละ Output ที่คาดเดาไม่ได้ละ เช่น โควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ความรู้สึกของมนุษย์ที่ส่งผลต่อโลกร้อน เราจะทำอย่างไรดี โดยความซับซ้อนเหล่านี้มันขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัยเช่น ในระบบนั้น เรามีตัวแปรเยอะมากน้อยแค่ไหน แต่ละตัวแปรต่างกันเยอะมั้ย ความสัมพันธ์แต่ละตัวแปรแน่นหนาแค่ไหน

แล้วจะแก้ด้วย System Thinking อย่างไรได้บ้าง
System Thinking หยิบเครื่องมืออย่างภูเขาน้ำแข็งมาใช้ โดยอธิบายว่าในสถานการณ์ที่ซับซ้อน สิ่งที่เรามักจะเห็นก่อนคืออีเวนต์ หรือเหตุการณ์สักอย่างที่ทำให้เราฉุกคิดว่า มันเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นละนะ

หลังจากนั้นเราต้องหา Pattern หรือย้อนเวลาไปดูการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรที่เกี่ยวข้อง และหา Strutrure หรือโครงสร้างของปัญหาให้ออก ว่ามันคืออะไรกันแน่ เราจะได้แก้ได้ถูกจุด ซึ่งแบบออกเป็น 3 ขั้นตอน ผ่านคำถามและเครื่องมือ ดังนี้

  1. Event จุดสังเกตปัญหา จุดนี้อาจจะมาจากการสังเกต หรือข้อมูลบางอย่างที่ชวนให้เราคิดว่าปัญหาบางอย่างกำลังเกิดขึ้นแล้ว เช่น บริษัททำรายได้โตปีละ 10% มาตลอด ทำไมอยู่ดีๆ ปีนี้เหลือ 2% หรือน้ำหนักเราชั่งทุกเช้าหนัก 70 มาตลอด วันนี้อยู่ดีๆ หรือ 65 ยอดคนติดเชื้อโควิดเหมือนจะดีขึ้นเรื่อยๆ ทำไมอยู่ดีๆ กราฟคนติดเชื้อกลับพุ่งทะยาน วิธีการนี้ทำได้ง่ายๆ คือลองอ่านข่าวที่สนใจ แล้วดูข้อมูลพาดหัวที่ชวนให้เราสงสัย
    คำถามที่ใช้ในขั้นตอนนี้ : What is changing?
  2. Pattern หาแนวโน้มของมัน พอเรารู้ว่าปัญหาที่เราสนใจคืออะไรแล้ว ให้เราลองหาตัวแปรที่เกี่ยวข้อง อย่าลืมว่าตัวแปรนี้น่าจะอยู่ในระบบอะไรสักอย่าง ดังนั้นพยายามคิดตัวแปรที่เกี่ยวข้องกัน ข้อแนะนำคือพยายามคิดตัวแปรให้เป็นคำนาม เช่น ถ้าเป็นเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ตัวแปรที่เกี่ยวข้องอาจจะเป็น
    คนออกข้างนอกบ้าน ให้เปลี่ยนคำเหล่านี้เป็น จำนวนคน WFH
    คนฉีดวัคซีนแล้ว ให้เปลี่ยนคำเหล่านี้เป็น จำนวนคนฉีดวัคซีน เข็มที่ 1, จำนวนคนฉีดวัคซีนครบสองเข็ม
    วิธีการนี้ทำได้โดยลองอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่เราสนใจ แล้วหาตัวแปรที่อยู่ในข่าวเหล่านั้นออกมา อาจจะเป็นเชิงปริมาณ (Quantitative) หรือเชิงคุณภาพก็ได้ (Qualitative) พอเสร็จแล้วก็ให้ลิสต์ตัวแปรที่หมดไว้ทำในขั้นตอนถัดไป
    คำถามที่ใช้ในขั้นตอนนี้ : How is changing?
  3. Structure ถึงเวลาหาโครงสร้างของปัญหา หลังจาก Pattern เราจะรู้จักปัญหามากขึ้นว่ามีอะไรเกี่ยวข้องบ้าง ให้เราเอาตัวแปรทั้งหมดมาหาความสัมพันธ์กัน และลองดูว่าแต่ละความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันแบบไหน ตัวหนึ่งขึ้น อีกตัวหนึ่งขึ้นตามหรือเปล่า ลองถามตัวเองต่อว่า หลังจากวาดมันขึ้นมาแล้ว และมันเกิด Loop แบบไหนขึ้นมา (เดี๋ยวไปคุยเรื่อง Loop กันทีหลัง) เครื่องมือที่ใช้บ่อยในขั้นตอนนี้เรียกว่า Connection Cycle วิธีการคือเอาตัวแปรทั้งหมดที่เขียน มาวางไว้รอบวงกลม แล้วไปหาข้อมูล กราฟต่างๆ มาดูความสัมพันธ์ และลากมันโยงกัน
    คำถามที่ใช้ในขั้นตอนนี้
    : How is changing?

​พอเรารู้โครงสร้างของปัญหาแล้ว เราควรนำกระบวนการที่ได้ทั้งหมดไปเช็คที่มาของข้อมูลก่อน ว่ามันเป็นแบบที่เราคิดจริงๆ หรือไม่ เพราะหลายๆ ครั้งเราก็หยิบชุดข้อมูลและความสัมพันธ์นั้นมาแบบ Bias ทางที่ดี ลองเล่าให้คนที่มีความรู้ด้านนั้น มี Background Knowledge ฟังก่อน แล้วช่วยกันปรับโครงสร้างของปัญหาให้มันตรงกับความจริงที่สุด

2. Solution : การคิด Solution ในการแก้ปัญหา

พอเราเห็นโครงสร้างของปัญหาแล้ว เราต้องสร้าง Systemic Action หรือวิธีการจัดการปัญหาให้มันแก้ได้ทั้งระบบ เราจะเห็นบ่อยๆ กับการแก้ปัญหาของประเทศนี้ ที่แก้ 1 จุด แล้วไปสร้างผลกระทบอีกหลายๆ จุด หรือทำแล้วแก้ปัญหาไม่ได้จริงๆ ทางทฤษฎีบอกว่าเราต้องแก้ที่จุด Leverage Point หรือจุดคานงัด ที่แก้จุดนั้นเสร็จ สร้างผลกระทบวงกว้าง และลงแรงไม่มากเท่าวิธีการอื่น

ซึ่งคล้ายกับชุดวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่น ที่พอเราเข้าใจมันระดับนึงแล้ว เราจะสร้าง Template หรือ Shortcut ที่ผมมักเรียกกับตัวเองว่าเป็นการกดสูตรมาใช้แก้ปัญหา ในเชิงของ System Thinking พอมีการเรียนรู้กันมาระยะหนึ่ง ก็เลยมีสูตรตัวอย่าง

ความว้าวของผมตอนหาข้อมูลก็คือ System Thinking จริงๆ แล้ว พอเราเจอปัญหา บางครั้ง วิธีแก้มันอาจจะไม่ได้ออกมาได้ชัดเจนขนาดนั้น คือบางปัจจัยมันไม่สามารถถอดมันออกจากระบบได้ง่ายๆ สิ่งที่ต้องใส่ไปเพิ่มนั่นก็คือความคิดสร้างสรรค์ ที่ใส่เข้าไปเพิ่มในระบบ และจัดการหลายๆ ปัจจัยให้ได้ในครั้งเดียว นั่นแหละถึงจะจัดการปัญหาที่ซับซ้อนได้

การใช้ System Thinking ในองค์กร

แน่นอน พอกลับมาคิดในเชิงองค์กรธุรกิจ องค์กรธุรกิจเจอปัญหาในรูปแบบที่ซับซ้อน ปลายเปิด เยอะมาก เช่น ความต้องการของลูกค้าที่กระทบยอดขาย และมีปัจจัยอย่างคู่แข่งที่เข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งเหล่านี้ทำให้การคิดเชิงระบบ เข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถคิดได้ครบขึ้น จัดการได้อย่างมีระบบระเบียบมากขึ้น แก้ปัญหาได้ดีขึ้น จากที่ผมลองใช้มากับตัวเอง แน่นอน System Thinking เป็นทักษะ ทักษะต้องทำการฝึก และสมองของเราไม่ได้ถูกสร้างมาให้รับมือกับความคิดที่ซับซ้อนขนาดนี้ ดังนั้นองค์กรไหนที่เห็นว่า System Thinking สำคัญ ต้องวางแผนในการสร้าง Mindset ใหม่ๆ ถึงความสำคัญของการคิดแบบนี้ และวางแผนการฝึกที่เป็น Step ชัดเจน ประยุกต์ใช้ในงานของแต่ละคนได้จริง เมื่อถึงจุดนั้น ปัญหาที่ซับซ้อนขององค์กร จะถูกทำให้มันง่ายขึ้น และลงมือแก้มันได้อย่างมีระบบมากขึ้นแน่ๆ

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : https://corporate.baseplayhouse.co/

--

--

Peesamac
BASE Playhouse

Co-founder, Learning Designer and Thinking at BASE Playhouse. Empowering Young Generation with Future Skill and Tecnology.